เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ประกาศแจกยาคุมกำเนิดและถุงยางอนามัยฟรี รวมถึงเพิ่มจุดบริการให้ประชาชนเข้าถึงง่าย เพื่อเป็นสิทธิประโยชน์ด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
รายละเอียดการแจกยาคุมกำเนิดคือ ยาคุมกำเนิดที่แจกเป็นยาชนิดเม็ดรับประทาน ให้บริการแก่หญิงไทยอายุ 15 – 59 ปี โดยผู้รับบริการมารับยาได้ครั้งละไม่เกิน 3 แผง คนละไม่เกิน 13 แผง/ปี ด้วย 2 วิธีการคือ จองผ่านบริการเสริมสร้างสุขภาพ เมนูกระเป๋าสุขภาพ ในแอปพลิเคชัน ‘เป๋าตัง’ แล้วเลือกหน่วยบริการที่จะไปรับ หรือให้แสดงบัตรประชาชนเพื่อขอรับยาคุมกำเนิด ที่หน่วยบริการสุขภาพที่ร่วมโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ส่วนถุงยางอนามัย ให้บริการแก่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป รับบริการได้ครั้งละ 10 ชิ้น/สัปดาห์ รอบการแจก 7 วัน รับได้ 1 ครั้ง ไม่จำกัดจำนวนถุงยาง/คน/ปี วิธีการคือ Add Line สปสช. (@nhso) แล้วสแกน QR Code ในหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการแจกถุงยางอนามัย (ดูรายชื่อที่ https://tinyurl.com/ycf8zuns) เพื่อรับถุงยางอนามัย มีให้เลือก 4 ไซซ์ ได้แก่ 49 มม., 52 มม., 54 มม. และ 56 มม. ซึ่งเริ่มให้บริการเดือนเมษายนเป็นต้นไป
แน่นอนว่านโยบายนี้ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนคนไทย (จะดีมากถ้ารัฐและการศึกษาไทยให้ความรู้เรื่องเพศที่เหมาะสมควบคู่ไปด้วย) แต่มูฟเมนต์ที่ Urban Creature คิดว่าน่าสนใจและควรให้ความสำคัญเช่นกันคือ สวัสดิการผ้าอนามัยฟรีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ก่อตั้งสำเร็จเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
โครงการนี้เกิดขึ้นจากงานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าอนามัย 7,000 ชิ้นจากลอรีเอะ เพื่อเป็นต้นแบบมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่ผลักดันสวัสดิการผ้าอนามัยให้มีในห้องน้ำหญิงในมหาวิทยาลัย รวมถึงจัดตั้งศูนย์แจกจ่ายผ้าอนามัยสำหรับนักศึกษาที่มีความจำเป็น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและความเหลื่อมล้ำทางเพศในมหาวิทยาลัย
นับว่าเป็นมูฟเมนต์ในสังคมไทยที่น่าติดตามในระยะยาว เพราะเอาเข้าจริง ค่าใช้จ่ายเรื่องผ้าอนามัยของผู้มีประจำเดือนเป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และในต่างประเทศเองก็มีการผลักดันนโยบายผ้าอนามัยไปถึงขั้นยกเลิกภาษีผ้าอนามัย ทำให้ผู้มีประจำเดือนเข้าถึงได้ในรายจ่ายที่น้อยที่สุดหรือไม่มีเลยแล้วด้วยซ้ำ
เมื่อได้เห็นรัฐประกาศแจกถุงยาง-ยาคุมฟรี ทำให้เราคิดว่า นี่เป็นสัญญาณด้านดีที่สังคมไทยจะขยับมาสนใจ ใส่ใจ และเรียกร้องสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีให้เกิดขึ้นจริง เพราะเมื่อพิจารณาแล้ว การลดหรือยกเลิกค่าใช้จ่ายส่วนนี้มีแต่สร้างผลดีให้แก่ทุกคน ไม่มีใครเสียผลประโยชน์หรือเดือดร้อน
หวังว่าเราจะได้เห็นสังคมไทยมีสวัสดิการผ้าอนามัยในอนาคตอันใกล้นี้
Sources :
Momentum | themomentum.co/report-sanitary-napkin-cmu/
Thai PBS | news.thaipbs.or.th/content/312067