‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคอีสาน - Urban Creature

‘ขอนแก่น’ คือหนึ่งในเมืองที่หลายฝ่ายจับตามอง เพราะที่นี่เปรียบเสมือน ‘ศูนย์กลางความเจริญ’ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา หรือแม้แต่ความหลากหลายของวัฒนธรรมอีสาน

แต่การเติบโตของเมืองย่อมตามมาด้วยปัญหาที่ซับซ้อน โดยเฉพาะการหลั่งไหลเข้ามาของประชากรที่ก่อให้เกิดความท้าทายอื่นๆ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย การแย่งงานของคนในพื้นที่และคนต่างถิ่น รวมถึงความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง

เพื่อส่งเสริมการเติบโตของเมืองโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง Thailand Policy Lab ร่วมกับ UNDP Accelerator Lab Thailand จากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดกิจกรรม ‘Policy Innovation Journey’ หรือ ‘เส้นทางสานฝันสร้างนโยบายครั้งที่ 4’ โดยยกห้องปฏิบัติการไปที่อำเภอเมืองขอนแก่น เพื่อนำเสนอ ‘นวัตกรรมนโยบาย’ ให้แก่นักวางแผนนโยบายระดับท้องถิ่น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

การจัดทำเส้นทางสานฝันสร้างนโยบายครั้งที่ 4 นี้ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืนในจังหวัดขอนแก่นเพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพื้นที่อื่นๆ ทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นได้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ที่มาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐ อบจ. อบต. ผู้นำชุมชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนจากทั่วภาคอีสาน

เครื่องมือนโยบายที่ Thailand Policy Lab นำเสนอมีอะไรบ้าง และกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะช่วยส่งเสริมการจัดทำแผนและการพัฒนาระดับท้องถิ่นที่ตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร คอลัมน์ Report ขอชวนทุกคนไปหาคำตอบแบบจ๊วดๆ พร้อมกัน

นวัตกรรมที่มีผู้คนเป็นศูนย์กลาง

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

Thailand Policy Lab เริ่มกระบวนการแรกด้วยการใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายที่ชื่อว่า ‘การวิเคราะห์ความหวังและความกลัว’ (Hopes and Fears Analysis) เครื่องมือที่ผู้เข้าร่วมสามารถช่วยกันถอดรหัสปัญหาสาธารณะที่ลึกไปกว่าการวิเคราะห์ปัญหาเชิงเทคนิคที่วัดจากมุมเดียว

ตัวอย่าง ‘ความหวัง’ ที่บรรดาผู้นำและนักนโยบายอยากเห็นหรืออยากทำให้สำเร็จในท้องถิ่นของตัวเอง โดยแบ่งความหวังที่ได้รับออกเป็น 3 ลำดับขั้น ได้แก่

1) ความหวังระยะสั้น เช่น สร้างอาชีพและสอนองค์ความรู้ให้คนว่างงาน อำเภอโขงเจียมเป็นเมืองน่าท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ฯลฯ

2) ความหวังในอีก 10 ปี เช่น การกระจายอำนาจจากรัฐบาลกลางสู่ท้องถิ่น สวัสดิการที่ดีและครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ชุมชนเข้มแข็ง เยาวชนห่างไกลยาเสพติด ฯลฯ

3) ความหวังแบบหลุดโลก เช่น ทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างเท่าเทียม นโยบายรองรับสังคมผู้สูงอายุ ติดตั้งไฟฟ้าครบทุกพื้นที่ ฯลฯ

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

ส่วนความกลัวแบ่งเป็น 3 ลำดับขั้นเช่นกัน ได้แก่

1) ความกลัวในปัจจุบัน เช่น งบประมาณไม่เพียงพอ การเสื่อมโทรมของสถานที่ท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐานไม่เพียงพอ ประชาชนเกิดภาวะซึมเศร้า ฯลฯ

2) ความกลัวเกี่ยวกับอนาคต เช่น รายได้ไม่พอรายจ่ายยามแก่ชรา รากเหง้าวัฒนธรรมไทยสูญหาย ยาเสพติดระบาดในพื้นที่ งบประมาณแผ่นดินหมด ฯลฯ

3) สิ่งที่กลัวที่สุดในชีวิต เช่น สังคมผู้สูงอายุ ไม่สามารถหารายได้ได้เมื่ออายุเกิน 60 ปี ความแตกต่างระหว่างวัย (Generation Gap) ฯลฯ

เมื่อมองเห็นความหวังและความกลัวของคนในแต่ละท้องถิ่นแล้ว ถัดมาคือกิจกรรม ‘วาดภาพฝันและภาพอนาคตของท้องถิ่น’ ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้ฝึกจินตนาการภาพฝันของท้องถิ่นที่ตนเองอยากเห็น ผ่านการเขียน ‘พาดหัวข่าวแห่งอนาคต’ วิธีนี้จะทำให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรเป็นอันดับแรกๆ ซึ่งจะนำไปสู่การชี้ปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางการทำภาพฝันนี้ให้เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

‘ณภัทร พุ่มศิริ’ Policy Experimentation Analyst จาก Thailand Policy Lab เล่าว่า กิจกรรมเส้นทางสานฝันสร้างนโยบายคือการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วม ซึ่งส่วนใหญ่อาจทำงานในระดับผู้นำชุมชนหรือทำงานมานานแล้ว ได้ระดมไอเดียและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรุ่นใหม่ ผ่านการใช้เครื่องมือนโยบายที่ทำให้พวกเขามีความเข้าใจเยาวชนและบริบทของสังคมยุคปัจจุบันมากขึ้น

มากไปกว่านั้น นวัตกรรมนโยบายที่ใช้ ‘คนเป็นศูนย์กลาง’ ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้คิดต่อว่า โครงการหรือนโยบายที่พวกเขาเคยทำไม่สำเร็จในอดีต อาจเกิดจากการที่พวกเขามองเฉพาะสถานการณ์ที่เห็นอยู่ตรงหน้า โดยไม่ได้มองย้อนกลับไปหรือขุดลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาว่าคืออะไร หากเปลี่ยนกระบวนการคิดใหม่ ผู้เข้าร่วมจะสามารถออกแบบโครงการหรือนโยบายที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น

นวัตกรรมนโยบายเชิงลึกและเชิงกว้าง

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

จากกระบวนการ ‘การวิเคราะห์ความหวังและความกลัว’ และ ‘การวาดภาพฝันและภาพอนาคตของท้องถิ่น’ ทำให้เห็นว่าปัญหาที่ผู้เข้าร่วมกังวลและให้ความสำคัญมี 5 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ ยาเสพติด การจัดการขยะ เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และสังคมผู้สูงอายุ

ถัดมาคือกิจกรรมที่แต่ละกลุ่มต้องเลือกหนึ่งปัญหาไปต่อยอดและพัฒนาเป็นต้นแบบนโยบาย ผ่านกระบวนการมองภาพระบบที่เชิงลึกและเชิงกว้าง

‘เชิงลึก’ คือการมองปัญหาไปถึงระดับโครงสร้าง หรือแม้กระทั่งระดับความคิด จิตใต้สำนึก รวมถึงวิธีการมองโลกของบุคคลหรือว่าชุมชนท้องถิ่นนั้นๆ โดยเครื่องมือที่ใช้เพื่อมองสถานการณ์ให้ลึกกว่าที่เห็นด้วยตาเปล่าคือ ‘โมเดลภูเขาน้ำแข็งเพื่อถอดรากสาเหตุของปัญหา’ (Iceberg Model/Causal Layered Analysis) เป็นวิธีคิดและการแก้ปัญหาให้ตรงจุดผ่านการวิเคราะห์ถึงรากเหง้าของปัญหาที่แท้จริง เพื่อให้เห็นว่าบริบทของปัญหาคืออะไร ที่มาของปัญหาอยู่ตรงไหน นำไปสู่การออกแบบนโยบายเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและถึงรากสาเหตุของปัญหา

สำหรับการมองภาพ ‘เชิงกว้าง’ หมายถึงการมองว่าปัญหาหรือประเด็นที่เราต้องการแก้ไขหรือพัฒนา มีใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียบ้าง ผู้เข้าร่วมแต่ละกลุ่มจะได้ใช้เครื่องมือชื่อว่า ‘การวาดแผนที่เชื่อมโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ (Stakeholder Mapping) ที่ช่วยให้พวกเขามองเห็นภาพใหญ่ และเข้าใจว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของแผนผัง เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหรือกลุ่มคนไหนบ้าง ทั้งทางตรงและทางอ้อม

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย
‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

‘ผศ. ดร.ศิริศักดิ์ เหล่าจันขาม’ รองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสริมว่า ขอนแก่นเป็นเมืองที่มีการเติบโตอย่างรอบด้าน แต่การเติบโตลักษณะนี้ย่อมตามมาด้วยความซับซ้อนในเชิงของจำนวนประชากรที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้เกิดปัญหาเรื่องของที่อยู่อาศัย การแย่งงานกัน ปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง ดังนั้นผู้นำและนักนโยบายท้องถิ่นจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือใหม่ๆ เพื่อกำหนดนโยบายที่แก้ปัญหาได้อย่างครอบคลุม

“นวัตกรรมนโยบายจาก Thailand Policy Lab คือเครื่องมือที่มีประโยชน์ และสามารถส่งเสริมการพัฒนานโยบายที่ราชการท้องถิ่นทำอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น โมเดลภูเขาน้ำแข็ง (Iceberg Model) ที่ทำให้ผู้นำท้องถิ่นไม่ได้มองปัญหาแค่ผิวเผินหรือบนผิวน้ำ แต่ต้องมองให้ลึกลงไปกว่านั้น เครื่องมือนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่า การจะทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง นโยบายนั้นต้องไม่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาเดียว แต่มันจะต้องแก้ไขมิติอื่นๆ ของปัญหาด้วย”

นวัตกรรมนโยบายสำหรับระดมไอเดียแบบไร้ข้อจำกัด

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

เมื่อมองเห็นปัญหาเชิงลึก เชิงกว้าง ความหวัง ความกลัว และรู้ว่าใครคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละปัญหาแล้ว กระบวนการสุดท้ายคือ ‘การระดมสมองคิดไอเดียนโยบาย’ (Ideation) ที่แต่ละกลุ่มจะได้ช่วยกันคิดนโยบายแบบไร้ข้อจำกัด และใช้ไอเดียของตัวเองได้เต็มที่ ตัวนโยบายที่แต่ละกลุ่มนำเสนอ ได้แก่

1) ปัญหายาเสพติด : สำหรับปัญหาศูนย์ฟื้นฟูฯ ที่สั่งการโดยส่วนกลาง ไม่สามารถแก้ปัญหายาเสพติดในท้องถิ่นได้ ผู้เข้าร่วมจึงนำเสนอแนวทางแก้ปัญหา นั่นคือ การมีหลักสูตรฝึกอาชีพที่หลากหลาย มีหลักสูตรแนะแนวเพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดเห็นคุณค่าในตัวเอง มีงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และมีบุคลากรประจำศูนย์ฟื้นฟูฯ เช่น จิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ฯลฯ

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

2) ปัญหาขยะ : ถัดมาคือปัญหาศูนย์กำจัดขยะไม่เพียงพอ ซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีงบประมาณ บุคลากร และเครื่องมือไม่เพียงพอ ไม่มีสถานที่กำจัดขยะของตนเอง กฎหมายเกี่ยวกับการจัดการขยะและการบริหารจัดการไม่มีความยั่งยืน ทำให้ประชาชนทุกครัวเรือนต้องรับภาระค่าใช้จ่ายขยะ ผู้เข้าร่วมจึงนำเสนอนโยบายจัดตั้งองค์กรบริหารจัดการขยะแห่งชาติ เพื่อลดขยะตกค้างในชุมชนให้กลายเป็นศูนย์ และเปลี่ยนรายได้จากการกำจัดขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า

3) ปัญหาสังคมสูงวัย : ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบคือ ผู้สูงวัยถูกทอดทิ้ง ไร้คนดูแล ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ขาดความรู้ ขาดอาชีพ และขาดรายได้ เพราะเหตุนี้ ผู้เข้าร่วมจึงเสนอนโยบาย ‘เฮ็ดดี ทำถึง หนึ่งศูนย์’ ที่ตั้งเป้าหมายสำรวจและคัดกรองผู้มีปัญหาสุขภาพผ่าน Google Forms ในช่วง 3 เดือนแรก จากนั้นใช้ AI วิเคราะห์ข้อมูลและแบ่งกลุ่มผู้สูงอายุตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ก่อนจะนำข้อมูลมาต่อยอดโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อทำวิจัยและพัฒนาแอปพลิเคชันหรือริสแบนด์ที่มีเซนเซอร์ เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างรวดเร็ว

นวัตกรรมนโยบายที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายคนมองว่า การจัด Policy Innovation Journey ครั้งนี้คือการเปิดพื้นที่ให้หลายภาคส่วนได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองกัน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค แม้กระทั่งภาคประชาสังคมและภาคเอกชน โดยมีเครื่องมือนวัตกรรมของ Thailand Policy Lab เป็นตัวกลางที่ช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจปัญหาของตัวเองและผู้อื่นได้ลึกซึ้งมากขึ้น

‘ปิยวรรณ จิตตะมัย’ ประธานสภาเทศบาลตำบลบ้านเป็ด จังหวัดขอนแก่น เล่าว่า “กิจกรรมนี้ทำให้เราได้รู้ว่าผู้เข้าร่วมแต่ละคนมีมุมมองและวิธีคิดที่แตกต่างกัน แต่เครื่องมือนโยบายสามารถทำให้เรานำความคิดของแต่ละคนมารวมกันได้ เกิดเป็นโครงการและวิธีการแก้ปัญหาท้องถิ่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้เห็นว่าหากผู้คนจากทุกท้องถิ่น จากทุกพื้นที่ ร่วมแรงร่วมใจกันแบบนี้ได้ในอนาคต ปัญหาต่างๆ ในชุมชนก็จะลดลง และเกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนได้แน่นอน”

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

อีกเสียงหนึ่งมาจาก ‘เกศินี จันทรพรม’ รองปลัดเทศบาลเมืองศิลา จังหวัดขอนแก่น ที่มองว่านอกจากกิจกรรมครั้งนี้จะทำให้ผู้เข้าร่วมเข้าใจปัญหาของกันและกันมากขึ้นแล้ว ผู้นำและนักนโยบายยังสามารถนำเครื่องมือเหล่านี้ไปใช้กับประชาชนในท้องถิ่น เพื่อกำหนดโครงการหรือนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น

“การมีส่วนร่วมของชุมชนจะทำให้เรารู้ว่าปัญหาที่ประชาชนเจออยู่จริงๆ คืออะไร เกิดขึ้นจากสาเหตุไหน ดังนั้นเราต้องเปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนปัญหา และกำหนดสิ่งที่พวกเขาอยากเห็น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัดต่อไป”

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของกิจกรรม Policy Innovation Journey ไม่ได้สิ้นสุดที่จังหวัดขอนแก่น เพราะหลังจากนั้น Thailand Policy Lab ร่วมกับวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เดินทางต่อร่วมกับผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากจังหวัดนครพนม ยกห้องปฏิบัติการไปที่สำนักงานเทศบาลเมืองนครพนม เพื่อนำเครื่องมือนวัตกรรมนโยบายใหม่ๆ ไปนำเสนอให้กับทีมวิจัยโครงการ ‘เขตโขงนคร : กลไกความร่วมมือเพื่อยกระดับพื้นที่แห่งการเรียนรู้และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Learning City)’ จากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยนครพนม

‘การพัฒนาท้องถิ่นอย่างยั่งยืน’ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยกระบวนการคิดและนวัตกรรมนโยบาย

โดยทาง Thailand Policy Lab หวังว่า เครื่องมือนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยผลักดันให้นครพนมมีนโยบายสาธารณะที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง มากไปกว่านั้น กระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นยังจะช่วยต่อยอดต้นทุนและความหลากหลายของจังหวัด และนำไปสู่การกำหนดนโยบายท้องถิ่นของนครพนมอย่างยั่งยืนด้วย

“เป้าหมายสำคัญของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากทาง Thailand Policy Lab จะนำเสนอเครื่องมือนโยบายใหม่ๆ ให้กับนักนโยบายหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย เพื่อให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจและได้ลองเอาสิ่งที่เรานำเสนอไปใช้เอง อีกอย่างที่เราอยากเห็นก็คือ ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมครั้งนี้ เราอยากจะชวนผู้เข้าร่วมทุกคนทำงานต่อ เพื่อสร้างต้นแบบนโยบายที่สามารถนำไปต่อยอดได้จริงๆ” ณภัทร พุ่มศิริ ตัวแทนจาก Thailand Policy Lab ทิ้งท้าย

Photo Credit : วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.