ถ้าคุณคิดว่าสภาพอากาศของปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ หรือรู้สึกว่าตัวเองได้ยินข่าวคราวภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยขึ้นก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะวิกฤตการณ์ Climate Change ทวีความรุนแรงขึ้นจริงๆ ยืนยันโดยสหประชาชาติที่ประกาศเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ยุคของ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global Warming) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และโลกกำลังย่างเข้าสู่ยุคของ ‘ภาวะโลกเดือด’ (Global Boiling) อย่างเต็มตัว
คอลัมน์ Report อยากพาไปสำรวจผลพวงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านส่วนหนึ่งของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลกในปีนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงวิกฤตโลกร้อนที่แปรปรวนและน่ากังวลกว่าเดิม
คลื่นความร้อนปกคลุมทั่วโลก
สัญญาณที่บ่งบอกว่าโลกของเราร้อนถึงขั้นเดือดแล้วคือการที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า เดือนกรกฎาคม ปี 2023 จะเป็นเดือนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่โลกเริ่มมีการบันทึกสภาพภูมิอากาศ ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะอุณหภูมิอากาศเฉลี่ยพื้นผิวโลกเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแตะระดับสูงถึง 16.95 องศาเซลเซียส สูงกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย 16.63 องศาเซลเซียสที่เคยบันทึกไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2019
เพราะเหตุนี้ หลายภูมิภาคทั่วโลกจึงเผชิญกับ ‘คลื่นความร้อน’ (Heatwave) ที่รุนแรงเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย
สำหรับสหรัฐอเมริกา ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีชาวอเมริกันมากถึง 1 ใน 3 หรือราว 113 ล้านคน ได้รับการแจ้งเตือนอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด โดยพื้นที่ที่เจอคลื่นความร้อนหนักที่สุดคือรัฐทางตอนใต้ เช่น ฟลอริดา เท็กซัส และแคลิฟอร์เนีย
ส่วนภูมิภาคยุโรปก็เจอคลื่นความร้อน ‘เซอร์เบอรัส’ (Cerberus) ที่รุนแรงเหมือนไฟนรกแผ่ปกคลุมหลายประเทศ เช่น กรีซ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส โครเอเชีย ตุรกี โปแลนด์ ฯลฯ หลายประเทศทุบสถิติวันที่ร้อนที่สุด ยกตัวอย่าง เมือง Gytheio ประเทศกรีซ ที่มีอุณหภูมิสูงถึง 46.4 องศาเซลเซียส ถือเป็นสถิติใหม่ของอุณหภูมิที่สูงที่สุดที่กรีซเคยบันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 2006
อีกประเทศที่ระดับอุณหภูมิพุ่งสูงคืออิตาลี ทำให้ทางการต้องประกาศเตือนภัยระดับสูงสุดใน 16 เมืองทั่วประเทศ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ เช่น โรม ฟลอเรนซ์ และโบโลญญา โดยรัฐบาลอิตาลีแนะนำให้ผู้คนในพื้นที่สีแดงหลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดโดยตรงระหว่างเวลา 11.00 – 18.00 น. ทั้งยังแนะนำให้ดูแลผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษด้วย
ส่วนภูมิภาคเอเชียที่ขึ้นชื่อเรื่องสภาพอากาศร้อนอบอ้าวอยู่แล้วก็ได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนเช่นกัน ทำให้หลายประเทศทุบสถิติอุณหภูมิสูงสุดในปีนี้ เช่น เมียนมาอุณหภูมิแตะ 44 องศาเซลเซียส ร้อนที่สุดในรอบ 44 ปี จีนทำลายสถิติครั้งใหม่ในรอบ 8 ปี หลังพบอุณหภูมิสูงถึง 52.2 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศไทย ที่จังหวัดตากตรวจวัดอุณหภูมิได้สูงถึง 44.6 องศาเซลเซียสเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2023 ซึ่งถือเป็นอุณหภูมิสูงที่สุดของประเทศ เท่ากับสถิติเดิมที่เคยตรวจวัดได้ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2016
ไฟป่าใหญ่ลุกลามหลายประเทศ
‘ไฟป่า’ (Wildfire) เป็นอีกหนึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นถี่และรุนแรงขึ้นในปีนี้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดการเผาไหม้ป่าขนาดใหญ่มีหลายปัจจัย เช่น การเผาป่า แคมป์ไฟ บุหรี่ ฟ้าผ่า รวมถึงสภาพอากาศที่แห้งแล้งและร้อนจัด ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤต Climate Change อีกทอดหนึ่งนั่นเอง
ประเทศที่เกิดไฟป่าบ่อยครั้งคือ ‘กรีซ’ โดยนักวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้สถานการณ์ไฟป่าในประเทศนี้รุนแรงขึ้น ทำให้ปีนี้มีพื้นที่ในกรีซถูกเผาไปแล้วมากกว่า 120,000 เฮกตาร์ทั่วประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2023)
ด้านกลุ่มสังเกตการณ์ไฟป่าแห่งยุโรป (European Observatory of Forest Fires) สังเกตว่า พื้นที่ที่ถูกเผาไหม้จากไฟป่าในกรีซปีนี้ใหญ่กว่าพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้โดยเฉลี่ยต่อปีถึง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2006 มากไปกว่านั้น ไฟป่าบนเกาะโรดส์ (Rhodes) ของกรีซยังทำให้มีการอพยพคนครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีในประเทศนี้ โดยเจ้าหน้าที่ต้องพาผู้คนออกจากพื้นที่มากถึง 30,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2023)
ส่วนที่ ‘แคนาดา’ ก็กำลังเผชิญฤดูไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยในปีนี้มีไฟป่าที่ลุกไหม้ผืนดินของแคนาดาไปแล้วกว่า 6,118 จุด ทางการต้องออกคำสั่งให้ประชาชนกว่า 200,000 คนอพยพออกจากพื้นที่ และเฉพาะในปีนี้มีพื้นที่ในแคนาดาถูกไฟเผาไหม้แล้วกว่า 15 ล้านเฮกตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 กันยายน 2023)
การศึกษาของ World Weather Attribution พบว่า วิกฤต Climate Change ยังเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะเกิดสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงบริเวณแคนาดาตะวันออกมากกว่าสองเท่า ขณะเดียวกัน การศึกษาของสถาบันไม่แสวงหาผลกำไร Angus Reid Institute ยังพบว่า มากกว่าครึ่งหนึ่งของชาวแคนาดาคาดการณ์ว่าสถานการณ์ไฟป่าจะรุนแรงขึ้นยิ่งกว่านี้ในอนาคต รวมถึง 1 ใน 4 ของชาวแคนาดาเชื่อว่า วิกฤตไฟป่าที่ทุบสถิติในปีนี้จะกลายเป็นความปกติใหม่ (New Normal) หมายความว่าทุกฤดูร้อนต่อจากนี้ ชาวแคนาดาอาจต้องเจอกับสถานการณ์ไฟป่าที่รุนแรงเช่นนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฝนตกหนัก ดินถล่ม น้ำท่วมสูง
นอกจาก Climate Change จะก่อให้เกิดคลื่นความร้อนและไฟป่าทั่วโลกแล้ว อีกปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่น่ากังวลคือลมมรสุมที่ตามมาด้วยสถานการณ์ฝนตกหนักและดินถล่มในหลายพื้นที่
ยกตัวอย่าง เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เกาหลีใต้เจอฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เกิดเหตุน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 47 คน และสูญหายอีก 3 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2023)
หลังจากเกาหลีใต้เจอฝนตกหนักที่สุดในรอบ 80 ปี ‘ชอง แทซุง’ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำท่วมจากสถาบันวิจัยการจัดการภัยพิบัติแห่งชาติของเกาหลีใต้ได้ออกมาอธิบายว่า Climate Change คือหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ประเทศเจอฝนตกรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ทางการเตรียมตัวรับมือกับน้ำท่วมเฉียบพลันได้ยาก
และเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไต้หวัน ฮ่องกง และหลายเมืองของประเทศจีนยังเจอ 2 ไต้ฝุ่นถล่มอย่างหนัก ทำให้บ้านเมืองเผชิญกับเหตุน้ำท่วม ดินถล่ม และความเสียหายในวงกว้าง โดยเคสฮ่องกงถือเป็นสถานการณ์ฝนตกหนักที่สุดในรอบ 139 ปี หนักถึงขั้นที่มวลน้ำทะลักเข้าไปในรถไฟใต้ดินและอาคารต่างๆ ทำให้ทางการต้องสั่งปิดเมือง ผลที่ตามมาคือ ธุรกิจ ห้างร้าน และถนนหนทางต่างๆ ต้องปิดชั่วคราวเพื่อรอจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
อีกเหตุการณ์ที่น่ากังวลไม่แพ้กันเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2023 ประเทศลิเบียเจอพายุแดเนียลถล่มเมืองเดอร์นาอย่างรุนแรง ทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่ รวมไปถึงเขื่อนแตก 2 แห่ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 11,300 คน และสูญหายมากกว่า 10,000 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กันยายน 2023)
ส่วนต้นตอที่ทำให้ลิเบียเจอหายนะทางธรรมชาติที่รุนแรงขนาดนี้ ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่าเกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นสภาวะโลกรวนที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น สงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อ รวมถึงความล้มเหลวของรัฐบาลในการเตรียมรับมือกับภัยธรรมชาติและการดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ
ด้านสถาบันวิจัยอิสระ World Weather Attribution ยังเปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภาวะเรือนกระจกที่เกิดจากฝีมือมนุษย์คือสาเหตุที่ทำฝนตกหนักขึ้นมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และยังทำให้ลิเบียมีแนวโน้มเผชิญภัยพิบัติน้ำท่วมหนักขึ้น 50 เท่าด้วย
น้ำแข็งขั้วโลกเหนืออาจหายไปหมด
ปิดท้ายด้วยสถานการณ์บริเวณ ‘ขั้วโลกเหนือ’ หรือ ‘เขตอาร์กติก’ ที่แม้จะปกคลุมด้วยน้ำแข็งและมีสภาพอากาศสุดขั้วอย่างถาวร แต่ในอนาคตอันใกล้สภาวะโลกร้อนก็อาจทำให้อุณหภูมิในดินแดนนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เหล่านักวิทยาศาสตร์ได้เผยแพร่งานวิจัยในวารสารออนไลน์ Nature Communications ที่คาดการณ์ว่า หากมนุษย์ไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างรวดเร็ว หรือปล่อยให้ก๊าซเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ขั้วโลกเหนือไม่มีน้ำแข็งช่วงฤดูร้อนในช่วงทศวรรษที่ 2030 พูดง่ายๆ ก็คือ น้ำแข็งในอาร์กติกอาจกำลังจะหมดไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้
มากไปกว่านั้น งานวิจัยเดียวกันยังชี้ให้เห็นว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำแข็งละลายเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนซึ่งเกิดจากน้ำมือของมนุษย์ ส่วนที่เหลือเกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติ หากนับตั้งแต่ปี 1979 ที่โลกเริ่มมีการบันทึกด้วยดาวเทียม น้ำแข็งบริเวณอาร์กติกลดลงมากถึง 13 เปอร์เซ็นต์ต่อหนึ่งทศวรรษ ถือเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนที่สุดของภาวะโลกรวน
ด้าน ‘ศาสตราจารย์เดิร์ก นอตซ์’ (Dirk Notz) จากมหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี หนึ่งในทีมวิจัยได้อธิบายว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการสูญเสียน้ำแข็งช่วงฤดูร้อนในทะเลอาร์กติกมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ผู้คนไม่ฟังคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญเลย ซึ่งตอนนี้สถานการณ์อาจสายเกินกว่าที่จะหยุดยั้งไม่ให้น้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกละลายจนหมดในช่วงฤดูร้อนเสียแล้ว
Sources :
BBC | bit.ly/3RFWOLA, bit.ly/3tjHGJp
CBC | bit.ly/3F3eDwh
CNN | bit.ly/46uWZ0h
DW | bit.ly/3LKWI1h
EcoWatch | bit.ly/3LKWLdt
IRM India Affiliate | bit.ly/3M4bcK3
Le Monde | bit.ly/3Q6oUyt
MGR Online | bit.ly/3PVeTUp
Politico | bit.ly/3RF5q50
PreventionWeb | bit.ly/3tgYOji
Reuters | bit.ly/3tdFVxy
Scientific American | bit.ly/3ta4dIK
Spiel Times | bit.ly/46bqR1U
The Guardian | bit.ly/48vb3ZA, bit.ly/3LHLxqh, bit.ly/3ZDa3yg, bit.ly/3rvmC26
United Nations | bit.ly/3RK1f8d
World Weather Attribution | bit.ly/45aFJMD
Yahoo News | bit.ly/3rFvDpk