‘กลาสโกว์’ สู่การเป็น ‘เมืองเฟมินิสต์’ - Urban Creature

เมือง ‘กลาสโกว์’ ประเทศสกอตแลนด์ คือหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา มีแหล่งช้อปปิงและร้านค้ากระจายอยู่ทั่ว ที่สำคัญยังเป็นเมืองขนาดใหญ่อันดับ 3 ของสหราชอาณาจักร ที่มาพร้อมความเจริญเกือบทุกด้าน ทำให้ผู้คนจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาตั้งรกรากที่นี่ จนทำให้กลาสโกว์มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเปิดกว้างสำหรับทุกคน

ทว่าความก้าวหน้าของกลาสโกว์ไม่ได้หยุดเพียงเท่านั้น เพราะล่าสุดเมืองที่ใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์ตั้งใจจะทำให้ ‘ผู้หญิง’ เป็นศูนย์กลางของการวางผังเมืองในทุกมิติ เพราะรัฐบาลของเมืองเชื่อว่า ‘การออกแบบเมืองที่ดีสำหรับผู้หญิง คือการออกแบบเมืองที่ดีสำหรับทุกคน’

คอลัมน์ City in Focus ชวนไปทำความเข้าใจว่า ‘เมืองสำหรับผู้หญิง’ หรือ ‘Feminist City’ หน้าตาเป็นอย่างไร พร้อมเจาะลึกถึงแผนการสู่การเป็นเมืองเฟมินิสต์แห่งแรกของสหราชอาณาจักร และท้ายที่สุดมูฟเมนต์นี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กลาสโกว์ในมิติไหนบ้าง

จุดเริ่มต้นของการออกแบบเมืองเพื่อผู้หญิง

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

เส้นทางสู่การเป็นเมืองเฟมินิสต์ของกลาสโกว์เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2565 หลังจากสภาเทศบาลเมืองกลาสโกว์มีมติเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ที่จะทำให้ ‘ผู้หญิง’ เป็นหัวใจสำคัญของการวางผังเมืองทุกมิติ โดยผู้ยื่นข้อเสนอนี้คือ ฮอลลี บรูซ (Holly Bruce) สมาชิกสภาจากพรรคกรีน (Green)

ความเคลื่อนไหวนี้ทำให้เมืองที่ใหญ่ที่สุดของสกอตแลนด์กลายเป็นเมืองแรกในสหราชอาณาจักรที่จะโอบรับ ‘แนวคิดการออกแบบเมืองแบบสตรีนิยม’ หรือ ‘Feminist Urbanism’

Feminist Urbanism หมายถึงการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมการไม่แบ่งแยก และการรวมความหลากหลายของคนทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน (Inclusivity) โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้หญิง กลุ่มคนที่ไม่คิดว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือเพศหญิง (Non-binary) และกลุ่มคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศที่แตกต่างไปจากเพศโดยกำเนิดของตนเอง (Genderfluid People) เป็นหลัก

เหตุผลที่ต้องออกแบบภูมิทัศน์เมืองโดยยึดผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นศูนย์กลาง เพราะเมืองส่วนใหญ่ทั่วโลกนั้นห่างไกลจากคำว่า ‘ความเป็นกลางทางเพศ’ (Gender-neutral) เนื่องจากในอดีต ‘ผู้ชาย’ คือผู้ออกแบบเมืองที่เราอาศัยอยู่ ส่งผลให้ดีไซน์และฟังก์ชันส่วนใหญ่ของตัวเมืองถูกพัฒนาให้รองรับและตอบโจทย์ความต้องการของคนกลุ่มนี้เสียส่วนใหญ่ ทำให้หลายๆ กรณีของความปลอดภัยและการเข้าถึงของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศมักถูกมองข้ามไป

“สภาเทศบาลเมืองกลาสโกว์ตกลงว่า การจะสร้างพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและครอบคลุมสำหรับผู้หญิง ทั้งยังเอื้อให้สมาชิกในชุมชนเข้าถึงการใช้งานได้ ต้องเกิดจากพื้นฐานสำคัญของการออกแบบที่ยึดผู้หญิงเป็นศูนย์กลางของการวางแผน การออกแบบพื้นที่สาธารณะ และการพัฒนานโยบายและงบประมาณทุกด้าน” ฮอลลี บรูซ อธิบาย

หน้าตาของเมืองเฟมินิสต์

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

หลายคนอาจกำลังนึกภาพตามว่า เมืองเฟมินิสต์ที่เราพูดถึงมีหน้าตาเป็นแบบไหน

ต้องอธิบายอีกครั้งว่า แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นการออกแบบเมืองเพื่อสตรี แต่ความจริงแล้วจุดประสงค์หลักของการออกแบบนี้คือ ‘การตอบสนองทุกความต้องการของคนทุกกลุ่ม’ ไม่ได้จำกัดแค่ผู้หญิงเท่านั้น เพื่อที่ประชาชนทุกเพศทุกวัยที่อาศัยอยู่ในเมืองนี้จะรู้สึกปลอดภัย มีอำนาจเท่าเทียมกัน และเข้าถึงบริการต่างๆ ได้เหมือนกัน

ตามข้อเสนอของฮอลลี บรูซ เมืองที่เท่าเทียมทางเพศคือ เมืองที่เดินได้ มีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยและพื้นที่สีเขียวที่เปิดโล่ง ที่สำคัญบริการต่างๆ ต้องเข้าถึงได้ง่ายและมีราคาที่จับต้องได้ เนื่องจากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เมืองมีสุขภาพที่ดีและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับทุกคน ทั้งยังมีผลกระทบเชิงบวกต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้อยู่อาศัย รวมถึงคุณภาพอากาศของตัวเมืองด้วย

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

ไม่เพียงเท่านั้น สภาเทศบาลเมืองกลาสโกว์ยังพบว่า ความเคลื่อนไหวนี้จะทำให้ผู้หญิงเข้ามามีโอกาสและบทบาททางการเมืองมากขึ้น เพราะท้ายที่สุดแล้ว พวกเธอจะเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของบรรดาผู้หญิง เพื่อขับเคลื่อนให้เมืองเฟมินิสต์เกิดขึ้นจริงได้

‘ฟังเสียงประชาชน’ คือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

ตอนนี้เมืองเฟมินิสต์ในแบบฉบับของกลาสโกว์ยังไม่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม เพราะสภาเทศบาลเมืองกลาสโกว์ตัดสินใจที่จะปรึกษาหารือและสอบถามความต้องการของสาธารณชนก่อนว่า พวกเขาอยากเห็นมาตรการหรือการพัฒนารูปแบบไหนในเมืองที่อาศัยอยู่ จากนั้นจึงค่อยดำเนินการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริงๆ

ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเมืองที่ฮอลลี บรูซ อยากให้เกิดขึ้นคือ ทางเท้าที่กว้างขึ้นและไฟส่องสว่างตามท้องถนนที่มากกว่านี้ รวมถึงการติดตั้งไฟส่องสว่างบริเวณจุดต่างๆ ของสวนสาธารณะเพิ่มเติม เพื่อให้หญิงสาวในกลาสโกว์ใช้งานและเดินทางผ่านพื้นที่สาธารณะเหล่านั้นได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การพัฒนาดังกล่าวต้องมาพร้อมมาตรการที่ปกป้องและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ในสวนสาธารณะด้วย

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

ความปลอดภัยในสวนสาธารณะคือความกังวลอันดับต้นๆ ที่ทางการกลาสโกว์ให้ความสำคัญ เนื่องจากรายงานของ Young Women LEAD กลุ่มที่จัดตั้งขึ้นโดยองค์กรไม่แสวงกำไร YMCA Scotland เมื่อปลายปี 2564 เปิดเผยว่า หลังจากเหตุการณ์ลักพาตัวและฆาตกรรม ‘ซาราห์ เอเวอราร์ด’ (Sarah Everard) ในกรุงลอนดอนเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ผลที่ตามมาทำให้ผู้หญิงและผู้ที่เป็น Non-binary จำนวนมากในกลาสโกว์รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่สบายใจระหว่างใช้บริการรถบัสหรือยืนอยู่บริเวณป้ายรถเมล์ ขณะเดียวกันก็มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 5 ใน 214 คนเท่านั้นที่รู้สึกปลอดภัยขณะอยู่ในสวนสาธารณะ

มากไปกว่านั้น ทางการกลาสโกว์ยังพิจารณาสร้างห้องน้ำสาธารณะเพิ่ม เนื่องจากเหตุการณ์ในช่วงโควิด-19 ได้สะท้อนให้เห็นว่า จำนวนห้องน้ำสาธารณะที่มีจำกัดส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงอย่างมาก ยกตัวอย่าง ผู้หญิงเดินทางไปสถานที่ต่างๆ ได้น้อยลง เพราะกังวลว่าจะไม่มีห้องน้ำสาธารณะให้ใช้ เนื่องจากสถานที่ส่วนใหญ่ต้องปิดชั่วคราวเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส

กลาสโกว์ ‘เมืองเฟมินิสต์’ แห่งแรกของสหราชอาณาจักร ที่รองรับการใช้งานของคนทุกกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม การออกแบบเมืองเพื่อผู้หญิงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้หลายเมืองทั่วโลกก็เคยมีโปรเจกต์เปลี่ยนเมืองให้โอบรับคนทุกเพศทุกวัยแล้วเช่นเดียวกัน

ตัวอย่างเช่น เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่เปลี่ยนหลายๆ พื้นที่ให้เป็นเขต ‘Superblocks’ ซึ่งเป็นบริเวณที่ปลอดจากการใช้รถยนต์ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อรองรับการใช้งานของคนเดินเท้าโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการใช้ระบบขนส่งมวลชนแบบมุมฉาก เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเมืองที่ต้องเดินทางและแวะหลายๆ ที่ภายในหนึ่งวัน รวมไปถึงดีเทลต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การควบคุมพื้นที่สีเขียวหรือต้นไม้ในเมืองไม่ให้บดบังไฟส่องสว่างตามท้องถนน การติดตั้งบูทต่อต้านการเหยียดเพศภายนอกไนต์คลับและเทศกาลต่างๆ การตั้งชื่อถนนให้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ตั้งตามชื่อบุคคลที่เป็นผู้ชายเท่านั้น เป็นต้น

อีกตัวอย่างคือ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่สร้างทางเท้าให้กว้างขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองที่เดินทางพร้อมรถเข็นเด็ก รวมไปถึงผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ สามารถเดินทางในเมืองได้อย่างสะดวกปลอดภัย ตลอดจนปรับเปลี่ยนระบบการขนส่งและภาษาที่ใช้ในการสื่อสารกับประชาชนให้เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม

ทางการกลาสโกว์ตั้งใจที่จะนำการพัฒนาแนวคิดจากเมืองต่างๆ ทั่วโลก มาปรับใช้ในการสร้างเมืองเฟมินิสต์ในแบบฉบับของตัวเอง เราเชื่อว่าในอนาคต กลาสโกว์จะเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีความก้าวหน้า และเป็นต้นแบบของการดีไซน์เมืองเพื่อคนทุกกลุ่มอย่างแน่นอน


Sources :
Cities Today | bit.ly/3p637vo
Euronews | bit.ly/44rN8bh
ITV News | bit.ly/3Lvg6hO
Pentor Exchange | bit.ly/41VI6Cg
Refinery29 | bit.ly/3HAEeym
The Scotsman | bit.ly/3APcqmk
Womanthology | bit.ly/41ZpSQu

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.