City for Women, City for All เมืองสำหรับผู้หญิง - Urban Creature

จะดีแค่ไหนถ้ามี ‘เมือง’ ที่ออกแบบเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของ ‘ผู้หญิง’ รอบด้าน

ผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตประจำวันอยู่บนความไม่แน่นอนตั้งแต่ก้าวเท้าออกนอกบ้าน ทั้งความเสี่ยงจากการเดินบนท้องถนนเปลี่ยวและคุณภาพแย่ ความไม่เท่าเทียมในที่ทำงาน ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เอื้อต่อภารกิจประจำวันของผู้หญิงที่ต้องทำหลายหน้าที่ในหนึ่งวัน เช่น ทำงาน ซื้อของเข้าบ้าน และดูแลลูก รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางเพศในพื้นที่สาธารณะ เช่น โดนผู้ชายปฏิเสธไม่ให้ใช้สนามกีฬาหรือพื้นที่ส่วนกลาง

ปัญหาเหล่านี้ส่วนหนึ่งมีปัจจัยจาก ‘การออกแบบเมือง’ ที่ไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งานที่เป็นผู้หญิงอย่างครบทุกมิติ ข้อมูลจาก Handbook for Gender-Inclusive Urban Planning and Design ของ World Bank ระบุว่า ตั้งแต่ในอดีต เมืองต่างๆ วางแผนและออกแบบเพื่อ ‘ผู้ชาย’ โดย ‘ผู้ชาย’ ซึ่งสะท้อนให้เห็น ‘ทัศนคติทางเพศ’ และ ‘บทบาททางเพศแบบดั้งเดิม’ ดังนั้น เมืองเหล่านี้จึงมีฟังก์ชันและดีไซน์ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้ชายมากกว่าผู้หญิงไปโดยปริยาย

นอกจากนี้ ข้อมูลยังเปิดเผยว่ามีผู้หญิงเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ที่มีตำแหน่งสูงสุดในสำนักงานวางผังเมืองและบริษัทสถาปัตยกรรมชั้นนำของโลก จึงไม่น่าแปลกใจที่การออกแบบพื้นที่สาธารณะจะไม่ค่อยคำนึงถึงหรือครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงและคนกลุ่มน้อยทางเพศเท่าที่ควร

คอลัมน์ Urban Sketch จึงอยากลองออกแบบ ‘เมืองสำหรับผู้หญิง’ เพื่อสร้างสมดุลและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยเน้นไปที่การออกแบบพื้นที่สาธารณะที่คำนึงถึง ‘ความปลอดภัย’ ‘ความเท่าเทียม’ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ และ ‘ความยั่งยืน’

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการดำเนินชีวิตของผู้หญิง โดยเน้นให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ไม่ใช่การสร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงมีสิทธิเหนือคนกลุ่มอื่น เพราะเราเชื่อว่าหากผู้หญิงเข้าถึงความต้องการพื้นฐานได้อย่างอิสระ ความเท่าเทียมก็จะเกิดขึ้น และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีของสังคมภาพรวมในที่สุด

 01 | ถนนปลอดภัยที่เป็นมิตรและเอื้อให้สังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตา

City for Women, City for All ดีไซน์เมืองสำหรับผู้หญิง

ในแต่ละวันผู้หญิงในประเทศไทย โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และวัยทำงาน ต้องใช้ถนน ตรอก และซอย เพื่อเดินทางไปจุดหมายต่างๆ ทำให้เสี่ยงตกเป็นเหยื่อของ ‘อาชญากรรม’ และ ‘การคุกคามทางเพศบนท้องถนน (Street Harassment)’ สถิติในปี 2560 เปิดเผยว่า จากผู้หญิงกว่า 1,000 คน มี 86 เปอร์เซ็นต์ถูกคุกคามทางเพศในที่สาธารณะ ตั้งแต่การคุกคามทางสายตา คำพูด การสัมผัส การกรีดกระโปรง การสะกดรอยตาม ไปจนถึงการโชว์อวัยวะเพศ

แนวคิดแรกจึงเป็นการออกแบบ ‘ถนน’ ที่ปลอดภัย กว้างขวาง และเป็นมิตรกับผู้ใช้งาน เริ่มจากการสร้างทางเท้าให้ใหญ่ เรียบ และแข็งแรง ช่วยให้ผู้คนเดินได้สะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องเดินหลบเสาไฟ ถังขยะ ต้นไม้ หรือเจอปัญหาฟุตพาทเป็นหลุมบ่อและมีน้ำขัง รวมถึงเพิ่มเสาไฟเพิ่มความสว่างให้ถนน นอกจากจะทำให้คนใช้ถนนรู้สึกปลอดภัยแล้ว ความสว่างยังเอื้อให้คนที่อยู่ในตึกหรืออาคารมองเห็นความเคลื่อนไหวบนท้องถนนด้วย 

สำหรับการใช้งาน เราได้เพิ่มม้านั่งหลายตัว รวมถึงทางลาดสำหรับรถเข็นวีลแชร์ เพื่อเปลี่ยนถนนเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้คนทุกกลุ่มพบปะหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ เช่น ปิกนิก อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย เป็นต้น ที่สำคัญ การที่ผู้คนใช้ถนนมากขึ้นอาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ย่านหรือพื้นที่นั้นๆ ปลอดภัยไปในตัว เพราะทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และสังเกตสถานการณ์ผิดปกติได้ง่าย 

การออกแบบถนนที่ปลอดภัยถูกพูดถึงกันมานานแล้ว อ้างอิงจากหนังสือ The Death and Life of Great American Cities (1961) ของ Jane Jacobs นักเขียนด้านการวางผังเมืองชื่อดัง ที่ระบุว่า ถนนจะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ ก็ต่อเมื่อมี ‘ดวงตา’ ของผู้คนอยู่บนถนน แต่ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ก็ยังนำแนวคิดนี้มาปรับใช้กับการดีไซน์เมืองไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 

ทั้งนี้ ถนนที่คนพลุกพล่านอาจไม่ทำให้ถนนปลอดภัยเสมอไป เราจึงติดตั้ง ‘กล้องวงจรปิด’ ไว้ทั่วพื้นที่ เพื่อบันทึกเหตุการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง โดยวิดีโอที่บันทึกไว้จะถูกใช้เป็นหลักฐาน หากเกิดเหตุทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิดทางเพศ หรือชิงทรัพย์ 

ส่วนอาคารโดยรอบ เราออกแบบให้เป็น ‘Human Scale Building’ หรือตึกที่มีสัดส่วนที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างรอบด้าน เป็นการออกแบบตึกให้มีขนาดพอดีและไม่ใหญ่จนอึดอัด ช่วยให้ผู้คนมีทัศนียภาพที่ดี และใช้พื้นที่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

มากไปกว่านั้น เรายังให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาถนน (Street Maintenance) เพื่อรักษาความสะอาด และจัดต้นไม้ให้เป็นระเบียบ เพราะคุณภาพของถนนมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ถนนที่สกปรกและเละเทะอาจอันตรายและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย

ทั้งนี้ เราเชื่อว่าผู้อยู่อาศัยควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาถนนและคุณภาพชีวิตของตัวเอง เราจึงนำเทคโนโลยี ‘Crowdsourcing’ มาใช้เพื่อรวบรวมข้อมูล ไอเดีย และปัญหาเกี่ยวกับถนนจากผู้ใช้งานทั่วไป ตัวอย่างแอปพลิเคชันที่ต้องการรณรงค์ให้คนใช้อย่างแพร่หลายก็คือ ‘Safetipin’ ที่ออกแบบให้ผู้หญิงและคนทุกเพศรีวิวและให้คะแนนเส้นทางต่างๆ ในเมืองได้ เพื่อให้คนอื่นรู้ว่าเส้นทางไหนปลอดภัย และเส้นทางไหนควรหลีกเลี่ยง 

การให้คะแนนครอบคลุมทั้งเรื่องความสว่าง ความกว้างขวาง ความปลอดภัย คุณภาพทางเท้า จำนวนผู้คนในพื้นที่ ไปจนถึงระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ใกล้ที่สุด แอปพลิเคชันนี้ช่วยให้ผู้หญิงไม่ต้องเสี่ยงใช้เส้นทางใหม่ที่อาจเป็นอันตราย ดังนั้น การนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยให้เมืองปลอดภัย อัจฉริยะ และเป็นมิตรต่อผู้คนมากขึ้นแน่นอน

 02 | ระบบขนส่งมวลชนที่ส่งเสริมทุกการเดินทางของผู้หญิง

City for Women, City for All ดีไซน์เมืองสำหรับผู้หญิง

ข้อมูลจากวารสาร งานวิจัย และผลสำรวจ เช่น Science Direct, Stanford University และ American Community Survey ชี้ว่า ทั่วโลกมีจำนวนผู้หญิงใช้ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ มากกว่าผู้ชาย โดยส่วนใหญ่ผู้หญิงใช้ระบบขนส่งมวลชนเพื่อเป้าหมายที่แตกต่างกัน เช่น ไปทำงาน เจอเพื่อน ช้อปปิง และกินข้าวนอกบ้าน ขณะที่ผู้ชายส่วนใหญ่ทำกิจกรรมเหล่านี้โดยใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นหลัก 

นอกจากนี้ ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังเดินทางแบบ ‘Trip Chain’ ซึ่งเป็นการเดินทางโดยเปลี่ยนระบบขนส่งสาธารณะหลายประเภท เพราะในแต่ละวันผู้หญิงต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ เช่น ซื้อของเข้าบ้าน รับส่งลูก และดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นต้น เมื่อความรับผิดชอบส่วนใหญ่ตกเป็นของผู้หญิง การเดินทางของพวกเธอจึงหลากหลาย ซับซ้อน และถี่กว่าผู้ชาย ซึ่งปัญหานี้เกิดขึ้นจากการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะโดยผู้ชาย ที่ไม่ได้คิดมาเพื่อการเดินทางของผู้หญิงอย่างรอบด้าน

ดังนั้น เราจึงออกแบบระบบขนส่งสาธารณะที่ตอบโจทย์การเดินทางอันแสนเหน็ดเหนื่อยของผู้หญิง เริ่มจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวของรถไฟและรถเมล์ ทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน เพื่อรองรับภารกิจในชีวิตประจำวันของผู้หญิงทุกคน

สำหรับรถไฟ เราเพิ่มจำนวนขบวนรถไฟสำหรับผู้หญิงและเด็ก เพื่อเพิ่มความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะคนที่เดินทางคนเดียว ส่วนบนรถเมล์แต่ละคัน เราเพิ่มไฟ ที่วางของ และที่วางรถเข็นเด็ก ที่ช่วยให้คุณแม่พร้อมลูกๆ เดินทางง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ สำหรับการเดินทางโดยรถไฟและรถเมล์ทั่วเมือง ได้แก่ ไฟบริเวณสถานี ลิฟต์ไปยังแพลตฟอร์มยกระดับและชั้นใต้ดิน ม้านั่งที่วางของได้ ทางเท้าที่กว้างขวาง ปุ่มกดฉุกเฉิน ราวจับที่สัดส่วนเหมาะสมกับผู้หญิง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงที่เดินทางพร้อมรถเข็นเด็กโดยเฉพาะ

สำหรับผู้หญิงหรือคนที่ยังต้องเดินทางแบบ Trip Chain เราได้เพิ่ม ‘Public Capsule’ ซึ่งเป็นห้องพักสาธารณะที่โปร่งใสและกักเก็บความเย็นไว้ตามจุดต่างๆ ทั่วเมือง โดยเฉพาะบริเวณเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยนั่งพัก ทำให้การเดินทางระหว่างวันผ่อนคลายและไม่อัดแน่นจนเกินไป

03 | ห้องน้ำสาธารณะที่มีดีไซน์เอกลักษณ์และเพียงพอสำหรับทุกกรณีฉุกเฉิน

City for Women, City for All ดีไซน์เมืองสำหรับผู้หญิง

เวลาอยู่นอกบ้านหรือระหว่างเดินทาง หลายคนอาจเคยต้องเข้าห้องน้ำกะทันหัน ทว่า ‘ห้องน้ำสาธารณะ’ ที่สะอาดและปลอดภัยกลับหาได้ยาก บางแห่งเก็บเงินค่าเข้า ส่วนรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินก็ไม่มีห้องน้ำสำหรับประชาชนในทุกสถานี ดังนั้น ผู้คนส่วนใหญ่จึงเลือกใช้ห้องน้ำของศูนย์การค้าหรือปั๊มน้ำมันที่ใกล้ที่สุด เพราะมีห้องน้ำเพียงพอ สะอาด ปลอดภัย และฟรี

เราจึงออกแบบเมืองที่มีห้องน้ำสาธารณะกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ เพื่อให้ผู้หญิงและประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงห้องน้ำสะอาดและปลอดภัยโดยไม่เสียเงินสักบาท โดยเน้นสร้างห้องน้ำใกล้กับพื้นที่สาธารณะ เช่น ป้ายรถเมล์ สถานีรถไฟฟ้า สถานีรถไฟใต้ดิน รวมไปถึงถนนสายสำคัญที่มีผู้คนพลุกพล่าน 

นอกจากนี้ เรายังนำไอเดียสนุกๆ มาดีไซน์ให้ห้องน้ำสาธารณะแต่ละแห่งมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป เช่น ห้องน้ำที่โปร่งใสเมื่อไม่มีคนใช้งาน ห้องน้ำทรงกลม ห้องน้ำปูนเปลือย เป็นต้น ทำให้ห้องน้ำเหล่านี้กลายเป็นสถาปัตยกรรมสาธารณะที่ทำให้เมืองเก๋และมีสไตล์มากขึ้น

นอกจากความสะอาดและการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ เรายังติดตั้ง ‘ตู้แจกผ้าอนามัยฟรี’ ไว้ที่ห้องน้ำสาธารณะทุกแห่ง เพื่อส่งเสริมสุขภาพทางเพศและการเข้าถึงผ้าอนามัย เพราะผู้หญิงไม่ควรแบกรับราคาและค่าใช้จ่าย เพียงเพราะพวกเธอมีประจำเดือน

มากไปกว่านั้น ห้องน้ำแต่ละแห่งมาพร้อมกับ ‘พื้นที่พักผ่อน’ ที่มีหลังคาและไฟให้ความสว่าง สำหรับยืนรอหรือพูดคุยกัน เหมาะกับกลุ่มผู้หญิงที่นิยมเข้าห้องน้ำเป็นกลุ่ม และจะช่วยส่งเสริมเมืองให้น่าอยู่และปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ที่สำคัญ ห้องน้ำสาธารณะทุกแห่งยังมีอุปกรณ์ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับคุณแม่ลูกอ่อน เช่น โต๊ะรองเปลี่ยนผ้าอ้อม แผ่นสำหรับยืนพร้อมราวจับ ชักโครกสำหรับเด็ก และพื้นที่ที่กว้างพอสำหรับวางรถเข็นเด็ก เมื่อคุณแม่ต้องเข้าห้องน้ำพร้อมลูกๆ เป็นต้น

04 | พื้นที่สาธารณะที่มาพร้อมฟังก์ชันเพื่อคนทุกเพศและทุกวัย

City for Women, City for All ดีไซน์เมืองสำหรับผู้หญิง

เราเชื่อว่า ‘พื้นที่สาธารณะ’ คือสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้ประชาชนมีพื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนและทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่ที่บ้านพักหรือคอนโดมิเนียมมีพื้นที่จำกัด 

แม้ประเทศไทยมีพื้นที่สาธารณะหลายแห่ง แต่ฟังก์ชันอาจยังไม่มากพอหรือไม่ตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม เพราะพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ อย่างสนามฟุตบอลและสนามบาสเกตบอล มักจับจองโดยกลุ่มผู้ชายที่ใช้พื้นที่เป็นประจำ ทำให้ผู้หญิง เด็ก ผู้สูงอายุ หรือคนที่ไม่ได้อยู่ย่านนั้น ไม่มีโอกาสใช้พื้นที่ตามต้องการได้

ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ข้อมูลจากทางการกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เปิดเผยว่า เด็กในเวียนนามีบทบาทและใช้พื้นที่สาธารณะตามเพศของพวกเขา เด็กผู้ชายมักอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ เสียงดัง และได้ทำกิจกรรมที่พวกเขาสนใจ ในขณะที่เด็กผู้หญิง เด็กเล็ก และผู้สูงอายุอาจทำเช่นนั้นไม่ได้ ผลสำรวจระบุว่า เด็กผู้หญิง 70 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า ตัวเองไม่ควรขอแบ่งพื้นที่ที่เด็กผู้ชายที่อายุมากกว่ากำลังใช้งาน พวกเธอจึงไม่อยากมีส่วนร่วมกับกิจกรรมเหล่านี้ ขณะที่เด็กผู้หญิง 82 เปอร์เซ็นต์ที่ขอใช้พื้นที่เคยโดนปฏิเสธ และการปฏิเสธมักมาพร้อมกับ ‘การดูหมิ่นทางเพศ (Sexual Insults)’ ไปจนถึง ‘การล่วงละเมิดทางเพศ (Sexual Aggression)’

การออกแบบพื้นที่สาธารณะของเราจึงตั้งอยู่บนแนวคิด ‘ความเท่าเทียม’ เพื่อให้พื้นที่รองรับกิจกรรมของคนทุกเพศ ซึ่งประโยชน์จะครอบคลุมไปถึงคนทุกวัยด้วย เริ่มด้วยการดีไซน์ ‘พื้นที่สาธารณะแบบผสมผสาน (Mixed-used Public Space)’ ที่มาพร้อมฟังก์ชันรองรับการพักผ่อนและออกกำลังกาย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มอาหาร ซุ้มเครื่องดื่ม สนามบาสเกตบอล สนามแบดมินตัน สนามเด็กเล่น ที่เช่าจักรยาน เลนจักรยาน เป็นต้น ที่สำคัญ ที่นี่ยังเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ทำให้คนทุกเพศทุกวัยออกกำลังกายและพักผ่อนเวลาไหนก็ได้โดยไม่ต้องแย่งกัน

ส่วนบริเวณโดยรอบ เราได้ออกแบบรั้วและกำแพงเตี้ย เพื่อให้ผู้ใช้งานมองเห็นบริเวณข้างนอกได้ชัดเจน ในทางกลับกันคนที่อยู่ภายนอกก็มองเห็นพื้นที่ข้างในได้ง่ายขึ้นด้วย นอกจากนั้น เรายังติดตั้งไฟและป้ายต่างๆ เกี่ยวกับการใช้พื้นที่ โดยทั้งหมดจะช่วยให้พื้นที่สาธารณะปลอดภัยมากขึ้น

05 | โฮสเทลใจกลางเมืองมาพร้อมคอนเซปต์สำหรับ Working Woman

City for Women, City for All ดีไซน์เมืองสำหรับผู้หญิง

ในอดีตหลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รวมถึงไทย มี ‘ค่านิยมทางเพศ’ ที่ก่อให้เกิด ‘ความไม่เท่าเทียมทางเพศ’ เช่น เด็กผู้ชายจะมีโอกาสเรียนหนังสือมากกว่าเด็กผู้หญิง ผู้ชายต้องทำงานนอกบ้านเพราะเป็นหัวหน้าครอบครัว ส่วนผู้หญิงที่มีโอกาสทำงาน หากแต่งงานก็ต้องลาออกมาเลี้ยงลูก และดูแลสามี รวมไปถึงการทำงานบ้านทั้งหมด

แม้ปัจจุบันค่านิยมทางเพศจะสนับสนุนความเท่าเทียม และผู้หญิงส่วนใหญ่จะทำงานนอกบ้านอย่างอิสระได้แล้ว แต่ก็ยังต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมหลายรูปแบบ เช่น เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย มีโอกาสเลื่อนตำแหน่งยากกว่าผู้ชาย รวมถึงการถูกละเมิดทางเพศ เหยียดเชื้อชาติ ไปจนถึงต้องทำงานหนักกว่าผู้ชาย 

ข้อมูลจากสหประชาชาติ (United Nations) ในปี 2558 เปิดเผยว่า โดยทั่วไปผู้หญิงทำงาน ‘เท่ากับ’ หรือ ‘มากกว่า’ ผู้ชาย แต่หากคำนวณรวมทั้ง ‘งานที่ได้ค่าตอบแทน (Paid Job)’ และ ‘งานที่ไม่ได้ค่าตอบแทน (Unpaid Job)’ เช่น งานบ้านและเลี้ยงลูก พบว่าในแต่ละวันผู้หญิงมีชั่วโมงทำงานนานกว่าผู้ชาย ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้หญิงต้องทำงานนานกว่าผู้ชายเฉลี่ย 30 นาทีต่อวัน ขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนา ตัวเลขดังกล่าวมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 50 นาทีต่อวัน

เรานำปัญหาการทำงานยุคปัจจุบันมาพัฒนา ต่อยอด และออกแบบเป็น ‘โฮสเทล’ ใจกลางเมืองที่จะช่วยให้ผู้หญิงทำงานได้อย่างคล่องตัว สร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ แถมยังได้พักผ่อนไปในตัวด้วย โฮสเทลแห่งนี้จำกัดเฉพาะผู้เข้าพักที่เป็นผู้หญิงเท่านั้น ช่วยให้ผู้หญิงทุกคนรู้สึกอุ่นใจ ปลอดภัย และมีความเป็นส่วนตัว

ในส่วนของ ‘ห้องพัก’ เราได้ติดตั้งเตียงสองชั้นเหมือนโฮสเทลหลายๆ แห่งทั่วโลก เพราะต้องการให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนมาเที่ยว และมีโอกาสทำความรู้จักผู้เข้าพักคนอื่นๆ การพักที่โฮสเทลแห่งนี้จึงได้ทั้งประสบการณ์ และยังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนใหม่

เนื่องจากเราออกแบบโฮสเทลแห่งนี้เพื่อรองรับผู้หญิงวัยทำงานเป็นหลัก ที่นี่จึงมาพร้อม ‘โซนทำงาน’ ที่ผู้เข้าพักใช้ทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนกลางมีทั้งโต๊ะใหญ่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยน และโต๊ะเดี่ยวสำหรับคนที่ต้องการสมาธิ ที่สำคัญ ห้องนี้ยังติดตั้ง ‘ตู้ทำงาน’ ที่เพิ่มความเป็นส่วนตัวแบบสูงสุด ให้คนที่ต้องการความเงียบและไม่อยากส่งเสียงรบกวนคนอื่น ขณะคุยโทรศัพท์หรือประชุมออนไลน์

ไม่ว่าทำงานหนักแค่ไหน ทุกคนก็ต้องการพักผ่อน เราจึงมี ‘โซนพักผ่อน’ ที่พร้อมรองรับผู้หญิงที่อยากคลายเครียด หรือใช้เวลาสนุกๆ ร่วมกับผู้อื่น มีตั้งแต่ตู้เกม ตู้เพลง เป้าปาลูกดอก โต๊ะฟุตบอลมือหมุน มุมเล่น Play Station ไปจนถึงมุมอ่านหนังสือ นอกจากนั้น เรายังตกแต่งห้องกิจกรรมด้วยสีสันสดใสและเฟอร์นิเจอร์นั่งสบาย เพื่อให้ผู้เข้าพักได้พักผ่อนในบรรยากาศที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

การออกแบบโฮสเทลสำหรับผู้หญิงในใจกลางเมืองจึงเหมาะกับคนที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศ Work from Home หรืออยากรู้จักคนใหม่ๆ ที่สำคัญ โฮสเทลแห่งนี้ยังมีประโยชน์สำหรับผู้หญิงที่บ้านอยู่ไกล และต้องเข้ามาทำงานในเมืองชั่วคราว พวกเธอจะได้มีพื้นที่ปลอดภัยและได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ไปในตัว

Sources :
City of Vienna | t.ly/7FEg
HERE360 | t.ly/b3pt
Matichon |t.ly/5f9v
Public Space Redesigned | t.ly/IUTBN
ScienceDirect | t.ly/OmUH
Studio Alternativi | t.ly/VIcy, t.ly/zVsnM
Sustainable Mobility | t.ly/3fcy
The Guardian | t.ly/u3rB
United Nations | t.ly/yp0L
World Bank | t.ly/tgSC

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.