กรุงเทพฯ รับมือแผ่นดินไหวอย่างไรบ้าง - Urban Creature

อาคารสั่นคลอน อาการวิงเวียน ที่พักอาศัยเสียหาย

ทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ แม้จุดเกิดเหตุจะไม่ได้เกิดขึ้นโดยตรงในประเทศไทย แต่ด้วยแรงสั่นสะเทือนที่สูงถึง 7.7 แมกนิจูด ส่งผลให้คนเมืองผู้แทบไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อนรับรู้ถึงความสั่นไหว และกลายเป็นผู้ประสบภัยในเวลาเพียงไม่กี่นาที

นอกเหนือจากความตื่นตระหนกตกใจแล้ว แรงสั่นสะเทือนยังสร้างความเสียหายในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ทั้งที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานที่อาจไม่ได้คำนึงถึงการเผชิญหน้ากับแผ่นดินไหวรุนแรงแบบนี้มาก่อน

และด้วยความที่เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีที่คนกรุงเทพฯ ต้องเจอกับแผ่นดินไหว ก่อให้เกิดความสับสนในการรับมือสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า วิธีการป้องกันตัวเอง ความปลอดภัยของการใช้ชีวิตในอาคาร หรือกระทั่งการใช้เส้นทางจราจรเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินที่ไม่เคยมีใครให้ข้อมูลมาก่อนว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรหากเจอเหตุการณ์แบบนี้

คอลัมน์ Report จะพาไปสำรวจว่า ในเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน กรุงเทพฯ ต้องเจอกับปัญหาในการรับมือสถานการณ์แบบไหนบ้าง มีการจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไร และประเทศไทยสามารถนำวิธีการเตรียมพร้อมป้องกันภัยจากประเทศที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยพิบัติเหล่านี้อยู่บ่อยครั้งมาปรับใช้ได้มากน้อยแค่ไหน

ปัญหาเมืองที่เกิดขึ้นในวันภัยพิบัติ

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์กลางที่เมียนมาเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นอกจากปัญหาเรื่องตึกสูง ที่อยู่อาศัย และความปลอดภัยในเมืองของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นได้จากโครงสร้างอาคารที่เกิดรอยแตก รอยร้าว หรือแย่ไปกว่านั้นคือ เศษโครงสร้างอาคารหลุดล่อนออกมา จนทำให้หลายคนหวาดผวาไปกับการใช้ชีวิตบนตึกสูงแล้ว สถานการณ์ในวันนั้นยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาระบบขนส่งในเมือง รวมถึงพื้นที่อพยพที่ไม่สามารถรองรับชาวกรุงได้

เสียงบ่นอื้ออึงของคนกรุงหลังสถานการณ์แผ่นดินไหวคือ เรื่องถนนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยรถยนต์ รถเมล์ รถจักรยานยนต์ที่แน่นิ่ง ไม่ขยับ รถเคลื่อนตัวได้เพียง 13 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และแออัดยาวนานขนาดที่แผ่นดินไหวผ่านไปแล้ว 8 ชั่วโมง การจราจรก็ยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ

รวมถึงเหล่าขนส่งสาธารณะระบบรางอย่าง BTS และ MRT ที่ต้องปิดให้บริการเนื่องด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งจากสถิติจำนวนผู้โดยสารของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) ปี 2568 เดือนมกราคม มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 483,739 คน และเดือนกุมภาพันธ์ มีผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 463,539 คน และสถิติผู้ใช้งานรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท/สีลม ณ วันศุกร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2566 อยู่ที่ 924,828 คนต่อวัน ก็พอทำให้เห็นภาพว่า การปิดให้บริการนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้างมากแค่ไหน

รถเมล์ติดยาวไม่ขยับ

แท็กซี่เรียกแล้วไม่ยอมไป

แอปพลิเคชันการเดินทางต่างๆ ไม่มีใครรับ

BTS และ MRT ขึ้นไม่ได้

แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ ภัยพิบัติ การจัดการ การรับมือ เ

ฟังแค่นี้ก็เหมือนโลกดิสโทเปียแล้ว เพราะนั่นแปลว่าในสถานการณ์จำทนแบบวันแผ่นดินไหวที่ชาวกรุงไม่สามารถเดินทางกลับบ้านด้วยขนส่งสาธารณะ รวมถึงรถบนถนนที่ติดนานกว่า 8 ชั่วโมง ทำให้คนจำนวนมากต้องสละรถยนต์และตัดสินใจเดินเท้ากลับบ้านแทน

เราจึงมีโอกาสเห็นชาวเมืองอัดคลิปตนเองเดินเท้ากลับบ้านลงโซเชียลมีเดีย เพื่อบันทึกจำนวนก้าวเดินที่เกือบมากที่สุดในชีวิตเอาไว้เป็นประวัติศาสตร์

แม้ในวันนั้นจะมีขนส่งทางเลือกอย่างเรือด่วนหรือเรือโดยสารคลองแสนแสบที่ขยายเวลาให้บริการถึงประมาณ 20.00 น. แต่กลับไม่เป็นตัวเลือกแรกๆ หรือวิธีการเดินทางที่คนกรุงเลือกใช้มากนัก

นอกเหนือจากปัญหาการเดินทางกลับบ้านที่แทบเป็นไปไม่ได้ การใช้ชีวิตในวันเกิดภัยพิบัติในกรุงเทพฯ ยังมีความยากลำบากอื่นๆ อีก นั่นคือ การไร้พื้นที่อพยพและแผนการอพยพอย่างจริงจัง คนจำนวนมากจึงออกมายืนอย่างไร้จุดหมายบริเวณหน้าตึกสูง รวมถึงอาคารที่ไม่สูง เนื่องจากเราไม่เคยเตรียมตัวรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินหรือภัยพิบัติมาก่อน ทำให้ไม่มีข้อบ่งชี้ว่ากรณีใดควรออกนอกอาคารหรือบ้านเรือนบ้าง

พื้นที่และแผนการอพยพนับเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ควรถูกหยิบมาพูดคุยกัน ทั้งในกรณีพื้นที่โล่งกว้างที่เหมาะกับการเป็นสถานที่พักพิงในเวลาที่เข้าตึกไม่ได้ รวมถึงพื้นที่อพยพ (Evacuation Area) ที่มีขนาดใหญ่และเหมาะสมกับแต่ละสถานที่ ทั้งคอนโดมิเนียม ตึกสำนักงาน และห้างสรรพสินค้าต่างๆ ที่มีผู้เข้าใช้งานแต่ละวันจำนวนมาก

เมืองไร้แบบแผน ระบายคนไร้ทิศทาง

สาเหตุที่หลังแผ่นดินไหวเกิดเหตุการณ์รถล้น ระบายคนไม่ทันเช่นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแต่เดิมกรุงเทพฯ มีการขยายตัวอย่างไร้แบบแผน อีกทั้งผังเมืองไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่งผลให้เมืองมีความเปราะบางต่อภัยพิบัติ เนื่องจากกรุงเทพฯ มีลักษณะโครงสร้างถนนแบบก้างปลา ทำให้กว่า 45 เปอร์เซ็นต์ของความยาวถนนทั้งหมดเป็นซอยตันที่มักควบคู่มากับการเป็นซอยแคบ จึงไม่มีเส้นทางระบายคนออกนอกพื้นที่ได้เท่าที่ควร

อีกทั้งเมื่อไปดูตัวเลขประชากรกรุงเทพฯ ที่อยู่ในทะเบียนบ้านที่มีทั้งหมด 5,527,994 คน พบว่า ความหนาแน่นของประชากรกรุงเทพฯ เฉลี่ยประมาณ 5,294.3 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และสูงสุดถึง 22,243.2 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ซึ่งถ้ารวมประชากรแฝงที่ไม่ปรากฏในทะเบียนและคนที่เดินทางมาทำงานในตอนกลางวัน อันเนื่องมาจากการกระจุกตัวของแหล่งงานบริเวณใจกลางเมือง ในขณะที่พื้นที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้อยู่ออกไปนอกเมืองด้วยแล้ว คาดว่าจะมีความหนาแน่นสูงถึงเกือบเท่าตัวของประชากรที่ปรากฏในทะเบียนบ้านเลยทีเดียว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อขนส่งสาธารณะระบบรางหยุดชะงัก บวกกับขนส่งสาธารณะประจำทางอย่างรถเมล์และเรือที่ไม่ครอบคลุมไปยังเส้นเลือดฝอยของเมือง แท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างบนท้องถนนเลยกลายเป็นทางเลือกที่หลายคนแย่งกันใช้ จนส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัด

แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ ภัยพิบัติ การจัดการ การรับมือ เ

สุดท้ายหลายคนจึงจำใจเดินเท้าไปยังจุดหมายปลายทางที่พักอาศัยที่อาจอยู่ห่างออกไปถึงอีกฟากฝั่งเมือง ซึ่งกรุงเทพฯ เองไม่ได้ถูกออกแบบมาเป็น Walkable City ที่ส่งเสริมการเดินเท้า (Walkability) มิหนำซ้ำยังมีทางเท้าที่ไม่เอื้อต่อการเดินระยะทางไกลๆ อีก

จากการสำรวจพบว่า ความกว้างเฉลี่ยของทางเท้ากรุงเทพฯ อยู่ที่ 1.75 เมตร และทางเท้าหลายแห่งแคบเล็กกว่ามาตรฐาน หรือแม้กระทั่งไม่มีทางเท้าในบางพื้นที่ ส่งผลให้กรุงเทพฯ มีสัดส่วนทางเท้าเพียง 5 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ถนนทั้งหมด ทั้งๆ ที่ความกว้างของทางเท้ามาตรฐานไม่ควรต่ำกว่า 3 เมตร อีกทั้งระหว่างทางยังเต็มไปด้วยอุปสรรคที่ทำให้การเดินเป็นไปอย่างยากลำบาก เช่น ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา ทางเท้าพังหรืออยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์ มีสิ่งกีดขวางตลอดเส้นทาง เป็นต้น

และเป็นที่รู้กันว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย สิ่งที่ควรทำคือออกไปอยู่ในที่โล่งกว้าง ว่าแต่ตรงไหนละคือที่โล่งกว้างใกล้ฉัน เพราะในปัจจุบันกรุงเทพฯ มีพื้นที่โล่งไม่ถึง 5 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน ทำให้หันมองไปทางไหนก็มีแต่ตึกสูงน่าหวาดเสียว แถมในบรรดาพื้นที่โล่งที่เข้าถึงได้ส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เอกชนที่นักลงทุนภาคเอกชนต้องการแสวงหาประโยชน์และกำไรให้คุ้มค่ากับราคาที่ดินใจกลางเมือง ส่งผลให้การอพยพคนออกจากอาคารหรือจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวทำได้ยาก

ที่เป็นเช่นนี้เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่ ‘Resilient City’ หรือเมืองที่มีความพร้อมและความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็วหากเกิดการเปลี่ยนแปลงมากเท่าที่ควร หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ Resilient City จึงได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูดถึงมากขึ้นเพื่อหาทางออกให้กับเมืองและผู้คน ว่าเราจะรับมือ ปรับตัว ฟื้นฟูจากวิกฤติและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างไรหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

การจัดการและความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐ

ตึกสูงหลายแห่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากเหตุการณ์นี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยอย่างคอนโดมิเนียม บางแห่งได้รับความเสียหายหนักจนทำให้ผู้อาศัยไม่สามารถกลับเข้าที่พักได้ รวมไปถึงความกังวลว่าจะเกิด After Shock ตามมาในภายหลัง หรือแม้แต่สภาพจิตใจที่ไม่พร้อมเข้าไปอาศัยในห้องเดิม

แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ ภัยพิบัติ การจัดการ การรับมือ เ

อย่างที่ทราบว่าที่โล่งกว้างในเมืองหาได้ยาก ทางกรุงเทพมหานครจึงเปิด 5 สวนสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ สวนลุมพินี, สวนเบญจสิริ, สวนเบญจกิติ, สวนจตุจักร และสวนสันติภาพ เพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบใช้พื้นที่เหล่านี้พักสภาพจิตใจในระหว่างหาที่อยู่ชั่วคราว

ขณะเดียวกัน ทางกรุงเทพมหานครได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวอีก 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์บริการผู้สูงอายุดินแดง, บ้านพักผู้สูงอายุบึงสะแกงาม, บ้านพักผู้สูงอายุบางแค, บ้านพักผู้สูงอายุดินแดง, ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) อาคารกีฬาเวสน์ 1 รองรับและอำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับผลกระทบด้วย รวมถึงร่วมมือกับ Airbnb.org องค์กรไม่แสวงหากำไรของ Airbnb เพื่อสนับสนุนที่พักอาศัยให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ผ่านการกรอกฟอร์มขอความช่วยเหลือกับทางกรุงเทพมหานคร

ส่วนแผนการช่วยเหลือเพื่อการอยู่อาศัยระยะยาวในอนาคต ทางกรุงเทพมหานครได้จัดทำข้อมูลการประเมินความปลอดภัยในห้องกับอาคารให้ประชาชนนำไปตรวจสอบที่อยู่อาศัยด้วยตัวเอง และเพิ่มฟังก์ชันแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับรอยร้าว ความเสียหายในที่พักอาศัยผ่านทาง Traffy Fondue เพื่อให้ทางวิศวกรอาสาเข้าไปช่วยดูแล ประเมินความเสียหาย เป็นแนวทางแก้ไขและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการกลับไปอาศัยในที่พักของตัวเอง

นอกจากนี้ยังมีการเยียวยาด้านค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยประชาชนที่ได้รับความเสียหายสามารถทำเรื่องขอรับเงินสนับสนุนผ่านการดาวน์โหลดแบบคำร้องขอรับความช่วยเหลือที่เว็บไซต์สำนักงานเขต หรือเว็บไซต์ของ กทม. และยื่นเอกสารคำร้องและหลักฐานที่ฝ่ายปกครองสำนักงานเขต ซึ่งการช่วยเหลือจะเป็นไปตามการประเมินของคณะกรรมการระดับเขตพื้นที่ ดังนี้

1) ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ จ่ายตามจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท

2) ค่าที่พักอาศัยชั่วคราวหรือค่าเช่าบ้าน จ่ายเฉพาะอาคารที่ กทม.ประกาศระงับการใช้ และไม่ได้เข้าไปอยู่ในศูนย์พักพิงที่ กทม.จัดสรร เป็นเงินค่าเช่าบ้านเดือนละ 3,000 บาท ไม่เกิน 2 เดือน เป็นเงินไม่เกิน 6,000 บาท

3) ค่าจัดงานศพผู้เสียชีวิตรายละ 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือผู้หารายได้หลักของครอบครัว ได้เพิ่มครอบครัวละไม่เกิน 29,700 บาท

4) ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บสาหัส ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 4,000 บาท ส่วนกรณีบาดเจ็บถึงขั้นพิการ ช่วยเหลือเบื้องต้นเป็นเงิน 13,300 บาท

5) เงินปลอบขวัญ (ตามใบรับรองแพทย์) กรณีบาดเจ็บจากเหตุสาธารณภัยรายละ 2,300 บาท

6) เงินทุนประกอบอาชีพ ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท

ไม่เพียงแค่เรื่องที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันและไร้การแจ้งเตือนล่วงหน้า ทำให้ผู้ประสบภัยหลายคนยังเกิดอาการแพนิกและหวาดกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางภาครัฐจึงมีการจัดการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงยังมีการเพิ่มบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 จาก 20 คู่สาย เป็น 30 คู่สาย และเพิ่มบริการใหม่ ศูนย์เยียวยาจิตใจ 1667 อีก 30 คู่สาย เพื่อให้บริการประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง 

แม้เหตุแผ่นดินไหวจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่เหตุการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้น่าจะทำให้ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนหันมาให้ความสำคัญกับการรองรับและเตรียมตัวรับมือเหตุไม่คาดฝันในอนาคตมากขึ้น

แผนการรับมือจากประเทศที่มีประสบการณ์

จริงอยู่ที่แผ่นดินไหวในบ้านเรามักเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากพื้นที่อื่นๆ แต่หลายครั้งก็ก่อให้เกิดความเสียหายได้ในหลายทาง 

ถึงอย่างนั้น คงจะดีไม่น้อยหากประเทศไทยจะมีแผนการรับมือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เหมาะสมมากขึ้นจากปกติที่การรับมืออยู่ในระดับต้น ด้วยเหตุนี้ เราขอหยิบยกกรณีศึกษาจากประเทศที่ต้องเจอกับแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือ ญี่ปุ่นและไต้หวัน เพื่อศึกษาว่าทั้งสองประเทศมีการจัดการรับมือกับเหตุภัยพิบัติอย่างไร และมีอะไรที่นำมาปรับใช้กับบ้านเราได้บ้าง

แผนการรับมือของญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บน Ring of Fire หรือวงแหวนแห่งไฟ ที่เป็นแนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องเจอกับแผ่นดินไหวมากถึง 1,500 ครั้งต่อปี และหลายๆ ครั้งก็ทำให้เกิดความเสียหายระดับใหญ่หลวงที่คร่าชีวิตผู้คนและทำลายอาคารที่อยู่อาศัยราบเป็นหน้ากลอง

เมื่อต้องเผชิญกับเหตุแผ่นดินไหวอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ญี่ปุ่นขึ้นชื่อในเรื่องการรับมือและป้องกันภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างอาคารต่างๆ ที่ยังคงทรงตัวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาคารอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขึ้นกว่าในอดีต และการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเสริมความแข็งแรงของตัวอาคาร เพื่อช่วยรักษาทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนให้ปลอดภัยขึ้น

มากไปกว่านั้นยังมีการพัฒนานวัตกรรมตรวจจับแรงสั่นสะเทือนเพื่อแจ้งเตือนประชาชนถึงภัยล่วงหน้า ซึ่งระบบแจ้งเตือนที่ได้ชื่อว่าเป็นสุดยอดการเตือนภัยอย่าง J-Alert สามารถกระจายการแจ้งเตือนได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาไม่กี่วินาที โดยจะแจ้งเตือนทุกช่องทาง ได้แก่ โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ ลำโพงกระจายเสียงในท้องถิ่น เว็บไซต์ อีเมล พร้อมกับแยกเป็น 3 ระดับตามความรุนแรง เพื่อให้ประชาชนมีเวลาเตรียมพร้อมป้องกันอย่างทันท่วงที

ขณะเดียวกัน ผู้คนในประเทศเองก็สามารถรับมือสถานการณ์แผ่นดินไหวด้วยตัวเองได้ เพราะมีการเรียนการสอนตั้งแต่ในชั้นเรียน ไปจนถึงการให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป รวมถึงมีการฝึกซ้อมในโรงเรียนและที่ทำงานอย่างสม่ำเสมอ

แผ่นดินไหว กรุงเทพฯ ภัยพิบัติ การจัดการ การรับมือ เ

แผนการรับมือของไต้หวัน

หลังจากเหตุการณ์ Jiji Earthquake ซึ่งเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในวันที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1999 ที่สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก ทั้งการเสียชีวิตของประชาชนกว่า 2,000 คน และอาคารต่างๆ ที่ถล่มลงมาก่อนพบในภายหลังว่าวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างนั้นไม่ได้มาตรฐาน ทำให้รัฐบาลไต้หวันยกระดับ Building Code หรือประมวลข้อบังคับอาคาร ที่เป็นข้อบังคับมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร และจัดทำกฎหมายการจัดการภัยพิบัติให้รัดกุมขึ้นเพื่อรองรับการเกิดเหตุในครั้งถัดๆ ไป ส่วนเอกชนก็มีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างที่ทนต่อแผ่นดินไหวเพื่อเสริมความปลอดภัยให้อาคารและผู้คนอีกชั้นหนึ่ง

ความรุนแรงในวันนั้นส่งผลให้รัฐบาลไต้หวันตระหนักถึงความปลอดภัยของประชาชน จึงกำหนดให้วันที่ 21 กันยายนของทุกปีเป็นวันป้องกันภัยพิบัติแห่งชาติของไต้หวัน โดยในวันนั้นจะมีการซ้อมอพยพของโรงเรียนรอบเกาะ และการแจ้งเตือนภัยจำลองส่งให้ทุกคน เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักรู้ต่อภัยพิบัติแก่ประชาชน เมื่อต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์จริงทุกคนจะได้ช่วยเหลือตัวเองได้

นอกจากนี้ ระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวของไต้หวันก็มีประสิทธิภาพสูงมาก เนื่องจากใช้สัญญาณแจ้งเตือนบนโทรศัพท์มือถือในระบบเดียวกับการแจ้งเตือนการโจมตี รวมไปถึงความแข็งแรงของเครือข่ายการสื่อสารที่จะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ แถมสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็ยังคงใช้งานได้ดี

แม้ว่าจะมีรายละเอียดวิธีการจัดการที่แตกต่างกันไป แต่ทั้งญี่ปุ่นและไต้หวันก็มีการจัดการการรับมือที่ใกล้เคียงกัน ทั้งในเรื่องของกฎหมายเกี่ยวกับอาคารที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างที่แข็งแรง ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อการเตรียมพร้อมในการรับมือ และการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจกับประชาชนในการป้องกันตัวเองเบื้องต้น

Sources : 
Airbnb | tinyurl.com/yudf2hxw
Al Jazeera | tinyurl.com/3485a4zr
BBC | tinyurl.com/msbwk6ma
Bedrock | tinyurl.com/56y7ycx5
City Cracker | t.ly/xFQlM
Facebook : กรุงเทพมหานคร | tinyurl.com/ye2nsyxt
Facebook : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ -สพฉ.1669 | tinyurl.com/5n6ejt3h
Insurverse | tinyurl.com/5e74ccha
NBC News | tinyurl.com/36s4y866 
Reuters | tinyurl.com/43tmbm4b 
TEI | t.ly/lXLBU
TDRI | bit.ly/4iptDpT, t.ly/48JlM
Thai PBS | tinyurl.com/3623r2w7
Thai TCA | tinyurl.com/ywkuy4nz 
The Active | tinyurl.com/55seh56k
The Prachakorn | t.ly/3DRG1
The Urbanis by UDDC | t.ly/LpGr0
X : LivingPop | bit.ly/3R3Zn8G
YouTube : ทันโลก กับ ThaiPBS | tinyurl.com/2s3ppfdr
กรมประชาสัมพันธ์ | tinyurl.com/3bp8ta88
กรุงเทพธุรกิจ | tinyurl.com/2ptppdrh, tinyurl.com/msk74ns2
การออกแบบเมืองเพื่อรับมือภัยพิบัติในเขตกรุงเทพมหานคร | t.ly/2LYUr
รฟม. | bit.ly/3EejnCG
สำนักข่าวอิศรา | t.ly/utBZC

Writer

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.