วิธีจัดงานสเกลใหญ่ เพื่อป้องกัน Crowd Crush - Urban Creature

จากเหตุการณ์ ‘ฝูงชนเบียดกันตาย (Crowd Crush)’ จนมีผู้เสียชีวิตกว่า 154 ราย บริเวณย่านอิแทวอน กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ทำให้ทั่วโลกหันกลับมาสนใจเกี่ยวกับวิธีรับมือหากพบเจอสถานการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงมาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับสถานที่หรืองานเทศกาลที่ต้องรองรับคนจำนวนมาก

หากย้อนกลับไปในอดีต ก็มีหลายเทศกาลที่เกิดการรวมตัวของฝูงชนจนเกิดการ Crowd Crush ขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลดนตรี พิธีกรรมทางศาสนา หรือการชมกีฬานัดสำคัญ แต่ครั้นจะยกเลิกทุกกิจกรรมในอนาคตเพื่อตัดปัญหาตั้งแต่ต้นลมก็คงไม่ใช่วิธีที่ถูกนัก 

วันนี้ Urban Creature จึงขอหยิบเอามาตรการความปลอดภัยเบื้องต้นสำหรับการจัดงานที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากมาฝากกัน เผื่อจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้จัดสำหรับการวางแผนงาน และผู้เข้าร่วมที่ต้องการประเมินความเสี่ยงสำหรับตัวเอง

มาตรการป้องกันเหตุการณ์ Crowd Crush

แค่ไหนถึงเรียกว่า Crowd Crush?

แม้ส่วนใหญ่สื่อไทยจะใช้คำว่า ‘Crowd Crush’ หรือที่แปลเป็นไทยว่า ‘ฝูงชนเบียดกันตาย’ ในการรายงานข่าว แต่ความจริงแล้วสถานการณ์ดังกล่าวยังสามารถอธิบายด้วยคำว่า ‘Crowd Surge’ ได้เช่นเดียวกัน

โดย G. Keith Still ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยของฝูงชนและศาสตราจารย์รับเชิญด้านวิทยาศาสตร์ฝูงชนที่มหาวิทยาลัย Suffolk ประเทศอังกฤษ ได้อธิบายว่า Crowd Crush หรือ Crowd Surge คือเหตุการณ์การเบียดเสียดกันของฝูงชนจำนวนมาก จนอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต เนื่องจากขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน

ซึ่งในสถานการณ์ปกติทั่วไป ความหนาแน่นคงที่ของฝูงชน (Static Crowd Density) ควรจะอยู่ที่ 1 – 5 คน/ตารางเมตร เพื่อให้มีพื้นที่บริเวณรอบ และไม่แออัดจนเกินไป หากสถานที่ใดมีความหนาแน่นคงที่ของฝูงชนมากกว่า 6 คน/ตารางเมตรขึ้นไป ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าอาจเกิดเหตุการณ์ Crowd Crush ขึ้นได้ หากเกิดตัวเร่งปฏิกิริยาจากการเคลื่อนไหวอย่างกะทันหันของกลุ่มคนภายในงาน ไม่ว่าจะเป็นความคึกคะนอง การทะเลาะวิวาท หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนกะทันหัน

เฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไข ไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง

หลายครั้งที่เมื่อเกิดเหตุการณ์ Crowd Crush ขึ้น มักมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กล่าวโทษผู้เข้าร่วมงานว่าพาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่คิดไตร่ตรองให้ดีก่อน

ซึ่งความเป็นจริงแล้ว หากจะกล่าวโทษหรือมองหาความรับผิดชอบจากผู้เข้าร่วมงานเพียงฝ่ายเดียวก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเท่าไหร่ เพราะในเหตุการณ์เช่นนั้น ผู้เข้าร่วมงานเองก็ไม่สามารถรับรู้สถานการณ์เลวร้ายที่กำลังก่อตัวขึ้นได้เลย เนื่องจากพวกเขาจะรับรู้ถึงบริเวณโดยรอบจากระยะที่สายตาตัวเองมองเห็นเท่านั้น ไม่ใช่การมองจากมุมสูงที่ทำให้เห็นสถานการณ์โดยรวมได้อย่างชัดเจน

แต่สิ่งที่ผู้เข้าร่วมสามารถทำได้เมื่อรู้สึกว่าสถานการณ์เสี่ยงเกิด Crowd Crush ก็คือการไหลไปกับกระแสการเคลื่อนที่ของฝูงชนไปเรื่อยๆ พร้อมกับการป้องกันตัวเท่าที่ทำได้ โดยหวังว่าทางข้างหน้าจะนำพาพวกเขาออกจากสถานการณ์อันเลวร้ายนี้ได้อย่างปลอดภัย

ทั้งนี้ นอกจากผู้เข้าร่วมงานจะต้องคอยเซฟตัวเองแล้ว ผู้จัดงานหรือรัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการดูแลฝูงชนและความเรียบร้อยให้กับสถานที่นั้นๆ ที่เข้มงวด เพื่อรองรับผู้คนจำนวนมากที่หลั่งไหลเข้ามาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยที่สุด

การจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับฝูงชน

ถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสำหรับการจัดเทศกาลขนาดใหญ่ แต่การดูแลสถานที่ให้ปลอดภัยก็ถือเป็นความรับผิดชอบสำคัญของผู้จัดงานหรือทางภาครัฐ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เข้าร่วมงานนั้นๆ

หากอ้างอิงจาก 101 Life Safety Code ของ National Fire Protection Association ที่เป็นมาตรฐานการจัดการฝูงชนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา สถานที่จัดงานควรคำนึงถึงมาตรฐานความปลอดภัย ดังนี้

1. ควรจัดให้มีผู้จัดการฝูงชน (Crowd Manager) อย่างน้อย 1 คนต่อผู้เข้าร่วมงาน 250 คน หรือคิดเป็นผู้จัดการฝูงชน 400 คน ต่อผู้เข้าร่วมงาน 1 แสนคนเป็นอย่างต่ำ

2. ในสถานที่ขนาดใหญ่กว่า 10,000 ตารางฟุต ความหนาแน่นของฝูงชนไม่ควรเกิน 1 คนต่อ 7 ตารางฟุต (0.65 ตารางเมตร)

3. มีทางเข้า-ออกอย่างเพียงพอ กระจายอยู่ทั่วบริเวณที่จัดงาน

4. สำหรับกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมมากกว่า 6,000 คนขึ้นไป จำเป็นต้องมีการประเมินเกี่ยวกับมาตรการด้านความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์ ภัยธรรมชาติ และเหตุฉุกเฉินอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้น

นอกจากนี้ ทาง Arnold & Itkin Trial Lawyers และ Social Tables ยังแนะนำว่า สถานที่จัดงานควรมีที่กั้นที่สูงและแข็งแรงพอ ทนต่อแรงกดดันจากฝูงชนได้ เพื่อแบ่งสัดส่วนพื้นที่ ป้องกันไม่ให้ฝูงชนรวมตัวหรืออัดแน่นในสถานที่เดียวกัน และควรมีป้ายบอกทางที่เรียบง่ายและอ่านได้จากระยะไกลกระจายอยู่รอบบริเวณงาน รวมถึงจัดผู้สังเกตการณ์ฝูงชน (Crowd Spotters) ประจำสถานที่ สำหรับเฝ้าระวังเหตุการณ์ฉุกเฉินจากมุมสูง 

สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ผู้จัดงานและเจ้าหน้าที่ต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ เพราะเราไม่สามารถคาดเดาถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังคนจำนวนมากมารวมตัวกันในสถานที่หนึ่งได้เลย


Sources :
Arnold & Itkin Trial Lawyers | t.ly/wKMs
CNN | t.ly/mIXM
Crowd Safety and Crowd Risk Analysis | t.ly/FoH_
Social Tables | t.ly/uf1S

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.