การอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม - Urban Creature

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญความท้าทายทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจที่ซับซ้อนและหลากมิติ ตั้งแต่ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติ ไปจนถึงการกีดกันหรือไม่ให้ความสำคัญกับชนกลุ่มน้อยทางด้านสัญชาติ เผ่าพันธุ์ ศาสนา หรือภาษา

ทั้งหมดนี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจและอาจเป็นแรงผลักให้บุคคลหรือกลุ่มคนไปสู่ ‘แนวความคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง’ (Violent Extremism) ในระดับสังคม ประเทศ และโลก ถือเป็นภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฟูมฟักของอุดมการณ์และความคิดสุดโต่งที่อาจพัฒนาไปเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกและความรุนแรง สหประชาชาติเสนอแนะให้ประเทศสมาชิกพิจารณาพัฒนา ‘แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง’ (National Action Plans to Prevent Violent Extremism) เพื่อส่งเสริมแนวทางที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาต้นตอที่ทำให้คนหันไปนิยมแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง

ทางออกความรุนแรงผ่านแนวทาง การเสริมสร้างการอยู่ร่วมกัน บนความหลากหลายทางสังคม

โดยแนวทางหลักที่ใช้คือ การสร้างความอดทนอดกลั้น เฉลิมฉลองความแตกต่างหลากหลาย และแก้ปัญหาตัวแปรทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อยกระดับสถานะและความปลอดภัยของกลุ่มเปราะบาง ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นการทำงานร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ของสังคม และระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งองคาพยพ และที่สำคัญ เป็นแผนที่พัฒนาโดยแต่ละประเทศเอง จึงเหมาะสมกับบริบทของประเทศนั้นๆ

แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีความรุนแรงสุดโต่งปรากฏให้เห็นชัด แต่สังคมไทยมีความท้าทายหลายมิติ โดยเฉพาะความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเมือง และการเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มคนชายขอบและกลุ่มเปราะบาง ที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝักฝ่ายและขั้วความคิดที่ค่อนข้างชัดเจนขึ้น ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เพราะเหตุนี้ ประเทศไทยจึงลงนาม ‘แผนปฏิบัติการอาเซียนว่าด้วยการป้องกันและการต่อต้านการขยายตัวของการบ่มเพาะแนวคิดหัวรุนแรงและแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง 2562 – 2568’ (ASEAN Plan of Action to Prevent and Counter the Rise of Radicalisation and Violent Extremism 2019 – 2025) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561 รวมถึงลงนามใน ‘แผนปฏิบัติการบาหลีของอาเซียน’ (ASEAN Bali Workplan) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวทางการป้องกันแนวคิดสุดโต่ง ความรุนแรง และส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ในประเทศ

แผนการเหล่านี้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกพิจารณาองค์ประกอบสำคัญในบริบทของประเทศ ควบคู่ไปกับแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง และในปี 2565 ประเทศไทยก็ได้พัฒนาแผนปฏิบัติการภายใต้ชื่อ ‘แนวทางเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม’ จนสำเร็จ โดยแผนดังกล่าวพัฒนาผ่านการร่วมมือกันระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ โดยการสนับสนุนของหน่วยงานของสหประชาชาติ ได้แก่ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) สำนักงานว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายแห่งสหประชาชาติ (UNOCT) และ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ภายใต้โครงการ ‘Preventing Violence Extremism Through Promoting Tolerance and Respect for Diversity’ สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป

และเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณาให้ความเห็นชอบให้เป็นแนวทางในการเสริมสร้างการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางสังคม และสร้างสังคมที่สงบสุข ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคส่วนสำคัญต่างๆ ของสังคม

‘ภาณุภัทร จิตเที่ยง’ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า การสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่หลากหลายและการป้องกันแนวคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการทำงานในลักษณะหลายมิติพร้อมๆ กัน กล่าวคือ ภาครัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องอย่าง UNDP และภาคประชาสังคม ต้องลงพื้นที่เพื่อทำงานกับชุมชนโดยตรง และร่วมแก้ต้นตอของปัญหาที่แท้จริงของแต่ละพื้นที่

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะว่าปัญหาของการเข้าไปนิยมความคิดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงความรุนแรงที่เกิดจากการใช้กำลังหรืออาวุธเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างในมิติต่างๆ เช่น ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงทางวัฒนธรรม ความรุนแรงทางสังคม และความรุนแรงทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดังนั้นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนจึงต้องมาระบุปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขร่วมกัน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความมั่นคงให้แก่คนในพื้นที่ และเมื่อสังคมมีความมั่นคงของมนุษย์ครบทั้ง 7 ด้านตามที่สหประชาชาติกำหนด ได้แก่ ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงด้านสุขภาพ ความมั่นคงด้านสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงของบุคคล ความมั่นคงของชุมชน และความมั่นคงทางการเมือง ผู้คนจะรู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน และมีแนวโน้มการลดลงของความรุนแรง นำไปสู่การสร้างสังคมที่สงบและเคารพความแตกต่างของกันและกันได้ในที่สุด

Sources :
Bangkok Post | bit.ly/41XP4WW
Hedayah | bit.ly/444LBYv
Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand | bit.ly/442NB3K, bit.ly/3N80za7
NSC | bit.ly/3Aq0YNB
Royal Thai Government | bit.ly/42et9LB
UNDP | bit.ly/3L8ggf1, bit.ly/3Hdu2vL

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.