3 ปีข้างหน้า ‘พื้นที่จุฬาฯ’ จะมีโครงการพัฒนาอะไรเกิดขึ้นบ้าง ? - Urban Creature

พื้นที่จุฬาฯ พัฒนาไปไกลถึงไหนแล้ว ?

โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่น่าจับตามองเชื่อว่าต้องมีชื่อ ‘ย่านจุฬาฯ’ ติดอยู่ในลิสต์ที่หลายคนอยากติดตามอยู่เสมอ เพราะนอกจากจะเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาแล้ว ยังเด่นในเรื่องการพัฒนาเพื่อพาณิชยกรรมอีกด้วย ซึ่งจุฬาฯ ตั้งอยู่บนทำเลใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ที่พื้นที่ทุกตารางนิ้วนั้นมีราคาแพง หากจะสร้างแต่ละทีจึงต้องคิดถึงความคุ้มค่าต่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

พื้นที่จุฬาฯ เป็นแหล่งรวมความสะดวกสบายหลายสิ่ง ทั้งการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า และจุดเปลี่ยนระหว่างเส้นสุขุมวิทและสีลม-สาทร อย่าง ‘สถานีสยาม’ มีห้างสรรพสินค้ารุ่นใหญ่มาก่อตั้งอย่างสยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ และมาบุญครอง รวมถึงสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ตั้งแต่ระดับเด็กเล็กไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมอุดมศึกษา และโรงเรียนสาธิต มศว ปทุมวัน จึงไม่แปลกใจที่ทำเลจุฬาฯ จึงมีนักลงทุนอยากมาขายขนมจีบอยู่บ่อยๆ

โดยแผนการพัฒนาของพื้นที่จุฬาฯ และพื้นที่โดยรอบทั้งหมดมาจากการบริหารจากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (PMCU) ที่ครอบคลุมทั้งโซนสยาม สวนหลวง และสามย่าน รวมทั้งหมดประมาณ 1,150 ไร่ เราไปตามดูกันดีกว่าว่าในอนาคตจะมีอะไรเกิดขึ้นในอาณาจักรการเรียนรู้แห่งนี้บ้าง ตามไปดูกัน !

2580
‘จุฬาฯ สมาร์ทซิตี้ ’

ก่อนจะข้ามไปส่องโครงการในอนาคตของพื้นที่จุฬาฯ ชวนไปทำความรู้จักกับที่มาของแปลงที่ดินใหญ่กว่าพันไร่นี้เสียก่อน เดิมเป็นที่ดินพระราชทานที่พระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ได้พระราชทานกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบนพื้นที่ทั้งหมด 1,150 ไร่ โดยแบ่งสัดส่วนเป็นพื้นที่การศึกษา 50% พาณิชยกรรม 30% และหน่วยงานราชการอื่นๆ 20% 

เป้าหมายในพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของจุฬาฯ อยู่ภายใต้คอนเซปต์ ‘Chula Smart City’ หรือที่คุ้นหูกันดีว่า ‘เมืองอัจฉริยะ’ ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจากการนำเทคโนโลยี (IoT หรือ The Internet of Things) ที่ทุกอย่างถูกเชื่อมต่อกันผ่านอินเทอร์เน็ตจนเป็นโครงข่ายระดับใหญ่ นำมาประยุกต์ใช้ในการวางผังเมืองเพื่อสร้างความสะดวกสบายแก่คนอยู่อาศัย เช่น บริการจักรยานเช่าซึ่งสามารถปลดล็อกได้จากแอปพลิเคชัน และสถานีชาร์จแบตฯ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

จากแผนแม่บทพัฒนาเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2580 เราจะมาโฟกัสในส่วนพาณิชยกรรม ทั้งพื้นที่สยามสแควร์และบริเวณสวนหลวง-สามย่าน รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 290 ไร่ โดยแบ่งโซนเป็น 5 เขตดังนี้

1. สามย่านเมืองแห่งธุรกิจในอนาคต
2. ศูนย์การแสดงสินค้าและจุดนัดพบแห่งพระราม 4
3. พื้นที่เพื่อการเรียน อยู่อาศัย และแหล่งแสดงนวัตกรรมชั้นดี
4. ศูนย์กลางอำนวยความสะดวกต่อวิถีชีวิตของวัยเรียนและประชาชนโดยรอบ
5. ศูนย์กลางการส่งเสริมด้านสุขภาพและพลานามัยที่สมบูรณ์

2563

The New Siam Square | ช้อปปิ้งสตรีทจากวัยรุ่นสู่ระดับโลก 

คิดถึงสยามสแควร์ก็จะมีภาพจำว่าเป็นแหล่งแฮงค์เอาท์สำหรับวัยรุ่นมาเจอกัน ด้วยทำเลที่ใกล้กับสถาบันการศึกษามากมายทำให้มีนักเรียน นักศึกษาหลากหลายกลุ่มมาเอ็นจอยกันในย่านนี้ ล่าสุดสยามแสควร์วางแผนจะตั้งเป้าหมายใหม่ที่ไม่ได้เน้นวัยเรียนเพียงอย่างเดียว แต่ยกระดับเป็น ‘แหล่งช้อปปิ้งสตรีทระดับแนวหน้าของโลก’ ที่นำสมัยแถมยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ได้โชว์ความสามารถอย่างสร้างสรรค์ อย่างลานอีเวนต์ที่จัดแสดงกิจกรรม ตลาดนัดขายผลงานของคนรุ่นใหม่ และพื้นที่ Co – Working Space เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ที่ต้องการในอนาคต

Siamscape | มิกซ์ยูสสำหรับการเรียนรู้และแหล่งทำงานของคนรุ่นใหม่

เขยิบจากสยามสแควร์ไม่ไกลนักจะเจอกับโครงการใหม่ ‘Siamscape’ จากเดิมเคยเป็นอาคารโบนันซ่ามาก่อน แต่ต่อไปนี้จะถูกพลิกโฉมใหม่กลายเป็นอาคารมิกซ์ยูสตึกสูง 24 ชั้นบนพื้นที่ประมาณ 4 ไร่เป็นแหล่งเรียนรู้และสำนักงานที่เอาใจคนรุ่นใหม่ ผ่านคอนเซปต์ ‘Lifelong Learning’ ที่สอดคล้องกับชีวิตวัยเรียนที่ต้องศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ และการทำงานในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมความคิดใหม่ๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง

ภายในอาคารมิกซ์ยูสแบ่งโซนหลากหลาย ทั้งร้านค้า ร้านอาหารในชั้นล่าง ขึ้นมาชั้นบนจะเป็นส่วนพื้นที่เรียนรู้ ศูนย์รวมของโรงเรียนกวดวิชาและสถาบันฝึกทักษะพัฒนาตนเอง รวมถึงมุมอ่านหนังสือและพื้นที่ Co – Working Space ไว้นั่งทำงาน ต่อด้วยโซนของการศึกษาสำหรับวัยเรียน และชั้นบนสุดเป็นส่วนของออฟฟิศสมัยใหม่ในบรรยากาศน่าทำงาน นอกจากนี้อาคาร Siamscape ยังถูกมองให้เป็น ‘Parking Node’ จุดจอดรถของสยามสแควร์ที่รองรับได้กว่า 700 คันเพื่อสนับสนุนให้คนเดินเท้ากันมากขึ้น คาดว่าอาคารนี้จะเสร็จสมบูรณ์ปลายปี พ.ศ. 2563

Block 28 | คอมมูนิตี้มอลล์ที่ผลักดันสตาร์ทอัปให้ถึงฝั่ง

ลงมาสามย่านจะเจอกับโครงการ ‘Block 28’ ซึ่งเป็นบล็อกพื้นที่ประมาณ 385 ไร่ที่อยู่ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ 5 และ 9 จากเดิมเป็นตึกแถวสภาพเสื่อมโทรมจะถูกพัฒนาเป็นคอมมูนิตี้สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้กับรถไฟฟ้า MRT สถานีสามย่าน แหล่งออฟฟิศชั้นนำเคียงข้างอย่างสามย่านมิตรทาวน์และจามจุรีสแควร์ เพื่อจูงใจนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่กำลังมองหาออฟฟิศใจกลางเมือง แถมยังเดินทางสะดวกและเสียค่าเช่าในราคาไม่แพงมากนัก

คอนเซปต์ของ Block 28 คือ ‘3L’ Learning Style, Living Style และ Life Style ที่ผสมผสานทั้งการเรียนรู้ และส่งเสริมธุรกิจจากกลุ่มคนเจนฯ ใหม่ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อความคิดสร้างสรรค์ เป็นรูปแบบคอมมูนิตี้ ซึ่งแบ่งเป็นโซนต่างๆ อย่าง Co – Working Space ระดับอาเซียน พื้นที่ออฟฟิศสำหรับเช่า รวมทั้งยังเปิดโอกาสให้นิสิตสามารถมาเริ่มต้นตั้งบริษัทที่นี่ได้อีกด้วย

2565

Block 33 | คอนโดฯ มิกซ์ยูสที่ใส่ใจทั้งเรื่องสุขภาพและความสุนทรีย์

ตามมาดูโครงการมิกซ์ยูส ‘Block 33’ ซึ่งเป็นคอนโดฯ ที่ติดกับอุทยาน 100 ปี ภายใต้แนวคิด ‘Residential & Wellness’ ที่สร้างที่อยู่อาศัยให้มีสภาพแวดล้อมที่ทั้งดีต่อใจและสุขภาพ เต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ พร้อมด้วยศูนย์รวมการแพทย์ชั้นนำที่ใส่ใจเรื่องส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Centre & Medical Hub) นอกจากนี้ยังต้องการสานสัมพันธ์ระหว่างคนอยู่อาศัยให้ใกล้ชิดกัน และสร้างความสุขในการพักผ่อนอีกด้วย

นอกจากใน 3 ปีข้างหน้านี้ พื้นที่จุฬาฯ ยังมีโครงการใหม่ในอนาคตอันใกล้ อย่าง ‘Block 34’ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสามย่าน ระหว่างซอยจุฬาลงกรณ์ 26 และ 32 ที่จะกลายเป็น ‘พิพิธภัณฑ์แห่งอนาคต’ หรือ ‘Futurium & Exhibition Center’ ในเนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ โดยมีไอเดียเป็นศูนย์รวมงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี (Innovation Experience) เพื่อมุ่งเน้นให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ที่สร้างประสบการณ์และการเรียนรู้ให้กับวัยเรียน ซึ่งเชื่อว่าต่อไปจะเป็นพื้นที่เรียนรู้ เพื่อช่วยขับเคลื่อนคนกรุงเทพฯ ให้เกิดแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต และค้นพบตัวเองมากยิ่งขึ้น

Source:
https:// is.gd/ye1zeP
https:// is.gd/ZxavQ7


Content Writer : Jarujan L.
Graphic Designer : Phannita J.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.