Bangkok Zombie Town ใช้ชีวิตแบบไร้ชีวิตในเมืองกรุง - Urban Creature

ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรุงเทพฯ คือพื้นที่ในการไขว่คว้าหาโอกาสและใช้ชีวิตของใครหลายคน เพราะที่นี่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ความบันเทิง และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เป็นศูนย์กลางความเจริญในทุกๆ ด้าน จึงไม่แปลกใจที่คนจำนวนไม่น้อยจะมองว่า กรุงเทพฯ กลายเป็นภาพแทนประเทศไทยไปเสียแล้ว

Bangkok Zombie Town

แต่สุดท้ายการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงอันศิวิไลซ์แห่งนี้อาจไม่ได้สนุกหรือน่าตื่นเต้นอย่างที่หลายคนวาดฝันไว้ และจบอยู่ที่การไม่ได้ใช้ชีวิตจริงๆ เพราะมัวแต่กังวลเรื่องเวลาเดินทางที่เผื่อเท่าไรก็ไม่เคยพอ ค่าครองชีพที่สูงจนแซงรายรับที่ได้ในแต่ละเดือน เป็นความกดดันที่ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตแบบไร้ชีวิตชีวา ทำให้ตอนนี้กรุงเทพฯ แทบไม่ต่างอะไรกับเมืองที่เต็มไปด้วยซอมบี้ ที่ต้องหาทางมีชีวิตให้รอดไปวันๆ ท่ามกลางความเครียดที่อยู่รอบตัว

Bangkok Zombie Town

การฆ่าตัวตายสูงขึ้นเมื่อเกิดวิกฤต

หากพูดถึงความเครียด สิ่งที่ตามมามักจะเป็นข่าวการฆ่าตัวตายที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้ง แม้จะไม่ถี่ทุกวัน แต่จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกนั้นพบว่า ทุกปีมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายเฉลี่ย 1 คน ทุกๆ 40 วินาที ซึ่งรายงานของ World Population Review เผยว่า อัตราฆ่าตัวตายของไทยในปี 2565 นั้นสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน โดยตัวเลขอยู่ที่ 8.8 รายต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ที่น่าสังเกตก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายในแต่ละปีสูงขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆ อย่างการทำรัฐประหารในปี 2557 ส่งผลให้ช่วง 1 – 2 ปีให้หลังมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงถึง 6.47 คน/ประชากรหนึ่งแสนคน/ปี และ 6.35 คน/ประชากรหนึ่งแสนคน/ปี จนมาถึงปี 2563 และ 2564 ที่เป็นช่วงการระบาดโควิด-19 เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศและความไม่แน่นอนต่างๆ นั้น ส่งผลให้มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าปีก่อนหน้าถึง 10 – 15 เปอร์เซ็นต์ หรืออยู่ที่ 7.35 คน/ประชากรหนึ่งแสนคน/ปี และ 7.38 คน/ประชากรหนึ่งแสนคน/ปี ตามลำดับ 

เป็นไปได้ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยเกิดความเครียดคือปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มวัยแรงงาน ทำให้เกิดความเครียดสะสมและเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมา และอาจจะต้องใช้เวลากว่า 3 – 4 ปีเลยทีเดียว กว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายจะลดลงมา

Bangkok Zombie Town

เงินเดือนลดลง ค่าครองชีพเพิ่มขึ้น

อีกหนึ่งสาเหตุความเครียดของการใช้ชีวิตในเมืองคงจะหนีไม่พ้นปัญหาการเงิน ซึ่งรายได้ขั้นต่ำของเด็กจบใหม่ดูจะเป็นหัวข้อที่ถูกหยิบมาถกเถียงกันได้อยู่เสมอ

เราเข้าใจว่ารายได้เริ่มต้นของเด็กจบใหม่อยู่ที่ 15,000 บาทมาตลอดหลายสิบปี แต่ความจริงแล้วรายได้ขั้นต่ำนั้นเปลี่ยนแปลงแทบทุกปี นอกจากจะไม่คงที่แล้ว ยังลดลงกว่าเดิมด้วย 

โดย Adecco บริษัท HR Agency ได้เปิดเผยข้อมูลอัตราเงินเดือนขั้นต่ำในปี 2561 – 2564 ว่า เงินเดือนสำหรับเด็กจบใหม่เริ่มต้นอยู่ที่ 15,000 บาทขึ้นไปในปี 2561 ก่อนจะลดลงมาเป็น 12,000 บาทในปี 2562 และปี 2563 และด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบหลายภาคส่วนในปี 2564 ส่งผลให้เงินเดือนของวุฒิปริญญาตรีในปีนั้นเริ่มต้นที่ 10,000 บาทเท่านั้น โดยปัจจัยของเงินเดือนเริ่มต้นนั้นขึ้นอยู่กับสายอาชีพ ทักษะการทำงานของผู้สมัคร และโครงสร้างของแต่ละองค์กรด้วย

ปี 2564 ที่ผ่านมา นอกจากรายได้เริ่มต้นจะลดลงแล้ว อัตราการจ้างงานเด็กจบใหม่ก็ยังลดลงจากปี 2563 กว่า 24 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว ซึ่งเป็นผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ที่หลายองค์กรต้องลดค่าใช้จ่ายด้วยการเลิกจ้างพนักงานบางส่วน รวมถึงลดการจ้างพนักงานใหม่ เพื่อนำค่าใช้จ่ายไปลงทุนให้กับพนักงานที่มีประสบการณ์แทน 

ในขณะที่เงินเดือนเริ่มต้นลดลงทุกปี จำนวนคนว่างงานก็เยอะขึ้น แต่อัตราเงินเฟ้อกลับเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 12 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2564 – กันยายน 2565) อยู่ที่ร้อยละ 5.23 ส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้น แม้หลายคนจะโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แต่เงินเดือนที่มีจากรายได้ขั้นต่ำก็อาจยังไม่เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิต

Bangkok Zombie Town

ราคาการเยียวยาใจในเมืองหลวง

ปัญหาความเครียดที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวนั้นต้องได้รับการเยียวยา แต่การเยียวยาจิตใจในเมืองกรุงส่วนใหญ่มีราคาที่ต้องจ่ายทั้งสิ้น แถมราคาเหล่านั้นยังสูงเกินกว่าใครหลายคนจะเอื้อมถึงด้วย

หากไม่อยากนอนอุดอู้หรือนั่งอยู่ในบ้านแบบเหงาๆ ก็ต้องออกไปชุบชูใจให้ผ่อนคลายนอกบ้านกันสักหน่อย ซึ่งกิจกรรมทั้งหลายต่างก็มีค่าใช้จ่ายในการเข้าถึง เริ่มต้นตั้งแต่หลักสิบไปจนถึงหลักหมื่น อยู่ที่ว่าจะเลือกแบบไหน เช่น

– ตั๋วหนัง : เริ่มต้น 150 – 1,000 บาท

– มิวเซียม/แกลเลอรี : เริ่มต้น 30 บาท

– บัตรคอนเสิร์ต : เริ่มต้น 1,000 – 18,000 บาท

– ฟิตเนส : เริ่มต้น 1,300 บาท

– จิตแพทย์ : โรงพยาบาลรัฐเริ่มต้น 500 บาท/ครั้ง ส่วนโรงพยาบาลเอกชนเริ่มต้น 1,000 บาท/ครั้ง

หรือหากอยากไปพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้ใช้บริการฟรี ก็ใช่ว่าจะไม่ต้องเสียเงินเลย เพราะแน่นอนว่าคำว่าฟรีนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายยิบย่อยอย่างค่าเดินทาง ซึ่งบางสถานที่อาจต้องเสียค่าเดินทางหลายต่อ กว่าจะพาตัวเองไปถึงพื้นที่ที่จะช่วยให้รู้สึกดีกับการใช้ชีวิตในเมืองมากขึ้นสักนิดหนึ่ง 

กว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะเจียดค่าใช้จ่ายไปกับการเยียวยาใจประเภทไหน คิดๆ ดูแล้วหลายคนคงยอมตัดใจ แล้วหันกลับไปใช้ชีวิตแบบซอมบี้ในแต่ละวันตามเดิมแทน 

สุดท้ายแล้ว กว่าผู้คนในเมืองใหญ่จะเลิกเป็นซอมบี้ และกลับมามีชีวิตชีวาได้อีกครั้ง ก็คงต้องรอให้ปัจจัยต่างๆ รอบตัวได้รับการแก้ไขและรองรับกับการใช้ชีวิตในเมืองอย่างรอบด้าน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าต้องรออีกนานแค่ไหน ก็ได้แต่หวังว่าภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะให้ความสำคัญกับปัญหาตรงนี้ และผลักดันนโยบายเพื่อซัปพอร์ตคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ อย่างน้อยผู้คนก็จะได้ไม่ต้องใช้ชีวิตไปวันๆ จนกลายเป็นซอมบี้ที่ไร้ชีวิตกันแบบทุกวันนี้

_____________________

Bangkok Zombie Town คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนตุลาคม 2565 จาก Urban Creature ที่ต้องการให้คนเมืองเห็นปัญหาเมืองผ่านข้อมูล ผู้คน และแง่มุมใหม่ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้อยู่อาศัย เพื่อทำความเข้าใจ เรียกร้องการเปลี่ยนแปลง และไม่โทษว่าเป็นความผิดพลาดของตัวเองเพียงอย่างเดียว

Sources :

Adecco (Salary Guide 2019) | bit.ly/3VGSWcP 

Adecco (Salary Guide 2020) | bit.ly/3gi4ToW 

Adecco (Salary Guide 2021) | bit.ly/3s3TmML 

Adecco (Salary Guide 2022) | bit.ly/3ySSbUd 

Bangkok Biz News | bit.ly/3SdwWD6 

Fitness Comparison Price | bit.ly/3s49DBp
Kapook | bit.ly/3eHO9Hi 

World Population Review | bit.ly/3TbTxRT 

กรมสุขภาพจิต | bit.ly/2o5HxIt 

ธนาคารแห่งประเทศไทย | bit.ly/3eFJCoG 

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ | bit.ly/3s6jW7T 

วิทยาลัยประชากรศาสตร์ | bit.ly/3T5UDi9

Writer

Graphic Designer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.