Bangkok Women’s Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้หญิง - Urban Creature

“ทำไมไม่ค่อยได้เห็นหนังของผู้กำกับหญิงไทยเลย”

นี่คือคำถามตั้งต้นที่ทำให้ ‘เจ๋-กัลย์จรีย์ เงินละออ’ เริ่มต้นทำโปรเจกต์ส่วนตัวออกแบบ Identity Design เทศกาล Bangkok Women’s Film Festival (BKKWFF) ในไทย

ด้วยความที่ทำงานเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ มีความชื่นชอบภาพยนตร์ และอินเรื่องเฟมินิสต์ จึงทำให้เธอพยายามหาข้อมูลโดยการรีเสิร์ชตามแหล่งข้อมูลต่างๆ รวมถึงพูดคุยกับเพื่อนที่เรียนกับทำงานด้านนี้ เพื่อยืนยันว่าเธอไม่ได้คิดไปเองคนเดียว ก่อนจะใช้ความถนัดทำงานสื่อสารเรื่องนี้ออกมา

แน่นอนใครๆ ต่างรู้ว่าภาพยนตร์ไทยเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐและคนไทยส่วนใหญ่มักมองข้าม ทว่าในแวดวงที่ถูกหมางเมิน ไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร ยังมีความกดทับอีกชั้นด้วยอคติทางเพศในวงการนี้ เห็นได้จากสัดส่วนอันน้อยนิดของผู้หญิงในงานภาพยนตร์ตั้งแต่ตำแหน่งเล็กจนถึงผู้บริหารใหญ่โต ยังไม่นับรวมความยากลำบาก และประสบการณ์การทำงานของคนทำงานผู้หญิงที่คนทั่วไปอาจไม่เคยรู้ในสายอาชีพที่ถูกครอบครองโดยผู้ชายอีก

ด้วยเหตุนี้ เจ๋จึงอยากเป็นเสียงหนึ่งของการผลักดันประเด็นนี้ด้วยการสนับสนุนให้ประเทศไทยมีเทศกาลภาพยนตร์ของผู้กำกับหญิง เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่และการันตีว่าผู้กำกับหญิงไทยมีความสามารถ ทำหนังได้หลากหลายแนว ควรได้รับการสนับสนุน

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

แวดวงหนังไทยไม่มีผู้กำกับหญิง หรือไม่ได้รับการสนับสนุน

ความสงสัยว่าทำไมแวดวงหนังไทยถึงไม่ค่อยมีผู้กำกับหญิงไม่ใช่คำถามที่เพิ่งเกิดขึ้น เจ๋คิดเรื่องนี้มาตลอดแต่ไม่เคยถึงขั้นค้นหาข้อมูลลงลึกจริงจัง จนกระทั่งไม่กี่ปีมานี้เธอสังเกตเห็นเวฟของหนังโดยผู้กำกับหญิงในหลายประเทศ ที่ค่อยๆ พัฒนาเติบโตมาเรื่อยๆ จนถึงปีนี้ยิ่งชัดเจนขึ้น ซึ่งตามมาด้วยเทศกาล Women’s Film Festival ที่จัดขึ้นในหลายเมืองทั่วโลก เธอเลยลองรีเสิร์ชดูว่าประเทศไทยเคยมีงานลักษณะนี้บ้างไหม

“จริงๆ ที่ไทยเคยมีเทศกาลประมาณนี้ชื่อ Fem Film Festival จัดโดย Bangkok Screening Room ตารางฉายหลากหลายดีมาก แต่สเกลงานไม่ค่อยใหญ่ และด้วยเวลาที่บีบ ทำให้โปรแกรมฉายมีระยะเวลาสั้นแค่ 3 วันในช่วงสุดสัปดาห์ นักเรียนนักศึกษาและคนทำงานบางกลุ่มไม่สามารถตามไปดูได้เพราะรอบฉายมีแค่ 1 – 2 เวลาให้เลือกดู ถึงอย่างนั้นคนก็ไปดูเยอะมากเลย แต่พอ BKKSR ปิดก็ไม่มีงานแบบนี้แล้ว

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

“เราพบว่างาน Film Festival ที่รวบรวมหนังที่ผู้หญิงหรือเควียร์สร้างในไทยมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นงานเล็กๆ ที่นำหนังจากต่างประเทศมาฉายมากกว่า เลยคาใจมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโตว่า ไทยไม่เคยจัดงานแบบนี้เลยเหรอ ทั้งที่ก็มีช่วงที่วงการภาพยนตร์ไทยไม่ได้อับเฉามากขนาดนั้น” 

เมื่อไปสืบค้นเจาะจงมากขึ้นว่าผู้หญิงและเควียร์มีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย ก็ยิ่งแปลกใจเข้าไปอีกกับเหตุผลที่สรุปสั้นๆ ว่า ‘มันมีน้อย’ และในส่วนน้อยนั้นยังเป็นหนังนอกกระแสที่แทบไม่มีใครรู้จักอีก ยิ่งพอไปถามซอกแซกจากคนรอบตัวว่ารู้จักหนังของผู้กำกับหญิงในไทยบ้างไหม แล้วได้คำตอบที่รู้จักแต่น้อยหรือกระทั่งไม่รู้จักเลย ก็ยิ่งมั่นใจ

“ช่วงหลังๆ มานี้เราได้ดูหนังเวฟเฟมินิสต์ของเกาหลีใต้เยอะขึ้นเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าดีจัง เพราะเอาเข้าจริงหนังของผู้หญิงของประเทศเขาก็เริ่มจากหนังอินดี้คล้ายๆ กับไทยนี่แหละ แต่มันได้รับการสนับสนุนกับมีคนที่ได้ดูหนังเหล่านี้จากเทศกาลภาพยนตร์ที่กรุงโซล เราเลยรู้สึกว่างานแบบนี้เป็นสเปซใหญ่ที่เปิดให้ทั้งผู้ชม นายทุน ผู้กำกับ และคนในวงการมาเจอและทำความรู้จักกัน”

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

เทศกาลภาพยนตร์ผู้หญิงที่ขับเคลื่อนสังคมและมีความหลากหลาย

หลังจากตกตะกอนว่างานเทศกาลภาพยนตร์คือตัวแปรที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เจ๋ที่อยากเห็นงาน Bangkok Women’s Film Festival (BKKWFF) เป็นรูปเป็นร่างมากกว่าเป็นแค่แนวคิดในหัว เธอจึงหาไอเดียออกแบบ Identity Design เพื่อทำให้คนเห็นภาพและสร้างความเป็นไปได้ให้มากขึ้น 

“เราหยิบยืมโมเดลจาก Seoul International Women’s Film Festival มาประยุกต์ใช้ เพราะเราเป็นติ่งเกาหลี งานนี้เลยใกล้ตัวเราที่สุด อีกอย่างก็เห็นจริงๆ ว่าในเทศกาลนี้มีความน่าสนใจหลายอย่าง พูดได้ว่าเป็นเทศกาลที่ใหญ่มากๆ ซึ่งไม่ใช่แค่การเปิดพื้นที่ให้ผู้กำกับหญิงในประเทศเท่านั้น แต่ยังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเฟมินิสต์ไปด้วย เหมือนเป็นมูฟเมนต์หนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตัวหนังที่ฉายก็มีความหลากหลาย ตั้งแต่หนังที่เกี่ยวกับผู้หญิงไปจนถึงหนังที่มีเนื้อหาความหลากหลายทางเพศ หนังหญิงรักหญิง รวมถึงมีหนังต่างประเทศด้วย

“เราประทับใจที่งานนี้มีภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุน แถมดารานักแสดงมากมายก็เข้าร่วมงาน ซึ่งเป็นการร่วมงานในแบบที่ไม่ได้มาเดินพรมแดง แต่เข้าร่วมแบบเป็นส่วนหนึ่งของงานทอล์ก ร่วมชมภาพยนตร์ที่ตัวเองแสดง เหมือนไปในฐานะของแรงงานคนหนึ่งในวงการภาพยนตร์ ไม่ใช่เซเลบริตี้”

นอกจากนี้ เจ๋ยังหยิบโครงสร้างการจัดงานและการออกแบบบางส่วนมาจาก International Film Festival Rotterdam งานฉายหนังขนาดใหญ่ที่มีการให้ทุนกับงานประกวดรางวัลที่หลากหลาย เนื่องจากอยากให้มีโครงการแบบนี้ใน BKKWFF เช่นกัน

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

ใช้สีชมพูในการออกแบบ เพื่อชวนตั้งคำถามถึงอคติทางเพศ

สีชมพูคือสีที่เจ๋เลือกใช้เป็นสีหลักของ Identity Design โดยเธอตั้งใจใช้สำหรับงาน BKKWFF ครั้งแรก

“ตอนแรกลังเลว่าใช้สีอะไรดี เพราะที่ผ่านมาก็มีดราม่าการเปลี่ยนโลโก้และรูปโปรไฟล์ของบริษัทแห่งหนึ่งในวันสตรีสากล ซึ่งเปลี่ยนเป็นผู้หญิงและสีชมพู ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายตามมา เพราะจริงๆ แล้วสีของวันสตรีสากลคือสีม่วง แต่หลังจากที่รีเสิร์ชมาแล้วเราพบว่าอคติเกี่ยวกับผู้หญิงในกองถ่ายยังคงค่อนข้างเข้มข้นเพียงแต่หลายคนอาจไม่รู้ตัว เลยคิดว่าการใช้สีชมพูน่าจะทำให้คนที่สมาทานแนวคิดชายเป็นใหญ่เกิดความรู้สึกว่านี่ไม่ใช่งานของเรา แล้วกลายเป็นการย้อนกลับไปคิดทบทวนและตั้งคำถามกับตัวเองได้ 

“ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ได้เลือกสีชมพูมาใช้อย่างเดียว มีทั้งสีม่วง ครีม น้ำตาล ดำ เข้ามาร่วมใน Identity ของงาน เพื่อให้เห็นว่าการเป็นผู้หญิงสามารถเป็นได้หลากหลายแบบ จะมีความเฟมินีนมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่ได้เป็นตัวกำหนดว่าเป็นผู้หญิงพอแล้วหรือยัง

“อีกอย่างคือสีชมพูเป็นสีที่ทุกคนทราบกันดีว่าเป็นสีที่ตรึงไว้กับเพศหญิง เลยอยากเอามาใช้เสียดสีถึงคนที่มีอคติเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นผู้หญิง ซึ่งเป็นผลพวงที่ทำให้ไม่มีเทศกาลหนังแบบนี้เกิดขึ้น กระทั่งหนังที่เกี่ยวกับผู้หญิงก็ไม่มี หรือผู้กำกับหญิงก็มีน้อยเหลือเกิน อยากให้ทุกคนเห็นว่าสีชมพูเด่นหรานี่แหละที่เป็นกำแพงที่ทำให้คนในสังคมไม่สามารถเบรกกรอบความคิดเข้ามาสู่สิ่งเหล่านี้ได้”

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

เทศกาลหนังของผู้หญิง เพื่อผู้หญิง 

ส่วนกิจกรรมภายในงาน เจ๋เล่าว่าจากที่รีเสิร์ชและสอบถามคนรอบตัวมา a must ที่ต้องมีนอกเหนือจากการฉายหนังของผู้กำกับหญิงไทย หนังเฟมินิสต์จากต่างประเทศ และหนังจากโครงการเปิดรับหนังที่กำกับโดยผู้หญิงคือ กิจกรรมทอล์กและเวิร์กช็อป

“กิจกรรมที่เราอยากให้มีเป็นพิเศษคือ วงสนทนาสำหรับผู้หญิงที่ทำงานในวงการภาพยนตร์ ทั้งคนที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง อยากให้คุยในฟีล After Party ที่ทำให้เป็นพื้นที่สำหรับคนทำงานผู้หญิงเท่านั้น เพื่อที่จะเปิดใจแลกเปลี่ยนถึงปัญหาที่แต่ละคนประสบในการทำงานสายอาชีพนี้ได้ คนทั่วไปจะได้เห็นภาพใหญ่มากขึ้นว่าผู้หญิงเจอปัญหามากมายแค่ไหนในวงการนี้ เจอความไม่เป็นธรรมอะไรในกองถ่าย เจอความไม่ปลอดภัยหรือถูกคุกคามทางเพศยังไงตอนทำงานบ้าง”

เพราะยังมีผู้หญิงที่ทำงานและเรียนสายภาพยนตร์จำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ‘เพศ’ ไม่ใช่ปัญหาในการทำงาน ทั้งที่มีผู้หญิงอีกหลายต่อหลายคนเจอปัญหากัน เจ๋จึงหวังว่ากิจกรรมทอล์กนี้อาจทำให้คนที่ไม่เคยเจอปัญหา หรือเจอปัญหาแล้วแต่คิดว่ามันไม่ร้ายแรงได้เกิดความเข้าใจในเรื่องนี้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไขหรือการรวมตัวกันเป็นปึกแผ่นของผู้หญิงในวงการ

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

เวิร์กช็อปคืออีกกิจกรรมสำคัญที่เจ๋พูดถึง เธอมองว่านอกจากเวิร์กช็อปหัวข้อผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่มักจัดกันตามเทศกาลภาพยนตร์แล้ว BKKWFF ต้องมีเวิร์กช็อปสำหรับแนะนำเข้าสู่สายงานอื่นๆ ในวงการ เช่น อาร์ตไดเรกเตอร์ คนทำดนตรี เป็นต้น 

“หลังจากสอบถามเพื่อนที่ทำงานด้านนี้ เขาก็เล่าว่าตอนเริ่มงานหาที่พึ่งพิงยากมาก เพราะไม่รู้ต้องไปถามใครหรือเรียนงานกับคนเก่งๆ ที่ไหน อีกอย่างพอมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง เขาก็รู้สึกสบายใจที่จะเรียนรู้งานจากผู้หญิงด้วยกันเองมากกว่า”

นอกจากนี้ เธอยังอยากให้มีบูทขายของที่ระลึกจากภาพยนตร์ เช่น DVD โปสเตอร์ ฯลฯ ภายในเทศกาลด้วย เพราะอย่างน้อยคนที่มาร่วมงานจะได้รู้จักผลงานของผู้กำกับหญิงผ่านโปรดักต์ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นการดึงดูดให้คนที่ไม่ได้เป็นคอหนังแต่สนใจงานดีไซน์ หรือกระทั่งคนที่เพิ่งเริ่มดูหนังได้มีโอกาสทำความรู้จักผู้กำกับหญิงเหล่านี้ 

“อย่างพี่นุช-พิมพกา โตวิระ ทำหนังเกี่ยวกับผู้หญิงและเรื่องเปราะบางทางการเมืองไทยได้ดีมาก อย่างเรื่อง The Purple Kingdom ที่พี่นุชเอาเรื่องจริงของบิลลี่ พอละจี กับภรรยามาเล่า และเรื่อง The Island Funeral (มหาสมุทรและสุสาน) ที่เล่าถึงความไม่สงบในชายแดนใต้ แต่หาดูหนังเขายากมาก เราก็อยากให้คนรู้จักเขาเยอะๆ” เจ๋บอกกับเรา

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง
Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

ประตูบานใหม่ของผู้กำกับหญิงในวงการภาพยนตร์

“แล้วมองสถานที่จัดงานที่ไหนเป็นพิเศษไว้ไหม” เราถามเจ๋ขำๆ หลังจากที่เธอเล่าถึงแพลนการจัด BKKWFF ที่เอาเข้าจริงถ้ามีทุนและได้รับการสนับสนุน ก็อาจจะจัดจริงได้แล้วด้วยซ้ำ

“เป็นไปได้เราอยากให้จัดในพื้นที่ใหญ่ๆ ที่เดียวไปเลย ให้คนมาดูหนังได้ด้วย รวมถึงต้อนรับคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะนักเรียนนักศึกษาและคนพิการ แต่เท่าที่ดูก็ยังไม่มีสถานที่ไหนในกรุงเทพฯ ที่ตอบโจทย์ได้ขนาดนั้น เลยคิดว่าถ้าผลักดันให้งานจัดในหลายๆ พื้นที่ทั่วเมืองได้คงดี สะดวกกับคนบ้านไกลด้วย ส่วนเรื่องไหนที่แมสๆ ก็อยากให้ได้ฉายที่แมสๆ อย่างโรงหนัง SF และ Major นะ คนที่ได้ดูเรื่องแมสๆ จะได้ตามมารู้จักหนังนอกกระแสอื่นๆ ในเทศกาล ซึ่งถ้าจะได้ระดับนั้น คงต้องเป็นความร่วมมือของรัฐและเอกชน” เจ๋ตอบ

แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์ของอุตสาหกรรมหนังไทยจะดูลุ่มๆ ดอนๆ แถมชีวิตคนทำงานกองถ่ายก็หนักแสนหนัก แต่เจ๋เชื่อว่าในพื้นที่อันเล็กแคบนั้น คนทำงานผู้ชายยังมีโอกาสมากกว่าผู้หญิงในแง่ของการขอทุนจากค่ายหนังใหญ่ๆ และในฐานะคนที่ชอบดูหนัง เธอก็หวังว่าจะได้เห็นหนังที่วิพากษ์สังคมจนเป็นหนังเฟมินิสต์ หรือสื่อสารถึงสายใยความสัมพันธ์ของผู้หญิง (Womanhood) อย่างจริงจัง เพราะจะเป็นการยืนยันถึงการมีตัวตนของผู้กำกับหญิงที่ทำหนังเพื่อผู้หญิง ซึ่งอีกแง่หนึ่งคือศักดิ์ศรีของความเป็นผู้หญิงให้คนทั่วไปได้ประจักษ์สายตา

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง
Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

“ถ้าเทศกาลนี้เกิดขึ้นจริงๆ ต้องมีอิมแพกต์ต่อคนที่ได้ชมภาพยนตร์แน่นอน เนื่องจากหนังที่กำกับโดยผู้หญิง ไม่ว่าจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงหรือไม่ มันมีพลังของ Female Gaze ที่ไม่เหมือนหนังของผู้ชาย คนจะเข้าใจเลยว่ามันแตกต่างจากหนังในตลาดที่ถูกครอบครองด้วยผู้ชายยังไง คนที่ได้ดูอาจเกิดความรู้สึกว่าอยากดูอีก หรือคิดว่าถ้ามันให้รสชาติที่แตกต่างจากหนังของผู้กำกับชายที่เขาเคยดูมาขนาดนี้ ทำไมเขาถึงไม่ค่อยได้ดูนะ

“เราคิดว่า BKKWFF จะเป็นเหมือนประตูเปิดทางให้คนดูหนังเกิดการตั้งคำถามและส่งต่อความสงสัยนี้ไปยังสังคม และตัวผู้กำกับผู้หญิงเองก็จะได้เติมพลังกายพลังใจ รวมถึงได้โอกาสจากทุนที่อาจแวะเวียนเข้ามา ยังไม่นับถึงการทำลายอคติของสังคมที่มักมีสเตอริโอไทป์ว่าผู้กำกับหญิงทำหนังแนวนั้นแนวนี้ไม่ได้อีกด้วย

“พอเป็นแบบนี้ มันจะทำให้ผู้กำกับหญิงหน้าใหม่บางคนที่ยังลังเลว่าจะทำหนังดีไหมหรือนักเรียนฟิล์มผู้หญิงที่กลัวว่าตัวเองจะทำงานสายนี้ไม่รอด ได้มีแรงบันดาลใจเพราะเห็นว่ามันมีพื้นที่ตรงนี้ที่เปิดรับพวกเขาอยู่ ซึ่งอาจทำให้ผลผลิตของผู้กำกับหญิงมีเพิ่มขึ้น ไปจนถึงนายทุนเองที่เห็นว่างานของผู้กำกับหญิงได้รับความนิยม ก็จะหันมาสนับสนุนส่วนนี้”

Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง
Bangkok Women's Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ผู้กำกับหญิง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.