ถ้ากรุงเทพฯ เป็นมนุษย์ คุณคิดว่ามันจะมีรูปร่างหน้าตาแบบไหน มีบุคลิกและนิสัยหรือจิตใจยังไง จะน่าคบหาหรือควรถอยห่างคนแบบนี้กันนะ
เมื่อพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกรุงเทพฯ กับคนกรุงเทพฯ หรือคนต่างจังหวัดที่มาอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ เราคิดว่าส่วนใหญ่น่าจะนิยามเป็นความสัมพันธ์ที่ทั้งรักทั้งชัง (Love-Hate Relationship) รักในแง่ความเจริญ มีชีวิตชีวา มีความสร้างสรรค์ และมีโอกาสมากมายให้ไขว่คว้า ขณะเดียวกันก็ชังที่ความเจริญนี้มีเพียงวัตถุ แต่โครงสร้างพื้นฐานของเมืองไม่ได้งอกงามตามไปด้วย ผู้คนยังต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความเครียด ฝุ่นควัน หมดเวลากับการเดินทางเป็นชั่วโมงๆ หมุนวนไปกับการทำงานรายวันที่ยากจะมีโอกาสหลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวินาทีนี้ เรากำลังเข้าใกล้ฤดูกาลเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ อยู่ทุกชั่วขณะ คอลัมน์ Urban Sketch จึงใช้โอกาสนี้นำเสนอเสียงสะท้อนของคนกรุงเทพฯ ผ่านภาพวาดในหัวข้อ ‘ถ้ากรุงเทพฯ กลายเป็นมนุษย์ หน้าตาและนิสัยจะเป็นแบบไหนกันนะ’ โดยคนกรุงเทพฯ และคนต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่เมืองหลวงแห่งนี้ จำนวนสามคน ต่างเพศ ต่างวัย ต่างอาชีพ ต่างมุมมอง
พวกเขามองกรุงเทพฯ เป็นคนแบบไหน เรายื่นโจทย์ให้ทุกคนวาดภาพกรุงเทพฯ ออกมาเป็นคนด้วยจินตนาการของตัวเอง หน้าตาจะน่ารักหรือน่าคบไหม เราตามไปดูพร้อมๆ กันได้เลย
ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์
อายุ 30 ปี
อาชีพ สถาปนิก
ภูมิลำเนา กรุงเทพฯ
“เราคิดว่า ถ้าต้องวาดกรุงเทพฯ ออกมามีหน้าตาเป็นคน อาจสื่อสารไม่ได้ตรงใจตัวเองเท่าไหร่ เลยอยากให้มีของบางอย่างอยู่ในตัว โดยเชื่อมโยงกับเรา และเป็นสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ
“เหตุผลที่เขาสวมท่อสีฟ้าไว้บนหัว เพราะเวลาเราไปไหนมาไหนในเมืองมักจะเจอท่อลักษณะนี้ตามทาง โดยเฉพาะในชุมชน มันเป็นของที่คนกรุงเทพฯ หยิบมาใช้เพื่อเอาตัวรอดในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันคำว่า Pipe ที่แปลว่าท่อ ก็ไปคล้องกับคำว่า Pipe Dream ที่แปลว่าฝันลมๆ แล้งๆ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อโดนสวมท่อ วิสัยทัศน์การมองเห็นของเขาจึงถูกจำกัด เมื่อมีฝันก็ไม่มีทางเป็นไปได้ ตะโกนอะไรออกไปก็ก้องในหัว เป็นคาแรกเตอร์ของคนกรุงเทพฯ ที่ไม่รู้จะเอายังไงกับชีวิตดี
“ขณะเดียวกัน นอกจากท่อที่ครอบหัวอยู่แล้ว ยังมีสายไฟพะรุงพะรังที่เปรียบเหมือนโครงสร้างสังคมผูกมัดร่างกายกรุงเทพฯ อยู่ จะขยับตัวทำอะไรก็ลำบาก
“สำหรับเรา คนคนนี้เป็นคนน่าคบหา อยากให้กำลังใจเขา เพราะขนาดมีข้อจำกัดทางโครงสร้างขนาดนี้ เขายังเอาตัวรอดมาได้ มีความอดทนอดกลั้นสูงมากกับการรอรถนั่งรถเป็นชั่วโมงๆ กว่าจะถึงบ้าน ถ้าเอาท่อฟ้าออกจากหัวได้ เราเชื่อว่ากรุงเทพฯ ต้องมีหน้าตาที่ใสกิ๊ง เป็นคนมีศักยภาพ ทำอะไรได้ดีไม่แพ้คนอื่นๆ แต่มันคงเหมือนเวลาเราแกะหูฟังที่พันกันยุ่งเหยิง ต้องใช้แรง เวลา และความใจเย็นไม่น้อย
“กว่ากรุงเทพฯ จะใช้มือที่ถูกสายไฟพันธนาการมาถอดท่อออกจากหัวได้คงมีหลายเรื่องที่ต้องเผชิญ แต่ถึงยังไงเราเชื่อว่าสักวันหนึ่ง เขาต้องถอดท่อนี้ได้ และนั่นน่าจะเป็นความฝันใหญ่ของเขาด้วยเหมือนกัน”
ชัยวัฒน์ อุทัยกรณ์
อายุ 28 ปี
อาชีพ นักวาดภาพประกอบ
ภูมิลำเนา อุบลราชธานี
ระยะเวลาที่อาศัยในกรุงเทพฯ ปี 2014 – ปัจจุบัน
“เรามองว่ากรุงเทพฯ มีความน่าวิตกหวาดหวั่นประมาณหนึ่ง เพราะตอนอยู่ต่างจังหวัดมักได้ยินคำเตือนจากเพื่อนๆ ที่เคยอยู่กรุงเทพฯ มาก่อน รวมถึงพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่บอกว่า ถ้าไปอยู่กรุงเทพฯ ให้ระวังกระเป๋า ถ้าสะพายเป้ให้เอามาไว้ข้างหน้า ตอนแรกเราสงสัยว่ามันต้องระวังขนาดนั้นเลยเหรอ แต่พอมาอยู่ที่นี่ก็เข้าใจได้ว่าทำไมคนถึงเตือนแบบนั้น เพราะที่นี่อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แค่เดินตามตรอกซอกซอยก็ต้องกลัวว่าจะมีใครมาทำอะไรเราหรือเปล่า เราเลยถ่ายทอดความเป็นเมืองที่ไม่ค่อยสบายกายสบายใจเวลาไปไหนมาไหน ออกมาเป็นตัวละครที่เอาเป้มาสะพายไว้ข้างหน้า
“กรุงเทพฯ สำหรับเรา ดูเป็นคนธรรมดาๆ เพราะเราเห็นเขาเป็นคนวัยเดียวกับตัวเอง ซึ่งเป็นคนที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง แต่ยังมีความสงสัย และไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง ทั้งในแง่ตัวตนที่จะเอายังไงกับชีวิตต่อดี และแง่ของทรัพย์สินที่ถ้าเกิดถูกขโมยไปก็ต้องเสียเวลาไปทำเรื่อง ดำเนินการเอกสารใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ใช้เวลาเยอะ และต้องทำใจเลยว่าจะไม่ได้ของกลับมาแน่ๆ เราเลยตั้งใจดีไซน์ตัวละครกรุงเทพฯ ให้มีเซนส์ของความกังวล กลัว ระแวดระวังสิ่งรอบข้างอยู่หน่อยๆ
“ข้อดีของกรุงเทพฯ ที่ในขณะเดียวกันก็เป็นข้อเสียสำหรับเราด้วยคือ ความตลกแปลกๆ ที่น่าขันขื่น ทำนองว่า เอาแบบนี้เลยเหรอ อย่างการที่รถติดมากๆ คนเลยขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าซะเลย เป็นต้น
“อย่างตัวละครกรุงเทพฯ ที่เราออกแบบนี่จะชอบฟังเพลงมาก แต่ไม่กล้าใส่หูฟัง เพราะต้องเก็บหูไว้ฟังสิ่งรอบตัว เกิดมีรถมอเตอร์ไซค์ขี่มาชน หรือคนมาทำร้ายจะได้ป้องกันตัวเองทัน
“เราคาดหวังว่า ในอนาคตเขาจะใช้ชีวิตได้สบายขึ้น ไม่ต้องกลัว หรือกังวลว่า จะโดนขโมยทรัพย์สิน มีความมั่นใจในชีวิตมากขึ้นจากที่เคยรู้สึกว่าทุกอย่างไม่มั่นคงตลอดเวลา อยากเห็นเขากล้าสะพายกระเป๋าเดินไปไหนมาไหนได้อย่างไม่ต้องระแวดระวัง
“สุดท้ายถ้ากรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองที่ผู้คนอยู่อาศัยได้อย่างสบายกายสบายใจ มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ไปไหนมาไหนได้อย่างรู้สึกปลอดภัยไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม เราและคนรอบข้างที่อยู่ในเมืองนี้น่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
นัทธมน คภะสุวรรณ
อายุ 24 ปี
อาชีพ พนักงานออฟฟิศ
ภูมิลำเนา สงขลา
ระยะเวลาที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปี 2016 – ปัจจุบัน
“เรามองกรุงเทพฯ เป็นคนป่วยคนหนึ่งที่รอรับการรักษาจากหมอ หรือคนที่ช่วยเขาได้ เพราะเมืองนี้เป็นเมืองที่มีหลายปัญหาเหมือนคนที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางใจ ส่วนการที่เราวาดกรุงเทพฯ เป็นผู้ชายเพราะในสายตาของเรามองว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงที่ค่อนข้างแข็งแรง มีความเจริญมากกว่าต่างจังหวัด มีแต่คนอยากมาอาศัยอยู่ที่นี่ และเป็นเหมือนคนที่พึ่งพาได้
“ถ้ามองภายนอกเขาก็ดูเป็นคนดี น่าเข้าหา และเข้าไปทำความรู้จัก แต่พอได้รู้จักจริงๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างที่หวังไว้ อาจเพราะว่า เราอยู่ต่างจังหวัดมาตั้งแต่เกิด ตอนที่เข้ามาเรียนที่นี่ก็มองว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าเข้ามาหาประสบการณ์ มีโอกาสมากมาย แต่พอได้มาอยู่จริงๆ ก็ทำให้รู้ว่ามันยังมีข้อบกพร่องที่รอให้คนมารักษาแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางเท้าแย่ๆ ขนส่งสาธารณะที่ไม่ครอบคลุม การจราจรที่ติดขัด
“ข้อดีของกรุงเทพฯ มีเยอะ แต่ในข้อดีมันมีข้อด้อยที่เยอะกว่ามาก ทำให้ดีก็ดีไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ รู้สึกว่าถ้าเป็นคนก็คงน่าคบหา และน่าสงสารไปพร้อมๆ กัน เพราะเขาโดนทำร้ายมาเยอะ จะใช้ชีวิตดีๆ เหมือนคนอื่นก็ไม่ได้ จะทำตามความฝันก็มีโรคเรื้อรังมาฉุดรั้ง ถ้าเขาได้รับการช่วยเหลือจากหลายๆ ฝ่ายที่เปรียบเป็นรัฐสวัสดิการ และการปรับโครงสร้างที่ส่งเสริมผู้อยู่อาศัยก็คงดีกว่านี้มาก เราหวังว่าสักวันจะมีคนที่มีความสามารถมาช่วยกรุงเทพฯ ได้จริงๆ สักที”
ซีรีส์ Bangkok Hope จาก Urban Creature คือซีรีส์ที่จะชวนทุกคนมองหา ‘ความหวัง’ จากการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่กำลังจะเกิดขึ้น เราเชื่อว่าระบอบประชาธิปไตยคือการมีส่วนร่วมของพลังประชาชนที่จะช่วยกำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง ดังนั้นความหวังสู่การเปลี่ยนแปลงนี้จึงควรมีทุกคนเป็นเจ้าของ เพื่อร่วมสร้างสรรค์ ขีดเขียน และเปลี่ยนแปลงทุกย่างก้าวไปพร้อมๆ กัน