การกินอาหารพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวจีน และมักจะนั่งล้อมวงมีอาหารวางเสิร์ฟแบบฟูลออปชัน วัฒนธรรมชาวจีนถือว่าการกินอาหารเป็นการเข้าสังคมอย่างหนึ่ง การสั่งอาหารขึ้นโต๊ะจึงเป็นเรื่องสำคัญ ในอดีตสังคมจีนมีวิถีการกิน ‘แค่พออิ่ม’ แต่เมื่อเศรษฐกิจก้าวหน้าไปมากชาวจีนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นก็เปลี่ยนมากินแบบ ‘อิ่มหมีพลีมัน’
การบริโภคที่อุดมสมบูรณ์ตามมาด้วยปัญหา ‘อาหารเหลือทิ้ง’ ที่เยอะจนน่าวิตก ล่าสุดประธานาธิบดีจีนสีจิ้นผิง ได้ออกแคมเปญลดปริมาณขยะอาหาร หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ของจีนเมื่อเดือนที่ผ่านมา สร้างความเสียหายให้พืชผลทางการเกษตร ส่งผลให้ราคาอาหารสูงขึ้นจากที่สูงอยู่แล้วหลังการระบาดของโรคโควิด-19
หน่วยงานในระดับท้องถิ่นเริ่มดำเนินการกำหนดเป้าหมาย ‘ปฏิบัติการจานเปล่า’ ที่ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้ง สมาคมธุรกิจการจัดเลี้ยงของอู่ฮั่นเรียกร้องให้ร้านอาหารในเมืองออกกฎที่เรียกว่า ‘การสั่งซื้อแบบ N-1’ คือลูกค้าที่มาเป็นกลุ่มต้องสั่งอาหารจานเดียวน้อยกว่าจำนวนคนที่มา ร้านอาหารควรลดปริมาณอาหารลงครึ่งหนึ่งหรือไซซ์เล็กลง รวมถึงมีบริการห่ออาหารเหลือกลับบ้าน โดยเมืองเซียนหนิงในมณฑลหูเป่ย และเมืองซินหยางในมณฑลเหอหนาน ก็มีการเสนอให้ใช้ระบบ N-1 เช่นกัน ส่วนในฉงชิ่ง สภาอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ก็จะมีการติดตั้งหน้าจอ LED พร้อมสร้างระบบเตือนการบริโภคอย่างประหยัด ตลอดจนมีมาตรการกำกับดูแลผู้บริโภคให้กินอย่างประหยัด
สีจิ้นผิงพยายามที่จะผลักดันกฎหมายการกำกับดูแล และมาตรการระยะยาว ตลอดจนให้ความรู้ความเข้าใจเพื่อ “หยุดขยะอาหารอย่างเด็ดขาด” อย่างไรก็ตามปฏิบัติการนี้อาจเป็นไปได้ยากสักหน่อย เพราะการสั่งอาหารในภัตตาคารอาหารจีนในปริมาณมากกว่าที่กินนั้นถือเป็นมารยาท อีกทั้งมีความเห็นจากอีกฝั่งที่แสดงความไม่พอใจในโลกโซเชียลอย่าง Weibo ที่ให้ความคิดเห็นว่า มาตรการเหล่านี้ดูพุ่งเป้าไปที่คนชั้นล่างที่พวกเขากินอยู่อย่างประหยัดกันอยู่แล้ว ผิดกับคนรวยหรือเจ้าหน้าที่ทางราชการเองที่จัดงานเลี้ยงกันทียิ่งใหญ่ฟุ่มเฟือย
The Guardian | https://bit.ly/2PToOu4
Thai Biz China | https://bit.ly/3an2OkA