ภูมิปัญญาญี่ปุ่นผสมข้าวไทย YoRice เครื่องดื่มเชียงใหม่ที่ช่วยชาวนาแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ - Urban Creature

หากพูดถึงการนำข้าวไปหมักทำเป็นเครื่องดื่ม คนไทยอย่างเราคงคุ้นเคยกับสาโทหรือสุราชาวบ้าน คงไม่ได้นึกถึง ‘อามาซาเกะ’ หรือสาเกหวาน ไร้แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มภูมิปัญญาจากญี่ปุ่น ที่ทำขึ้นเพื่อเป็นทั้งอาหารสุขภาพ และให้เด็กๆ ได้ลิ้มลองรสความเป็นสาเกก่อนถึงวัย 

การเกิดขึ้นของอามาซาเกะข้าวไทยอย่าง YoRice จึงดึงดูดใจใครหลายคน เพราะนอกจากจะเป็นของแปลกใหม่ในไทย สรรพคุณของเครื่องดื่มชนิดนี้ก็ให้ทั้งประโยชน์ด้านสุขภาพตอบเทรนด์ที่คนกำลังสนใจ ที่สำคัญคือยังสะท้อนให้เห็นปัญหาในจังหวัดเชียงใหม่ (ซึ่งในขณะเดียวกันก็เป็นปัญหาที่ลามไปไกลถึงระดับประเทศ) ถึง 3 ประเด็น

หนึ่ง คือ ปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ 

สอง คือ ปัญหาความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่นับวันยิ่งหลากหลายน้อยลงไปทุกวัน 

สาม คือ ปัญหาความหิวโหยของคนในสังคม

ปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ ตลอดจนสิ่งแวดล้อม ถูกจัดการผ่านเครื่องดื่มหนึ่งขวดได้อย่างไร 

ปอ-ภราดล พรอำนวย ผู้อยู่กับ YoRice มาตั้งแต่วันแรก เต็มใจถ่ายทอดเรื่องราวให้ฟังผ่านบทสนทนานี้

เมื่อเห็นปัญหาจึงเกิดคำถาม

ใครหลายคนคงเหมือนเราที่คุ้นเคยกับปอในบทบาทนักดนตรี เจ้าของร้าน North Gate แจ๊สบาร์คู่เชียงใหม่ มากกว่าการรู้จักเขาในบทบาทของหนุ่มนักธุรกิจเพื่อสังคม 

ที่แม้จะไม่ใช่ภาพที่คุ้นชินของใคร แต่เขาก็ยืนยันว่าจริงๆ ความคิดเรื่องนี้วนเวียนอยู่ในตัวเขามานานตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม 

ปอย้อนความว่าเหตุการณ์ที่มาจุดประเด็นให้เขาเริ่มสนใจปัญหาปากท้องของคนอื่น มาจากประสบการณ์ครั้งที่เขาโบกรถจากเชียงใหม่ไปฝรั่งเศส การเดินทางครั้งนั้นจะเรียกว่าเป็นการเดินทางเปลี่ยนชีวิตเลยก็ได้ เพราะมันทำให้เขาได้เห็นน้ำใจจากคนครึ่งค่อนโลกที่พร้อมจะหยิบยื่นความช่วยเหลือมาให้นักดนตรีแปลกหน้าอย่างตน

“เราไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตเยอะ การต้องแบกเครื่องดนตรีโบกรถไปหลายหมื่นกิโล จึงต้องการความช่วยเหลือจากคนจำนวนมาก และคนจำนวนมากที่ช่วยเหลือเราต่างก็เป็นคนแปลกหน้า เราต้องไปเปิดหมวกข้างถนน ต้องไปขออาศัย ไปขอข้าวเขากิน ทำให้เห็นว่าเพื่อนมนุษย์ยังมีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ช่วยเหลือกัน ทำให้เราได้เห็นโลก ได้เรียนรู้วัฒนธรรมที่หลากหลาย ได้เรียนรู้ความสุข ความทุกข์ของคน”

ไม่ว่าจะเป็นใคร คนเราก็ต่างอยากมีชีวิตที่ดีขึ้นทั้งนั้น คือสิ่งที่ปอคิดได้ 

“การเดินทางครั้งนั้นทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตของเรามันไม่ใช่ของเราคนเดียว ทำให้เราอยากใช้ทุกย่างก้าวในชีวิตที่เดินไป อุทิศอะไรให้สังคม”

YoRice เป็นหนึ่งในหลายโปรเจกต์ที่ปอทำ โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นได้เพราะสถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดอย่างหนักจนพื้นที่ในเชียงใหม่หลายๆ แห่งถูกล็อกดาวน์ เมื่อคนถูกจำกัดให้อยู่ในพื้นที่ไม่กี่ตารางกิโลเมตร ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องจัดการ ณ ตอนนั้นจึงหนีไม่พ้นเรื่องปากท้องของคน 

กลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบเรื่องนี้เต็มๆ คือ ผู้อพยพในค่าย Shan State Refugee Committee ซึ่งปกติมีรายได้จากการทำงานในหมู่บ้านเล็กๆ ใกล้ๆ คอยเก็บพริก เก็บหัวหอม หาเลี้ยงชีพ

“พอล็อกดาวน์ก็กลายเป็นว่าคนในค่ายไม่มีข้าวกิน เพราะข้าวที่เขามีเหลืออยู่จะพอกินได้อีกแค่สองอาทิตย์เท่านั้น ตอนนั้นจึงเกิดเป็นแคมเปญระดมข้าวขึ้นมา หาข้าวหักและเกลือส่งไปให้ตามคำขอของชาวบ้าน”

มูฟเมนต์เล็กๆ ที่ว่าทำให้ปอและทีมเกิดคำถามขึ้นมาหลายอย่าง

หนึ่ง ถ้าโควิดยังมีการระบาดต่อไป พัฒนาเป็นโควิด 2023 โควิด 2024 จะทำอย่างไร

สอง ถ้าต่อไปข้าวหมดอีกแล้วชาวบ้านจะเป็นยังไงต่อ 

ไปจนถึงสาม คือการเห็นปัญหาราคาข้าวว่าทำไมข้าวหักถึงมีราคาแค่นี้ นอกจากนำไปเลี้ยงสัตว์แล้วข้าวเหล่านั้นทำอะไรได้บ้าง และเกษตรกรที่ปลูกข้าวจะอยู่ได้จริงหรือ 

“สิ่งเหล่านั้นทำให้เรากลับมาย้อนคิดว่า จะมีวิธีการบริหารจัดการสำหรับคนในเมืองหรือในย่านนี้ยังไง อะไรคือต้นทุนทางทรัพยากรของเรากันแน่”

หลังคำถามนั้น ปอและทีมจึงเริ่มมองหาต้นทุนในจังหวัด

เขาเจอว่าเชียงใหม่มีข้าว มีชา มีถั่วเหลือง ตลอดจนมีผลไม้ท้องถิ่น – แต่คำถามต่อไปคือจะเอาสิ่งเหล่านี้มาทำวิธีการยังไงให้เพิ่มมูลค่าได้

อามาซาเกะข้าวไทย

“คนที่ให้ไอเดียเรื่อง อามาซาเกะ คือหมอก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ เรียกว่าเป็น CEO เป็น Co-founder ของ YoRice เลย เขาเห็นตรงกันว่าถ้าระดมข้าวไปให้กับพี่น้องข้างบนเรื่อยๆ มันคงไม่ยั่งยืน คงไม่มีใครเอาข้าวมาให้ได้ตลอด แล้วจะทำยังไงให้ข้าวมีมูลค่าเพิ่ม งั้นเรามาทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรไปเลยไหม มีทีมงานช่วยพัฒนา ทำงานร่วมกับนักวิจัย สร้างแบรนด์ นำพืชผลเกษตรมาเพิ่มมูลค่า หาตลาด”

เมื่อเจอว่าอามาซาเกะคือเครื่องดื่มที่ได้มาจากกระบวนการหมักโคจิ (เชื้อราสีขาว) กับข้าว ทำให้เกิดรสหวาน แถมยังมีคุณประโยชน์มากมาย และการทำสิ่งนี้จะทำให้เขาสามารถนำข้าวหักที่มีราคาต่ำมาใช้ประโยชน์ได้มากกว่าการเป็นอาหารสัตว์ แถมยังเพิ่มมูลค่าให้ข้าวไปในตัว ปอและทีมจึงสนใจ 

“YoRice ย่อมาจากโยเกิร์ตกับคำว่าข้าว หมอให้แนวคิดที่ว่า จริงๆ แล้วคนเอเชียแพ้นมประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถย่อยน้ำตาลจากนมได้ พอย่อยไม่ได้ก็เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย ท้องอืด อามาซาเกะจึงถือเป็นอาหารที่น่าจะตอบเทรนด์รักสุขภาพของคน เป็น Functional Drink มีพรีไบโอติกส์เป็นจุลินทรีย์ที่ดี รสหวานธรรมชาติ สดชื่น ช่วยดับกระหาย กินแล้วอิ่ม ทดแทนอาหารบางมื้อได้ แถมยังมีกลูตามิกช่วยบำรุงผิว

“ความท้าทายของเราคือการสื่อสารให้คนเข้าใจว่า อามาซาเกะคืออะไร แต่ผมจินตนาการว่ามันคงเหมือนตอนคนเอายาคูลท์มาในประเทศครั้งแรกนั่นแหละ คนก็อาจจะงงเหมือนกันว่าอะไรคือแลกโตบาซิลลัส ทำไมต้องกิน” เขาหัวเราะสดใส ก่อนบอกว่าวิธีสื่อสารให้คนเข้าใจไม่มีอะไรซับซ้อน 

“ก็สื่อสารบอกประโยชน์ของอามาซาเกะไปตรงๆ อย่างที่เล่าให้ฟังเมื่อกี้นี่แหละ” 

นอกจากประโยชน์มากมายที่ล่อตาล่อใจสายรักสุขภาพ สิ่งที่เป็นแต้มต่อทำให้คนสนใจ YoRice เพิ่มอีกอย่าง คือการผสมผสานกันด้านวัฒนธรรม หรือการนำข้าวของไทยมาร่วมด้วย ซึ่งกว่าจะได้ออกมาเป็นอามาซาเกะข้าวไทยพร้อมดื่มอย่างนี้ ก็ผ่านกระบวนการมากมายที่เหนื่อยยากอยู่เหมือนกัน

หากไม่นับว่าก่อนกระบวนการทั้งหมด ทีมงานทุกคนจะต้องไปเรียนรู้กระบวนการปลูกข้าวตั้งแต่ต้นจนจบ เรื่องที่ท้าทายสุดก็คงเป็นการนำเชื้อราแบบญี่ปุ่นมาใช้กับข้าวไทย 

“คล้ายกันกับเวลาเราปลูกข้าวแล้วพันธุ์ข้าวติดปุ๋ย เชื้อราเขาก็มีการคัดสายพันธุ์กันมา มันจึงเติบโตได้ดีในข้าวแบบที่เขาคุ้นชิน พอเราใช้ข้าวไทยที่มีความหลากหลายมาก ความยากคือเราจะสามารถคัดสายพันธุ์เชื้อราที่ดี ที่เหมาะสมกับข้าวไทยได้ยังไง ให้เมื่อนำมาหมักกันแล้วเกิดกลิ่น เกิดรสชาติที่ดี และเกิดคุณประโยชน์สูงสุด” ปออธิบาย

หลังทดลองกันหลังขดหลังแข็ง สุดท้ายอามาซาเกะจาก YoRice ใช้ข้าวไทยสองชนิดคือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวไทยที่มีอยู่ใกล้ตัว สีมาแล้วหักเยอะ และข้าวมะลินิลสุรินทร์ ข้าวต้นตระกูลของไรซ์เบอร์รีที่มีคุณประโยชน์สูง ยูนีกแต่ยังหาได้ง่าย เพราะได้รับการส่งเสริมให้มีการปลูกในภาคอีสานและภาคเหนือ ซึ่งทั้งหมดได้มาจากวิสาหกิจชุมชนข้าวกล้องงอกคนเมืองที่อำเภอสันกำแพง เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ (คกน.) โดยพี่น้องปกาเกอะญอและบริษัท ศาลานา ออแกนิค วิลเลจ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด 

นอกจากข้าวที่นำมาทำเป็น YoRice เขายังมีผลิตภัณฑ์อย่างชาข้าวคั่ว ข้าวสารออร์แกนิกห่อแพ็ก น้ำมัลเบอร์รี และปลาส้มจากโคจิ และยังมีโปรดักต์อื่นๆ ที่ยังรอวันเปิดตัวอีกเพียบ ทั้งไอศกรีมจากกากสาเก อามาซาเกะผสมกับน้ำสมุนไพร หรือแม้แต่สบู่ 

“ตอนนี้เราใช้ข้าวในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไปแล้วถึง 9.5 ตัน เราก็คาดหวังว่าในขณะที่แบรนด์กำลังเติบโตก้าวไป เราก็จะมีกำลังมากพอที่จะทำงานร่วมกับเครือข่าย สามารถช่วยรับซื้อ นำผลผลิตที่พี่น้องชาวบ้านปลูกไว้มาแปรรูปให้มันครบวงจร” 

ไม่เอาระดับจังหวัด ฝันอยากไประดับโลก

ปอมองว่า แม้ตอนนี้แบรนด์จะยังเริ่มทำงานไปแบบไม่เต็มสูบ แต่อย่างน้อยเมสเซจไอเดียของแบรนด์ก็ได้สื่อสารและเดินทางออกไปหาคนที่สนใจแล้ว 

“จริงๆ เราคิดไปถึงเรื่องการส่งออกเลย เพราะนอกจากจะได้ใช้ข้าวให้ได้ปริมาณ เรามองว่าประเทศไทยมีกำลังและมีความรู้ในการผลิตข้าวสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ถ้าจะหาเครื่องดื่มที่เป็นข้าวจากที่ไหนในโลกนี้ก็น่าจะมีประเทศไทย” 

สำหรับปอ YoRice เป็นเหมือนการเปิดโอกาสของการเรียนรู้ ทำให้เขาเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ได้หันกลับมาดูทรัพยากรในพื้นที่

“ลักษณะของการสร้างแบรนด์ YoRice มันมีความร่วมมือสูงและหลากหลาย เป็นลักษณะของการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น นึกภาพว่าการทำอามาซาเกะที่ญี่ปุ่นเขาทำมาสองร้อยกว่าปีแล้ว และภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้เกิดการฟิวชันระหว่างสังคมมนุษย์ มีสมาคมไทย-ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแชร์ความรู้วิธีการ มีความร่วมไม้ร่วมมือระดับนานาชาติเกิดขึ้น มันเป็นความร่วมไม้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคม

“การลงมือทำอะไรสักอย่าง จนเกิดเป็นแบรนด์นี้ขึ้นมาเป็นเรื่องพิเศษสำหรับเรา เราดีใจที่สังคมไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนก็ดี มีความพยายามจะหาหนทางใหม่ๆ ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ เราเลยเห็นว่ามีหลายหน่วยงาน หลายองค์กร พยายามจะพัฒนาข้าวไทยอยู่ตลอด แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่สูง องค์กรอย่าง CEA, TCDC หรือแม้แต่กลุ่มเครือข่าย เขาพยายามสร้างแต้มต่อให้คนตัวเล็กตัวน้อย ผลักดันเรื่อง SME, Start-up”

ปอเล่าว่า การที่เขาใช้ข้าวพื้นถิ่นของคนในจังหวัด ทำให้ตัวเองได้ลงพื้นที่ ลงชุมชนไปคุยเรื่องข้าว รับซื้อข้าว คุยเรื่องผลผลิตกับชาวบ้าน เขาสังเกตว่าช่วงโควิดมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านกันเยอะมาก และคนรุ่นใหม่เหล่านั้นก็กำลังพยายามที่จะสร้างสรรค์แบรนด์ให้กับชุมชน เอาองค์ความรู้ในเมืองมาพัฒนาทรัพยากรที่มี

“การทำให้คนรุ่นใหม่เข้าไปเห็นทรัพยากรของตัวเอง หันมาทำการแปรรูป เพิ่มคุณค่า เพิ่มศักยภาพของท้องถิ่น ปรากฏการณ์มหาลัยไทบ้านอย่าง แม่แดด ที่คนรุ่นใหม่กลับมาทำเรื่องกาแฟ หม่อน เป็นเรื่องมหัศจรรย์

“ถ้าเราอยากจะพัฒนาอะไรใหม่ๆ มันต้องใช้คนอีกรุ่นหนึ่งเข้ามาเป็นส่วนเสริม คนรุ่นใหม่เขายังไปได้อีกไกล เพราะเขามองว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ เขาเป็น World Citizen เวลาสื่อสารเขาสื่อสารกับโลก เขามองเห็นแล้วว่าจะสามารถพาชุมชนเล็กๆ ของตัวเองเชื่อมกับตลาดโลกได้”

และในวันนั้นเราจะได้เห็นแบรนด์ท้องถิ่นอื่นๆ อีกมากมายไม่ใช่แค่ YoRice

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.