‘รักษาสิ่งเก่า’ หรือ ‘พัฒนาไปสู่สิ่งใหม่’ ถ้าสองอย่างนี้สามารถดำเนินไปด้วยกันได้คงจะดี แต่บางครั้งเราก็จำเป็นต้องเลือก โดยเฉพาะยามที่มีเรื่องผลประโยชน์ของส่วนรวมเข้ามาพัวพันด้วย
‘เมืองอยุธยาเสี่ยงจะถูกถอดออกจากมรดกโลกเพราะรถไฟความเร็วสูง’ หากมองจากสายตาคนนอก คงเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับโบราณสถานที่มีอายุมากกว่าหลายร้อยปี แต่ในสายตาของคนท้องถิ่น คนจำนวนไม่น้อยต้องการความเจริญอย่างรถไฟความเร็วสูงมากกว่าการเป็นมรดกโลก และสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในไทย
ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ‘แหล่งมรดกโลก’ คือพื้นที่ทางธรรมชาติหรือสิ่งก่อสร้างรวมไปถึงเมือง ที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือด้านอื่นๆ ซึ่งได้รับการปกป้องคุ้มครองทางกฎหมายตามอนุสัญญาว่าด้วยเรื่อง ‘มรดกโลก’ ของยูเนสโก เพื่อให้ประชาชนเกิดการตระหนักรู้ในการอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบทอดต่อไป และที่สำคัญคือ การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์จะนำรายได้ไม่น้อยมาให้ท้องถิ่นและชุมชน
ทุกอย่างเหมือนจะดูดี แต่เหรียญย่อมมีสองด้านเสมอ บางครั้งกฎเกณฑ์ที่มากเกินไปอาจทำให้การพัฒนาพื้นที่ทำได้ยากกว่าเดิม จึงมีบางประเทศเลือกที่จะยอมถูกถอดออกจากมรดกโลกเพื่อต้องการพัฒนาเมืองให้ดีกว่าเดิม ยกตัวอย่าง เมืองลิเวอร์พูล (Liverpool) ประเทศอังกฤษ และเมืองเดรสเดิน (Dresden) ประเทศเยอรมนี ที่ชาวเมืองสนับสนุนการพัฒนาเมืองมากกว่าการเป็นเมืองมรดกโลก
หรือมรดกโลกอาจขัดขวางการพัฒนาเมือง
จากความจริงที่ว่า ‘เมืองไม่เคยหยุดนิ่ง’ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นและเม็ดเงินที่ไหลเวียนเข้ามา ย่อมนำมาซึ่งการขยับขยายพัฒนาเมืองเพื่อตอบโจทย์ชาวเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทำให้เมืองไม่สามารถขยับตัวพัฒนาในบางจุดได้เท่าที่ควร และในเมื่อต้องเลือกเพียงแค่อย่างใดอย่างหนึ่ง หนึ่งในเมืองที่ขึ้นทะเบียนเมืองมรดกโลกอย่าง ‘ลิเวอร์พูล’ จึงเลือกหันหลังให้มรดกโลกเพื่อแลกกับความเจริญ
‘ลิเวอร์พูล มาริไทม์ เมอร์แคนไทล์ ซิตี’ (Maritime Mercantile City) คือท่าเรือพาณิชย์ในช่วงเวลาที่อังกฤษมีอิทธิพลมากที่สุด ทำให้เมืองลิเวอร์พูลเติบโต กลายเป็นท่าเรือพาณิชย์ที่สำคัญในศตวรรษที่ 18 – 19 มีนวัตกรรม สิ่งอำนวยความสะดวก และคลังสินค้าของบริษัท จนมีอิทธิพลไปทั่วโลก
ต่อมาเมืองลิเวอร์พูลได้จัดตั้งโครงการพัฒนาหลายพื้นที่ขึ้นภายในเมือง โดยเฉพาะตามแนวชายฝั่งแม่น้ำเมอร์ซีย์ หนึ่งในนั้นคือแผนการก่อสร้างสนามฟุตบอลของสโมสรเอฟเวอร์ตัน
ทางยูเนสโกที่ทำหน้าที่กำกับเรื่องมรดกโลก จึงแสดงความเป็นห่วงถึงผลกระทบต่อสถาปัตยกรรมโบราณทั้งในด้านภูมิทัศน์และโครงสร้าง แต่ชาวเมืองกลับไม่ได้คิดแบบนั้น พวกเขาคิดถึงการพัฒนาเมืองมากกว่าการอนุรักษ์ตึกเก่าโบราณ เพราะพวกเขามองว่าสถานที่ประวัติศาสตร์เหล่านั้นถูกทิ้งร้างและขาดการพัฒนา อีกทั้งยังรู้สึกเหมือนถูกบังคับให้เมืองต้องคงคุณค่าของตึกเก่าเหล่านั้นไว้
อีกกรณีคือ ‘ลุ่มน้ำเอ็ลเบอในเดรสเดิน’ (Dresden Elbe) รัฐซัคเซิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน รุ่งเรืองไปด้วยวัฒนธรรมและศิลปะตลอดหลายศตวรรษ ก็ถูกถอดถอนออกจากแหล่งมรดกโลกเช่นกัน เนื่องจากมีการทำลายทัศนียภาพที่โดดเด่นของเมืองเก่าแก่จากการสร้าง ‘สะพานวัลด์ชเลิสเชิน’ (Waldschlösschen Bridge) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในเมือง โดยได้มีการลงประชามติและเสียงข้างมากเห็นด้วยกับการสร้างสะพาน เพราะต้องการความสะดวกสบายมากกว่าทิวทัศน์ประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน
เมื่อมรดกโลกอาจไม่ตอบโจทย์ชุมชน
ที่ผ่านมา การที่เมืองใดเมืองหนึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกสามารถสร้างชื่อเสียงให้เมืองได้ในระดับสากล และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งจะนำรายได้มาให้ท้องถิ่นและชุมชน แน่นอนว่าส่วนนี้เป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ในกรณีอดีตเมืองมรดกโลกอย่างลิเวอร์พูล ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต่างมาเยือนเพราะเรื่องของฟุตบอล และ ‘ไม่ได้สนใจในความเป็นมรดกโลก’ จึงไม่ใช่เรื่องยากที่พวกเขาจะเลือกความเจริญให้เมืองมาก่อนการเป็นมรดกโลก
ลองตัดภาพกลับมาที่ประเทศไทย ‘เมืองอยุธยา’ เองก็มีเสียงจากชุมชนบางส่วนที่ไม่ค่อยพอใจการเป็นเมืองมรดกโลกเช่นกัน เพราะมีการห้ามค้าขายในบริเวณที่เคยขาย หรือกระทั่งชาวบ้านต้องออกไปจากพื้นที่ กลายเป็นว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดทัศนคติเชิงลบกับคนในพื้นที่ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เสียประโยชน์จากการมีมรดกโลก อีกทั้งเอาเข้าจริงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดหวังจากชื่อเสียงระดับสากลก็ไม่ได้เยอะอย่างที่คาด แถมส่วนใหญ่กลับเป็นคนไทยที่ไปเที่ยวเองเสียด้วยซ้ำ
แต่เราก็ไม่อยากให้มองว่าการเป็นมรดกโลกคือเนื้อร้ายสำหรับเมือง เพราะการสนับสนุนจากยูเนสโก ทั้งนักวิชาการ การศึกษา และเงินทุนในการรักษาฟื้นฟูแหล่งมรดกก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
และในขณะเดียวกัน การขึ้นทะเบียนมรดกโลกก็เคยประสบความสำเร็จในการเชิญชวนผู้มาเยือนในท้องถิ่นที่ห่างไกล ซึ่งมักเป็นประเทศที่ด้อยโอกาสด้านเศรษฐกิจ อย่างการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของนครวัดในกัมพูชาเมื่อปี 1992 ที่สามารถเพิ่มจำนวนผู้มาเยือนจากปีละเพียง 22,000 คน เป็น 5 ล้านคนในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งยูเนสโกก็พึงพอใจในผลลัพธ์ของนครวัด พร้อมกับจัดให้เป็น ‘ต้นแบบการจัดการสถานที่ใหญ่มโหฬารที่ดึงดูดผู้มาเยือนหลายล้านคน และสามารถหล่อเลี้ยงประชากรขนาดใหญ่ในท้องถิ่นได้’
อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ถ้าการอนุรักษ์และการพัฒนาสามารถควบคู่กันได้ก็คงดีต่อทั้งสองฝ่าย แต่ถ้าต้องเลือกเพียงอย่างใดอย่างใด ผู้มีอำนาจของเมืองเมืองนั้นคงต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกสิ่งไหน แล้วใครจะได้ประโยชน์จากการเลือกครั้งนี้มากที่สุด
Sources :
Thai PBS | bit.ly/3uOR8FU
TheCITIZEN.PLUS | bit.ly/3Tcul0a
กรมส่งเสริมวัฒนธรรม | bit.ly/49CgdTS National Geographic | bit.ly/4bW3uwI