Worker and the City เมืองในฝันของ ‘คนทำงาน’ - Urban Creature

เราอยากชวนแรงงานทุกคนตั้งคำถามว่า ในขณะที่พวกเราทำงานสร้างความเจริญให้เมือง แล้วเมืองให้อะไรตอบแทนเราบ้าง

ไม่ว่าเมืองไหนย่อมต้องการประชากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ความสามารถ และทำงานได้ดี เพื่อเป็นฟันเฟืองในการพัฒนาเมืองให้ก้าวไปข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกัน จะมีสักกี่เมืองที่นึกถึงคนทำงานหรือแรงงานอย่างครอบคลุมทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรมในการทำงาน นโยบายค่าจ้างที่สอดคล้องกับการใช้ชีวิต สวัสดิการ หรือกระทั่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนทำงานเองก็ตาม 

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ในประเทศที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนทำงานแห่งนี้ เราจึงชวนแรงงานหลากหลายอาชีพมาบอกเล่าถึงภาพเมืองในฝันที่เป็นมิตรต่อพวกเขา 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว เราทุกคนคือคนทำงาน และเราทุกคนควรมีสิทธิ์เรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีในเมืองที่อาศัยอยู่ จงอย่าลืมว่าเราเป็นหนึ่งใน 99 เปอร์เซ็นต์ของประเทศนี้ การที่ทำงานหนักแล้วอยากให้เมืองเห็นคุณค่าของคนทำงานบ้าง นั่นคือความชอบธรรมของเราทุกคน

มารุต ปุริเส
อาชีพ : พนักงานจัดเรียงสินค้า และสมาชิกสหภาพคนทำงาน

“เมืองในฝันของผมคือ มีที่อยู่อาศัยฟรีสำหรับทุกคน ใช้ที่ดินทุกตารางนิ้วอย่างมีคุณค่า มีสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าคอยแบกรับประชาชนในยามลำบาก มีสิทธิแรงงานดีๆ ที่คุ้มครองเรา ทำพื้นที่กิจกรรมสาธารณะให้ผู้คนได้แสดงออกและคิดเห็นโดยไร้การแทรกแซง รวมถึงทำขนส่งมวลชนให้ดีๆ ลดค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็นหกร้อยห้าสิบบาทต่อวัน เพื่อที่คนทำงานจะได้มีเงินเก็บ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้าง

“เพราะคนทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ พวกเขาคิดว่าเมืองหลวงจะเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก แต่สุดท้ายกลับต้องมานั่งวินมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้าน นั่งรถสองแถวออกจากซอย เพื่อมารอรถเมล์ ทานอาหารราคาถูกๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่รัฐไม่สนับสนุน อย่างผมเองต้องเดินไปทำงานเพื่อให้เหลือเงินกินข้าวเที่ยง ระหว่างทางที่เดินก็พบเจอมลพิษและทางเท้าที่แคบ มีสิ่งกีดขวางมากมาย จนบางทีก็คิดว่า ‘สร้างให้คนเดินหรือหมาเดิน’

“เราอุทิศชีวิตให้งานและเงิน คอยจ้องมองเวลาที่ค่อยๆ ผ่านไปอย่างทุกข์ยากทรมาน ต้องเร่งรีบเข้างานเป็นกะเป็นเวลา มีชุดเครื่องแบบที่เราต้องจ่ายเงินแทนที่บริษัทจะให้ฟรี พอไม่สบายก็ต้องบอกหัวหน้างานล่วงหน้าถึงเจ็ดวัน เป็นกฎเกณฑ์บนความเจ็บปวด เล่นกับชีวิตของคนทำงานอย่างไม่เป็นธรรม ช่างเลือกปฏิบัติระหว่างคนทำงานในออฟฟิศและคนหน้างานที่ต้องคอยเสาะหา OT เพื่อหาเงินเสริมตามภาษาคนจนตรอกไม่มีทางเลือก

“สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุดคือกลัวไม่มีเงิน กลัวครอบครัวอดตาย เพราะค่าครองชีพมีท่าทีว่าจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเดือดร้อนและลำบากให้คนที่มีรายได้ต่ำ อีกทั้งรัฐเองก็ผลักภาระให้ประชาชนคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยที่มักถูกเอาเปรียบจากทั้งรัฐและนายทุน ทุกวันนี้ผมมีเงินเดือนหมื่นต้นๆ หักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วแทบไม่มีเงินเก็บ ทุกครั้งที่หิวและท้อจะคิดถึงพ่อกับภรรยา เพราะผมจากบ้านมาทำงานในเมือง ปากกัดตีนถีบเพื่อให้พ้นความจน แล้วเก็บวันหยุดกลับไปหาครอบครัวแค่ไม่กี่ครั้งต่อปี ทั้งที่ความจริงแล้วผมแค่อยากมีชีวิตที่ดีในเมืองดีๆ กินอิ่มนอนหลับ มีเงินเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้นเอง”

เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ

เอม-ภูมิภัทร ถาวรศิริ 
อาชีพ : นักแสดง

“ผมอยากเห็นเมืองที่อนุญาตให้คนเดินได้จริงๆ เพราะทุกวันนี้คนที่มีอำนาจในการออกแบบเมืองของเราเขาไม่ได้รู้จักเมืองอย่างแท้จริง เขาไม่รู้จักคนที่เดินฟุตพาทและวิถีที่คนส่วนใหญ่ในเมืองสัมผัส ถ้าเขาได้เห็นชีวิตจริงๆ ของเมืองว่าหายใจยังไง อะไรเป็นชีพจร และประชากรกำลังเผชิญกับปัญหาแบบไหนอยู่ แล้วต้นตอปัญหานี้ได้รับการแก้ไข ปัญหาอื่นๆ จะถูกแก้ตามไปด้วย

“เราต้องเริ่มต้นจากการอยู่ในพื้นเดียวกันก่อน มันไม่ใช่แค่เรื่องของฟุตพาทหรือขนส่งมวลชน แต่มันคือการอยู่ในเส้นทางเดียวกัน การเข้าใจปัญหาเดียวกัน เพราะโดยธรรมชาติ เมื่อปัญหาถูกเห็นและพิจารณาแล้วว่านี่คือปัญหา มันย่อมนำไปสู่การแก้ไข แต่ทุกวันนี้ผมมองว่า ไม่ว่ารัฐ ผู้ประกอบการ หรือลูกจ้าง ไม่มีใครอยู่ในพื้นเดียวกันเลย ทุกคนต่างถูกแบ่งแยกไปอยู่คนละพื้นเพของการเข้าใจ ทำให้ไม่เกิดการร่วมมือกัน

“สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะผังเมืองและโครงสร้างสังคมมันหล่อหลอมให้เราแยกกัน เพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งสิ่งนี้เป็นรากที่เกิดขึ้นมานานมากๆ แล้ว โดยเป็นผลงานชิ้นเอกของผู้มีอำนาจที่เขาต้องการแบ่งแยกควบคุมเมืองนี้ไว้ ถ้าสิ่งนี้ได้รับการแก้ไขเมื่อไหร่ เราน่าจะได้เห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของทุกคน ต่อให้คุณเป็นแรงงานหรือไม่ก็ตาม”

ป่าน Juli Baker and Summer

ป่าน-ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา
อาชีพ : ศิลปิน

“ในฐานะแรงงาน เราคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเมืองในฝันของเราต้องเป็นประชาธิปไตย เพราะแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ถ้าประเทศที่เราอยู่ไม่ได้บริหารด้วยระบอบที่รับฟังเสียงคนส่วนมาก ไม่มีทางที่แรงงานจะได้รับการรับฟัง ถ้าเจาะลึกเข้าไป เราอยากเห็นเมืองที่มีกฎหมายปกป้องผู้ใช้แรงงานมากกว่านี้ อยากเห็นมูฟเมนต์ของผู้นำประเทศที่โอบอุ้มประชาชน ไม่ใช่นายทุน 

“อย่างทุกวันนี้เราเป็นฟรีแลนซ์ ซึ่งแนวโน้มของศิลปินยุคนี้ที่จะเป็นฟรีแลนซ์ก็มากขึ้นเรื่อยๆ แต่มันกลับไม่ได้รับการบัญญัติหรือทำความเข้าใจในกฎหมายของประเทศเท่าไหร่ เวลายื่นภาษีก็จะมีความงงๆ นอกจากนี้ยังรู้สึกว่าเราอยู่ตัวคนเดียว เพราะไม่มีสวัสดิการเหมือนคนที่ทำงานประจำหรืออยู่ภายใต้องค์กร เวลาถูกโกงหรือนายจ้างเทก็ไม่รู้จะไปพึ่งใคร อย่างตอนนี้มีสหภาพคนทำงานและสหภาพแรงงานสร้างสรรค์เกิดขึ้น เราคิดว่าอะไรแบบนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของภาพเมืองในฝัน เพราะเรามีที่พึ่ง มีคนที่ทำงานคล้ายๆ กันให้คำปรึกษา รัฐอาจจะรับฟังและช่วยเหลือเราได้ยาวๆ

“เราเคยอ่านที่อาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี เขียนถึงรัฐสวัสดิการประเทศฟินแลนด์ที่ซัปพอร์ตศิลปิน แล้วประทับใจมาก มันคือการมีประกันคนว่างงาน ที่ทำให้คนที่ยังไม่มีงานและอยากเริ่มเป็นศิลปินสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยเงินจากรัฐ เพื่อเอาเวลาไปฝึกฝนงานศิลปะ จากที่เมื่อก่อนคนฟินแลนด์ก็มีคลังอาชีพในสมองแค่หมอ พยาบาล ครู ทหาร ตำรวจ คล้ายบ้านเรา แต่พอกลายเป็นรัฐสวัสดิการ คนมีเวลาว่างมากขึ้น ก็ทำให้ช่วงชีวิตหนึ่งของประชาชนหลายๆ คนในฟินแลนด์ได้ผลัดเปลี่ยนมาเป็นศิลปินหรือทำงานที่สนใจ ซึ่งถ้าเทียบกับพ่อแม่ คนรอบตัว เพื่อนๆ เราที่ชอบศิลปะและเพิ่งอยากมาฝึกฝน มันแทบเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับพวกเขา แค่คิดว่าถ้าเมืองที่เราอยู่เปิดโอกาสให้ประชาชนทำแบบนั้นได้ก็คงดี”

ประจักษ์ ก้องกีรติ

ประจักษ์ ก้องกีรติ
อาชีพ : อาจารย์มหาวิทยาลัย

“สำหรับคนทำงานหรือแรงงาน เรื่องใหญ่ที่สุดของการอยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ คือค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้ ทำให้เป็นเรื่องยากที่คนจะมีเงินเก็บหรือมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะแรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่มีวัฒนธรรมในการแยกออกมาอยู่ลำพัง เพราะเมื่อเทียบกับประสบการณ์ตัวเองสมัยอายุยี่สิบห้ายี่สิบหก เริ่มทำงานใหม่ๆ เป็นอาจารย์ที่ธรรมศาสตร์ ผมรับเงินเดือนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาทด้วยวุฒิปริญญาโท พูดง่ายๆ ว่าถ้าไม่ได้อาศัยอยู่ที่บ้าน มีพ่อแม่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย มันไม่มีทางอยู่ได้อย่างเพียงพออยู่แล้ว

“จากมุมคนทำงาน ผมคิดว่าสามองค์ประกอบเกี่ยวกับเมืองที่เป็นปัญหาสำคัญของคนทำงานคือ ที่อยู่อาศัย การเดินทาง และอาหารการกิน ถ้าจัดการบริหารสามเรื่องนี้ให้สะอาด ปลอดภัย และราคาถูก คนเข้าถึงได้ ก็เป็นเมืองที่วิเศษแล้ว เพราะมันทำให้คนใช้ชีวิต เก็บเงินตั้งตัวได้ ทีนี้พอมีเวลามากขึ้น คนไม่ต้องเสียพลังชีวิตไปกับการเดินทาง มันอาจนำไปสู่แนวคิดการทำงานสี่วันต่อสัปดาห์เหมือนประเทศอื่นก็เป็นได้

“และในฐานะคนทำงานวิชาการ ผมอยากให้เมืองมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย เข้าถึงได้ฟรี มีที่ให้ไปนั่งทำงาน เพราะเดี๋ยวนี้เราก็อยากออกไปทำงานเขียนบทความนอกบ้าน เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง แต่มันแทบไม่มีสถานที่ให้เราไปทำงานได้ฟรีเลย หลายคนต้องไปนั่งคาเฟ่ซื้อกาแฟราคาแพงๆ เทียบกับประสบการณ์สมัยผมไปทำงานวิจัยที่สิงคโปร์ เขามีสเปซอย่างห้องสมุดสาธารณะกระจายอยู่ทั่ว คนไปใช้งานหรือนั่งทำงานได้ฟรี

“อีกข้อคือ ผมอยากให้เมืองสร้างระบบนิเวศของการเรียนรู้ อย่างการมีสเปซอย่างหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดสาธารณะ โดยทำให้มันมีชีวิตจิตใจได้ เช่น การจัดกิจกรรม การสร้างสภาพแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน รวมถึงการสร้างบริการที่ทำให้คนอยากมาใช้งานด้วย”

แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย  mayday

แวน-วริทธิ์ธร สุขสบาย
อาชีพ : กราฟิกดีไซเนอร์ประจำกลุ่ม Mayday

“ด้วยความที่สายงานผมเกี่ยวกับนักออกแบบและการเดินทาง ผมมองว่าค่าครองชีพของคนเมืองสูงขึ้นมาก แต่ค่าแรงเราไม่ได้ขึ้นตาม ค่าโดยสารรถสาธารณะก็ค่อนข้างสูง ขนาดชนชั้นกลางยังเลือกออกรถแทนการขึ้นรถสาธารณะหลายๆ ต่อด้วยซ้ำ เพราะมันไม่คุ้ม นั่นแสดงว่าถ้าแรงงานยังถูกไล่ต้อนไปอยู่นอกเมือง แต่แหล่งงานของเขาอยู่ในเมือง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็จะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ

“ถ้าขนส่งสาธารณะดี มันไม่ใช่แรงงานที่จะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น แต่รวมถึงทุกคนที่จะได้รับผลประโยชน์ ถ้ามองในแง่คนหาเช้ากินค่ำ อย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องเครียดตั้งแต่เช้าว่าต้องรอรถเมล์เป็นชั่วโมงเพื่อไปอยู่บนนั้นสองชั่วโมง แล้วบางคนต้องดมฝุ่นดมควันทำงานอีกสิบกว่าชั่วโมง พอจะกลับบ้านก็ไม่รู้ว่ารถเมล์จะมาไหม ถ้าไม่มาต้องขึ้นแท็กซี่ที่แพงมากอีก

“ส่วนในแง่การออกแบบ ผมคิดว่าสังคมเรายังมีความเข้าใจว่า ถ้าจะทำให้คนกลุ่มแรงงานเข้าใจง่าย ไม่จำเป็นต้องทำให้กราฟิกสวยงาม บางทีเราจะเจอหน่วยงานที่บอกว่าไม่ต้องออกแบบให้สวยเหมือนคุยกับคนชนชั้นกลางหรอกอะไรแบบนี้ ซึ่งเรารู้สึกสงสัยว่าเรื่องสุนทรียะกลายเป็นเรื่องที่คนทำงานหรือแรงงานไม่ต้องการจริงหรือ ผมรู้สึกว่างานด้านศิลปะมันควรเข้าถึงทุกคนได้ ไม่ใช่พอจะทำอะไรที่ต้องสื่อสารไปถึงคนที่มีรายได้น้อยแล้วต้องออกแบบให้ราคาถูก

“ทั้งนี้ การออกแบบที่ผมว่าไม่ใช่แค่เรื่องศิลปะเท่านั้น แต่หมายถึงงานออกแบบทั้งหมด เช่น ป้ายถนน ชื่อสถานีรถไฟฟ้า อินเทอร์เฟซทั้งหลาย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เมืองคิดและออกแบบมาแล้ว เพื่อให้ชีวิตคนเมืองดีขึ้น ถ้ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาอย่างดี ทุกอย่างก็ระเนระนาดเหมือนที่กรุงเทพฯ ประสบตอนนี้ กลายเป็นคนต้องใช้สัญชาตญาณในการดำเนินชีวิต ซึ่งมันเหนื่อย โดยเฉพาะแรงงานที่ทำงานมาแน่นๆ แล้วยังต้องมาคิดเยอะกับการเดินทางอีก

“ผมคิดว่าเมืองที่ดีคือเมืองที่จัดเตรียมทุกอย่างที่ทำให้คนไม่ต้องเสียเวลาคิดเยอะในการดำรงชีวิต มีเวลาไปโฟกัสงานกับครอบครัวได้”

อัลเตอร์-ธัญณัฐ ทะรังศรี

อัลเตอร์-ธัญณัฐ ทะรังศรี 
อาชีพ : นักเรียนดีไซน์ และครีเอทีฟ

“ในฐานะที่เป็นนักเรียนในครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่ได้มีเงินมาก ตอนเริ่มต้นทำงาน แม่ไม่กล้าให้เราเรียกเงินเดือนหมื่นห้าด้วยซ้ำ เพราะกลัวเรียกมากไปเขาจะไม่รับทำงาน พอตอนนี้มองกลับไปก็รู้สึกว่าทำไมคนทำงานต้องกดราคาตัวเอง ทำไมเงินเดือนขั้นต่ำตามกฎหมายไม่สมเหตุสมผล ทำไมบริษัท เอเจนซี นายจ้าง ที่ต้องการแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะ ถึงยังจ้างเด็กจบใหม่ในราคาเหมาหนึ่งหมื่นห้าพันบาททุกสายงาน ทั้งที่เงินเดือนขั้นต่ำตามกฎหมายไม่สามารถนำมาอิงกับค่าครองชีพปัจจุบันได้แล้ว 

“ตอนเริ่มทำงาน เราต้องโทรถามคนรอบตัว รุ่นพี่ หรือคนรู้จักในอินเทอร์เน็ตว่างานที่เราทำควรได้เงินเดือนเท่าไหร่ เพราะไม่มีใครในสายงานที่เปิดเผยเงินเดือน ตำแหน่ง กระทั่งในมหาวิทยาลัยก็ไม่มีใครพูดถึง ทุกคนพูดในสาธารณะเหมือนกันหมดว่า ‘จบใหม่หมื่นห้าๆ’ แล้วเด็กจบใหม่ที่โดนใช้งานเกินเงินเดือนก็ต้องยอมทนอยู่อย่างนั้น คนรุ่นใหม่ๆ มาก็เป็นเหมือนเดิม

“เราจึงฝันอยากอยู่ในเมืองที่มี #PayTranparency อยากอยู่ในเมืองที่การเปิดเผยเงินเดือนในตำแหน่งนั้นๆ และการต่อรองเงินเดือนเป็นเรื่องปกติ ไม่ Taboo ไม่โดนมองว่าไร้มารยาท อีกเรื่องที่ยากสำหรับเราคือการทำภาษี เราจึงอยากอยู่ในเมืองที่คนทำงาน มีหน้าที่จ่ายภาษีเพียงอย่างเดียว เหมือนประเทศญี่ปุ่นที่จะสรุปภาษีที่ต้องจ่ายมาให้เรียบร้อย โดยเลือกได้ว่าจะจ่ายเพื่อพัฒนาที่ไหน อย่างไร เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องให้แรงงานเป็นฝ่ายทำเอกสาร ตามเก็บสลิปย้อนหลังเอง ทั้งที่บางอย่างมีในระบบอยู่แล้ว เป็นระบบที่ไม่เฟรนด์ลี่กับแรงงาน และทำให้รู้สึกว่าการทำภาษีเป็นเรื่องยาก ทั้งที่เราเองก็อยากจ่ายและเห็นว่าเงินไปพัฒนาในส่วนไหน

“เมืองในฝันของเราคือเมืองที่จ่ายภาษีด้วยระบบอำนวยความสะดวกให้แรงงาน มี Pay Transparency เป็นเมืองที่เงินเดือนขึ้นอยู่กับงานที่ทำ ไม่ผูกเงินเดือนขั้นต่ำกับวุฒิการศึกษา แต่คิดอิงกับค่าครองชีพที่คนใช้ชีวิตกันได้จริงๆ”

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.