ทำไมไทยฮิตแหล่งเที่ยวญี่ปุ่นทิพย์? - Urban Creature

“เที่ยวญี่ปุ่นในไทย ไม่ต้องไปไกลก็เหมือนอยู่แดนซากุระ” 

ประโยคสุดคุ้นตาที่มักจะเห็นในคอนเทนต์รีวิวสถานที่ท่องเที่ยวสไตล์ญี่ปุ่นในประเทศไทย พักหลังหลายสถานที่ท่องเที่ยวก็นิยมสร้างเลียนแบบสถานที่สำคัญในญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น หรือเรียกว่า ‘เที่ยวญี่ปุ่นทิพย์’ เช่น การจำลองหมู่บ้านญี่ปุ่นสมัยเมจิ ปราสาทฮิโนกิที่มาจากเมืองเกียวโต วัดอาซากุสะ ทางลงบันไดสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน 

และล่าสุดบางจังหวัดมีไอเดียจะทำย่านถนนคนเดินญี่ปุ่นให้เหมือนกับอยู่ที่นั่นจริงๆ (แต่ในสภาพแวดล้อมไทย) จึงทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมบ้านเราถึงฮิตสร้างแหล่งเที่ยวญี่ปุ่นทิพย์กันมากนัก?

สร้างญี่ปุ่นทิพย์ เอาใจคนญี่ปุ่นและถูกใจคนไทย

จุดเริ่มต้นความญี่ปุ่นทิพย์ต้องย้อนไปเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว สมัยชาวญี่ปุ่นชอบเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ เนื่องจากบ้านเรามีนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นที่มีมาช้านานก็ช่วยส่งเสริมการตลาดให้คนญี่ปุ่นสนใจมาเยี่ยมเยือนประเทศไทยมากกว่าแต่ก่อน

สิ่งสำคัญที่ทำให้พวกเขาอยากมาท่องเที่ยวบ่อยๆ คือ การสร้างสถานที่ที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ญี่ปุ่น รายล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้ออำนวย เช่น ป้ายต่างๆ ควรมีภาษาญี่ปุ่นอธิบายกำกับไว้ หรือพนักงานควรสื่อสารภาษาพื้นฐานได้ จึงทำให้เจ้าของธุรกิจสมัยนั้นต้องปรับตัวสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้มีบรรยากาศญี่ปุ๊นญี่ปุ่น เพื่อจูงใจลูกค้าแดนซากุระให้มาอุดหนุนบ่อยๆ

ขณะเดียวกัน คนไทยเมื่อ 5 ปีก่อน (และปัจจุบัน) ก็ชื่นชอบไปญี่ปุ่นมากที่สุดกว่า 1 ล้านคน/ปี หรือประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งหมด ด้วยสภาพแวดล้อมที่สวยงามจากการออกแบบเมืองในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งระบบการขนส่งสาธารณะสะดวกสบาย การดีไซน์อาคารทันสมัย อากาศดี ถ่ายรูปตรงไหนก็สวย และคุณภาพชีวิตที่ปลอดภัย จึงทำให้ชาวไทยหลายคนติดใจประเทศญี่ปุ่นอย่างทวีคูณ

ตัดภาพมาช่วงที่ไม่ได้บินต่างประเทศ กลับสู่ชีวิตจริงในเมืองไทยที่ต้องเจอกับปัญหารถติดขัด มลพิษบนท้องถนน น้ำคลองเน่าเสีย หรือหันไปมองรอบข้างก็เจอสายไฟฟ้ายุ่งเหยิง ไม่ว่าใครก็คงคิดถึงความหลังในช่วงเวลาประทับใจตอนท่องเที่ยวประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งเกิดความรู้สึกโหยหาพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับสิ่งที่เราเคยไปมาในประเทศเหล่านั้น พ่อค้าแม่ค้าจึงนำไอเดียนี้ไปต่อยอดสร้างสถานที่ญี่ปุ่นทิพย์มากมาย เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านค้า และเมืองญี่ปุ่นจำลองที่เห็นกันทุกวันนี้

ไทย ญี่ปุ่น เลียนแบบ

จำลองเมืองสะท้อนความคิดถึง

ปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวญี่ปุ่นทิพย์ในไทยผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด และได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม สะท้อนถึงความต้องการลึกๆ ของคนไทยเชิงพื้นที่ ที่อยากได้เมืองดีๆ ในฝันที่เจริญรุ่งเรืองเหมือนประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสภาพแวดล้อมสวยงาม ต้นไม้ร่มรื่น ร้านค้ารอบข้างน่ามอง และถนนสัญจรน่าเดิน บรรยากาศเมืองในอุดมคติที่ทุกคนอยากใช้ชีวิตในเมืองสวยงาม มากกว่าต้องเผชิญปัญหาบ้านเมืองที่พบเจอในไทย 

ยิ่งสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งทำให้คนไทยคิดถึงชีวิตที่ได้ไปเที่ยวมากขึ้น จากผลสำรวจของธนาคารกสิกรไทยและยูทริปเผยว่า คนไทย 7 ใน 10 เลือกไปประเทศญี่ปุ่นเป็นอันดับแรก หากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง รวมทั้งเทรนด์การสร้างสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ส่วนใหญ่มักได้แรงบันดาลใจจากความเป็นญี่ปุ่น เช่น สวนหิน คาเฟ่ชาเขียว ร้านแช่น้ำออนเซ็น หรือการจำลองย่านญี่ปุ่นในไทย 

เหล่านี้แสดงถึงการโหยหาพื้นที่ในฝันของคนไทยที่ประเทศตัวเองไม่เคยมี มันคล้ายกับความรู้สึกแบบ ‘Nostalgia’ การคิดถึงอดีต การหลบหนีสังคมที่รู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคง และอยากหันกลับไปมองภาพความสุขในอดีตที่ตนเองเคยสัมผัสให้มาอยู่ในปัจจุบัน

ไทย ญี่ปุ่น เลียนแบบ
ไทย ญี่ปุ่น เลียนแบบ

สร้างที่เที่ยวเอาใจคนนอก แต่โนสนคนใน

มองถึงผลกระทบในภาพใหญ่ หากหลายพื้นที่อยากทำแหล่งท่องเที่ยวเลียนแบบจากเมืองนอกมาตั้งในไทย ซึ่งแต่ละประเทศมีสภาพแวดล้อมและการใช้ชีวิตแตกต่างกัน รวมทั้งไม่เหมาะสมในการใช้งานกับบ้านเรา เช่น การออกแบบลานโล่งสาธารณะตามประเทศเมืองหนาว ที่ไม่ค่อยมีต้นไม้สักต้นในสภาพอากาศสุดร้อนเปรี้ยง การตกแต่งย่านคนเดินญี่ปุ่น โดยเปลี่ยนรูปทรงอาคารไทยให้หน้าตาเหมือนบ้านไม้ญี่ปุ่น พร้อมทั้งติดโคมไฟสีแดงและตั้งต้นซากุระปลอมตามทางเดิน

ข้อดีของการสร้างเมืองญี่ปุ่นทิพย์อาจจะดึงดูดนักท่องเที่ยวและกระตุ้นการค้าขายในช่วงแรก แต่ก็ไม่ได้สร้างความยั่งยืนในระยะยาว เพราะสิ่งที่สร้างเหล่านั้นไม่ได้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตคนในพื้นที่อยู่อาศัยจริง เพราะสร้างเพื่อตอบสนองคนภายนอกที่เข้ามาเป็นหลัก ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียตามมา นั่นคือการค่อยๆ ลดคุณค่าเอกลักษณ์ไทยของตนเอง ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และผู้คนไปเรื่อยๆ

ไทย ญี่ปุ่น เลียนแบบ

เมืองไทยไม่ต้องง้อเมืองทิพย์ หากเห็นคุณค่าตัวเอง

หากศึกษาต้นตอการพัฒนาเมืองญี่ปุ่นตั้งแต่แรก ทุกแหล่งท่องเที่ยวมักจะมีจุดเด่นของตนเองหรือ ‘City Branding’ อธิบายง่ายๆ คือการสร้างภาพลักษณ์ให้กับเมือง จากการนำเอาเอกลักษณ์ในพื้นที่มาชูเป็นจุดเด่นในการพัฒนา เพื่อสร้างเรื่องราวและเพิ่มมูลค่าของเมืองให้คนรู้จักมากกว่าเดิม

ยกตัวอย่างเมืองท่องเที่ยวส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นจะเก็บอนุรักษ์บ้านเก่าหรือของดั้งเดิมเอาไว้ เช่น หมู่บ้านเซกิจูกุ จังหวัดมิเอะ ย่านศูนย์กลางการค้าขายและการเดินทางระหว่างไปโอซาก้า-เอโดะ (โตเกียว) โดยฟื้นฟูอาคารบ้านเรือนไม้เก่าในย่านกว่า 200 หลังให้ย้อนวันวานเหมือนอยู่ในยุคเอโดะ พร้อมชูเป็นแหล่งค้าขายสินค้าท้องถิ่นหายาก และจัดทัวร์ให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์ผ่านอาคารเก่าแก่ในย่าน คนที่แวะเวียนผ่านมาก็จะรู้สึกผูกพันในแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งคนในชุมชนเองก็รู้สึกมีคุณค่าในพื้นที่ทำมาหากินของตนเองอย่างภาคภูมิใจ

สุดท้ายนี้ เรามักจะเห็นคำโฆษณาแหล่งท่องเที่ยวไทย เช่น ย่านฮงแดสาขากรุงเทพฯ ถนนซากุระกรุงเทพฯ หรือภูเขาไฟฟูจิประเทศไทย ประโยคพวกนี้บ่งบอกถึงความภูมิใจในพื้นที่ของตนเองค่อยๆ น้อยลง อาจด้วยภาพจำเมืองไทยที่เต็มไปด้วยปัญหามากมาย มันคงจะดีกว่าถ้าสถานที่ท่องเที่ยวนั้นสามารถสวยงามด้วยตัวของมันเอง และไม่ได้พยายามเลียนแบบใคร หากคนพัฒนาพื้นที่เห็นความสำคัญในสิ่งที่ตนเองมีอยู่

ไทย ญี่ปุ่น เลียนแบบ

Sources :

Kiji | https://kiji.life/5-edo-styles-villages/
Thairath | https://plus.thairath.co.th/topic/spark/101431
ดร.วารัชต์ มัธยมบุรุษ มหาวิทยาลัยพะเยา | วารสารการบริการและการท่องเที่ยวไทยปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2560)
ภูริณัฐ พฤกษ์เนรมิต มหาวิทยาลัยทักษิณ สงขลา | โหยหาอดีต : การศึกษาวิธีวิทยาในผลงานวิชาการของไทย (พ.ศ. 2546 – 2563)

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.