วัตถุดิบนิยม แบรนด์สินค้าสุขภาพที่ทำไบโคเกิร์ต - Urban Creature

นิยามคำว่าอาหารที่ดีของคุณเป็นแบบไหน เป็นอาหารที่อร่อย ให้คุณค่าทางสารอาหารครบถ้วน หรือทำมาจากวัตถุดิบหายาก

สำหรับ ‘วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์’ อาหารที่ดีของเธอคืออาหารที่ดีต่อตัวเธอ และต้องดีต่อโลก

นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอก่อตั้ง วัตถุดิบนิยม แบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพที่อยากสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจเรื่องขยะอาหาร และเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่างคนเมืองกับเกษตรกร ให้มาแชร์ความรู้และวัตถุดิบกันแบบที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ส่วนผู้บริโภคได้ความรู้และของกินกลับไป

สินค้าตัวแรกของวัตถุดิบนิยมอย่าง ‘ไบโคเกิร์ต’ ก็มีคอนเซปต์ที่น่าสนใจมาก เพราะนอกจากจะเป็นโยเกิร์ต Plant-based ที่ทำจากเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งจากฟาร์มที่ราชบุรี ผสมรวมกับจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ซึ่งช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ ซึมเศร้า และยังเป็นโยเกิร์ตที่ลูกค้าต้องลุ้นทุกครั้ง เพราะรสชาติจะเปลี่ยนไปทุกกระปุก!

เช้าวันอากาศดี เรานัดพบกับภาวิดาเพื่อคุยกันถึงเรื่องราวเบื้องหลังธุรกิจของวัตถุดิบนิยม และความตั้งใจในการผลักดันแบรนด์สินค้าเพื่อสุขภาพจากกรุงเทพฯ ที่มีน้ำพักน้ำแรงของเกษตรกรในราชบุรีเป็นส่วนประกอบ

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ ถือโยเกิร์ตวัตถุดิบนิยม

กรุงเทพฯ

ย้อนกลับไปยังจุดแรกเริ่ม วัตถุดิบนิยม ประกอบสร้างขึ้นจากความชอบในวิถีออร์แกนิกและเงื่อนไขด้านสุขภาพของภาวิดา

อาจเพราะเติบโตในครอบครัวยากจนถึงขนาดต้องซื้อบะหมี่ชามเดียวมาแบ่งแม่และพี่น้องกิน ภาวิดาจึงรู้จักและสำนึกในคุณค่าของอาหารเสมอมา แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้เธอเห็นความสำคัญของคำว่าออร์แกนิก เกิดขึ้นตอนไปเรียนปริญญาโทที่เมืองซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย 

ราวปี 2537 ในยุคที่คำว่าออร์แกนิกยังไม่แพร่หลาย ผู้คนที่นั่นสอนให้ภาวิดาเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งผ่านสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน คนที่เติบโตมากับการใช้ถุงพลาสติก ถูกสอนให้ล้างวัตถุดิบทุกอย่างก่อนนำมาปรุงอาหาร ภาวิดาประหลาดใจกับภาพการใช้ถุงตาข่ายของชาวออสซี่ในซูเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงการหยิบผักผลไม้จากบนเชลฟ์ให้เด็กๆ กินได้โดยไม่ล้าง เพราะพวกเขามั่นใจว่ามันปลอดสารเคมี

ภาวิดาซึมซับภาพเหล่านั้นเป็นประจำ รู้ตัวอีกทีคำว่าออร์แกนิกก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกไม่ออก หลังจากเรียนจบและกลับไทย เธอเข้าทำงานในฝ่ายการตลาดให้สื่อเว็บไซต์แห่งหนึ่งจนได้ขึ้นเป็นระดับผู้บริหาร ระหว่างนั้นก็พยายามผลักดันแคมเปญที่อยากสื่อสารเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน

“แต่ช่วงนั้น ผู้บริหารท่านอื่นเขาอาจยังไม่เห็นว่า Green Economy กำลังมา เขาก็ไม่เอาโปรเจกต์รักษ์โลก เพราะรู้สึกว่ามันเสียตังค์ เราเลยลาออก ด้วยความคิดว่าคนอื่นเขาเกษียณตอนอายุหกสิบ แต่เราเกษียณตอนห้าสิบ สุขภาพยังแข็งแรง คิดว่าอย่างน้อยๆ เราก็ยังมีเวลาสิบปีที่จะลงไปทำงานตรงนี้ได้เต็มที่” เธอบอก

“เราอยู่มาห้าสิบปีแล้ว สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทุกวัน และใช้ทรัพยากรแบบเผาผลาญ เราคิดว่าถ้ามีโอกาสทำอะไรให้ผืนดินได้ นิดหน่อยก็จะทำ”

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ กำลังยิ้ม

นั่นคือจุดสตาร์ทของการเดินทางเข้าสายรักษ์โลกอย่างเต็มตัว ภาวิดาเทิร์นตัวเองกลายเป็นคนที่บ้าปลูกต้นไม้ ลงวิ่งมาราธอนประเภท Eco-friendly เพื่อดูแลสุขภาพของตัวเองและโลกไปพร้อมกัน แถมเธอยังเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ พาตัวเองไปเจอเกษตรกรในหลายภูมิภาคจนได้เครือข่าย ที่สำคัญ เธอจริงจังกับอาหารเป็นที่สุด

ไม่ใช่ต้องมั่นใจว่าสะอาดหรืออร่อย แต่ทุกสิ่งที่หยิบเข้าปากนั้นจะส่งผลต่อสุขภาพของภาวิดาโดยตรง

“เราเป็นภูมิแพ้ ทั้งแพ้อาหาร แพ้นม แพ้ไข่ขาว แพ้กลูเตน แพ้ยีสต์ อาหารที่มีส่วนผสมของนมทุกประเภท ชีส ไอติม พิซซ่า กิมจิ คอมบูชาก็จะกินไม่ได้เลย” เธอเล่า อาการแพ้ยีสต์ยังส่งผลให้เธอกินน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตได้น้อย เพราะหากกินเยอะเมื่อไหร่ อาการแกะ เกา คัน จนเป็นแผลจะถามหาทั้งวัน

“ขนาดเราดูแลสุขภาพ กินออร์แกนิกขนาดนี้เรายังป่วย ยิ่งอายุมากขึ้น ฮอร์โมนลดลง การทำงานของอวัยวะเสื่อมลง ตอนไปตรวจร่างกายกับหมอล่าสุด หมอเลยให้คีย์เวิร์ดมาว่า อาหารที่มีอายุสั้นจะทำให้เรามีอายุยืน อาหารที่มีอายุยืนจะทำให้เราอายุสั้น” 

โยเกิร์ตจากมะพร้าว วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์

หนึ่งในสิ่งที่หมอแนะนำให้กินคือโพรไบโอติกส์ จุลินทรีย์ที่ช่วยบรรเทาและลดอาการภูมิแพ้จากภายใน อีกหนึ่งเมนูที่หมอแนะนำคือน้ำมะพร้าว

“มะพร้าวคือผลไม้ที่เฉาะแล้วตั้งทิ้งไว้แป๊บเดียวเดี๋ยวก็เหม็นบูด นี่แหละคืออาหารที่มีอายุสั้น เราไม่เคยแพ้มะพร้าวเลย หมอก็เชียร์ให้กิน ยิ่งวันไหนที่ลงสนามวิ่งมาราธอนก็กินไปเลย 3 ลูก ไม่ต้องกลัว ดูร่างกายเราเป็นหลัก” 

นั่นทำให้ภาวิดากลายมาเป็นลูกค้าประจำของ Y.farmily แบรนด์มะพร้าวอินทรีย์จากราชบุรีที่ได้มาตรฐาน EU ทำให้เธอมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย ภาวิดาสั่งน้ำมะพร้าวจากสวนมาทุกสัปดาห์ ทีละสามลิตร ติดต่อกันเป็นปีจนเธอกับเจ้าของสวนสนิทกัน 

กระทั่งภาวิดามีโอกาสแวะไปเยี่ยมที่สวน ได้เห็นภาพเกษตรกรที่เฉาะลูกมะพร้าว เอาแต่น้ำ ส่วนเนื้อแก่หนาถูกทิ้งไป ภาพนั้นทำให้ภาวิดาปวดใจ “ต้องใช้คำว่าปวดใจเลย เพราะเพิ่งรู้ว่าผู้บริโภคมีส่วนทำให้เกิดขยะ เราคือหนึ่งในคนที่ทำให้เกิดเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้ง เพราะเขาต้องเอาน้ำมะพร้าวมาส่งให้เรา 

“นั่นคือที่มาของการไปคุยกับเกษตรกร ขอร้องให้เขาช่วยคว้านเนื้อให้หน่อย”

และนั่นคือที่มาของ ไบโคเกิร์ต โยเกิร์ตแพลนต์เบสของแบรนด์ที่ใช้โพรไบโอติกส์กับเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งมาเป็นส่วนประกอบสำคัญ

หลังจากนั้น คนที่เคยกินโยเกิร์ตไม่ได้อย่างเธอเลยได้กินโยเกิร์ตสมใจ แถมโยเกิร์ตที่ว่านี้ยังถูกเผื่อแผ่ สร้างประโยชน์ให้ทั้งลูกค้าและเกษตรกรต้นทางอีกต่างหาก

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ ถือ โยเกิร์ตมะพร้าว
โยเกิร์ตมะพร้าว

ราชบุรี

ภาวิดาหยิบไบโคเกิร์ตกระปุกเหมาะมือมาให้ดู แล้วบอกว่ากว่าจะได้กระปุกเล็กๆ นี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

“ความยากข้อแรกคือเกษตรกรไม่มีเวลาคว้านเนื้อมะพร้าวให้ พวกเขาแค่ทำสวนมะพร้าวให้ออกมาดีและปลอดภัยก็เหนื่อยมากแล้ว แล้วการคว้านเนื้อออกมามันจำเป็นต้องมีตู้แช่ เสียค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แค่ขอแล้วเกิดขึ้นได้เลย ต้องรอให้เขาว่างด้วย เราก็พยายามบอกให้เขาใจเย็นกับเรา และค่อยๆ เล่าโปรเจกต์ให้เขาฟังว่าสิ่งที่เราทำคือการนำผลผลิตมะพร้าวเหลือทิ้งกลับเข้าสู่ระบบอาหารที่ดี มีคุณภาพ คนกินแข็งแรง และได้คืนพื้นที่ผืนดินที่สะอาดให้ธรรมชาติ 

“สมมติเกษตรกรรายหนึ่งทำงานเฉาะมะพร้าวมาสี่ปี ใช้พื้นที่ในการทิ้งเนื้อมะพร้าวเหลือสองร้อยตารางวา เฉลี่ยปีหนึ่งเขาเสียพื้นที่ทิ้งห้าสิบตารางวา ซึ่งในกรุงเทพฯ พื้นที่ขนาดนี้มันราคาแรงมากนะ แล้วถ้าเราสามารถทำให้เขา Zero ไม่ทิ้งเลย ทุกอย่างจะรีเทิร์นไปหาเขาหมด Biodiversity ก็เกิดขึ้น เกษตรกรได้พื้นที่เพาะปลูกคืน พอได้เพาะปลูกก็สร้างออกซิเจน ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ดินสมบูรณ์ขึ้น สัตว์เล็กสัตว์น้อยตามธรรมชาติก็จะกลับมา”

ไบโคเกิร์ตของภาวิดาใช้เนื้อมะพร้าวจากเกษตรกรในราชบุรีทั้งหมด เพราะเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ขึ้นทะเบียน GI มะพร้าว นั่นคือปลูกแล้วได้รสชาติอร่อยที่สุดในโลก นอกจาก Y.Farmily แล้ว วัตถุดิบนิยมยังรับเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งจากแปลงมะพร้าวอีก 2 แห่งคือสวนที่ได้ PGS และสวนสุขทั่วหล้า ซึ่งล้วนแต่มีการปลูกโดยวิถีธรรมชาติ

โยเกิร์ตมะพร้าววัตถุดิบนิยม

ความท้าทายอีกอย่างคือการพัฒนาสูตรของไบโคเกิร์ต ภาวิดาเริ่มจากการคัดเลือกสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ นำมาทดลองจนได้รสชาติของไบโคเกิร์ตที่คิดว่าทุกคนรับได้ ซึ่งเธอใช้เวลากว่า 1 ปีครึ่ง และเงินลงทุนหลักแสน จนกลายเป็น 2 สูตรหลักที่มีชื่อว่า ‘หนักแน่น’ เสริมเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกาย แก้ภูมิแพ้ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอประสบอยู่แล้ว อีกสูตรคือ ‘หลักแหลม’ หรือ in the mood เสริมเรื่องความจำ ลดเครียดและซึมเศร้า

“พอเริ่มอายุมากขึ้น ความจำของเราก็ไม่ค่อยดี เรากลัวอัลไซเมอร์ เพราะมันน่าสงสารทั้งคนเป็นและคนที่ดูแล ประกอบกับคนที่เรารักก็เป็นซึมเศร้าอยู่ พออยู่ด้วยกันมัน Sad วันดีคืนดีเขาก็ลงไปในหลุมดำ เราช่วยอะไรเขาไม่ได้เลย เราเลยไม่อยากให้คนอื่นเป็น” ภาวิดาเล่าแรงบันดาลใจ

ส่วนคำว่าไบโคเกิร์ตที่เป็นชื่อของผลิตภัณฑ์ มาจากการผสมรวมของคำ 3 คำคือ ไบฟิโดแบคทีเรียม จุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ตระกูลที่เธอใช้กับสูตรหนักแน่น, Coconut หรือมะพร้าว และโยเกิร์ต

แล้วชื่อแบรนด์วัตถุดิบนิยมนี่มายังไง-เราถามต่อ

“มันเป็นคำตรงกันข้ามกับวัตถุนิยม” ภาวิดาตอบ “ชื่อแบรนด์คือวิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคแบบหนึ่ง เราไม่ได้บอกว่าวัตถุนิยมไม่ได้นะ แต่เราแค่อยากทวิสต์มันให้คนเข้าใจวัตถุดิบที่ถูกทอดทิ้งมากขึ้น ซึ่งผู้บริโภคเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการทอดทิ้ง ไม่ใช่แค่เฉพาะเนื้อมะพร้าวเหลือเท่านั้น แต่รวมไปถึงมะพร้าวลูกอื่นๆ ที่น้ำเปรี้ยว เสีย เน่าไปครึ่งหนึ่ง มันดูเป็นภาระของเกษตรกรที่ต้องจัดการ แต่จริงๆ ภาระที่ใหญ่ที่สุดตกอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่ต้องมาอุ้มขยะเหล่านี้ไว้

“เราคิดว่าถ้าเราแก้ปัญหาวัตถุดิบได้น่าจะดี แต่เราก็เป็นตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น คนอื่นอาจจะคิดหนทางอื่นได้เหมือนกัน” เธอย้ำ

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ กำลังถือโยเกิร์ตมะพร้าว

ราชบุรี-กรุงเทพฯ

ไม่เพียงแต่ใช้วัตถุดิบเหลือทิ้งเท่านั้น แต่วัตถุดิบนิยมยังยึดหลักการผลิตที่ตรงกันข้ามกับการผลิตสินค้าแบบอุตสาหกรรม นั่นคือ Home Economy ที่มีขั้นตอนเรียบง่าย ทำจากในครัวของภาวิดาเท่านั้น

“เรามองว่าหลังจากผ่านโควิดมาแล้ว การจะทำธุรกิจขนาดเล็กให้แข็งแรง เราต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าลูกค้าเราเป็นใคร เข้าถึงสินค้าเราแบบไหน เราจึงยึดหลัก Sharing Economy ที่ไม่จำเป็นต้องขนส่งเอง ใช้บริการลอจิสติกส์เดลิเวอรีที่มีเต็มไปหมดเพื่อลดความเสี่ยง อีกอย่างเราไม่รู้ว่าสงครามจะเกิดเมื่อไหร่ สมมติมีสงครามขึ้นมา จัดตลาดไม่ได้ ห้างฯ ปิด ทำยังไง เพราะฉะนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการทำบ้านให้เป็นฐานการผลิตหรือ Home Economy”

ระหว่างทางกว่าจะเป็นไบโคเกิร์ตนั้นยิ่งกว่าเรียบง่าย ปกติแล้วเกษตรกรจะเข้ากรุงเทพฯ ทุกวันพฤหัสฯ เพื่อมาส่งน้ำมะพร้าว ภาวิดาก็ออเดอร์เนื้อมะพร้าวให้ทันรอบนั้นเพื่อลดการเดินทาง ส่วนวันศุกร์จะเป็นวันหมักและบรรจุ เสาร์ อาทิตย์ จันทร์จะเป็นวันส่งของ ถ้าลูกค้ามาตลาดที่วัตถุดิบนิยมไปเปิดร้านก็เจอกันได้ แต่ถ้าไม่สะดวกก็เน้นเดลิเวอรี เป็นแพตเทิร์นแบบนี้ทุกสัปดาห์

วัตถุดิบของไบโคเกิร์ตมีน้อยมากและเป็นสิ่งที่ทุกคนเสิร์ชหาเจอได้ในยูทูบ นั่นคือเนื้อมะพร้าวน้ำหอมเหลือทิ้ง น้ำมะพร้าวจากสวน น้ำตาลดอกมะพร้าว และเชื้อโพรไบโอติกส์เพียงเท่านั้น

“เราเปิดเผยวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตทั้งหมด มันดูน้อยมากแต่ทุกอย่างเลือกมาแล้วอย่างพิถีพิถัน บางคนถามว่าไม่กลัวคนก๊อบปี้เหรอ เราบอกไม่กลัว เพราะถ้าตราบใดคุณใช้วัตถุดิบเหลือทิ้ง คุณก็ช่วยส่งเสริมเกษตรกรและช่วยโลกด้วย”

โยเกิร์ตมะพร้าววัตถุดิบนิยม

นอกจากนี้ ภาวิดายังให้ความสำคัญกับการทำไบโคเกิร์ตด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่มีการใส่สารคงตัว สารกันบูด หรือสารคงรสชาติเลย “เพราะวิธีหนึ่งที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจสิ่งที่เราทำได้ คือการดึงเขากลับเข้าสู่วิถีการบริโภคแบบธรรมชาติ เข้าใจหลักการของการบูด เสีย เน่า ให้เขาได้กินอะไรที่ Natural จริงๆ

“มีเหมือนกันที่ลูกค้ามาถามว่าซื้อเก็บได้นานแค่ไหน เราก็บอกว่าถ้าซื้อเก็บอย่าซื้อไปเลย คือเราไม่ได้หยิ่งเนอะ แต่การซื้อไปทานเลยคุณจะได้ประโยชน์ทันที เหมือนเราฟีดตัวเองให้แข็งแรงตั้งแต่ตอนนั้น”

เจ้าของแบรนด์บอกว่า ความสนุกอีกอย่างของลูกค้าประจำไบโคเกิร์ตคือการลุ้น เพราะไบโคเกิร์ตแต่ละล็อตรสชาติจะไม่เหมือนกันเลย!

“มะพร้าวแต่ละฤดูกาลรสชาติต่างกัน เราพยายามดึงลูกค้าให้เขากลับสู่การกินอาหารตามฤดูกาล” เธออธิบาย “ซึ่งมันก็ได้ผล เพราะคนที่เป็นลูกค้าประจำเขาเลิกสนใจเรื่องความเสถียรของรสชาติไปเลย คือเขามั่นใจว่าจุลินทรีย์ที่ใส่มี 6 สายพันธุ์เท่าเดิมนั่นแหละ แต่รสชาติจะเป็นแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ ความชื้น และฤดูกาลของมะพร้าว ตัวโพรไบโอติกส์เองเมื่ออยู่ในสภาวะอากาศที่ต่างกันในแต่ละรอบ ก็จะมีการเติบโตต่างกัน บางสายพันธุ์โตดีก็ให้ความซ่ามากกว่า”

ว่าแล้วเธอก็เปิดกระป๋องไบโคเกิร์ตมาให้เรากินแบบสดๆ ในเนื้อสัมผัสหยุ่นนุ่ม เราละเลียดรสเปรี้ยวและซ่าที่กระจายไปทั่วลิ้น จินตนาการไปถึงอากาศและแหล่งปลูกต้นทาง

โยเกิร์ตมะพร้าว

กรุงเทพฯ-ราชบุรี

ถึงวันนี้ แบรนด์วัตถุดิบนิยมก่อตั้งมาได้ราว 4 ปี สร้างรายได้ให้ภาวิดาและเกษตรกรชาวราชบุรีสามารถยังชีพได้ แต่สำหรับเจ้าของแบรนด์อย่างเธอ จุดชี้วัดความสำเร็จไม่ได้อยู่แค่เรื่องเม็ดเงินเท่านั้น

“วันดีคืนดี ก็มีลูกค้าที่เป็นภูมิแพ้มาสิบแปดปีโทรมาหาเรา บอกว่าอยากส่งของขวัญมาให้ เพราะเขากินไบโคเกิร์ตของเรามาตลอด จนโรคภูมิแพ้สงบลงแล้วในที่สุด” เธอเล่าด้วยแววตาภาคภูมิใจ “หรือลูกค้าอีกคนที่บอกว่าคุณแม่ทานสูตร in the mood เข้าเดือนที่สี่ รู้ได้เลยว่าคุณแม่อารมณ์ดีขึ้น นอนหลับได้ดีขึ้น และมีอยู่ช่วงหนึ่งตอนโควิดพีกๆ คุณลูกไปเปลี่ยนสั่งหนักแน่นให้คุณแม่หนึ่งสัปดาห์ คุณแม่กลับมาหงุดหงิด สุดท้ายต้องเปลี่ยนกลับไปสูตรเดิม” เธอหัวเราะ

“สุขภาพลูกค้าเป็นกำลังใจ เป็นตัวขับเคลื่อนที่ดีให้เรา บางครั้งมีปัญหาทะเลาะกับเกษตรกร จนรู้สึกว่าพอแล้ว ไม่อยากทำแล้ว แต่พอมีพวกนี้ขึ้นมาเราก็กลับมาทำต่อ

“นอกจากนี้ เวลาออกงานหรือมีเวิร์กช็อปที่ไหน เรามักจะพาเกษตรกรออกงานด้วย พอเขาเห็นว่ามีคนกินก็ตื่นเต้น เออจริงเว้ย มีคนกินจริงๆ แล้วมันไปได้ ยอดขายมันไม่โกหก นี่คือสิ่งที่เขาเห็นได้ชัดตั้งแต่ตอนเริ่มออกตลาดครั้งแรก ทุกสัปดาห์ เงินในกระเป๋าที่เกษตรกรได้รับมันเพิ่มขึ้นเป็นกอบเป็นกำ อันนี้เป็นอีกความสำเร็จ เพราะสิ่งที่เราเคยอธิบายให้เกษตรกร มันเป็นไปตามนั้น เขาก็ไว้ใจเรา”

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ มีความสุข
วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ ถือโยเกิร์ตมะพร้าว

ภาวิดาบอกว่า ความท้าทายของวัตถุดิบนิยมในวันนี้คือการแก้ปัญหาวัตถุดิบเหลือทิ้งให้หมดจดและยั่งยืน เธออาจจะทำงานกับมะพร้าวไปอีก 2 – 3 ปีจนกระทั่งเนื้อมะพร้าวเหลือทิ้งกลายเป็นวัตถุดิบที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้มากกว่านี้ จากนั้นก็อาจมองหาวัตถุดิบตัวอื่น 

พร้อมกันนั้น ภาวิดาอยากทำงานสื่อสารให้ผู้บริโภคได้รับรู้ในประเด็นขยะอาหาร สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนในรูปแบบอื่นๆ ต่อ ไม่ว่าจะเป็นการคอลแลบกับเชฟดังหลายๆ คนที่นำวัตถุดิบเหลือทิ้งไปปรุงอาหาร หรือแม้กระทั่งจัดนิทรรศการเพื่อสื่อสารเรื่องเกษตรอินทรีย์ให้คนทั่วไปได้เห็นคุณค่าที่แท้จริงของมัน

“การทำวัตถุดิบนิยมมีความหมายกับเรามาก หลังจากเกษียณ เราคิดมาตลอดว่าเราติดหนี้ทรัพยากรทางธรรมชาติอยู่ เราต้องคืน ความสุขคือเราได้คืนแล้ว ได้ใช้หนี้แล้ว อันนั้นคือข้อที่หนึ่ง 

“ข้อสอง เราได้ความมั่นคงทางอาหาร แน่นอนว่าการทำแบรนด์นี้อาจจะไม่ได้เม็ดเงินเยอะ แต่เรามีอาหารกินตลอดเวลา เราไปที่ไหนเกษตรกรก็มีที่พักให้ เวลาเราป่วยพวกเขาก็ส่งของมา เราได้รับความเอื้อเฟื้อจากเกษตรกรเยอะมาก มากกว่านั้นคือการทำให้เพื่อนเราและคนทั่วไปได้เข้าถึงแหล่งอาหารที่ดี นี่คือความสุขของเรา”

วีด้า-ภาวิดา กฤตศรัณย์ ออกบูธขายโยเกิร์ตมะพร้าว วัตถุดิบนิยม

ติดตามการออกร้านของวัตถุดิบนิยมได้ที่ facebook.com/watthudibniyom

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.