การมีสนามเด็กเล่นที่เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบอาจเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมสร้างจินตนาการ และทำให้เด็กอยากเข้ามาใช้งานสนามเด็กเล่นเพิ่มมากขึ้น
‘Valanko ni Ramat’ คือสนามเด็กเล่นในประเทศอินเดียที่เปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างสรรค์เครื่องเล่นและพื้นที่ขึ้นจากจินตนาการของพวกเขา โดยมีสตูดิโอออกแบบ ‘Hsc Designs’ เป็นผู้ช่วยเนรมิตผลงานของเด็กๆ ให้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
เกิดเป็นสนามเด็กเล่นทั้งหมด 5 โซนภายใต้เงาของร่มไม้ ได้แก่ โซนน้ำ โซนทราย โซนพื้นที่ปีนป่าย โซนชิงช้า และโซนสไลเดอร์ ที่ตรงกลางของแต่ละโซนจะเชื่อมกันด้วยพื้นที่อุโมงค์สีสันสดใสมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สร้างขึ้นจากท่อคอนกรีตเหลือใช้และกระจกโมเสกรีไซเคิล
แถมในช่วงหน้าร้อน Valanko ni Ramat แห่งนี้จะฉีดละอองน้ำไปทั่วบริเวณ เพื่อเป็นหนึ่งวิธีช่วยคลายร้อนให้กับเด็กๆ เพื่อให้พวกเขาได้วิ่งเล่นอย่างสนุกสนานไม่ว่าจะร้อนแค่ไหนก็ตาม
การเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่เล่นของตัวเอง จะทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ มีความผูกพันกับพื้นที่ และเป็นส่วนหนึ่งในการสอนให้พวกเขาเรียนรู้โลกภายนอกไปในตัว รวมไปถึงการใช้วัสดุรีไซเคิลยังเป็นการปลูกฝังแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ให้กับเด็กๆ อีกด้วย
Valanko ni Ramat ถือเป็นส่วนหนึ่งที่พิสูจน์ว่า การออกแบบพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งสำหรับเด็กไม่ใช่เพียงแค่การออกแบบพื้นที่ทางกายภาพ แต่ยังทำหน้าที่เป็นห้องเรียนกลางแจ้ง ที่พวกเขาจะได้โลดแล่นไปตามโครงสร้างหลากสีสันจากองค์ประกอบต่างๆ เพื่อเรียนรู้ในสิ่งที่หาไม่ได้จากห้องเรียนทั่วไป
Sources :
ArchDaily | t.ly/ewTYd
Architizer | t.ly/__1BG