ฝนตกช่วงเลิกงานเพราะความร้อนของเขตเมือง - Urban Creature

พอใกล้ถึงเวลาเลิกงานในช่วงหน้าฝนทีไร ถ้าเป็นไปได้ชาวออฟฟิศหลายคนคงอยากจะเคลียร์งานให้เสร็จก่อนเวลา แล้วรีบเดินทางกลับบ้านก่อนที่ฝนห่าใหญ่จะเทลงมาจนต้องติดแหง็กอยู่ที่ออฟฟิศหรือหาที่หลบฝนระหว่างทางจนเกือบค่อนคืน

แต่ในระหว่างที่เราเผชิญกับสถานการณ์เหล่านี้กัน มีใครเคยสังเกตไหมว่า ทำไมฝนมักจะตกลงมาในตอนเย็นและลากยาวไปจนถึงดึกในแต่ละวัน เหมือนหลอกให้เราตายใจในตอนเช้า แล้วเล่นตลกกับเราในตอนเย็นอยู่เสมอๆ เลย

แต่จริงๆ แล้วปรากฏการณ์ฝนตกในช่วงเลิกงานแบบนี้ มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน’ หรือ ‘Urban Heat Island (UHI)’ มารองรับอยู่เหมือนกัน วันนี้คอลัมน์ Curiocity อยากพาทุกคนไขคำตอบไปพร้อมๆ กันว่า ปรากฏการณ์ UHI คืออะไร และเพราะอะไรเกาะความร้อนเมืองที่ว่านี้ถึงทำให้ฝนตกในช่วงเวลาเย็นเหมือนตั้งเวลาเอาไว้

ฝนตกช่วงเลิกงาน

ฝนตกเพราะเมืองร้อน

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า ฝนที่ตกในทุกๆ วันล้วนเกิดจากกระบวนการที่เราเรียนกันตั้งแต่เด็กอย่าง ‘วัฏจักรของน้ำ’ ที่น้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ จะระเหยกลายเป็นไอลอยขึ้นไปในอากาศ จากนั้นจะเกิดการกระทบความเย็นควบแน่นเป็นละอองน้ำเป็นก้อนเมฆ ก่อนจะตกลงมาเป็นฝน วนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ

ซึ่งวัฏจักรนี้จะทำให้สถานการณ์ฝนตกในแต่ละพื้นที่เกิดขึ้นในเวลาที่ต่างกัน และจะมีปริมาณฝนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอุณหภูมิภายในพื้นที่นั้นๆ ที่ก่อให้เกิดอัตราการควบแน่นบริเวณแหล่งน้ำที่แตกต่างกันออกไปนั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีบางเมืองที่มีลักษณะฝนตกเป็นแพตเทิร์นซ้ำๆ คือตกหนักในช่วงเวลาเลิกงานแบบสั้นบ้างยาวบ้างในแต่ละวัน เหตุการณ์เช่นนี้เป็นผลมาจาก ‘ปรากฏการณ์เกาะความร้อน’ หรือ ‘Urban Heat Island (UHI)’ ที่เกิดขึ้นในเขตเมือง จนทำให้พื้นที่ในเมืองมีอุณหภูมิสูงกว่าบริเวณรอบนอกอย่างมีนัยสำคัญนั่นเอง

ฝนตกช่วงเลิกงาน

เมืองร้อนเพราะสมดุลเปลี่ยน

ความร้อนของเมืองที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ UHI มีสาเหตุมาจากการสะสมความร้อนของเมืองอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์ และสิ่งปลูกสร้างภายในเมืองที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ต้นไม้ในเมืองลดลง

เมื่อแสงแดดตกกระทบลงมาบริเวณพื้นที่เมือง ความร้อนที่ควรถูกดูดซับโดยพื้นที่สีเขียวในเมืองจึงตกกระทบกับพื้นปูนซีเมนต์ของถนน บ้านเรือน และอาคารสูง ก่อกำเนิดเป็นมวลความร้อนขนาดใหญ่ที่เมื่อรวมกับกิจกรรมของคนในเมือง ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่ติดขัดหรือการเปิดเครื่องปรับอากาศพร้อมกันจำนวนมาก พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในระหว่างวันที่มากขึ้น จนสมดุลของวัฏจักรของน้ำเปลี่ยนแปลงไป

ฝนตกช่วงเลิกงาน

เพราะสมดุลเปลี่ยน ฝนจึงตกในเวลาเลิกงาน

‘Dr.Ancha Srinivasan’ ที่ปรึกษาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) ได้กล่าวว่า การที่วัฏจักรของน้ำถูกเร่งให้เร็วขึ้นเช่นนี้ เป็นผลมาจากอัตราการกักเก็บความชื้นในเมฆที่สูง ประกอบกับอุณหภูมิสูง คลื่นความร้อน และความแห้งแล้งเป็นเวลานาน ส่งผลให้พื้นผิวน้ำในพื้นที่อุ่นและเกิดการระเหยที่เพิ่มขึ้น

โดยการศึกษาพบว่า อัตราการกักเก็บความชื้นในเมฆบริเวณเมืองกรุงเทพฯ มีมากกว่าพื้นที่อื่นถึง 7 เปอร์เซ็นต์ เมื่อบวกกับกระแสลมสงบและความร้อนจัดในช่วงกลางวัน ทำให้เกิดการระเบิดของเมฆ เกิดฝนตกหนักในช่วงเย็นตามลำดับนั่นเอง

ซึ่งเหตุการณ์ฝนตกในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในเขตเมือง และอาจทวีความรุนแรงขึ้นได้หาก UHI ยังคงอยู่ โดยไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาความร้อนในเมืองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

ฝนตกช่วงเลิกงาน

Sources :
NASA Climate Kids | t.ly/PFp8o
The Hindu Businessline | t.ly/WVibu

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.