รวมข่าวดีปี 2021 (ที่ไม่ต้องมีก็ได้) - Urban Creature

วิกฤตการณ์โควิด-19 จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต การล็อกดาวน์ ภาวะการตกงาน ปัญหาสุขภาพกายและจิตใจ ฯลฯ เหตุการณ์มากมายเหล่านี้คงเป็นปัญหาที่ทุกคนล้วนได้เห็นบนหน้าข่าวหรือเจอเข้ากับตัวเองมาแล้วในปี 2021

แต่ แต่ แต่ อีกแค่ไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านี้ ปี 2021 อันหนักหนาแสนสาหัสที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดกำลังจะกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว! เราทุกคนคงอยากให้เรื่องราวหนักหน่วง ทั้งความเหนื่อยล้า ความเศร้าโศกเสียใจ หรือแม้แต่การสูญเสียทั้งหลายนั้นจบลงไปกับวันเดือนปีที่ผันผ่าน

หลายคนคงใช้เวลาช่วงหยุดวันปีใหม่พักผ่อนจากปีอันหนักหนาสาหัสที่จากไป เมื่อไตร่ตรอง คิดทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวินาที ท่ามกลางปีที่ดูมืดมนอนธการนี้ ไม่แน่ว่าในบรรดาข่าวร้ายๆ ของทั้งปี อาจจะมีข่าวดีพอผลักดันให้เรามีแรงใจใช้ชีวิตต่ออยู่บ้างก็ได้!

เพราะงั้น ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล เพราะ Urban Creature ได้รวบรวมข่าวดีที่จะทำให้หัวใจพองโตตลอดปี 2021 ไว้ที่นี่แล้ว จะเป็นข่าวอะไรบ้าง มาดูกันเลยดีกว่า!


ความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่ชื่อว่าเกม ‘Popcat’

Top-five-News-2021-Popcat

เอาล่ะ มาเริ่มกันที่เรื่องน่าภาคภูมิใจกันซะก่อน ถ้าใครจำได้หรือเป็นหนึ่งในผู้ร่วมท้าชิงเจ้ายุทธภพ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2021 อยู่ๆ ก็มีแมวปริศนาตัวหนึ่งปรากฏตัวขึ้น! และเมื่อจิ้มไปที่มัน ก็มีเสียงดัง ‘ป็อป’ พร้อมกันนั้นก็มีตัวเลขแสดงจำนวนครั้งที่เราจิ้มและอันดับของประเทศที่สังกัดอยู่โชว์ให้เห็น

ใช่แล้ว นี่คือเกมเจ้าแมว ‘Popcat’ เกมจิ้มๆ ที่เริ่มต้นจากคลิปแมวที่เผยแพร่ในทวิตเตอร์ ผ่านฝีมือนักศึกษา 3 คนจากมหาวิทยาลัยเชฟฟีลด์ ประเทศอังกฤษ ที่ใส่เอฟเฟกต์และกิมมิกของแมวในเกมจนโด่งดัง และมีผู้เล่นจากทั่วทุกมุมโลก

หลังจากที่เกมสร้างเสร็จในปลายปี 2563 และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในช่วงปี 2564 จนถึงช่วงเดือนสิงหาคม อยู่ๆ มันก็กลายเป็นกระแสจนประเทศไทยพุ่งขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของชาติที่มีจำนวนการจิ้มเจ้าเหมียว Popcat นี้มากที่สุดในโลก! 

ประเด็นอึกทึกครึกโครมนี้อาจเชื่อมโยงได้กับทั้งประเด็นทางการเมืองในประเทศและภูมิภาค ทั้งการล้อเลียนว่าที่ไทยเป็นแชมป์ได้นั้นเพราะประชาชนไทยได้ฝึกปรือจากการแย่งลงทะเบียนต่างๆ มากมาย ทั้งการจองวัคซีน การลงทะเบียนนโยบายชดเชย-เยียวยาของภาครัฐ (พวกชนะๆ ทั้งหลายนั่นแหละ แต่ความจริงชนะไหมก็น่าจะรู้กันอยู่) 

หรือแม้แต่สะท้อนให้เห็นปัญหาสำคัญอย่างวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงโควิดที่ทำให้มีอัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น มีผู้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ Nikkei Asia ไว้ว่าเหตุผลที่ไทยเป็นอันดับหนึ่งได้นั้น อาจเพราะว่าคนมีเวลาว่างมากมายก็ได้นะ ก็ตกงานกันเป็นเบือไงล่ะ…

หรือแม้แต่การใช้เกม Popcat นี้จุดประเด็นการขับเคลื่อนประชาธิปไตยในประเทศไทย จากการใช้งานแฮชแท็ก #popcat ในทวิตเตอร์เพื่อสื่อสารถึงผู้คนทั้งโลกให้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้จัดการโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงความเลวร้ายของการสลายการชุมนุมจากเจ้าหน้าที่รัฐ ผลตอบรับหนึ่งที่น่าดีใจคือสารเหล่านี้ถูกส่งไปยัง Edward Hails -หนึ่งในผู้พัฒนาเกม Popcat และเขาก็ได้ใช้ทวิตเตอร์ส่วนตัว (ชื่อว่า Eddie (@onfe1)) กระตุ้นให้ชาวโลกหันมาสนใจประเด็นปัญหาที่กำลังร้ายแรงในประเทศไทยมากขึ้น 

นอกจากไทยแล้ว อันดับที่ 2 – 3 รองลงมานั้นคือฮ่องกงและไต้หวัน ทั้งสามประเทศที่เชื่อมโยงกันด้วยปัญหาทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศในนาม ‘Milk Tea Alliance’ หรือ พันธมิตรชานม (จริงๆ มีพม่าอีกประเทศหนึ่ง แต่ไม่ติดอันดับ) ที่ต่างก็ใช้เกม Popcat เป็นหนึ่งช่องทางแสดงออกทางการเมืองของตนเองเช่นกัน 

นี่ไง ใครบอกล่ะว่ามีแต่เรื่องร้ายๆ ในปีนี้ ถ้าคนไทย (และพันธมิตรประเทศอื่นๆ) รวมตัวกันทำอะไรล่ะก็ ไม่แพ้ชาติใดในโลกแน่นอน!

2
นายทุนไทยรวยและทรงอิทธิพล ไม่แพ้ชาติใดในโลก

Top-five-News-2021-Capitalist-Realism-TH

ย้อนไปที่ปี 2563 สักนิด ในเดือนพฤศจิกายน บริษัทลูกในเครือเจริญโภคภัณฑ์-CP ได้เข้าซื้อ Tesco Lotus ทั้งในประเทศไทยและมาเลเซีย จนมาถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 CP ก็ได้เริ่มรีแบรนด์ Lotus จากภาพจำเดิมๆ ให้มีรูปโฉมใหม่

ย้อนกลับไปไกลกว่าเดิมในปี 2556 บริษัท CP เจ้าเดิมนี่เองก็ได้ซื้อบริษัท Makro ห้างค้าส่งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศมาอยู่ในบริษัทลูกของตน นั่นหมายความว่า ในปัจจุบัน ตั้งแต่ห้างค้าส่งอย่างแม็คโคร ห้างค้าปลีกอย่างโลตัส ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่น เครือข่ายโทรทัศน์ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ซึ่งนี่ยังไม่นับธุรกิจอาหารที่ติดอันดับบริษัทระดับโลกไปแล้ว หรือกระทั่งการเกษตรหรืออุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงที่ CP เติบโตมาและเป็นเจ้าของอยู่เดิมแล้วนั้น ทำให้เราเห็นว่าบริษัทใหญ่หนึ่งบริษัทมีอิทธิพล คอยควบคุม และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันมากมายเหลือเกิน 

ยังไม่นับกลุ่มทุนอื่นที่ขยายตัวและเติบโตมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในเดือนสิงหาคม ปี 2564 Gulf กลุ่มธุรกิจพลังงานเข้าซื้อและกลายเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนมากที่สุดของบริษัทโทรคมนาคม Intouch ทำให้ Gulf กลายเป็นเจ้าของบริษัท AIS โทรคมนาคมในไทยทางอ้อม ซึ่งมีสัดส่วนผู้ใช้งานเครือข่ายเยอะที่สุดจากทั้ง 3 บริษัทใหญ่ หรือแม้แต่ในช่วงเดือนธันวาคม ปลายปี 2564 ก็มีข่าวว่าบริษัท Central Retail Group เตรียมจะปิดดีลซื้อห้างฯ หรูใจกลางเมืองหลายประเทศในทวีปยุโรปจากกลุ่ม Selfridges ด้วยจำนวนเงินกว่า 4 พันล้านปอนด์ (ประมาณหนึ่งแสนแปดหมื่นล้านบาท)

นอกจากนี้ ในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 ยังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่ได้ปรับรูปแบบธุรกิจใหม่เป็นบริษัท SCBX ซึ่งนอกเหนือจากทำธุรกิจธนาคารแล้วยังร่วมทุนกับบริษัทอื่น รวมทั้งกระโดดไปซื้อบริษัทสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitkub อีกด้วย ซื้อทุกอย่างแบบนี้คุณว้าวไหมล่ะ

ถ้ายังไม่หนำใจ มาต่อกันที่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน ยังมีประเด็นร้อนแรง เมื่อมีการควบรวมบริษัทระหว่าง TRUE (บริษัทลูกของ CP) กับ DTAC โทรคมนาคม 2 เจ้าใหญ่ในเมืองไทย ถ้าดีลนี้สำเร็จประเทศไทยจะมีโทรคมนาคมเหลืออยู่เพียง 2 รายเท่านั้น ทำให้ความกังวลต่อทางเลือกด้านการใช้งานที่น้อยลง อัตราค่าบริการที่ผูกขาดมากขึ้น และการแข่งขันที่หลากหลายเพื่อการพัฒนาทางเทคโนโลยีจะเป็นไปอย่างไรต่อไป และประเด็นสำคัญคือดีลนี้ (และดีลอื่นๆ ที่เราพูดถึง) นั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้ารัฐไทยไม่อนุญาตให้เกิดขึ้น (ดังที่มีหน่วยงานรัฐคอยกำกับอยู่ แต่ก็เงียบเหมือนป่าช้า) เหมือนที่กรณีของต่างประเทศที่บอกกับเราว่ารัฐมีอำนาจห้ามดีลธุรกิจที่อาจนำไปสู่การผูกขาดตลาด หรือลดทอนการแข่งขันทางการค้าได้ ถ้าจำเป็นต้องทำจริงๆ

เหล่านี้อาจเป็นเรื่องน่าทึ่ง หรือน่าตื่นตาตื่นใจสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารปี 2564 เกี่ยวกับแวดวงธุรกิจ การเงิน และเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด ท้ายที่สุดแล้วทุนของไทย ก็ไม่ได้แพ้ชาติใดในโลกเลยนะ! เอ…หรือจะเศร้าดี ถ้าเกิดมาไม่รวย ก็คงได้แต่มองตาปริบๆ

3
“โควิดกระจอก!” เหรอ…

Top-five-News-2021-Covid19

ข่าวดีด้านสุขภาพและวงการสาธารณสุขของไทยในปีนี้คือ การแสดงวิสัยทัศน์ว่า ‘โควิดกระจอก!’ นี้เป็นประโยคจากรัฐมนตรีสาธารณสุขไทยถึงสองครั้งแล้วหลังจากประเทศไทยเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 ตลอด 2 – 3 ปีมานี้

ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 5 ธันวาคม 2563 ช่วงที่ไทยยังมีการระบาดไม่ถึงหลักพัน แต่เมื่อเข้าสู่เดือนเมษายน 2564 ก็มีเหตุการณ์ระบาดใหญ่อีกระลอกหนึ่ง ทั้งก่อนและในช่วงวันสงกรานต์ที่มีประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา ใช่ เรากำลังพูดถึง ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ ที่กลุ่มอภิสิทธิ์ชนและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้มีอำนาจในปัจจุบันละเลยมาตรการป้องกันการระบาดของโรค 

สื่อใหญ่อย่าง ‘New York Times ตีแผ่ประเด็นนี้ และชี้ให้เห็นว่านี่เป็นสิ่งที่คนรวยไม่กี่คนเริ่มต้นวิกฤต (อย่างการระบาดรอบแรกเลยก็เริ่มจากคลัสเตอร์สนามมวยลุมพินี ที่มีกลุ่มทหารดูแล) แต่กลุ่มที่ต้องรับผิดชอบต่อการระบาดและภาระที่ตามมาคือคนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ หลังจากการระบาดของ ‘คลัสเตอร์ทองหล่อ’ เป็นต้นมา ตัวเลขการระบาดและผู้เสียชีวิตก็เพิ่มมากขึ้นจนถึงหลักหมื่น และข่าวผู้เสียชีวิตตามท้องถนนก็ตามมาให้เห็นบ่อยครั้งในแต่ละวัน 

แต่หลังจากที่กลับมาควบคุมการระบาด และเพิ่มปริมาณ-คุณภาพของวัคซีนได้ในช่วงปลายปี 2564 ประโยคที่ว่า ‘โควิดกระจอก’ ของรัฐมนตรีสาธารณสุขก็กลับมาอีกครั้งในวันที่ 16 ธันวาคม 2564 หักหน้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศไทยที่มีจำนวนทั้งหมดกว่า 25,000 คนไปแล้ว เห็นไหมล่ะ โควิดกระจอกหรือใครกันน้าที่กระจอก

4
‘ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้ (ถ้านายสั่งมา)’

Top-five-News-2021-Police-Everywhere

หากพอจะได้ยินคำพูดที่ว่า “ภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ ไม่มีสิ่งใดที่ตำรวจไทยทำไม่ได้” ของพลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2494 – 2500 เราก็อาจจะคุ้นๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดปี 2564 

ความสนิทสนมใกล้ชิดของประชาชนไทยกับตำรวจ (ควบคุมฝูงชน) ของไทยน่าจะเริ่มมาตั้งแต่การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาและประชาชนในปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 แต่เหตุการณ์ที่สะเทือนขวัญและสะท้อนวงการสีกากีใหญ่ที่สุดในปี 2564 น่าจะเป็นคดีซ้อมทรมานของอดีตผู้กำกับ ‘โจ้’

เหตุการณ์เริ่มขึ้นจากการเปิดเผยวิดีโอจากกล้องวงจรปิดของทนายคนหนึ่งในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 วิดีโอฉายภาพให้เราเห็นภาพการทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดด้วยการคลุมถุงพลาสติกจนในที่สุดผู้ต้องหารายดังกล่าวก็เสียชีวิต จากนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้กำกับโจ้จึงกลายมาเป็นผู้ต้องหาในคดีฆาตกรรมหลังจากคลิปเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ 

เดือนกันยายน 2564 ตำรวจไทยก็ก่อวีรกรรมเด็ดอีกครั้ง หลังจากความนิยมของแพลตฟอร์มสร้างสรรค์คอนเทนต์ทางเพศที่ชื่อ OnlyFans สูงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากมีสัญญาณเตือนจากผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไทยอยู่เนืองๆ ว่าด้วยเรื่อง ‘ศีลธรรมอันดี’ ในสังคมจากประเด็นความนิยมของแพลตฟอร์มออนไลน์ดังกล่าว และแล้วคืนวันที่ 20 กันยายน 2564 ก็เกิดเหตุการณ์ที่ตำรวจบุกจับกุม ‘ไข่เน่า’ หนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์ในแพลตฟอร์ม OnlyFans ด้วยข้อหาผลิตสื่อลามกอนาจาร 

ประเด็นการจับกุมของตำรวจนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่สังคมกำลังหาคำตอบจากการถกเถียงด้านศีลธรรม เพื่อหาคำตอบว่าจะบังคับใช้กฎหมายกับแพลตฟอร์มให้เหมาะสมอย่างไรได้บ้าง แต่ยังไม่ทันจะได้หาคำตอบร่วมกัน ตำรวจกลับเป็นฝ่ายที่ตัดสิน ชี้ถูกชี้ผิดของสังคมไปเสียแล้ว 

ยังไม่พอ มีให้ตะลึงอีก! ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแม่ค้าโตเกียวได้ริเริ่มการแต่งกายแบบ ‘เปิดอก’ เมื่อเรื่องเป็นประเด็นในสังคมขึ้นมา ไม่รู้ไปมาอย่างไร เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ไปตักเตือนแม่ค้าคนดังกล่าวให้แต่งกายมิดชิด จนเกิดการตั้งคำถามว่าตำรวจดูแลความสงบเรียบร้อยกลายเป็นผู้ควบคุมศีลธรรมและการแต่งกายของประชาชนไปเสียแล้ว (แล้วทำไมผู้ชายแต่งกายเปิดอกขายของบ้างไม่เข้าไปตักเตือนบ้างนะ งงไหม) 

ไม่มีอะไรที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ทำไม่ได้จริงๆ ตั้งแต่กลายเป็นผู้ต้องหาเสียเอง จนถึงกำกับดูแลศีลธรรมอันดีของสังคม หรือแม้แต่ปราบปรามประชาชนก็เก่งที่สุดเลย ปรบมือสิ รออะไร!

5
มีรัฐบาลนี้ไว้ ให้รู้ว่าไม่ต้องมีก็ได้

นับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา คำถามที่ประชาชนมีมาตลอดหลังจากนโยบายล็อกดาวน์ หรือสั่งปิดพื้นที่หรือธุรกิจนั้นๆ คือ ‘จะช่วยเหลือ-เยียวยาอย่างไร?’ นั่นคือ นโยบายการสั่งปิดจะไม่ตามมาด้วยมาตรการเยียวยาความเสียหายเสมอ บ่อยครั้งมักจะออกมาหลังจากที่ประกาศปิดนู่นนี่ไปแล้วนั่นแหละ 

และตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดที่สุดคือความจำเป็นของกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 ทั้ง ‘กลุ่มเส้นด้าย’ ที่คอยประสานงานหาโรงพยาบาลและตรวจหาเชื้อ ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ ที่ช่วยเหลือแรงงานในแคมป์ที่ถูกปิดตายช่วงกลางปี 2564 ‘กลุ่มหมอ-พยาบาล’ ที่รวมตัวกันเรียกร้องวัคซีนมีคุณภาพให้คนทำงานด่านหน้า มูลนิธิที่ทำหน้าที่เก็บกู้ศพของผู้เสียชีวิตในช่วงการระบาด หรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ยิบย่อยที่รวมตัวกันช่วยเหลือกันและกัน และผู้อื่นในยามวิกฤตที่ผ่านมา 

และหลายๆ ครั้ง นโยบายของรัฐบาลมักจะปรับเปลี่ยนหลังจากผ่านการกดดัน การประท้วง ชุมนุมบนท้องถนน และการกร่นด่ามากมายในทวิตเตอร์จึงจะยอมเปลี่ยนท่าทีให้เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่สักที ทั้งเรื่องการจัดหาวัคซีน หรือการเรียกร้องเงินเยียวยา

นอกจากวิกฤตโควิด-19 แล้ว อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ชวนให้สงสัยว่า ‘รัฐบาลมีไว้ทำไม?’ เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานหมิ้งตี้ เคมีคอล ที่เป็นโรงงานผลิตโฟมและเมล็ดพลาสติก บริเวณซอยกิ่งแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ เราต่างได้เห็นภาพเจ้าหน้าที่อาสาสมัครดับเพลิงที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันคุณภาพ และกว่าเราจะได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลส่วนกลาง หรือรัฐบาลท้องถิ่นในสมุทรปราการ เพลิงไหม้ก็บรรเทาลงเสียแล้ว 

ภาพชุดอุปกรณ์ที่หาและประยุกต์ใช้กันเองของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เป็นอาสาสมัครนั้นถูกนำไปเปรียบเทียบกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่มีอุปกรณ์ช่วยหายใจ และชุดเครื่องแบบปฏิบัติงานอันครบครัน บางรายถึงกับบอกว่าอุปกรณ์ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนั่นแหละควรจะนำไปให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงใช้มากกว่านำมาใส่ปราบผู้ชุมนุม หรือแม้กระทั่งคำถามถึงรถฉีดน้ำแรงดันสูง หรือ ‘จีโน่’ ว่าทำไมถึงไม่เอาไปใช้ช่วยดับเพลิงบ้าง 

นี่ไม่ใช่การล้อเลียน หรือถามเสียดสีเพื่อความสะใจ แต่เป็นการตั้งคำถามต่อการจัดสรรงบประมาณของภาครัฐ ว่าสิ่งที่จำเป็นต่อประชาชนคืออะไร ทำไมถึงถูกละเลย

อีกเหตุการณ์หนึ่งในช่วงไล่เลี่ยกัน คือข่าวน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กว่า 30 จังหวัดทั่วประเทศช่วงปลายเดือนกันยายนซึ่งส่งผลกระทบมากมายต่อทรัพย์สิน พื้นที่ไร่นา และพื้นที่ทางการเกษตรสำหรับทำกินของประชาชน แต่สิ่งที่ได้รับจากรัฐบาลคือการเตือนภัยที่ล่าช้า ให้ข้อมูลสถานการณ์ที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือแม้กระทั่งการสั่งการของระบบราชการที่ขาดประสิทธิภาพ ส่วนตัวผู้นำเองก็มีการลงพื้นที่แบบขอไปที นำมาสู่เสียงวิจารณ์ว่าการลงพื้นที่ของเขาก็เพียงเพราะหวังจะได้คะแนนนิยมทางการเมืองเพียงอย่างเดียว แต่ประเด็นเรื่องการชดเชยความเสียหายและความสูญเสียก็ยังต้องติดตามกันต่อไป 

เหล่านี้เป็นคำถามสำคัญของยุคสมัยว่าสิ่งนู้น สิ่งนี้ มีไว้ทำไม ถ้าไม่เกิดประโยชน์ใดต่อประชาชนส่วนรวม

หลายข่าวที่เกิดขึ้นและน่ากุมขมับตลอดทั้งปีนี้ ถ้าจะบอกว่ามันเป็นข่าวดี ก็อาจจะบอกได้ว่าเป็นข่าวดีที่ช่วยให้เราตั้งคำถามกับความผิดปกติหลายๆ อย่างในชีวิต แต่ระหว่างทางจะสูญเสียอะไรไปบ้างนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่เราทุกคนต้องจัดการร่วมกัน (แน่นอนรัฐบาลก็ต้องทำงานอย่างใส่ใจและเข้าใจความทุกข์ยากของประชาชนทุกคนด้วย) แต่ท้ายที่สุดประชาชนเจ้าของประเทศก็ต้องย้อนกลับมาคิดว่าสุดท้ายแล้วอะไรควรอยู่ อะไรควรไป อะไรควรแก้ไข อะไรควรเปลี่ยนแปลง หรือหายสาบสูญ

หวังว่าปี 2022 ที่จะถึงนี้ จะช่วยให้เราเห็นคำตอบ และนำพาทุกคนให้ก้าวไปสู่หนทางที่ดีขึ้น เผื่อว่าจะได้เห็นข่าวดีจริงๆ กับเขาสักที


Sources: 
Bangkok Post | https://bit.ly/3mxmhpX
BBC-THAI | https://bbc.in/3z2N96j
Matichon | https://bit.ly/3poYjzb
| https://bit.ly/30YSXRQ
Nikkei Asia | https://s.nikkei.com/3qlbm3J
| https://s.nikkei.com/3swpsSB
| https://s.nikkei.com/3JiX0ti
The Guardian | https://bit.ly/3poSgKP
New York Times | https://nyti.ms/3EmqFhD
Prachachat | https://bit.ly/3mrO23q
Bangkok Biznews | https://bit.ly/3qlbFvp
Sanook | https://bit.ly/33OSAtX
Khaosod | https://bit.ly/3H0CTyi
Pridi.or.th | https://bit.ly/3po1B5y

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.