‘ยามเดินสวนกัน ไม่ว่าใครก็หลบสายตา แต่กลับถูกเฝ้าจับจ้องจากผู้คนมหาศาล นิยามนั้นคือชีวิตคนไร้บ้าน’
แม้จะเป็นคนที่ค่อนข้างสนใจประเด็นสังคมอยู่บ้าง แต่กับประเด็นคนไร้บ้าน ฉันคงต้องบอกว่าค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่แม้ว่าในโลกแห่งความจริงมันจะแสนใกล้ตัว เพราะเคยนั่งรถหรือเดินผ่านคนกลุ่มนี้แถวถนนราชดำเนินและมุมอื่นๆ ในกรุงเทพฯ อยู่บ่อยๆ
ที่บอกว่าไกลตัวเพราะสารภาพตามตรงว่าตัวเองไม่เคยสนใจศึกษาประเด็นนี้อย่างจริงจัง แน่นอนว่ามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจพวกเขาอยู่แล้ว แต่ไม่มีทางที่จะเข้าอกเข้าใจได้ เพราะไม่เคยสนทนาหรือคลุกคลีกับคนกลุ่มนี้แม้แต่น้อย
จนกระทั่งเมื่อปีก่อน ไม่รู้อะไรดลใจให้ฉันหยิบหนังสือเกี่ยวกับชีวิตคนไร้บ้านในกองดองมาอ่าน เริ่มต้นด้วยรวมเรื่องสั้น ‘บ้านที่กลับไม่ได้’ ก่อนไปเสาะหาความเรียง ‘สายสตรีท’ มาอ่านเพิ่มเติม
หนังสือทั้งสองเล่มเขียนโดย ‘บุญเลิศ วิเศษปรีชา’ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สนใจประเด็นชีวิตคนชายขอบ และเป็นนักวิชาการไทยผู้เป็นที่รู้จักจากการทำงานวิจัยที่เอาตัวเองไปใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน ทั้งในประเทศไทย (สนามหลวง กรุงเทพฯ), ประเทศญี่ปุ่น (กรุงโตเกียว) และกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
คุณบุญเลิศเคยกล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ท้ายหนังสือ ‘บ้านที่กลับไม่ได้’ ถึงความแตกต่างของโครงสร้างสังคมและค่านิยมที่ส่งผลต่อสถานภาพของคนไร้บ้านของแต่ละประเทศ โดยเปรียบเทียบผ่านประเทศฟิลิปปินส์ที่มีคนไร้บ้านจำนวนมาก จนมีชุมชนคนไร้บ้านของตัวเองตามย่านต่างๆ และประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนคนไร้บ้านไม่มากเท่า ทั้งยังไม่ได้พบเจอได้ง่ายๆ เนื่องจากพวกเขาไม่เป็นที่ยอมรับ ต้องหลบซ่อนตัวจากผู้คน ทั้งยังถูกมองว่าใช้ชีวิตได้ล้มเหลว ทำให้คนไร้บ้านที่ญี่ปุ่นมีความกดดัน เครียด และมีสถานะที่ต่ำต้อยจากการหลบๆ ซ่อนๆ
และนั่นนำมาสู่การอ่านนิยายเรื่อง ‘ณ สถานีรถไฟโตเกียวอุเอโนะ’ โดย Yu Miri นักเขียนหญิงชาวญี่ปุ่นที่สนใจประเด็นคนไร้บ้าน และลงพื้นที่บริเวณสวนสาธารณะอุเอโนะไปศึกษาชีวิตคนกลุ่มนี้ใน ‘การกวาดล้าง’ หรือการไล่ต้อนคนไร้บ้านให้ไปอยู่ในพื้นที่จำกัดจำเขี่ยเมื่อสมาชิกราชวงศ์เสด็จประพาส เมื่อปี 2000
นอกจากนั้น เธอยังนำประสบการณ์ที่ได้รับจากการรับหน้าที่จัดรายการวิทยุพูดคุยกับผู้คนที่อาศัย เกิด หรือมีสายสัมพันธ์กับเขตมินามิโซมะ ซึ่งเคยได้รับความเสียหายจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดและสึนามิ มาเชื่อมต่อความเจ็บปวดเข้าด้วยกันผ่านเหล่าคนไร้บ้านที่จากบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่น แต่กลับสูญเสียบ้านไปและไม่เหลือสถานที่ใดให้กลับ
‘คุณมี แต่พวกเราไม่มี คนที่มีไม่เข้าใจความรู้สึกของคนไม่มีหรอก’
แม้จะบอกว่าเป็นนิยาย แต่ ‘ณ สถานีรถไฟโตเกียวอุเอโนะ’ กลับดำเนินเรื่องแบบกึ่งๆ สารคดี ที่บอกเล่าชีวิต ‘คาสุ’ ผู้ต้องระหกระเหินจากต่างจังหวัดเข้าสู่เมืองหลวงเพื่อหาค่าเลี้ยงดูครอบครัว ด้วยการเป็นคนงานก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านกีฬาสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียวปี 1964 และถูกย้ายไปทำงานที่ไซต์ก่อสร้าง ต้องอาศัยสวนสาธารณะอุเอโนะต่างบ้าน ผ่านชะตากรรมโศก และลงท้ายด้วยการเป็นคนไร้บ้าน
ด้วยความที่นักเขียนเล่าเรื่องผ่านสายตาที่ตัดไปตัดมาปะปนกับความทรงจำของ ‘คาสุ’ ที่ไม่ปะติดปะต่อ ทำให้เรื่องราวไม่ได้มุ่งไปสู่ข้างหน้า แต่เป็นการย้อนกลับถอยหลังสู่อดีตที่ตัวละครเคยประสบพบเจอมา ผ่านเสียงพูดคุยของคนแถวนั้นที่ล่องลอยมา ชีวิตคนไร้บ้านคนอื่นๆ หรือเหตุการณ์ที่เขาประสบ
วันที่เมียจะคลอดลูกแต่ไม่มีเงินพาไปโรงพยาบาลดีๆ วันที่โดนทวงหนี้ วันที่ลูกชายถือกำเนิด วันที่ลูกชายตายจากโลกนี้ไป วันที่รู้สึกว่าไม่เหลืออะไรอีกแล้ว วันที่ตัวเองรู้สึกว่าเป็นภาระ ทั้งหมดนี้คือบางส่วนของเหตุการณ์ที่ ‘คาสุ’ หวนนึกถึง โดยมีพื้นหลังเป็นความยากจนข้นแค้น การที่ทำงานหนักเท่าไหร่ก็ไม่พอใช้ ผสมผสานกับคำสวดมนต์และศาสนาที่เราจะเห็นหลายหน้ากระดาษในหนังสือเล่มนี้
แต่ฉันก็เข้าใจว่าทำไมตัวละครถึงยึดติดกับบทสวดและพิธีกรรมนัก นั่นเพราะมันคือสิ่งเดียวที่เขาใช้ยึดเหนี่ยวจิตใจในวันที่ไร้ซึ่งความหวังและที่พึ่งพิง ยังไม่นับรวมการกล่าวถึงชนชั้นราชวงศ์ที่มีความเกี่ยวโยงกับครอบครัวของ ‘คาสุ’ เนื่องจากลูกชายเกิดวันเดียวกันกับเจ้าชายจนเขาขอหยิบยืมตัวอักษรหนึ่งในชื่อมาตั้งให้ลูกของตน ทั้งยังมีการกล่าวถึงราชวงศ์อยู่เนืองๆ ตลอดทั้งเล่ม สะท้อนถึงความย้อนแย้งของลำดับชั้นในสังคมที่เราถูกทำให้ก้มหัวเชื่อและไม่กล้าตั้งคำถามถึงความไม่เท่าเทียม
ต่อให้เกิดวันเดียวกัน เกิดบนแผ่นดินประเทศเดียวกัน และเกิดเป็นคนเหมือนกัน แต่สภาพแวดล้อมของคนที่ต่างชนชั้นนั้นช่างต่างกันราวฟ้ากับเหว อย่าง ‘คาสุ’ เองก็เป็นคนหนึ่งที่โดน ‘กวาดล้าง’ จากเจ้าหน้าที่ให้อพยพไปอยู่ในพื้นที่จำกัด เนื่องจากสมาชิกราชวงศ์จะเดินทางไปยังบริเวณนั้น บริเวณที่เป็นที่พักพิงของเขา บริเวณที่เป็นที่ตั้งของผ้าใบสีฟ้าที่ป้องกันความหนาวเย็นหรือน้ำฝนไม่ได้ด้วยซ้ำ
“แกมันไม่มีดวงเสียเลย”
นี่คือประโยคที่แม่ของ ‘คาสุ’ บอกกับลูกชายหลังการสูญเสียครั้งใหญ่ แม้ฟังดูเป็นถ้อยคำทั่วๆ ไปไว้ปลอบใจ แต่ในฐานะคนจน การโทษโชคชะตาตัวเองคือสิ่งที่พวกเขาพอทำได้ ภายใต้การกดทับของชนชั้นและความเหลื่อมล้ำของสังคม
ต้องทำงานหนัก ห่างจากครอบครัว หวังพึ่งลูกยามโต รู้สึกไร้ค่า ไม่เป็นที่ต้องการเมื่อแก่ชรา หนังสือ ‘ณ สถานีรถไฟโตเกียวอุเอโนะ’ บอกกับเราว่า ความเหลื่อมล้ำมันเลวร้ายได้ขนาดนั้น
นอกจากวิธีการดำเนินเรื่องแล้ว ด้วยการใช้ภาษาของนักเขียนที่เป็นประโยคสั้นๆ แต่หนักหน่วงไปด้วยความรู้สึก ก็ถือเป็นส่วนสำคัญที่มอบความโศกเศร้าให้เรา ช่วงชีวิตที่จมอยู่ในน้ำลึกที่ต่อให้พยายามแค่ไหนก็ยากที่จะโผล่พ้นมหาสมุทรที่เรียกว่าความต่างทางชนชั้นได้
และเมื่ออ่านจนจบหน้ากระดาษสุดท้าย ก็จะเข้าใจว่าทำไมนักเขียนถึงเลือกใช้การเปรียบเทียบตัวละครแบบในหนังสือ เพราะความเหลื่อมล้ำและการไร้สิทธิ์ไร้เสียงของคนไร้บ้านก็ไม่ต่างอะไรจากวิญญาณ แม้จะได้ยินเรื่องราวและบทสนทนาของคนอื่น แต่กลับไม่เคยมีใครมาสนใจเรื่องราวของตน
‘ทั้งที่เมื่อก่อนพวกเขามีครอบครัว พวกเขามีบ้าน ไม่มีใครเริ่มต้นชีวิตในที่ที่ทำจากลังกระดาษและผ้าใบกันน้ำ และไม่มีใครเป็นคนไร้บ้านเพราะพวกเขาอยากเป็น…’