ในฐานะคนที่จากบ้านเกิดมาอยู่เมืองใหญ่หลายปี สิ่งที่ทำใจให้ชินไม่ได้สักทีคือความรู้สึกไม่มีพลังในการควบคุมสิ่งต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ฉันไม่อาจเรียกตัวเองว่าเพื่อนสนิทกับขนส่งสาธารณะ ไม่ชอบความแออัด กะเวลาไม่ได้ ถ้าจะเดินทางครั้งหนึ่งก็ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง ไหนจะฝุ่นควันในอากาศและสถานการณ์บ้านเมืองที่ทำให้หัวร้อนได้ทุกวัน
‘เมืองนี้สูบพลัง’ คือความคิดตั้งแต่วันแรกที่มาอยู่ที่นี่จนถึงปัจจุบัน ความรู้สึกต่อมาที่หลายคนน่าจะมีเหมือนกันคือ ‘ฉันอยากออกไปจากที่นี่ แต่ยังไปไหนไม่ได้’ ด้วยเหตุผลนับร้อยพันที่แต่ละคนมีไม่เหมือนกันคอยฉุดรั้งไว้
นั่นคือเหตุผลที่ฉันมาพบกับ ‘กิ๊ฟท์-ปรีห์กมล จันทรนิจกร’ หญิงสาวผู้ที่หลายคนอาจรู้จักในฐานะผู้ก่อตั้ง Ma.D Club for Better Society กิจการเพื่อสังคมที่ซัปพอร์ตกลุ่มคนผู้อยากสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคมเมื่อหลายปีก่อน ประสบการณ์เกี่ยวกับสุขภาพจิตจากตัวเธอเองและคนรอบข้างในช่วงเวลานั้น ทำให้ปรีห์กมลสนใจด้านจิตใจและการบำบัดมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะละครบำบัดที่ทำงานกับเธอได้ดีเป็นพิเศษ
หลังจาก Ma.D ปิดตัวลงในปลายปี 2018 เธอจึงเดินทางไปเรียนต่อ MA Drama and Movement Therapy ที่ The Royal Central School of Speech and Drama ประเทศอังกฤษ และกลับมาทำงานที่นี่ในฐานะนักละครบำบัด
และในฐานะคนทำงานเกี่ยวข้องกับร่างกายและจิตใจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปรีห์กมลคือคนที่เราอยากขอคำปรึกษาเรื่องการกลับมาดูแลกายใจในเมืองสูบพลังที่เรา (จำเป็น) ต้องใช้ชีวิตอยู่
เล่าให้ฟังหน่อยสิว่าหลักของละครบำบัดที่คุณทำอยู่คืออะไร และมันต่างจากการบำบัดแบบอื่นอย่างไร
สำหรับเรา ละครบำบัดคือการใช้เครื่องมือของละครเข้ามาช่วยในเซสชันจิตบำบัด โดยเน้นเป้าหมายเรื่องการดูแลใจ เวลาคนได้ยินคำว่าละครจะคิดว่าต้องไปแสดงหรือเห็นภาพเวทีขึ้นมา แต่จริงๆ จุดมุ่งหมายของละครบำบัดเหมือนจิตบำบัด มันเป็นพื้นที่ที่ช่วยประมวลผลความรู้สึก ช่วยดูแลประเด็นและความรู้สึกที่รบกวนชีวิตเรา และทำยังไงให้เรารู้สึกมั่นคงแข็งแรงขึ้นจากข้างใน
มันอาจจะไม่ได้เหมือนการดีดนิ้วแล้วปัญหาหายไป เพราะชีวิตของเราก็มีหลายปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ละครบำบัดจะช่วยให้เราเจอ Resource ในตัวเองเพื่อประคับประคองตัวเองในเวลายากๆ หรือบางทีมันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากข้างใน และทำให้สถานการณ์บางอย่างคลี่คลายลง
ปกติเราจะคุ้นเคยกับ Talk Therapy ในเซสชันจิตบำบัด แต่ของละครบำบัดจะใช้เครื่องมืออย่างอื่นด้วย อย่างแนวทางที่เราเรียนมา เราจะทำงานกับกลุ่ม Non-verbal ด้วย (กลุ่มคนที่ไม่สามารถพูดได้) ซึ่งจะใช้มูฟเมนต์ร่างกาย ความคิดสร้างสรรค์ รูปภาพ สัญลักษณ์ เรื่องเล่า หรือเครื่องมืออื่นๆ เพื่อระบายสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราที่อาจถูกกดทับไว้ และอธิบายออกมาเป็นภาษาไม่ได้ ละครบำบัดจะเป็นเครื่องมือในการเปิดประตูเพื่อดึงสิ่งเหล่านี้ออกมาทำงาน
ยกตัวอย่างเคสหนึ่งที่เราเคยทำที่อังกฤษ อันนี้ได้คอนเซนต์ในการแชร์แล้วเรียบร้อย เขาเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่พยายามจะจบชีวิตตัวเองเพราะซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า หรือรู้สึกว่าถูกสังคมเข้าใจผิด ละครบำบัดเข้ามาช่วยพวกเขาได้เยอะมาก เพราะเด็กๆ กลุ่มนี้เขาเจ็บปวดมาก จนถึงขั้นแตะประเด็นเพียงนิดเดียวแล้วเขารู้สึกปั่นป่วน ถ้าเราชวนคุยตรงๆ เขาอาจจะไม่อยากพูดถึงมัน เราจึงค่อยๆ พาเขาทำงานผ่านภาพและการใช้เรื่องราวอื่นๆ ที่มี Metaphor ในธีมเดียวกับเรื่องราวของเขา แล้วให้เขาประมวลผลออกมา
เครื่องมือหนึ่งที่เราใช้บ่อยคือให้เขาลองถอดความรู้สึกของเขาที่อธิบายไม่ได้ผ่านการเขียนแบ็กกราวนด์ของตัวละคร อย่างน้องคนหนึ่งที่เขาซัฟเฟอร์เพราะรู้สึกว่าคนอื่นมองเขาเป็นอีกแบบ ซึ่งไม่ใช่ตัวตนจริงๆ ของเขา เราก็เลยให้เขาวาดสองตัวละคร คือตัวละครที่คนอื่นมองเห็นเขากับอีกตัวที่เขารู้สึกว่าเขาเป็นจริงๆ นี่คือการถอดสิ่งที่เขารู้สึกออกมาให้เขาเห็นได้ชัด และสำรวจมันเพื่อทำงานกับมันต่อ
ย้อนกลับไป ตัวคุณสนใจเรื่องจิตใจมาตั้งแต่เมื่อไหร่
ตอนที่ทำ Ma.D เราตั้งใจอยากซัปพอร์ตคนให้เขาได้ทำในสิ่งที่ฝัน โดยเฉพาะคนที่อยากทำโครงการบางอย่างเกี่ยวกับสังคมหรือสร้างการเปลี่ยนแปลง เพราะเราเห็นว่าแรงเสียดทานในสังคมมันมีเยอะ เราเลยสร้างพื้นที่แบบนี้ขึ้นมา เพื่อเชื่อมทุนและเชื่อมคนที่มีความสนใจคล้ายๆ กันมาให้เขา
ตอนนั้นเราเริ่มเจอว่ามีหลายคนที่แม้จะมีทุกอย่างแล้วแต่เขาไปต่อไม่ได้เพราะข้างในไม่ไหว มันต้องแบกรับ เหนื่อย หนัก แรงเสียดทานมันเยอะเหลือเกิน การดูแลข้างในมันยากสำหรับเขา เราเลยเริ่มมองมุมกลับว่าถ้าคนสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี เขาจะมีแรงไปหาพวกทรัพยากรหรือสิ่งต่างๆ มาทำสิ่งที่เขาอยากทำได้ แต่ถ้าสุขภาพกายและจิตไปต่อไม่ได้ มันทำอะไรต่อได้ยากมากๆ
ตัวเราก็เช่นกัน ตอนได้ทำโปรเจกต์นั้นเราเป็นซึมเศร้าจนต้องไปพบจิตแพทย์ เรารู้สึกว่ามีบางอย่างในชีวิตที่หายไป บางด้านของเราไม่ถูกใช้ เหมือนสังคมไม่อนุญาตให้เรากลับไปอยู่กับอารมณ์และความรู้สึกบางอย่าง ได้ลองทำงานกับมันและแสดงมันออกมาขนาดนั้น เหมือนว่าเราอยู่ในสังคมที่ให้คุณค่ากับความคิดและผลลัพธ์มากกว่า
เราเลยเริ่มมองหาว่าอะไรนะที่ให้พื้นที่กับความรู้สึกของเราได้ทำงาน เราเลยลองไปเข้าเวิร์กช็อปเยอะมากเพื่อหาวิธีฮีลตัวเอง ทั้งเวิร์กช็อปมูฟเมนต์, Art Therapy จนมาเจอ Drama Therapy ที่รู้สึกว่ามันมีพลังกับเรา มันทำให้เรากลับไปแตะอิสรภาพบางอย่าง ได้ฟังเสียงจากข้างใน และทำให้เรากลับมาเป็นเราจริงๆ โดยไม่ต้องคิดว่าจะต้องสวมบทบาทผู้นำหรือผู้ประกอบการ
เราอินมากและรู้สึกว่าต้องการพื้นที่แบบนี้อย่างสม่ำเสมอ ระหว่างนั้นก็ลองไปเสิร์ชดูว่าถ้าเราอยากเป็น Drama Therapist บ้างต้องทำยังไง จนไปเจอหลักสูตรปริญญาโทที่อังกฤษ สาขา Drama and Movement Therapy ของสถาบัน Royal Central School of Speech and Drama ซึ่งเป็นสถาบันที่เน้นเรื่องการละครและละครบำบัด พอเรียนจบเราสามารถเป็น Registered Drama Therapist ที่อังกฤษได้เลย ก็เลยลองสมัครไปดู
ชีวิตที่อังกฤษเป็นอย่างไรบ้าง
คุณภาพชีวิตดีมาก เรารู้สึกว่าตอนอยู่ที่ลอนดอน หลายๆ อย่างในเมืองมันเอื้อให้เรามีเวลาให้ตัวเอง ที่เห็นได้ชัดมากเลยคือเรื่องการเดินทางและอากาศ
คนที่นั่นสามารถวางแผนทุกอย่างได้ชัดเจนมาก ถ้าจะขึ้นขนส่งสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นรถบัสหรือทูบ (รถไฟฟ้าใต้ดิน) ทุกอย่างคำนวณเวลาได้หมดเลย หรือถ้าใครชอบเดิน จะเห็นได้เลยว่าเมืองมันถูกออกแบบมาให้คนเดินเพราะฟุตพาตที่นั่นใหญ่มาก Facility ในเมืองทำให้เดินได้เพลินและสะดวก คนที่นั่นเดินกันวันละ 40 นาที – 1 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ แม้แต่โฮสต์ที่เราไปอยู่ร่วมบ้านกัน เขาอายุ 70 แล้วก็ยังเดินเป็นประจำทุกวัน หรือแม้แต่การขี่จักรยานก็ทำได้สบายๆ เหมือนกัน
อีกอย่างคือการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวก็ทำได้ง่าย เราเปลี่ยนที่อยู่สามครั้ง ย้ายไปมาหลายโซน แต่ทุกโซนที่เราอยู่สามารถเดินเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้ในเวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ว่าอยู่ตรงไหนเราก็เข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ ต้นไม้ ท้องฟ้า เพื่อไปนั่งผ่อนคลายตัวเองได้
การออกแบบระบบในเมืองให้เดินทางสะดวก ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในเมืองอย่างไร
มันสำคัญต่อสุขภาพจิต เพราะเรารู้สึกว่าเราจัดการชีวิตตัวเองได้ เอาจริงๆ เรื่องการเดินทางดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันแต่มันส่งผลต่อจิตใจเยอะเหมือนกัน การที่สามารถเลือกได้ว่าเราจะเดินทางแบบไหน เช่น ขี่จักรยาน เดิน หรือไปขนส่งสาธารณะ แล้วคุมเวลา จัดการชีวิตตัวเองได้ มันทำให้ข้างในเรามั่นคงขึ้น
นอกจากนั้น การที่เมืองทำให้เรารู้สึกว่าเราเข้าถึง Resource ดีๆ ได้ มันค่อนข้างเป็น Symbol ว่าเราสามารถเข้าถึง Resource ภายในตัวเราได้เหมือนกัน เราค่อนข้างเชื่อว่าสิ่งที่อยู่ภายนอกกับภายในค่อนข้าง Reflect กัน เช่น ถ้ารู้สึกเครียด เราก็รู้ว่าเราสามารถเดิน 15 นาทีไปที่สวน ไปนั่งสูดอากาศใต้ต้นไม้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ให้ความสบายใจ มันเป็น Symbol ของความรู้สึกว่าเมื่อไหร่ที่รู้สึกยากๆ เราจะหาวิธีคลี่คลายกับมันได้ แค่ได้อยู่ในพื้นที่ที่เราสบายใจ การที่เมืองมีสิ่งเหล่านี้มันช่วยสร้างพลังขึ้นในใจของคน ซึ่งเป็นพลังที่ส่งผลต่อมุมมองและชีวิตของคนเหมือนกัน
ในมุมมองของคุณ การกลับมาดูแลกายและใจตัวเองสำคัญกับเราในฐานะคนเมืองยังไง
ถ้าเรามีสิ่งของภายนอก เช่น บ้าน รถ เงิน แต่สุขภาพไม่ดี มันก็ทำอะไรต่อไม่ได้ ยกตัวอย่างตัวเราตอนที่เป็นซึมเศร้า สุขภาพใจไม่ดี เราจะลุกออกจากเตียงยังไม่ได้เลย แล้วเราจะไปทำอะไรได้ แต่ถ้าสุขภาพกายและใจเราพร้อม ต่อให้ยังไม่มีสิ่งที่ต้องการก็ไม่เป็นไร เพราะเรายังมีแรงไปหาเอาได้
แต่แน่นอนว่า ต้นทุนบางอย่างก็ทำให้เรารักษาสุขภาพกายและใจได้ดีขึ้น โดยเฉพาะเมืองไทยที่โครงสร้างไม่ได้เตรียมพร้อมคุณภาพชีวิตให้เราขนาดนั้น การที่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เราอาจต้องใช้เงินหรือทุนของเราเอง ซึ่งบางครั้งมันอาจทำได้ยาก ในขณะที่อังกฤษเขาเตรียมพร้อมพื้นฐานพวกนี้ให้หมดแล้ว
นอกจากเรื่องการออกแบบเมืองให้เดินทางง่ายและพื้นที่สีเขียว ในอังกฤษทุกคนจะมี GP (General Practitioner) หรือหมอประจำตัวใกล้บ้านที่เราไปตรวจกับเขาได้ตลอด ไม่ว่าจะป่วยกายหรือป่วยใจ หรือตอนที่เราเรียนมหาวิทยาลัย เขาก็มีระบบ Mental Health Support ที่อีเมลมาหาเราตลอดเวลามีเรื่องยากๆ เกิดขึ้น อย่างช่วง Black Lives Matter ที่มีเรื่องการเหยียดผิว หรือถ้าใครมีอะไรอยากให้ซัปพอร์ตก็ติดต่อมาได้ เขา Active ให้คนเข้าถึงตลอดเวลา การมีสิ่งแบบนี้มันทำให้เราอุ่นใจแม้ว่าเราจะไม่ได้ใช้บริการ เหมือนเรารู้เสมอว่ามีที่พึ่งพิง
แต่เราไม่ได้บอกว่าที่อังกฤษไม่มีปัญหานะ เรื่องสุขภาพจิตเขาก็มีปัญหาเยอะ แต่เราเห็นได้ชัดว่าเมืองที่ดีมันช่วยอำนวยความสะดวกและซัปพอร์ตอะไรให้ผู้คนบ้าง แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะซัปพอร์ตได้ทั้งหมด เพราะแต่ละคนก็มีเรื่องส่วนตัวและเงื่อนไขที่ล้วนส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตแตกต่างกันไป คนที่นั่นเขาก็มีปัญหาสุขภาพจิตไม่ต่างจากคนในเมืองใหญ่ๆ แบบบ้านเรา เช่น กดดันเพราะรู้สึกว่าต้องเติบโตและแข่งขัน หรืออยากตัดความรู้สึกทิ้งเพราะกลัวตามคนอื่นไม่ทัน เคสที่เราเจอเยอะมากๆ ก็เกิดจากแรงกดดันทางสังคม เขารู้สึกไม่มีค่าเพราะตัวเองไม่ได้ตอบในสิ่งที่พ่อแม่หรือสังคมอยากให้เป็น
พอกลับมาเมืองไทย คุณมองเรื่องโครงสร้างของเมืองที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนเปลี่ยนไปไหม
เรียกว่าเห็นการเปรียบเทียบชัดขึ้น อย่างเรื่องเล็กๆ อาจส่งผลเยอะมาก เรายังอยากกลับมาพูดเรื่องการเดินทาง จากที่เราสามารถเดินหรือขี่จักรยานในเวลา 40 นาที – 1 ชั่วโมงที่ลอนดอน รวมถึงใช้ช่วงเดินทางเป็นการออกกำลังกายหรือคลี่คลายจิตใจได้ พอกลับมาอยู่กรุงเทพฯ เราเจอฝุ่น ความร้อน และฟุตพาตที่ไม่เอื้อให้เดิน ทุกอย่างส่งผลกับเรา
มันกลายเป็นว่ากับคนกรุงเทพฯ การเดินทางคือการเดินทาง ถ้าอยากออกกำลังกายให้ไปหาเวลาออกกำลังกายอีกที เสียเงินเข้ายิม หรือถ้าอยากดูแลจิตใจก็ต้องพยายามหาเวลาเดินทางไปสวนอีก ทุกอย่างแยกออกจากกันชัดเจน และสิ่งเหล่านี้ทำให้เราอึดอัดอยู่ข้างใน
ในฐานะคนที่จำเป็นต้องอยู่ในเมืองนี้ มีวิธีไหนที่จะทำให้เรากลับมาดูแลกายและใจตัวเองให้อยู่แบบไม่ทนทุกข์มากเกินไป
กลับมาในหลักของจิตบำบัด ก่อนอื่นเราต้องรับรู้ก่อนว่าตอนนี้ชีวิตมีอะไรเกิดขึ้นและรู้สึกยังไง เช่น ตอนนี้ชีวิตของฉันเปลี่ยนไปแล้ว ฉันรู้สึกอึดอัดกับการเดินทางที่ไม่มีพาวเวอร์ในตัวเองเลย ฉันเลือกเดินทางในแบบที่เดินทางไม่ได้ หรือแม้กระทั่งการหายใจของฉัน ฉันยังต้องจำยอมอยู่ในสภาวะที่หายใจเอาฝุ่นเข้าไป แล้วมันทำอะไรไม่ได้ ฉันรู้สึก Powerless
พอรู้สึกแบบนี้แล้วยังไงต่อ อย่างน้อยเรารับรู้ว่าโอเค เรื่องยากๆ เหล่านี้มันมีผลกับเรา เสร็จแล้วเราอาจต้องมาดูว่าแล้วมีอะไรบ้างที่พอทำได้เพื่อให้รู้สึกอึดอัดน้อยลง ดึงพาวเวอร์บางส่วนของเรากลับมาได้ หรือถ้าหากมันทำไม่ได้จริงๆ เราพอมีวิธีไหนที่จะประคับประคองใจจากเรื่องยากๆ เหล่านั้น
สิ่งสำคัญมากของจิตบำบัดคือการให้เวลาตัวเองในการรับรู้ความรู้สึกยากๆ ฝึกที่จะอยู่กับมัน ซึ่งไม่ได้ให้จำยอม ชินชา หรือกดทับมันนะ แต่ให้เรารับรู้ว่ามันยาก และเรามีความสามารถที่จะอยู่กับความยากได้โดยไม่ตัดมันทิ้ง จนเราสามารถปรับบาลานซ์ตัวเอง หรือค่อยๆ เจอ Solution ที่จะทำให้เราคลี่คลายเรื่องนี้ได้
เราค่อนข้างเชื่อในศักยภาพของมนุษย์ เวลาที่รับรู้อะไร เราจะค่อยๆ พาตัวเองไปสู่จุดที่ดีขึ้น บางทีเรากดทับเรื่องยากๆ หรือทำเป็นไม่สนใจ มันยาก มันเจ็บ ฉันไม่อยากรู้สึก ปล่อยเบลอไปเลยแล้วกัน มันจะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราอยู่กับมันได้ มนุษย์จะค่อยๆ พาตัวเองไปสู่จุดที่บาลานซ์ขึ้น
แล้วถ้าเรารับรู้แล้วแต่เจอเรื่องยากทุกวันล่ะ จะมีวิธีอยู่กับมันอย่างไร
เราต้องคอยหยิบสิ่งที่อยู่ข้างในเราออกมาประมวลผลและถ่ายเทมันออกมา วิธีหนึ่งที่เราใช้ตอนเรียนและชอบมากคือ Art Journal
เวลารู้สึกถึงความยากเมื่อไหร่ แทนที่จะใช้แค่ร่างกายเป็นภาชนะให้ความรู้สึกยากๆ เหล่านั้น เราก็เพิ่มภาชนะอีกชิ้นหนึ่งขึ้นมา นั่นคือสมุดไม่มีเส้น ลองถ่ายเทความรู้สึกเหล่านั้นลงไป โดยที่ไม่ต้องเขียนเป็นคำก็ได้ จะลากเส้น จะวาด จะเขียนภาษาที่ไม่ใช่ภาษาคน ลงสี หรือขยำ ก็ทำได้หมด เพราะมันเป็นพื้นที่ที่ให้เราถ่ายเทความยากลงไป เป็นภาชนะอีกอันที่เรารู้ว่ามันคือสเปซที่ปลอดภัยสำหรับตัวเราเอง
ประโยชน์คือเวลาที่เราถ่ายเทความรู้สึกยากๆ ลงไปในอีกภาชนะ ข้างในตัวเราที่เป็นภาชนะเดิมก็จะรู้สึกเบาลงด้วย บางครั้งเรารู้สึกหนักมากจนนอนไม่หลับ พอได้ถ่ายเทมันออกไป เราอาจจะรู้สึกดีขึ้น หลับได้ง่ายขึ้น และเวลาที่ถ่ายเทความรู้สึกลงไป เราได้เห็นวิชวลของมันเป็นภาพ เป็นสี แม้ว่าจะอ่านไม่รู้เรื่อง แต่การที่มองเห็น บางทีมันให้อินไซต์ใหม่กับเรา เช่นช่วงแรกๆ เราอาจจะวาดเส้นยุกยิก แต่พอผ่านไปสักพักเส้นนั้นจะดูผ่อนคลายลง มันทำให้รู้ว่าเราเบาลงแล้ว หรือมี Shift บางอย่างเกิดขึ้นข้างใน
แต่ต้องให้เวลาตัวเองนะ เวลาทำควรทำแบบมีสมาธิ ไม่ใช่ดูทีวีไปทำไป แต่เราควรจะตั้งใจเพื่อจำกัดเวลาช่วงหนึ่งให้ได้สื่อสารกับตัวเราเอง
อีกหนึ่งวิธีที่เราชอบใช้คือมองตัวเองให้เป็นภาชนะไปเลย และหากมีความรู้สึกไหนเกิดขึ้น ก็ตั้งชื่อให้มันเหมือนเราตั้งชื่อตัวละคร เช่นหากมีความรู้สึกอึดอัดขึ้นมา เราจะตั้งชื่อให้มันว่าน้องยุกยิก และเราจะรู้ว่าน้องยุกยิกเป็นแค่ตัวละครที่อยู่ในภาชนะของเราเท่านั้น มันไม่ใช่ตัวเรา
ในเวลาเดียวกัน ภาชนะของเราอาจมีหลายๆ ตัวละครอยู่ก็ได้ เราจะมีน้องยุกยิก น้องดำดิ่ง น้องมีความสุข ไปพร้อมกันก็ยังได้ ประเด็นสำคัญคือเรารู้ว่าเขามีอยู่ เราเข้าใจเขา เราสื่อสารกับเขาได้ และเราดูแลเขาได้
มันคือการดึงพาวเวอร์ของเรากลับมาด้วยการรับรู้และประมวลผลความรู้จากภายใน มันจะพาเรากลับไปแตะ Resource ภายในของเรา และทำให้เรารู้สึกมั่นคงมากขึ้นจากภายใน เรื่องที่ยากอาจยังยากอยู่ แต่เราจะอยู่กับมันได้อย่างมีความมั่นคงในตัวเองมากขึ้น