บรรยากาศห้องสมุดที่เราคุ้นเคยคงเป็นสถานที่น่าเบื่อเชยๆ ไว้ค้นคว้ารายงานส่งครู ขณะที่ห้องสมุดในต่างประเทศกลับมีรูปแบบที่หลากหลาย ตั้งแต่ห้องสมุดที่หรูหราโอ่อ่าราวขุมทรัพย์ ไปจนถึงห้องสมุดจิ๋วในตู้โทรศัพท์สาธารณะ ซึ่งเปิดกว้างให้นักอ่านทุกประเภท ชวนเราย้อนคิดว่า ทำไมบ้านเราถึงมีภาพจำว่า ห้องสมุดมีไว้สำหรับการเรียนการสอนหรือนักวิชาการเท่านั้น
แน่นอนว่าห้องสมุดแห่งนี้ไม่เหมือนที่เราเคยเห็นที่ไหน เพราะแม้สถานที่จะดูเล็กแต่ก็อัดแน่นไปด้วยหนังสือคุณภาพหายาก แถมหยิบยืมไปอ่านได้ฟรีๆ โดยไม่มีระบบสมาชิกให้วุ่นวาย เราแอบดีใจที่ได้เห็นนักอ่านหน้าใหม่ที่นี่อายุน้อยลงเรื่อยๆ เพราะมีน้องใส่ชุดนักเรียนมัธยมกำลังยืนเลือกหนังสือในหมวดสังคมการเมือง
ห้องอ่านหนังสือแห่งนี้มีชื่อว่า ‘The Reading Room’ ห้องสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่บนชั้น 4 ของตึกแถวในสีลมซอย 19 บนชั้นวางบรรจุหนังสือไว้กว่าพันเล่ม มีทั้งด้านศิลปะ ประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และวรรณกรรม จัดวางเป็นหมวดหมู่อย่างสงบเสงี่ยมรอการเปิดอ่าน
ห้องสมุดทางเลือกที่เกิดขึ้นจากความรักและความตั้งใจของ ‘คุณเกี๊ยว-นราวัลลภ์ ปฐมวัฒน’ ผู้ก่อตั้ง ‘The Reading Room’ พิสูจน์ตัวเองและยืนหยัดมาได้เกิน 10 ปี
จุดเริ่มต้นของ The Reading Room
หลังจากเธอไปเรียนด้าน Arts and Cultural Management ที่ Pratt Institute นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอก็ได้คลุกคลีอยู่กับห้องสมุดและมิวเซียมในนิวยอร์กซึ่งมีเยอะมาก ทำให้เธอสนุกไปกับการหาความรู้ เมื่อกลับมาไทยช่วงที่เธอทำงานวิจัยให้ Asia Art Archive (AAA) หรือองค์กรรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับงานศิลปะร่วมสมัยของเอเชีย ก็พบปัญหาว่าที่ไทยไม่มีหนังสือมากพอให้ค้นคว้า รวมถึงห้องสมุดดีๆ มีอยู่ไม่กี่แห่ง เธออยากเห็นห้องสมุดในบ้านเรามีมากขึ้น จึงเป็นแรงผลักดันให้เริ่มต้นจากการแบ่งปันหนังสือของตัวเองให้คนอื่นได้อ่าน
เหตุผลที่ยังคงทำ The Reading Room
ที่ผ่านมาคุณเกี๊ยวใช้ทุนตัวเองในการดูแลทุกส่วนของห้องสมุด ทุนสนับสนุนสำหรับจัดกิจกรรมจากองค์กรต่างๆ ก็ได้มาไม่ง่าย เป็นธรรมดาที่เธอจะเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง แต่เธอก็มุ่งมั่นที่จะทำต่อไป ซึ่งเธอให้เหตุผลว่า
“อยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นทางเลือกแก่คนอ่าน” คือใจความสำคัญในคำตอบของคุณเกี๊ยว เธอมองว่าแม้เราจะอยู่ในยุคที่เต็มไปด้วย E-book หรือเสิร์ชทุกอย่างได้ในโลกออนไลน์ แต่ความรู้บางอย่างก็เหมาะกับการเปิดอ่านมากกว่า จึงควรมีช่องทางที่คนรับความรู้ได้หลากหลายรูปแบบเพื่อมาประกอบกันเป็นจิ๊กซอว์
“การมีข้อมูลความรู้ให้คนมาเลือกอ่านเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องมีในประเทศ การทำห้องสมุดที่มีหนังสือดีๆ และน่าสนใจ เป็นการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกอะไรบางอย่าง มันเป็นเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูลที่หลากหลายและมีคุณภาพ ไม่ใช่ฉันอยากหาความรู้ด้านนี้ แต่มีหนังสือให้อ่านแค่ยี่สิบเล่ม โลกมันไปไกลกว่านั้นแล้ว
“สังคมในอุดมคติคือสังคมที่มีความรู้ที่กว้างและลึกพอ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นี่คือหน้าที่ของรัฐหรือเมืองที่ต้องเซอร์วิสให้ประชาชน เราเสียภาษีก็ควรจะมีอะไรที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเราด้วย ซึ่งหนังสือและความรู้ก็เป็นส่วนหนึ่ง เราจึงต้องวางเป้าหมายว่าเราควรจะไปถึงจุดไหน และพยายามช่วยกันไปให้ถึงตรงนั้น”
วาทกรรมคนไทยไม่อ่านหนังสือ
ในฐานะที่คุณเกี๊ยวเป็นทั้งคนอ่านและคนที่แบ่งปันพื้นที่การอ่าน เราจึงเปิดประเด็นที่ใครๆ ก็พูดถึง ซึ่งเธอตอบกลับมาทันควัน
“เบื่อมากที่วาทกรรมคนไทยอ่านหนังสือเจ็ดบรรทัดผลิตออกมาซ้ำๆ มันง่ายที่จะโทษคนอ่านแทนที่เราจะดูระบบซึ่งเป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ไปโทษว่าคนไม่อ่าน เด็กเดี๋ยวนี้แย่ แต่สาเหตุจริงๆ มันคืออะไร และเพราะอะไร”
หรือหนังสือแพงคนจึงอ่านน้อย
“หนังสือมันก็ตามราคาของมัน แต่ค่าครองชีพเราแพงแล้วรายได้ต่ำ แค่ค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เราก็ไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่นแล้ว มันไม่ใช่แค่หนังสือแต่รวมไปถึงทุกอย่างในชีวิต ปัญหามันเป็นระดับที่ใหญ่ในเชิงโครงสร้าง มากกว่าที่จะมาโทษว่าหนังสือแพง
“เทียบกับเพื่อนบ้านเราอย่างประเทศสิงคโปร์ ราคาหนังสือเป็นราคาที่เขาซื้อของในชีวิตประจำวันได้ ประเทศเราหนังสือเป็นเหมือนของฟุ่มเฟือย เล่มเดียวสามสี่ร้อยบาท เราจะคาดหวังให้คนไปซื้ออ่าน สมมติอยากให้คนอ่านหนังสือปีละสิบถึงยี่สิบเล่ม สำหรับคนทั่วไป หรือเด็กและเยาวชนที่บ้านไม่ได้มีตังค์มาก ราคานี้มันโอเคไหม”
เรายังขาดพื้นที่การอ่านที่ทุกคนเข้าถึงได้
“เรารู้สึกว่าคนอ่านมีเยอะ แต่ที่ที่ให้เราไปยืมหนังสืออย่างห้องสมุดก็มีน้อยมาก หนังสือในห้องสมุดส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยดี หนังสือที่ดีก็แพง แล้วร้านหนังสือที่มีหนังสือดีที่มีคุณค่าจริงๆ จากสำนักพิมพ์ที่หลากหลายมีเยอะแค่ไหน ไม่ต้องพูดถึงห้องสมุดเลย ห้องสมุดประชาชนส่วนใหญ่เขาซื้อหนังสือใหม่กันไหม หรือหนังสือใหม่ที่มีคือหนังสืออะไร”
ไม่ใช่แค่พื้นที่การอ่าน แต่รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะ
“รัฐไม่มีความสนใจที่จะให้ความรู้ประชาชนหลังจากเรียนจบแล้ว ไม่มีสถานที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีพื้นที่ให้ความรู้หรือพื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่ประชาชนเข้าถึงได้น้อยมาก ถ้ามองให้กว้างกว่านั้น พื้นที่ที่คนทั่วไปสามารถใช้เวลาพักผ่อน หรือนัดเจอกันโดยไม่ต้องใช้ตังค์ และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์มีน้อยมาก ซึ่งมันเป็นบริการที่รัฐหรือเมืองควรต้องมีให้กับประชาชน”
หนังสือเป็นเรื่องของคนเฉพาะกลุ่ม ทัศนคติที่ปิดกั้นการเข้าถึงหนังสือ
“คนส่วนหนึ่งในประเทศมองว่า หนังสือยากๆ เป็นเรื่องของนักวิชาการ คนที่ทำงานเฉพาะด้าน หรือคนที่อ่านวรรณกรรมเป็นพวกเพ้อฝัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ หนังสือเป็นเรื่องของความรู้ แต่เขามองเป็นแค่เรื่องการเรียน พอเรียนจบปุ๊บก็ไม่อ่านแล้ว”
เรายังพอมีหวังไหมที่จะได้เห็น กรุงเทพฯ เป็นเมืองหนังสือ
“ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังกับรัฐ แต่ผิดหวังกับภาคเอกชนที่อาจไม่ได้เล็งเห็นปัญหาตรงนี้เท่าที่ควร จริงๆ เราควรจะมีห้องสมุดเอกชนให้คนทั่วไปได้ใช้มากกว่านี้ การทำห้องสมุดมันต้องมีความรับผิดชอบ มันเป็นภาระ ไม่มีห้องสมุดในโลกนี้ที่ทำเงิน มันต้องเป็นรัฐไม่ก็เอกชนที่มองว่าการอ่านสำคัญ”
แล้วห้องสมุดที่ดีควรเป็นอย่างไร
“มันไม่มีนิยามว่าดีหรือไม่ดี แต่เราควรจะมีห้องสมุดให้เยอะและหลากหลาย มีโฟกัสที่ต่างกันไป จริงๆ บ้านเรามีห้องสมุดประชาชนเยอะมาก แต่มีคนเข้าหรือเปล่า บางที่มีการรีโนเวตให้ทันสมัยขึ้น แต่ห้องสมุดหลายๆ ที่มีการซื้อหนังสือเพิ่มแค่ไหน มีฟังก์ชันอย่างไร หรือยังคงรูปแบบเดิมเหมือนตอนที่เปิดมา”
ก้าวต่อไปของหนังสือในโลกอินเทอร์เน็ต
“ประเด็นคือห้องสมุดต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบรับกับเทคโนโลยี วาทกรรมที่ว่า ด้านหนึ่งคือหนังสือ ด้านหนึ่งคืออินเทอร์เน็ต ทำไมมันต้องเป็นคนละเรื่อง จริงๆ มันเป็นเรื่องการเก็บรวบรวม สั่งสม และมอบความรู้ให้สังคม อินเทอร์เน็ตก็เป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยกระจายความรู้ มันเป็นตัวที่จะมาเสริมสิ่งที่เรามีด้วยซ้ำ ยิ่งช่วงหลังๆ การรับรู้ข้อมูลมีหลายช่องทางมากขึ้นนำไปสู่การเคลื่อนไหวต่างๆ”
ห้องสมุดจะอยู่ได้ต้องปรับตัว
“มันแทบจะกลายเป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน บรรณารักษ์ต้องไม่ใช่แค่คนจัดหนังสือ แต่เป็นคนนำกิจกรรมมาสร้างความเคลื่อนไหวต่างๆ ให้ห้องสมุด ไม่ใช่แค่กิจกรรมการเมืองเท่านั้น มันมีตั้งแต่กิจกรรมการอ่าน แม่ลูกอ่านนิทาน หรือแม้กระทั่งห้องสมุดที่อยู่ในย่านผู้อพยพก็มีคอร์สสอนภาษา หรือห้องสมุดในย่านรายได้ต่ำมีสอนสมัครงานออนไลน์ เขียนเรซูเม มันเป็นได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการหาความรู้”
สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นในสังคม
“เราอยากให้คนสนใจทำห้องสมุดรูปแบบนี้ให้มากขึ้น มันไม่ได้ยากขนาดนั้น อาจเป็นห้องสมุดส่วนตัวเล็กๆ หรือถ้าเรามีงานประจำอยู่แล้วจะทำตรงนี้แค่เสาร์อาทิตย์ก็ได้ แต่เราก็ต้องมีความรับผิดชอบ ทำเป็นกิจจะลักษณะ และอย่าทำอะไรเกินตัว มันก็อยู่ได้เรื่อยๆ สำคัญคือต้องตั้งใจและทำเลย อย่าคิดมาก ถ้ามัวแต่รอมีเงิน รอมีทุน หาผู้สนับสนุน ก็จะไม่ได้เริ่ม เราอาจจะอยู่บ้านแลกกันในเน็ตก็ได้ มันมีวิธีการเยอะแยะ
“ถ้ารักที่จะทำจริงๆ อยากเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาสังคม ไม่อยากแค่บ่น ทำเลยไม่ยาก แต่ต้องดื้อมากๆ ไม่ว่าใครจะพูดอะไร เราต้องรู้ว่าเราอยากทำในสิ่งที่ดีจริงๆ แล้วเราต้องตั้งใจทำจริง และอย่าไปคาดหวังจากคนอื่น จากสังคม จากรัฐ หรือทุกอย่าง เราต้องอยู่ได้ด้วยตัวเองก่อน”