The new form of imprisonment ธีสิสเรือนจำแนวตั้ง - Urban Creature

จะเป็นอย่างไรถ้ามีสถานที่หนึ่งที่เปิดให้ ‘นักโทษ’ และ ‘บุคคลทั่วไป’ ได้ทำกิจกรรม ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้นักโทษปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก ก่อนที่จะถูกปล่อยตัวตามกำหนดเวลา

เป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปีเต็มๆ ที่ ‘บีม-ธัญลักษณ์ ตัณฑรัตน์’ อดีตนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ปลุกปั้นธีสิสจบของตัวเองในชื่อ ‘การคุมขังรูปแบบใหม่ของทัณฑสถานไทย (The new form of imprisonment)’

จุดประสงค์คือต้องการทำให้คนในสังคมเข้าใจและเปิดใจให้นักโทษที่กำลังจะพ้นโทษมากขึ้น ผ่านสถาปัตยกรรมที่จะมาควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์ จากการศึกษาว่าระบบของเรือนจำมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ต้องขังอย่างไร และการกักขังแบบไหนที่จะทำให้นักโทษได้เรียนรู้การใช้ชีวิต ไม่ถูกลืมจากคนภายนอก และไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำเมื่อพ้นโทษ

คอลัมน์ Debut ชวนไปดูจุดตั้งต้นของธีสิสนี้ และค้นหาพร้อมกันว่า การออกแบบสถาปัตยกรรมจะเข้ามามีบทบาทในการควบคุมพฤติกรรมและช่วยเหลือผู้ต้องขังให้ได้ทดลองใช้ชีวิตก่อนออกสู่สังคมภายนอกได้อย่างไร

The new form of imprisonment

ทัณฑสถานไทยไม่เอื้อต่อการกลับตัว

“ธีสิสนี้เป็นการออกแบบเรือนจำให้เหมาะกับนักโทษที่เตรียมการก่อนปล่อยตัวออกสู่สังคม เพราะจากการหาข้อมูลเราพบว่า สาเหตุหนึ่งที่นักโทษกลับไปทำผิดซ้ำๆ เนื่องจากหลังการพ้นโทษผู้ต้องขังไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไปได้”

บีมเล่าให้เราฟังว่า ก่อนหน้าที่จะทำธีสิสนี้ เธอมีความสนใจเกี่ยวกับสถาปัตย์และการออกแบบที่สามารถเข้ามากำหนดและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์อยู่แล้ว และเพื่อทำให้ฟังก์ชันของการออกแบบที่ช่วยควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์เห็นภาพได้ชัดขึ้น เธอจึงเลือกทำธีสิสในรูปแบบของ ‘ทัณฑสถาน’ หรือ ‘เรือนจำ’

หลังจากพบว่าในปี 2562 มีปริมาณนักโทษที่กลับมากระทำผิดซ้ำภายใน 1 ปีมากที่สุดถึง 21,187 คน ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ต้องขังถูกลดทอนคุณภาพชีวิตลงเนื่องจากความแออัดของพื้นที่เรือนจำ และระบบของเรือนจำที่ควบคุมการพบปะญาติจนถูกตัดขาดจากสังคมภายนอก ส่งผลให้หลังจากการพ้นโทษพวกเขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไปได้

The new form of imprisonment

และเมื่อศึกษาหาข้อมูลที่ลงลึกขึ้น บวกกับพูดคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษา ทำให้บีมเลือกโฟกัสไปที่ ‘ทัณฑสถานแบบเปิด’ หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘เรือนจำสำหรับนักโทษที่เตรียมการก่อนปล่อย’ เพราะแต่เดิมในส่วนนี้มีโครงการสำหรับนักโทษใกล้พ้นโทษให้ได้รับการฝึกอาชีพและปรับตัวเข้ากับสังคมอยู่แล้ว

“ทัณฑสถานเปิดของไทยส่วนใหญ่มักใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะและอยู่ถัดออกไปนอกเมือง ก็เลยลองคิดดูว่าถ้าปรับอาชีพให้มันเหมาะสมกับสังคมปัจจุบันมากขึ้น และขยับตัวเรือนจำเข้ามาในเมืองได้ น่าจะทำให้พวกเขามีโอกาสใกล้ชิดสังคมมากขึ้น” บีมเล่าถึงอุปสรรคที่ทำให้ทัณฑสถานเปิดของไทยไม่ประสบผลสำเร็จในการใช้งานจริงให้เราฟัง ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น Pain Point ที่เธออยากปรับปรุงแก้ไข

เปลี่ยนเรือนจำเป็นแนวตั้ง เน้นอาชีพที่ใช้ได้จริง

จากความต้องการที่อยากย้ายเรือนจำขนาดใหญ่มาไว้ในเมืองที่มีพื้นที่จำกัด ทำให้เจ้าของธีสิสต้องทำการบ้านอย่างหนัก จนสุดท้ายก็ได้ออกมาเป็นไอเดีย ‘เรือนจำในแนวตั้ง’

“การที่เรือนจำอยู่ใกล้ตัวเมืองมากขึ้น นักโทษจะมีโอกาสได้พบเจอกับคนภายนอกมากขึ้น ไม่เหมือนกับตัวเรือนจำรูปแบบเดิมที่มีแค่ร้านกาแฟหรือส่วนฝึกวิชาชีพการเกษตรขนาดใหญ่ที่จะมีโอกาสได้เจอกับผู้คนภายนอก

“เราออกแบบพื้นที่ตัวเรือนจำรูปแบบใหม่ให้ผู้ต้องขังและบุคคลทั่วไปได้มีโอกาสเข้ามาเจอกันมากขึ้นผ่านคลาส Workshop และกิจกรรมต่างๆ ภายในอาคาร รวมไปถึงเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าไปศึกษาพื้นที่ด้านในในช่วงเวลาที่นักโทษไม่ได้ใช้งานด้วย” 

The new form of imprisonment

นอกจากจะมีการปรับในด้านพื้นที่แล้ว บีมยังปรับเปลี่ยนส่วนของการฝึกวิชาชีพและการเรียนของผู้ต้องขังให้เข้ากับพื้นที่ ยุคสมัย และความต้องการของสังคม “ก่อนหน้านี้ตัวทัณฑสถานเปิดจะเน้นไปที่พื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ เราจึงพยายามขมวดให้มาอยู่แค่การเกษตรแบบออร์แกนิกที่สามารถเพาะปลูกในเมือง ใช้พื้นที่น้อยๆ ได้”

ส่วนอาชีพอื่นๆ ก็จะเน้นไปที่อาชีพที่ทำงานในพื้นที่จำกัดได้ อาทิ การให้บริการร้านอาหาร การซ่อมสิ่งของที่รับมาจากคนภายนอก และเทคนิคคอมพิวเตอร์ มากไปกว่านั้น ทัณฑสถานที่เธอออกแบบยังมีการจัดกิจกรรมที่คนนอกสามารถเข้าร่วมได้อย่างการแปรรูปขยะ โดยเป็นการนำขยะจากการออกไปทำความสะอาดในพื้นที่สาธารณะด้านนอกมารีไซเคิลให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

แยกสัดส่วนและการใช้งานตามอาคารสถานที่

The new form of imprisonment

แต่การจะทำทัณฑสถานในรูปแบบใหม่ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนถือเป็นงานยากที่ท้าทายสำหรับบีม เพราะไม่ใช่แค่การออกแบบพื้นที่สำหรับคนกลุ่มเดียว แต่ต้องคำนึงถึงคนที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ในหลากหลายรูปแบบด้วย

ด้วยเหตุนี้ ตัวเรือนจำแนวตั้งจึงมีการออกแบบโดยแบ่งอาคารออกเป็น 4 หลัง มีความสูงกว่า 10 ชั้น ผ่านฟังก์ชันการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้

The new form of imprisonment

– อาคารที่ 1 เป็นอาคารที่มีกิจกรรมสาธารณะมากที่สุด มีห้องสมุดที่กินพื้นที่บริเวณชั้น 1 และ 2 ของอาคาร เป็นส่วนที่คนนอกสามารถเข้าใช้งานได้ทั้ง 2 ชั้น ในช่วงเวลาที่นักโทษอยู่ระหว่างการทำงาน โดยเมื่อถึงเวลาพักของนักโทษ บริเวณห้องสมุดชั้นที่ 2 จะกลายเป็นพื้นที่ใช้งานของนักโทษ ส่วนชั้นที่ 3 เป็นห้องโถงสำหรับจัดนิทรรศการ และพื้นที่จัด Workshop สำหรับคนภายนอก

– อาคารที่ 2 เป็นอาคารที่เน้นไปที่การฝึกวิชาชีพและการเรียนของผู้ต้องขัง ประกอบด้วยส่วนห้องสมุดในชั้นที่ 1 พื้นที่ห้องเรียนอาชญาวิทยาในชั้นที่ 2 พื้นที่กิจกรรมฝึกวิชาชีพร่วมกับคนภายนอกในชั้นที่ 3 พื้นที่จัดแสดงผลงานนักโทษในชั้นที่ 5 และพื้นที่ทำงานส่วนตัวนักโทษในพื้นที่ที่เหลือ

– อาคารที่ 3 และ 4 เป็นพื้นที่ควบคุมของนักโทษ ที่ยังมีพื้นที่สำหรับคนภายนอกบางส่วนแทรกอยู่ประปราย อันได้แก่ ส่วนของร้านอาหาร โถงแรกรับนักโทษ ห้องทำงานพนักงานในชั้นที่ 1 โรงอาหารสำหรับนักโทษและโรงครัวในชั้นที่ 2 พื้นที่นิทรรศการสำหรับนักโทษและคนภายนอก รวมไปถึงห้องพยาบาลในชั้นที่ 3 สวนผักออร์แกนิกในชั้นที่ 4 และในลำดับชั้นที่สูงขึ้นไปจะเป็นพื้นที่ห้องพักของนักโทษทั้งหมด

ในขณะที่พื้นที่โล่งระหว่างอาคารจะถูกแบ่งเป็นสวนสีเขียวสำหรับคนภายนอกและนักโทษอย่างแยกส่วนกันชัดเจน

The new form of imprisonment

แบ่งเวลาใช้งานพื้นที่ เพื่อป้องกันความปลอดภัย

ไม่ใช่แค่การออกแบบพื้นที่อาคารที่เป็นโจทย์ยากในการทำธีสิสครั้งนี้ แต่เรื่องของ ‘ความปลอดภัย’ ในการใช้พื้นที่ทั้งต่อตัวผู้ต้องขังและบุคคลภายนอกก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้บีมต้องหัวหมุนไม่แพ้กัน เพราะหากเปิดพื้นที่แบบเสรีให้ทุกคนใช้งานพื้นที่โดยไม่มีการควบคุมอาจก่อให้เกิดปัญหาตามมาได้

วิธีการแก้ไขเรื่องนี้จึงเป็นการหมุนเวียนการใช้งานพื้นที่และกำหนดช่วงเวลาในการใช้งานในแต่ละวัน ผ่านการวางตำแหน่งพื้นที่ใช้สอยและทางสัญจรของผู้ใช้งานแต่ละประเภท โดยอ้างอิงมาจากตารางชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำเปิดเดิม

กล่าวง่ายๆ คือ ในแต่ละพื้นที่จะมีตารางเวลาสำหรับการใช้งานของผู้ต้องขังและบุคคลทั่วไปที่สลับกันไปในแต่ละช่วงเวลา ดังนี้

– 06.00 – 09.00 น. เป็นช่วงเวลาที่นักโทษจะเข้าใช้พื้นที่ในส่วนควบคุม และยังไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้งาน
– 09.00 – 12.00 น. เปิดให้คนภายนอกเข้าใช้งานพื้นที่ในส่วนของนิทรรศการในพื้นที่ส่วนควบคุม ห้องเรียน และห้องสมุด โดยนักโทษจะอยู่ในส่วนพื้นที่ทำงานส่วนตัว
– 15.00 – 17.00 น. นักโทษจะเข้าใช้งานส่วนห้องสมุดชั้นที่ 2 และสวนของนักโทษบริเวณชั้นล่าง โดยในช่วงนี้จะเกิดการใช้งานร่วมกันในส่วนพื้นที่ห้องสมุด 
– 18.00 – 20.00 น. ปิดให้คนนอกเข้าใช้งาน โดยนักโทษจะลงมาใช้พื้นที่ชั้น 1 ได้อย่างอิสระ เนื่องจากอาคารจะเปลี่ยนเป็นระบบปิดที่คนข้างในไม่สามารถออกไปใช้งานภายนอกได้

The new form of imprisonment

บีมอธิบายให้เราฟังว่า ในส่วนห้องสมุดที่มีช่วงเวลาให้บุคคลทั่วไปใช้งานในชั้นที่ 1 และนักโทษเข้าใช้งานชั้นที่ 2 ในเวลาเดียวกัน ซึ่งเธอได้ออกแบบให้ชั้นหนังสือในห้องสมุดทำหน้าที่เป็นตัวกั้นพื้นที่ชั้นที่ 1 และ 2 เพื่อไม่ให้มองเห็นกันได้โดยตรง

“มันคือการทดลองเครื่องมือของสถาปัตยกรรมผ่านการแบ่งระดับชั้น ทำให้คนทั้งสองกลุ่มมองเห็นกันได้แค่เพียงระยะไกลๆ หรือการได้ยินผ่านเสียง เพื่อไม่ให้คนทั้งสองกลุ่มประจันหน้ากันโดยตรง จะมีแค่บางพื้นที่อย่างคลาส Workshop ที่เปิดโอกาสให้เจอกัน”

The new form of imprisonment

ธีสิสที่อยากให้ทุกคนเปิดใจให้นักโทษที่ได้รับการปล่อยตัว

ปัจจุบันธีสิสการคุมขังรูปแบบใหม่ของทัณฑสถานไทย (The new form of imprisonment) กำลังจัดแสดงที่งาน ‘Checkmate Arch SU Thesis 2023’ นิทรรศการจัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์ของบัณฑิตจบใหม่ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ปีการศึกษา 2565 ที่เปิดให้เข้าชมแล้วตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา และจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคมนี้

ก่อนจากกัน บีมทิ้งท้ายกับเราว่าจุดตั้งต้นที่ทำให้เธอออกแบบธีสิสนี้ขึ้นมาก็เพื่อต้องการชูประเด็นเรื่องการแลกเปลี่ยนระหว่างนักโทษกับคนภายนอก เพื่อให้คนในสังคมเปิดใจรับนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวเป็นหลักสำคัญ

“เราอยากให้คนที่เห็นงานของเราเปิดใจ ให้โอกาส เห็นความสำคัญของคุณภาพชีวิตและระดับความอิสระของนักโทษที่เขาควรได้รับสำหรับโปรแกรมก่อนที่จะพ้นโทษมากขึ้น เพราะเราเชื่อว่าสภาพแวดล้อมที่ดีจะช่วยไม่ให้เกิดการทำผิดซ้ำได้ ซึ่งถ้าสถานที่แห่งนี้เกิดขึ้นได้จริงๆ ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี”

The new form of imprisonment

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.