ส่องปรากฏการณ์บุลลี่ผ่านซีรีส์เกาหลี The Glory - Urban Creature

ประเทศเกาหลีใต้มีคำสามัญที่ใช้เรียกความรุนแรงในโรงเรียนว่า ‘학교폭력’ (ฮักกโยพงนย็อก) และมีคำศัพท์เฉพาะอย่างคำว่า ‘왕따’ (วังต้า) ที่ไม่มีคำแทนความหมายแบบแน่นอนในภาษาอังกฤษ แต่แปลความได้ราวๆ ว่า ‘เหยื่อที่ถูกบุลลี่’ โดยคำขั้วตรงข้ามของวังต้าคือ ‘일진’ (อิลจิน) หมายถึง ‘คนที่ชอบรังแกคนอื่นๆ และทำผิดกฎเป็นประจำ’

แค่ชุดคำไม่กี่คำ น่าจะพอทำให้เราเห็นกันแล้วว่า ศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาโดยเฉพาะเหล่านี้ คือหลักฐานและชื่อเรียกของสิ่งที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในสังคมเกาหลีใต้

นี่คือความรุนแรงที่เกิดจริง ทั้งในกรณีที่มีคนออกมาพูดถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญ หรือเรียกร้องความเป็นธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้น และในกรณีที่มันถูกเก็บงำไว้กับผู้ที่ถูกกระทำตลอดไป

และใช่ นั่นหมายถึงความเจ็บปวดรวดร้าวที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ และวัยรุ่นชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory ซองเฮเคียว

The Glory เป็นซีรีส์เรื่องล่าสุดของนักแสดงสาวชื่อดัง ‘ซงฮเย-กโย’ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผลพวงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมเกาหลี และไม่ใช่แค่ซีรีส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนัง นวนิยาย และเรื่องราวใน WEBTOON ที่เป็นผลผลิตสะท้อนแง่มุมของสังคมที่ผู้คนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เลวร้ายรูปแบบนี้

หลังจากปล่อยซีรีส์พาร์ต 1 ออกมาไม่นาน The Glory ก็กวาดอันดับ 1 ในด้านยอดการรับชมบนแพลตฟอร์ม Netflix ได้ถึง10 ประเทศ ตั้งแต่เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยเรา และยังติดอยู่ใน Top 10 ของเน็ตฟลิกซ์อีก 71 ประเทศทั่วโลกด้วย

นอกจากการเชือดเฉือนของตัวละครที่ชวนลุ้นระทึกตั้งแต่ต้นจนจบ จนมัดใจผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด แต่ละอีพียังสะท้อนให้เราเห็นด้วยว่า การกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียนเป็นประสบการณ์ที่ผู้คนทั้งโลกต่างเชื่อมโยงถึงกันได้ เพราะปัญหาการบุลลี่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่แค่ในวัฒนธรรมเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นทางสังคมระดับโลกที่คนส่วนใหญ่กำลังตระหนักถึงความสำคัญว่า ควรได้รับการลงมือแก้ไขและการสร้างมาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน

*Spoiler Alert ต่อจากนี้จะมีการสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์*

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory ซองเฮเคียว

ไม่ใช่แค่ตัวละครเอก แต่เป็นตัวแทนของเหยื่อที่เจ็บปวด

The Glory บอกเล่าเรื่องราวของ ‘มุนดงอึน’ (ซงฮเย-กโย) เด็กสาวชั้นมัธยมฯ ที่ฐานะอัตคัดขัดสน เธอพยายามอดออมก่อร่างสร้างตัว และดิ้นรนด้วยการตั้งใจเรียน เพื่อถีบตัวเองไปสู่จุดที่ใฝ่ฝัน ทว่าทุกอย่างกลับต้องพังทลายลงเพราะถูกเพื่อนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนบุลลี่เธออย่างต่อเนื่อง

ในฐานะสื่อบันเทิง ซีรีส์เรื่องนี้อาจเข้มข้นและน่าติดตามก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากมองในฐานะภาพตัวแทนของผู้ถูกกระทำผ่านตัวละคร คาแรกเตอร์หลักนี้อาจเป็นตัวแทนของใครบางคนที่โดนรุมกลั่นแกล้งในโรงเรียนเกาหลี อาจเป็นคุณ เขา เธอ ฉัน เรา หรือใครสักคนที่ต้องทนทุกข์เจ็บปวดทรมาน และพยายามดิ้นรนให้ตัวเองหลุดพ้นจากฝันร้ายในวัยเด็ก ทั้งจากคำพูด การสื่อสารผ่านภาษากาย การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ การปล่อยข่าวลือแย่ๆ และอื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชิงกายภาพและบนโลกออนไลน์

ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้เปิดเผยว่า นักเรียนในประเทศร้อยละ 41.7 ถูกทำร้ายทางคำพูด ร้อยละ 14.5 ถูกโจมตีโดยกลุ่มอิลจิน ร้อยละ 12.4 ถูกทำร้ายร่างกาย และอีกร้อยละ 9.8 ถูกกลั่นแกล้งในโลกอินเทอร์เน็ต

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory ซองเฮเคียว

ถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดและโจมตีผู้คนเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2020 แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนสำหรับเหยื่อผู้ประสบภัย นั่นอาจทำให้เราพอสันนิษฐานได้ส่วนหนึ่งว่า หากรัฐยังรับมือกับปัญหานี้ได้ไม่รัดกุมมากเพียงพอ ในฐานะปัจเจกที่เป็นเหยื่อ พวกเขาอาจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมด้วยตัวเอง และในอีกหลายกรณี เหยื่ออาจจะยอมมอดไหม้จนชีวิตพังกันไปข้างหนึ่งเพื่อประท้วงให้ถึงที่สุด เหมือนกับการแก้แค้นของดงอึนที่ต้องสูญเสียชีวิตสามัญ รวมถึงความเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงความไว้วางใจต่อครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนฝูง ความปลอดภัยในชีวิต และความไว้วางใจต่อสังคมที่เธอจำเป็นต้องอาศัยอยู่

ความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่ขับเคลื่อนชีวิตของดงอึนคือ ความหวังที่จะแก้แค้นให้สำเร็จ ให้ผู้กระทำมันฉิบหายมอดมลายจนหยดสุดท้ายของลมหายใจ อย่างที่ดงอึนในวัย 35 พูดกับเพื่อนๆ ที่เคยรังแกเธอตอนโตเป็นผู้ใหญ่ว่า “มาค่อยๆ…แห้งเหี่ยวตายไปพร้อมกันนะ”

แม้จะต้องสูญสิ้นเวลา เงินทอง สุขภาพจิต สุขภาพร่างกาย และความหลงใหลใฝ่ฝันในวัยเด็ก แต่ดงอึนก็บากบั่นเอาชนะความยากจน ความบอบช้ำในชีวิต และอุปสรรคอื่นๆ ของตัวเอง เพื่อวางแผนการล้างแค้นให้สาสม ผ่านการเตรียมการนานถึง 20 ปี

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

ความแตกต่างของอำนาจทางชนชั้น ที่ทำให้ปัญหาการบุลลี่รุนแรงขึ้น

จากช่วง 7 ปีที่ผ่านมา Hankook Ilbo (The Korea Times) นำเสนอว่า ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า มีนักเรียนในเกาหลีฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน อัตราดังกล่าวจึงดูเหมือนไม่มีอยู่จริง แต่แม้ว่าจะขาดข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ผู้คนก็ยังสันนิษฐานว่า น่าจะมีนักเรียนหลายคนเลือกจบชีวิตจากความเครียดเพราะถูกเพื่อนๆ บุลลี่

ยกตัวอย่างในปี 2020 รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่สามารถระบุสาเหตุการฆ่าตัวตายของเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ประมาณ ⅓ เพราะไม่มีแหล่งข้อมูลที่ชัดเจน ในขณะที่ประชาชนชาวเกาหลียังคงสงสัยในตัวเลขเหล่านี้เรื่อยมา และเมื่อไม่มีข้อมูลยืนยันข้อเท็จจริง จึงเกิดทัศนคติทำนองว่า ‘ไม่มีใครตายจากการโดนบุลลี่สักหน่อย’ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการลดทอนความร้ายแรงของปัญหาที่ทวีจำนวนเรื่อยๆ ในหมู่เยาวชน

ถ้าสังเกตบทตอนหนึ่งใน The Glory ครู ตำรวจ และครอบครัวของดงอึน ก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เป็นการหยอกล้อกันของเด็กๆ ไม่ได้มีความน่ากังวลใจอะไร แต่ในความเป็นจริง ผู้ถูกกระทำอาจได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ จนถึงขั้นเสียคนหรือเสียชีวิตได้

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

สื่อ KBIZOOM ได้รายงานว่า ฉากที่แก๊งของยอนจินใช้ที่หนีบผมนาบลงบนผิวหนังของดงอึน กลายเป็น Talk of the Town ในหมู่เนติเซนเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพราะภาพความโหดร้ายสุดขั้วนี้เคยเกิดขึ้นจริงกับเด็กนักเรียนหญิงในเมืองชองจูเมื่อปี 2006 ซึ่งถูกเพื่อนทำร้ายร่างกายด้วยที่หนีบผมร้อนๆ ซ้ำๆ จนแผลติดเชื้อ พ่อของนักเรียนหญิงคนดังกล่าวตั้งใจเอาเรื่องเด็กๆ ที่รุมแกล้งลูกสาวให้ถึงที่สุด ทว่ากฎหมายคุ้มครองเยาวชนของเกาหลีใต้ได้ปกปิดข้อมูลของผู้เยาว์ ทำให้ไม่มีข้อมูลอัปเดตว่าเรื่องราวจบลงอย่างไร ส่วนเคสของดงอึน เธอเลือกปกปิดรอยแผลเป็นที่สร้างความเจ็บปวดนั้นไว้ภายใต้เสื้อผ้าจนเติบโต

คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าเห็นคนอย่างดงอึนเดินผ่านไปมาในชีวิตประจำวัน คุณจะรู้ไหมว่าภายในใจของเธอบอบช้ำมากเพียงใด

เรื่องราวของดงอึนไม่ได้ต่างไปจากเคสของนักเรียนเกาหลีคนหนึ่งที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงในปี 2020 เพราะความเครียดจากการถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง แต่ระหว่างพิจารณาคดี ศาลกลับไม่ได้มองว่าผู้กระทำมีความผิด แม้จะมีคำให้การ และการแสดงหลักฐานหลายครั้งว่าผู้คุกคามกระทำผิดจริง จนกระทั่งภายหลัง คดีนี้ถูกรื้อขึ้นมาสะสางใหม่

อีกคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมแก๊งของนักเรียนสาวผู้เพียบพร้อมอย่าง พักยอนจิน (อิมจียอน) ถึงบุลลี่คนจนเสียชีวิต และทำไมกลุ่มของพวกเธอจึงตัดสินใจบุลลี่ดงอึนจนหัวใจแหลกสลาย

ปัญหาการโจมตีคนที่อาจดูอ่อนแอหรือแปลกแยกไปจากคนอื่นในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมเกาหลี มีการวิเคราะห์กันว่า เพราะเด็กที่ชอบแกล้งหรือควบคุมคนอื่นต้องการปลดปล่อยอำนาจที่พวกเขาถูกพ่อแม่ครอบงำ และถูกครอบครัวควบคุมชีวิตของตนอย่างหนัก เนื่องจากครอบครัวคนเกาหลีส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกหลานของตนขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้หมายถึงความสำเร็จในชีวิต

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

ถ้าขยับไปยังภาพใหญ่กว่านั้น สังคมเกาหลีในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา อาจกำลังติดอยู่ในกับดักค่านิยมที่เรียกว่า ‘การแข่งขันอย่างสุดโต่งและความกดดันทางสังคมอย่างสุดขั้ว’ การกดทับคนอื่นด้วยการบุลลี่จึงเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของตัวเองและกลุ่มที่สังกัด

ค่านิยมเหล่านี้เป็นมรดกจากการพัฒนาของภาครัฐที่รวดเร็วในราวทศวรรษ 1960 เมื่อเกาหลีใต้สนับสนุนให้ 재벌 (แชบอล) กลุ่มนายทุนใหญ่ในหลายๆ อุตสาหกรรมขยายธุรกิจ เพื่อมุ่งผลให้เศรษฐกิจชาติเติบโตแบบรุดหน้า แต่ในทางตรงกันข้าม โอกาสที่จะลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจของคนทั่วไปกลับถูกริบไปอยู่ในมือชนชั้นนำ ทำให้สังคมในภาพรวมเกิดความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกมากเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้

ในราวปี 2015 แม้คนเกาหลียุคมิลเลนเนียลกำลังตบเท้าเข้าตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง คนรุ่นใหม่กลับค่อยๆ หมดโอกาสที่จะไต่เต้าทางชนชั้น ทั้งที่แข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนดัง เรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อป หรือทำงานในบริษัทใหญ่มากเพียงใดก็ตาม

นอกจากนี้ Alex Seo, Sophie Lee และ Jade Lee ผู้เขียนบทความ An Overview of Delinquent and Outcast Culture in Korean Society ยังให้ความเห็นที่น่าสนใจในฐานะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนเกาหลีว่า มาตรฐานความ Cool ของคนเจเนอเรชันใหม่อาจกำลังกระตุ้นและผลักดันให้เด็กๆ บางกลุ่มเลือกรังแกหรือแสดงอำนาจที่เหนือกว่าคนอื่นเพราะคิดว่าเป็นความเท่ที่ไม่เหมือนใคร

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

แม้ว่าตัวเลขล่าสุดจาก World Population Review จะทำให้เราเห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมระดับท็อปของโลก แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โอกาส และปัญหาทางชนชั้นกลับยังคงทวีคูณความเข้มข้นอย่างไม่หยุดหย่อน

The Glory เองก็เลือกหยิบเอาเรื่องชนชั้นมานำเสนอผ่านปัญหาการบุลลี่ของตัวละคร เริ่มจากการที่ดงอึนเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ความยากจนที่ปรากฏผ่านเสื้อผ้าหน้าผม ข้าวของเครื่องใช้ ถิ่นที่อยู่อาศัย และนิสัยเก็บตัวเงียบเชียบ ทำให้เธอแปลกแยกไปจากเพื่อนคนอื่นๆ และกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มเด็กฐานะร่ำรวยที่ทั้งมีโอกาส เงิน และเพื่อนฝูงมากกว่า ทั้งนี้เด็กไฮโซเหล่านั้นยังหล่อสวยตาม Beauty Standard ซึ่งยอนจินก็ใช้แต้มต่อเหล่านี้โจมตีดงอึนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง

ขณะเดียวกัน แม้ว่าเรื่องจะบานปลายใหญ่โต แต่ท้ายที่สุดโรงเรียนและผู้มีอำนาจทางกฎหมายต่างเข้าข้างคนที่มีหน้าตาและเส้นสายทางสังคม ส่วนที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือแม่ของยอนจินที่ร่วมสมคบคิด แก้ไขปัญหาด้วยการฟาดเงินปิดปาก และอนุญาตให้ลูกสาวของตนทำร้ายคนอื่นได้ตามใจชอบ

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

สังคมต้องการบทลงโทษสำหรับคนผิด และการเยียวยาสำหรับเหยื่อ

แม้ว่าการบุลลี่ในโรงเรียนจะยังคงเป็นปัญหาคั่งค้างและสะสมอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันสังคมจะมีแนวโน้มของการแก้ไขและบทลงโทษที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อมีปรากฏการณ์การบุลลี่ที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นวงกว้าง ประชาชนก็ยิ่งตระหนักถึงความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม

อย่างตอนนี้ถ้าคุณกำลังเป็นไอดอล ดารา หรือคนสำคัญของเกาหลี แล้วถูกขุดคุ้ยหรือแฉว่าในวัยเด็กเคยบุลลี่คนอื่น คุณจะถูกรุมประณามอย่างรุนแรง และอาจต้องออกจากวงการอย่างถาวร แม้ว่าขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สิ้นสุดก็ตาม ยกตัวอย่าง กรณีของซูจิน อดีตสมาชิกวง (G)I-DLE ที่ต้องอำลาวงการไปในปี 2021 ทั้งที่เธอเป็นเมมเบอร์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นลำดับต้นๆ หรือในกรณีของการัม อดีตสมาชิกวง LE SSERAFIM ที่ต้องถอนตัวออกจากวงไปในปี 2022 แม้จะเพิ่งเดบิวต์ได้ไม่นานก็ตาม

ในตอนท้ายๆ ของซีรีส์ The Glory พาร์ต 1 ยอนจินเองก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะเธอเป็นภรรยาของเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ และเป็นผู้ประกาศข่าวที่กำลังมีหน้าตาทางสังคม ดงอึนจึงใช้จุดอ่อนนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับแก้แค้นเพื่อนที่เคยบุลลี่เธอให้สำเร็จ

การบุลลี่ ซีรีสเกาหลี The Glory

ถ้าลองมองหาแง่ดีจากปรากฏการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้จะเห็นได้ว่า ตามหน้าข่าวหรือกระทู้สนทนาออนไลน์ในปัจจุบัน ต่างเกิดการตระหนักรู้ทางสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียน เช่น การก่อตั้ง Youth Cyber Counseling Center เพื่อรณรงค์ไม่ให้เยาวชนบุลลี่คนอื่น รวมทั้งให้คำแนะนำการรับมือกับปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และแนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากการบุลลี่ ผ่านสายด่วน 1388

แต่นี่อาจเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ เพราะสังคมที่เจริญรุดหน้าของเกาหลี มีราคาของความเคร่งเครียดที่ผู้อยู่อาศัยต้องจ่าย คนในประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทางสังคม พวกเขาจะทำอย่างไรให้ผู้คนเติบโตเท่าทันกระแสความเจริญที่พุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางสังคม

จะเป็นไปได้ไหมที่คนแปลกแยกจะไม่ใช่คนที่แปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของพื้นฐานชีวิตที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน

จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่บุลลี่กัน และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่สงบสุข

และหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เป็นไปได้ไหมที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันป้องกัน แก้ไขปัญหา และเยียวยาทุกคนอย่างจริงจัง

เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้ ผลผลิตของความรุนแรงที่มีดงอึนเป็นภาพแทนหนึ่งของปัญหาระดับโครงสร้าง อาจกลายเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ ทั้งที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ทั้งที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว และอาจกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเงียบเชียบ

ถ้าโชคดี บางรายอาจพร้อมเผชิญหน้า และเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างไม่ยอมแพ้

แต่กับบางรายอาจมองเห็นเพียงทางออกเดียว นั่นคือการแก้แค้น แก้แค้น และแก้แค้นให้สาแก่ใจ


Sources :
Jets Flyover | bit.ly/3W3x5eq
KBIZOOM | bit.ly/3CCFOgS
World Population Review | bit.ly/3ICMTls
The101.world | bit.ly/3X3F5xs

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.