ประเทศเกาหลีใต้มีคำสามัญที่ใช้เรียกความรุนแรงในโรงเรียนว่า ‘학교폭력’ (ฮักกโยพงนย็อก) และมีคำศัพท์เฉพาะอย่างคำว่า ‘왕따’ (วังต้า) ที่ไม่มีคำแทนความหมายแบบแน่นอนในภาษาอังกฤษ แต่แปลความได้ราวๆ ว่า ‘เหยื่อที่ถูกบุลลี่’ โดยคำขั้วตรงข้ามของวังต้าคือ ‘일진’ (อิลจิน) หมายถึง ‘คนที่ชอบรังแกคนอื่นๆ และทำผิดกฎเป็นประจำ’
แค่ชุดคำไม่กี่คำ น่าจะพอทำให้เราเห็นกันแล้วว่า ศัพท์ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาโดยเฉพาะเหล่านี้ คือหลักฐานและชื่อเรียกของสิ่งที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในสังคมเกาหลีใต้
นี่คือความรุนแรงที่เกิดจริง ทั้งในกรณีที่มีคนออกมาพูดถึงปัญหาที่ตัวเองเผชิญ หรือเรียกร้องความเป็นธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้น และในกรณีที่มันถูกเก็บงำไว้กับผู้ที่ถูกกระทำตลอดไป
และใช่ นั่นหมายถึงความเจ็บปวดรวดร้าวที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ และวัยรุ่นชาวเกาหลีใต้ ซึ่งเกิดขึ้นมานานหลายปีแล้ว
The Glory เป็นซีรีส์เรื่องล่าสุดของนักแสดงสาวชื่อดัง ‘ซงฮเย-กโย’ ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในผลพวงของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมเกาหลี และไม่ใช่แค่ซีรีส์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงหนัง นวนิยาย และเรื่องราวใน WEBTOON ที่เป็นผลผลิตสะท้อนแง่มุมของสังคมที่ผู้คนกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์เลวร้ายรูปแบบนี้
หลังจากปล่อยซีรีส์พาร์ต 1 ออกมาไม่นาน The Glory ก็กวาดอันดับ 1 ในด้านยอดการรับชมบนแพลตฟอร์ม Netflix ได้ถึง10 ประเทศ ตั้งแต่เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย ไต้หวัน เวียดนาม รวมถึงประเทศไทยเรา และยังติดอยู่ใน Top 10 ของเน็ตฟลิกซ์อีก 71 ประเทศทั่วโลกด้วย
นอกจากการเชือดเฉือนของตัวละครที่ชวนลุ้นระทึกตั้งแต่ต้นจนจบ จนมัดใจผู้ชมได้อย่างอยู่หมัด แต่ละอีพียังสะท้อนให้เราเห็นด้วยว่า การกลั่นแกล้งกันภายในโรงเรียนเป็นประสบการณ์ที่ผู้คนทั้งโลกต่างเชื่อมโยงถึงกันได้ เพราะปัญหาการบุลลี่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่แค่ในวัฒนธรรมเกาหลีเท่านั้น แต่ยังเป็นประเด็นทางสังคมระดับโลกที่คนส่วนใหญ่กำลังตระหนักถึงความสำคัญว่า ควรได้รับการลงมือแก้ไขและการสร้างมาตรการป้องกันอย่างเร่งด่วน
*Spoiler Alert ต่อจากนี้จะมีการสปอยล์เนื้อหาของซีรีส์*
ไม่ใช่แค่ตัวละครเอก แต่เป็นตัวแทนของเหยื่อที่เจ็บปวด
The Glory บอกเล่าเรื่องราวของ ‘มุนดงอึน’ (ซงฮเย-กโย) เด็กสาวชั้นมัธยมฯ ที่ฐานะอัตคัดขัดสน เธอพยายามอดออมก่อร่างสร้างตัว และดิ้นรนด้วยการตั้งใจเรียน เพื่อถีบตัวเองไปสู่จุดที่ใฝ่ฝัน ทว่าทุกอย่างกลับต้องพังทลายลงเพราะถูกเพื่อนกลุ่มหนึ่งในโรงเรียนบุลลี่เธออย่างต่อเนื่อง
ในฐานะสื่อบันเทิง ซีรีส์เรื่องนี้อาจเข้มข้นและน่าติดตามก็จริงอยู่ แต่ถ้าหากมองในฐานะภาพตัวแทนของผู้ถูกกระทำผ่านตัวละคร คาแรกเตอร์หลักนี้อาจเป็นตัวแทนของใครบางคนที่โดนรุมกลั่นแกล้งในโรงเรียนเกาหลี อาจเป็นคุณ เขา เธอ ฉัน เรา หรือใครสักคนที่ต้องทนทุกข์เจ็บปวดทรมาน และพยายามดิ้นรนให้ตัวเองหลุดพ้นจากฝันร้ายในวัยเด็ก ทั้งจากคำพูด การสื่อสารผ่านภาษากาย การทำร้ายร่างกาย การคุกคามทางเพศ การปล่อยข่าวลือแย่ๆ และอื่นๆ ทั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่เชิงกายภาพและบนโลกออนไลน์
ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้เปิดเผยว่า นักเรียนในประเทศร้อยละ 41.7 ถูกทำร้ายทางคำพูด ร้อยละ 14.5 ถูกโจมตีโดยกลุ่มอิลจิน ร้อยละ 12.4 ถูกทำร้ายร่างกาย และอีกร้อยละ 9.8 ถูกกลั่นแกล้งในโลกอินเทอร์เน็ต
ถึงแม้ว่าอัตราการละเมิดและโจมตีผู้คนเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2020 แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังไม่ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนสำหรับเหยื่อผู้ประสบภัย นั่นอาจทำให้เราพอสันนิษฐานได้ส่วนหนึ่งว่า หากรัฐยังรับมือกับปัญหานี้ได้ไม่รัดกุมมากเพียงพอ ในฐานะปัจเจกที่เป็นเหยื่อ พวกเขาอาจลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อทวงความยุติธรรมด้วยตัวเอง และในอีกหลายกรณี เหยื่ออาจจะยอมมอดไหม้จนชีวิตพังกันไปข้างหนึ่งเพื่อประท้วงให้ถึงที่สุด เหมือนกับการแก้แค้นของดงอึนที่ต้องสูญเสียชีวิตสามัญ รวมถึงความเชื่อมั่นในสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา ไปจนถึงความไว้วางใจต่อครู บุคลากรทางการศึกษา เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อนฝูง ความปลอดภัยในชีวิต และความไว้วางใจต่อสังคมที่เธอจำเป็นต้องอาศัยอยู่
ความหวังเพียงหนึ่งเดียวที่ขับเคลื่อนชีวิตของดงอึนคือ ความหวังที่จะแก้แค้นให้สำเร็จ ให้ผู้กระทำมันฉิบหายมอดมลายจนหยดสุดท้ายของลมหายใจ อย่างที่ดงอึนในวัย 35 พูดกับเพื่อนๆ ที่เคยรังแกเธอตอนโตเป็นผู้ใหญ่ว่า “มาค่อยๆ…แห้งเหี่ยวตายไปพร้อมกันนะ”
แม้จะต้องสูญสิ้นเวลา เงินทอง สุขภาพจิต สุขภาพร่างกาย และความหลงใหลใฝ่ฝันในวัยเด็ก แต่ดงอึนก็บากบั่นเอาชนะความยากจน ความบอบช้ำในชีวิต และอุปสรรคอื่นๆ ของตัวเอง เพื่อวางแผนการล้างแค้นให้สาสม ผ่านการเตรียมการนานถึง 20 ปี
ความแตกต่างของอำนาจทางชนชั้น ที่ทำให้ปัญหาการบุลลี่รุนแรงขึ้น
จากช่วง 7 ปีที่ผ่านมา Hankook Ilbo (The Korea Times) นำเสนอว่า ข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการเกาหลีใต้ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า มีนักเรียนในเกาหลีฆ่าตัวตายเพราะถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน อัตราดังกล่าวจึงดูเหมือนไม่มีอยู่จริง แต่แม้ว่าจะขาดข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ผู้คนก็ยังสันนิษฐานว่า น่าจะมีนักเรียนหลายคนเลือกจบชีวิตจากความเครียดเพราะถูกเพื่อนๆ บุลลี่
ยกตัวอย่างในปี 2020 รัฐบาลเกาหลีใต้ไม่สามารถระบุสาเหตุการฆ่าตัวตายของเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ประมาณ ⅓ เพราะไม่มีแหล่งข้อมูลที่ชัดเจน ในขณะที่ประชาชนชาวเกาหลียังคงสงสัยในตัวเลขเหล่านี้เรื่อยมา และเมื่อไม่มีข้อมูลยืนยันข้อเท็จจริง จึงเกิดทัศนคติทำนองว่า ‘ไม่มีใครตายจากการโดนบุลลี่สักหน่อย’ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้เป็นการลดทอนความร้ายแรงของปัญหาที่ทวีจำนวนเรื่อยๆ ในหมู่เยาวชน
ถ้าสังเกตบทตอนหนึ่งใน The Glory ครู ตำรวจ และครอบครัวของดงอึน ก็มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ เป็นการหยอกล้อกันของเด็กๆ ไม่ได้มีความน่ากังวลใจอะไร แต่ในความเป็นจริง ผู้ถูกกระทำอาจได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจ จนถึงขั้นเสียคนหรือเสียชีวิตได้
สื่อ KBIZOOM ได้รายงานว่า ฉากที่แก๊งของยอนจินใช้ที่หนีบผมนาบลงบนผิวหนังของดงอึน กลายเป็น Talk of the Town ในหมู่เนติเซนเกาหลีอย่างรวดเร็ว เพราะภาพความโหดร้ายสุดขั้วนี้เคยเกิดขึ้นจริงกับเด็กนักเรียนหญิงในเมืองชองจูเมื่อปี 2006 ซึ่งถูกเพื่อนทำร้ายร่างกายด้วยที่หนีบผมร้อนๆ ซ้ำๆ จนแผลติดเชื้อ พ่อของนักเรียนหญิงคนดังกล่าวตั้งใจเอาเรื่องเด็กๆ ที่รุมแกล้งลูกสาวให้ถึงที่สุด ทว่ากฎหมายคุ้มครองเยาวชนของเกาหลีใต้ได้ปกปิดข้อมูลของผู้เยาว์ ทำให้ไม่มีข้อมูลอัปเดตว่าเรื่องราวจบลงอย่างไร ส่วนเคสของดงอึน เธอเลือกปกปิดรอยแผลเป็นที่สร้างความเจ็บปวดนั้นไว้ภายใต้เสื้อผ้าจนเติบโต
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้าเห็นคนอย่างดงอึนเดินผ่านไปมาในชีวิตประจำวัน คุณจะรู้ไหมว่าภายในใจของเธอบอบช้ำมากเพียงใด
เรื่องราวของดงอึนไม่ได้ต่างไปจากเคสของนักเรียนเกาหลีคนหนึ่งที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงในปี 2020 เพราะความเครียดจากการถูกคุกคามทางอินเทอร์เน็ตอย่างรุนแรง แต่ระหว่างพิจารณาคดี ศาลกลับไม่ได้มองว่าผู้กระทำมีความผิด แม้จะมีคำให้การ และการแสดงหลักฐานหลายครั้งว่าผู้คุกคามกระทำผิดจริง จนกระทั่งภายหลัง คดีนี้ถูกรื้อขึ้นมาสะสางใหม่
อีกคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมแก๊งของนักเรียนสาวผู้เพียบพร้อมอย่าง พักยอนจิน (อิมจียอน) ถึงบุลลี่คนจนเสียชีวิต และทำไมกลุ่มของพวกเธอจึงตัดสินใจบุลลี่ดงอึนจนหัวใจแหลกสลาย
ปัญหาการโจมตีคนที่อาจดูอ่อนแอหรือแปลกแยกไปจากคนอื่นในโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมเกาหลี มีการวิเคราะห์กันว่า เพราะเด็กที่ชอบแกล้งหรือควบคุมคนอื่นต้องการปลดปล่อยอำนาจที่พวกเขาถูกพ่อแม่ครอบงำ และถูกครอบครัวควบคุมชีวิตของตนอย่างหนัก เนื่องจากครอบครัวคนเกาหลีส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกหลานของตนขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของสังคม เพราะสิ่งเหล่านี้หมายถึงความสำเร็จในชีวิต
ถ้าขยับไปยังภาพใหญ่กว่านั้น สังคมเกาหลีในช่วง 10 – 20 ปีที่ผ่านมา อาจกำลังติดอยู่ในกับดักค่านิยมที่เรียกว่า ‘การแข่งขันอย่างสุดโต่งและความกดดันทางสังคมอย่างสุดขั้ว’ การกดทับคนอื่นด้วยการบุลลี่จึงเป็นการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าของตัวเองและกลุ่มที่สังกัด
ค่านิยมเหล่านี้เป็นมรดกจากการพัฒนาของภาครัฐที่รวดเร็วในราวทศวรรษ 1960 เมื่อเกาหลีใต้สนับสนุนให้ 재벌 (แชบอล) กลุ่มนายทุนใหญ่ในหลายๆ อุตสาหกรรมขยายธุรกิจ เพื่อมุ่งผลให้เศรษฐกิจชาติเติบโตแบบรุดหน้า แต่ในทางตรงกันข้าม โอกาสที่จะลืมตาอ้าปากทางเศรษฐกิจของคนทั่วไปกลับถูกริบไปอยู่ในมือชนชั้นนำ ทำให้สังคมในภาพรวมเกิดความเหลื่อมล้ำที่ถ่างออกมากเรื่อยๆ มาจนถึงทุกวันนี้
ในราวปี 2015 แม้คนเกาหลียุคมิลเลนเนียลกำลังตบเท้าเข้าตลาดแรงงานจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริง คนรุ่นใหม่กลับค่อยๆ หมดโอกาสที่จะไต่เต้าทางชนชั้น ทั้งที่แข่งขันกันสอบเข้าโรงเรียนดัง เรียนในมหาวิทยาลัยระดับท็อป หรือทำงานในบริษัทใหญ่มากเพียงใดก็ตาม
นอกจากนี้ Alex Seo, Sophie Lee และ Jade Lee ผู้เขียนบทความ An Overview of Delinquent and Outcast Culture in Korean Society ยังให้ความเห็นที่น่าสนใจในฐานะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในรั้วโรงเรียนเกาหลีว่า มาตรฐานความ Cool ของคนเจเนอเรชันใหม่อาจกำลังกระตุ้นและผลักดันให้เด็กๆ บางกลุ่มเลือกรังแกหรือแสดงอำนาจที่เหนือกว่าคนอื่นเพราะคิดว่าเป็นความเท่ที่ไม่เหมือนใคร
แม้ว่าตัวเลขล่าสุดจาก World Population Review จะทำให้เราเห็นว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นมหาอำนาจทางวัฒนธรรมระดับท็อปของโลก แต่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ โอกาส และปัญหาทางชนชั้นกลับยังคงทวีคูณความเข้มข้นอย่างไม่หยุดหย่อน
The Glory เองก็เลือกหยิบเอาเรื่องชนชั้นมานำเสนอผ่านปัญหาการบุลลี่ของตัวละคร เริ่มจากการที่ดงอึนเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ความยากจนที่ปรากฏผ่านเสื้อผ้าหน้าผม ข้าวของเครื่องใช้ ถิ่นที่อยู่อาศัย และนิสัยเก็บตัวเงียบเชียบ ทำให้เธอแปลกแยกไปจากเพื่อนคนอื่นๆ และกลายเป็นเหยื่อของกลุ่มเด็กฐานะร่ำรวยที่ทั้งมีโอกาส เงิน และเพื่อนฝูงมากกว่า ทั้งนี้เด็กไฮโซเหล่านั้นยังหล่อสวยตาม Beauty Standard ซึ่งยอนจินก็ใช้แต้มต่อเหล่านี้โจมตีดงอึนอย่างต่อเนื่องและรุนแรง
ขณะเดียวกัน แม้ว่าเรื่องจะบานปลายใหญ่โต แต่ท้ายที่สุดโรงเรียนและผู้มีอำนาจทางกฎหมายต่างเข้าข้างคนที่มีหน้าตาและเส้นสายทางสังคม ส่วนที่เลวร้ายยิ่งไปกว่านั้นคือแม่ของยอนจินที่ร่วมสมคบคิด แก้ไขปัญหาด้วยการฟาดเงินปิดปาก และอนุญาตให้ลูกสาวของตนทำร้ายคนอื่นได้ตามใจชอบ
สังคมต้องการบทลงโทษสำหรับคนผิด และการเยียวยาสำหรับเหยื่อ
แม้ว่าการบุลลี่ในโรงเรียนจะยังคงเป็นปัญหาคั่งค้างและสะสมอยู่ในสังคมเกาหลีใต้ แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันสังคมจะมีแนวโน้มของการแก้ไขและบทลงโทษที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อมีปรากฏการณ์การบุลลี่ที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงเป็นวงกว้าง ประชาชนก็ยิ่งตระหนักถึงความรุนแรงที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคม
อย่างตอนนี้ถ้าคุณกำลังเป็นไอดอล ดารา หรือคนสำคัญของเกาหลี แล้วถูกขุดคุ้ยหรือแฉว่าในวัยเด็กเคยบุลลี่คนอื่น คุณจะถูกรุมประณามอย่างรุนแรง และอาจต้องออกจากวงการอย่างถาวร แม้ว่าขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สิ้นสุดก็ตาม ยกตัวอย่าง กรณีของซูจิน อดีตสมาชิกวง (G)I-DLE ที่ต้องอำลาวงการไปในปี 2021 ทั้งที่เธอเป็นเมมเบอร์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นลำดับต้นๆ หรือในกรณีของการัม อดีตสมาชิกวง LE SSERAFIM ที่ต้องถอนตัวออกจากวงไปในปี 2022 แม้จะเพิ่งเดบิวต์ได้ไม่นานก็ตาม
ในตอนท้ายๆ ของซีรีส์ The Glory พาร์ต 1 ยอนจินเองก็กำลังตกที่นั่งลำบาก เพราะเธอเป็นภรรยาของเศรษฐีอสังหาริมทรัพย์ และเป็นผู้ประกาศข่าวที่กำลังมีหน้าตาทางสังคม ดงอึนจึงใช้จุดอ่อนนี้เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับแก้แค้นเพื่อนที่เคยบุลลี่เธอให้สำเร็จ
ถ้าลองมองหาแง่ดีจากปรากฏการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นในเกาหลีใต้จะเห็นได้ว่า ตามหน้าข่าวหรือกระทู้สนทนาออนไลน์ในปัจจุบัน ต่างเกิดการตระหนักรู้ทางสังคมในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้หยุดใช้ความรุนแรงภายในโรงเรียน เช่น การก่อตั้ง Youth Cyber Counseling Center เพื่อรณรงค์ไม่ให้เยาวชนบุลลี่คนอื่น รวมทั้งให้คำแนะนำการรับมือกับปัญหาการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และแนะนำวิธีป้องกันตัวเองจากการบุลลี่ ผ่านสายด่วน 1388
แต่นี่อาจเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาปลายเหตุ เพราะสังคมที่เจริญรุดหน้าของเกาหลี มีราคาของความเคร่งเครียดที่ผู้อยู่อาศัยต้องจ่าย คนในประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ ทางสังคม พวกเขาจะทำอย่างไรให้ผู้คนเติบโตเท่าทันกระแสความเจริญที่พุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเคารพและยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางสังคม
จะเป็นไปได้ไหมที่คนแปลกแยกจะไม่ใช่คนที่แปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของพื้นฐานชีวิตที่ทำให้แต่ละคนแตกต่างกัน
จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะไม่บุลลี่กัน และร่วมกันสร้างสรรค์สังคมที่สงบสุข
และหากเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เป็นไปได้ไหมที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมมือกันป้องกัน แก้ไขปัญหา และเยียวยาทุกคนอย่างจริงจัง
เพราะถ้าเป็นไปไม่ได้ ผลผลิตของความรุนแรงที่มีดงอึนเป็นภาพแทนหนึ่งของปัญหาระดับโครงสร้าง อาจกลายเป็นคนที่มีตัวตนจริงๆ ทั้งที่กำลังก่อร่างสร้างตัว ทั้งที่ก่อตัวขึ้นมาแล้ว และอาจกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างเงียบเชียบ
ถ้าโชคดี บางรายอาจพร้อมเผชิญหน้า และเรียกร้องความเป็นธรรมผ่านกระบวนการทางกฎหมายอย่างไม่ยอมแพ้
แต่กับบางรายอาจมองเห็นเพียงทางออกเดียว นั่นคือการแก้แค้น แก้แค้น และแก้แค้นให้สาแก่ใจ
Sources :
Jets Flyover | bit.ly/3W3x5eq
KBIZOOM | bit.ly/3CCFOgS
World Population Review | bit.ly/3ICMTls
The101.world | bit.ly/3X3F5xs