ตั้งแต่เริ่มต้น ‘แดนสาป The Cursed Land’ ถือว่าเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจ ตั้งแต่พลอตเรื่องของพ่อลูกชาวไทยพุทธที่ย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนชาวไทยมุสลิม และถูกคุกคามโดยบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าความเข้าใจของศาสนา เรื่องราวแบบพหุวัฒนธรรมของชาวไทยแบบที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอมากนักบนจอภาพยนตร์
นอกจากนี้ แดนสาปยังเป็นผลงานจาก 2 บุคลากรในวงการภาพยนตร์อย่าง ‘ภาณุ อารี’ ผู้อำนวยการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่รับบทบาทเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ และ ‘ก้อง ฤทธิ์ดี’ ที่ลองข้ามจากดินแดนนักวิจารณ์ภาพยนตร์มาเป็นผู้เขียนบท
และยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อทั้งคู่ต่างเป็นชาวไทยมุสลิม เคยมีผลงานสารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนมุสลิมไทยอย่าง มูอัลลัฟ (2008), Baby Arabia (2010) และ กัดดาฟี (2013) ทำให้มีสายตาของชาวไทยเชื้อสายมุสลิมที่จับจ้องเห็นถึงประเด็นความเป็นมุสลิมบางอย่างในสังคมไทยที่จะได้รับการนำเสนอออกมาจากคนใน เพียงแต่คราวนี้มาในรูปแบบของหนังสยองขวัญ
แรกเริ่มแม้จะมีดราม่าของการโปรโมตที่ก่อให้เกิดประเด็นอันทำให้หลายคนมองตัวหนังผิดไป แต่เมื่อได้ชมตัวหนังจริง มันเป็นสิ่งที่ต่างจากการโปรโมตในเชิงภาพผีอิสลามอย่างชัดเจน อีกทั้งยังสื่อสารว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังจะได้รับชมนี้ไม่ใช่เรื่องราวของผีแต่เป็นความลี้ลับแบบอื่น
ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่แปลกประหลาด แต่เป็นสายตาอคติของคนภายนอก
‘แดนสาป The Cursed Land’ ถูกระบุเรื่องราวไว้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นในย่านหนองจอก ที่ซึ่งถูกเรียกขนานนามว่าเป็น ‘ดงแขก’ เพราะมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเสียยิ่งกว่าชาวไทยพุทธตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษชาวมลายู
ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณขอบเกือบจะหลุดออกนอกของพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร อันเต็มไปด้วยชุมชนมัสยิดของชาวมุสลิมที่ใช้ชีวิตกันเสมือนยังเป็นชนบทต่างจังหวัดมากกว่าเมืองแบบภาพกรุงเทพฯ ในความคิดของหลายคน
เมื่อสืบค้นข้อมูลพื้นที่ดังกล่าวลงไปจะค้นพบว่าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อันบอบช้ำในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเชลยศึกจากปัตตานีถูกกวาดต้อนมาใช้เป็นแรงงานในการขุดคลองแสนแสบบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันคือเขตหนองจอก มีนบุรี และคลองสามวา
ที่นี่เองคือถิ่นฐานที่สองพ่อลูก ‘มิตร’ (รับบทโดย อนันดา เอเวอริงแฮม) และ ‘เมย์’ (รับบทโดย เจนนิษฐ์ โอ่ประเสริฐ) ต้องย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเก่าอายุหลายร้อยปีในย่านหนองจอก ท่ามกลางชุมชนชาวมุสลิมที่ล้อมรอบ กลายเป็นความแปลกใหม่และทำให้ตัวละครรู้สึกเหมือนอยู่ผิดที่ผิดทาง
ด้วยวัฒนธรรมที่แตกต่าง เริ่มตั้งแต่เสียงอะซานเรียกละหมาดที่ปลุกให้ตื่นตั้งแต่เช้ามืด อาหารเครื่องแกงที่ไม่คุ้นชิน การล้อมวงกินข้าวด้วยการใช้มือ คำพูดภาษาบทสวดทางศาสนาที่ไม่เข้าใจ การต้องระมัดระวังในการเลี้ยงสุนัข หรือพิธีกรรมการเชือดวัวกุรบานที่ดูน่ากลัวในสายตาคนภายนอก ทั้งหมดทั้งมวลเป็นวัฒนธรรมที่ชาวไทยพุทธส่วนใหญ่อาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน
สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ สร้างความหวาดกลัวให้มิตร จากเดิมที่หวาดระแวงในบ้านหลังใหม่ที่ตนเองก็ไม่อภิรมย์ที่จะอยู่มากนักอยู่แล้ว และเมื่อหนังค่อยๆ เผยให้เห็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฉากหลัง ร่วมกับบรรดาอุปกรณ์เทคโนโลยี ก็ทำให้พออนุมานได้ว่าเป็นช่วงเวลาในทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่สถานการณ์ไฟใต้กำลังคุกรุ่น ทำให้คนไทยบางส่วนติดภาพของชาวมุสลิมเป็นผู้ก่อการร้ายชอบความรุนแรง ไหนจะเหตุการณ์ 9/11 เครื่องบินพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนครนิวยอร์ก ที่ยิ่งโหมให้เกิดกระแสความหวาดกลัวต่อศาสนาอิสลาม หรือ Islamophobia
ความระแวงต่อสิ่งที่ไม่คุ้นเคยของมิตร บวกกับความรู้สึกไม่ปลอดภัยแม้แต่ในขณะที่อยู่ในบ้าน เพราะที่พำนักแห่งนี้ไม่ใช่บ้านที่แท้จริงของเขา กลายเป็นความหวาดกลัวที่คอยคุกคามเขาราวกับผีสางที่เคียดแค้นอย่างไม่ลดละ และเปลี่ยนเป็นสิ่งที่บังตาเขาไว้ ไม่อาจเห็นว่าภัยร้ายที่แท้จริงนั้นคือสิ่งใด หลงลืมนึกไปว่าแท้จริงแล้ว กลุ่มคนมุสลิมเองนั้นก็เป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่กับ ‘ความเป็นอื่น’ ในสังคมไทยมาอย่างช้านาน
เพราะเมื่อออกจากชุมชนอิสลามและเข้าสู่พื้นที่อื่นในเมืองไทย พวกเขาก็ยังคงเป็นชนกลุ่มน้อยที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจในความต่าง ขนาดพื้นที่หนองจอกนี้เอง กว่าที่ชาวมลายูที่ถูกกวาดต้อนเข้ามายังกรุงเทพฯ จะก่อร่างสร้างตัวเป็นชุมชนมุสลิมในปัจจุบันได้ พวกเขาต้องอยู่กับความรู้สึกที่ไม่เข้าที่เข้าทางกับสถานที่แห่งนี้มายาวนานกว่าศตวรรษ
มิตรและชาวมลายูในอดีตเองก็เป็นภาพซ้อนทับที่คล้ายคลึงกันในต่างช่วงเวลาของผู้คนที่ถูกนำพามายังดินแดนที่ไม่ใช่ที่ทางของตนเอง จนกลายเป็นอื่น กลายเป็นคนนอกด้วยความเชื่อที่แตกต่าง และไม่รู้สึกว่าแห่งหนที่ตนอาศัยอยู่นั้นจะสามารถเป็นบ้านได้
และแม้จะรู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่ส่วนหนึ่งของที่นี่ ในขณะเดียวกัน ตัวมิตรเองก็กลับมองไม่เห็นว่าในความต่างที่ตนเผชิญอยู่นั้นมีความรู้สึกอยู่ผิดที่ผิดทางซุกซ่อนอยู่ด้วย
ความผิดปกติที่ว่าคือ ตัวละคร ‘ฮีม’ (รับบทโดย บรอนต์ ปาลาเร่) ที่แม้จะเป็นคนมุสลิมแบบคนในพื้นที่ แต่ด้วยพฤติกรรมที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นคนไม่เคร่งศาสนา ทั้งการกินเหล้า มีภรรยาเป็นคนพุทธ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการไปยุ่งเกี่ยวกับไสยศาสตร์มนตร์ดำจากใต้ ก็ทำให้เขาไม่ได้เป็นที่ต้อนรับของชุมชนมากนัก จนเหมือนว่าแท้จริงแล้วไม่ใช่ความต่างทางความเชื่อที่ไล่คุกคามคนด้วยกันเอง แต่เป็นความไม่รู้ ความไม่พยายามเข้าใจในความแตกต่าง ที่กลายเป็นอคติ ภายใต้การใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือผลักไสซึ่งกันและกันที่ยังคงหยั่งรากฝังความแค้นลึกเอาไว้ในพื้นที่แห่งนี้
ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย เมื่อบ้านคือผู้คน และผู้อาศัยคือจิตใจ
หนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นเป็นหัวใจสำคัญของหนังคือตัว ‘บ้าน’ เก่าแก่อายุกว่าร้อยปี ที่เป็นภาชนะบรรจุความรู้สึกของตัวละครที่มองว่า ‘บ้านที่ไม่ได้เป็นบ้าน’
ตั้งแต่ที่มันเป็นบ้านที่โรงงานที่มิตรทำงานเป็นคนจัดสรรมาให้ โดยตัวละครไม่มีสิทธิ์เลือก เพราะถูกบีบบังคับด้วยฐานะหน้าที่การทำงานให้จำใจต้องอยู่ ต่อมาคือละแวกบ้านที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างศาสนา ต่างความเชื่อ ต่างวัฒนธรรมที่เป็นรูปแบบการใช้ชีวิตที่พวกเขาไม่เคยพบเจอ ยิ่งทำให้บ้านให้ความรู้สึกว่าไม่ใช่ที่ที่เขาควรเข้าไปอยู่
ความรู้สึกที่ว่า ‘นี่ไม่ใช่บ้านของฉัน’ กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดมวลพลังงานที่ทำให้บ้านไม่อาจเป็นบ้านได้ ยิ่งผสมรวมกับคำพูดที่ปรากฏในหนังอย่าง ‘การทิ้งสิ่งที่ไม่ควรทิ้ง การสร้างสิ่งที่ไม่ควรสร้าง’ เสมือนเป็นการสื่อถึงการกระทำบางอย่างต่อตัวที่อยู่อาศัยให้เกิดความผิดเพี้ยนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น
อย่าลืมว่า การออกแบบปลูกสร้างที่อยู่อาศัยนั้นต้องสอดคล้องกับ ‘กาลเทศะ’ ที่ในที่หนึ่งผู้คนส่วนใหญ่อาจจะเข้าใจว่าหมายถึงความเหมาะสม สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำในสถานที่นั้นๆ อาจยึดโยงกับการกระทำที่ผิดหลักความเชื่อจนไปลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสถานที่นั้นๆ แต่หากมองในบริบทหลักการออกแบบ กาลเทศะในที่นี้หมายถึงการออกแบบโดยคำนึงถึง ‘กาล’ และ ‘เทศะ’ อันหมายถึง ‘เวลาและพื้นที่’ (Space and Time)
การออกแบบสร้างต่อเติมบ้านโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดความรู้สึกด้านลบขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นหลักการในการออกแบบบ้านจริง ยกตัวอย่าง การวางบ้านในทิศทางที่เหมาะสม การออกแบบช่องลมถ่ายเทอากาศภายในบ้าน หรือโครงสร้างบ้านที่มีมุมแปลกประหลาด หรือพื้นที่ว่างที่ให้ความรู้สึกอึดอัด
เมื่อบ้านมีลักษณะที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความรู้สึก เสียงดังจากการเดินเหยียบพื้นไม้เก่าที่สร้างความรำคาญ ช่องหน้าต่างที่สร้างแสงเงารูปร่างประหลาดจนนึกคิดไปไกล ประสบการณ์เหล่านี้กลายเป็นการสร้างความรู้สึกหงุดหงิด บ่มเพาะอารมณ์ที่แปรปรวนตลอดเวลา ซึ่งท้ายที่สุดแล้วย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคนในบ้านให้เลวร้าย
เมื่อย้ายเข้ามาสู่บ้านหลังใหม่ในชุมชนที่ไม่คุ้นเคย สิ่งที่มิตรประสบพบเจอนั้นคล้ายคลึงกับความรู้สึกของหลายคนในยุคปัจจุบัน นั่นคือความรู้สึกที่ว่า บ้านไม่ใช่สถานที่ที่ปลอดภัย ไม่ใช่ที่ทางที่เขาควรจะอยู่ ซึ่งเป็นปัจจัยจากตัวบ้าน ความรู้สึกภายในจิตใจ และความสัมพันธ์ของคนในบ้าน
มิตรกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ออกอาการเหมือนคนมีอาการทางจิตอยู่เป็นระยะจนน่าสงสัย ตัวละครที่รับมือทุกอย่างด้วยเหตุผลกลับกลายเป็นลูกสาวอย่างเมย์ ที่เป็นคนพยายามจัดการทุกอย่างแทนพ่อ ซึ่งดูผิดไปจากขนบแบบแผนของบรรดาหนังสยองขวัญที่ตัวละครฝ่ายชายหรือพ่อมักต้องเป็นตัวละครที่ปกป้องตัวละครฝ่ายหญิงหรือลูกๆ
บ้านที่เต็มไปด้วยมวลสารพลังงานด้านลบยังไม่พอ หนำซ้ำยังมีอาการทางจิตของมิตรเสริมให้ยิ่งแย่ขึ้นไปอีก ด้วยความรู้สึกผิดจากเหตุการณ์ที่เพิ่งประสบพบเจอมา หรือ Trauma ที่ซ้ำเติม ยิ่งทำให้มวลความรู้สึกต่างๆ ในบ้านย่ำแย่โดยไม่ต้องมีการคุกคามจากผีปีศาจร้ายตนใด
การกระทำต่างๆ ในบ้านเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นความผิดพลาด ก่อกวนสิ่งที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ ในทางสถาปัตยกรรม ผู้ออกแบบจึงต้องพบ ‘ซินแส’ หรือนำเรื่องของศาสตร์ ‘ฮวงจุ้ย’ มาผนวกเข้ากับการออกแบบที่พักอาศัย ซึ่งอาจไม่ได้เกี่ยวกับหลักความเชื่อเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการจัดวางสิ่งต่างๆ บนพื้นที่ว่างภายในบ้านอย่างที่ถูกที่ควรด้วย
การทิ้งสิ่งที่ดีอยู่แล้ว และสร้างสิ่งใหม่แบบผิดที่ผิดทาง จึงกลายเป็นการเชื้อเชิญความชั่วร้ายให้ย่างกรายเข้าสู่บ้าน ซึ่งอาจไม่ใช่ผีสางตนใด แต่เป็นความรู้สึกที่ทำให้จิตใจของคนในบ้านเปลี่ยนไปราวกับถูกเข้าสิง
‘การทิ้งสิ่งที่ไม่ควรทิ้ง การสร้างสิ่งที่ไม่ควรสร้าง’ ใจความหลักสำคัญนี้เองก็แอบแฝงด้วยสัญญะที่ปรากฏให้เห็นในฉาก นั่นคือ การสร้างศาลพระภูมิทับในที่ที่เคยมีเรื่องราวของชาวมลายูในอดีต กลายเป็นที่สิงสถิตใหม่ให้กับ ‘ญิน’ สิ่งมีชีวิตเร้นลับในความเชื่อของอิสลาม สะท้อนถึงการเป็นภาพแทนคล้ายการนำความเชื่อของคนหมู่มากมากดขี่ต่อความเชื่อของอิสลามที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้อีกครั้ง
ในขณะที่คนเป็นยังรู้สึกเหมือนไม่ได้อยู่บ้านของตนเอง คนในอดีตผู้จากไปบนผืนดินแห่งนี้ก็ยังคงถูกลิดรอนความเป็นบ้านของตัวเองไปไม่สิ้นสุดเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นต่อความรู้สึกของทั้งคนเป็นผู้มาอาศัยใหม่ และคนในยุคอดีตที่อยู่ในพื้นที่อันไร้ขอบเขตของตนเอง (Unhealthy Boundary) จนรู้สึกเหมือนถูกรุกล้ำพื้นที่ตลอดเวลา กลายเป็นปัญหาเรื้อรังอยู่ในพื้นที่แห่งนี้ไม่สิ้นสุด ทั้งนี้ เกิดจากความรู้สึกที่บ้านไม่สามารถสร้างขอบเขตของตนเอง (Healthy Boundary) จากชุมชนและปัจจัยสภาพแวดล้อมได้อย่างที่ผู้อยู่อาศัยปรารถนา
ไม่ใช่ผีวิญญาณ ไม่ใช่ความหวาดกลัว แต่เป็นความต่างทางความเชื่อ
แม้แดนสาป The Cursed Land จะเป็นหนังสยองขวัญอย่างที่หลายคนต้องการหรือนึกภาพไว้ แต่ตัวหนังเองต่อต้านการนำเสนอความน่ากลัวในรูปแบบของผีอย่างชัดเจน แบบที่เรียกได้ว่า ‘ต่อต้านความเป็นหนังผี’ โดยแท้จริงเลยด้วยซ้ำ
ความน่ากลัวที่คืบคลานอยู่ในหนังมิใช่สิ่งที่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของ ‘ผี’ หรือวิญญาณที่ตายจากไปแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในความเชื่อของอิสลามที่เรียกกันว่า ‘ญิน’
ญินเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ซ้อนทับระหว่างโลก และมีทั้งญินที่เป็นฝ่ายดีและญินที่ชั่วร้าย (เรียกว่า ‘ชัยฏอน’) โดยญินนั้นใช้ชีวิตปะปนอยู่กับมนุษย์ สิงสู่อยู่ตามสถานที่ต่างๆ แต่มนุษย์นั้นไม่สามารถมองเห็นญินได้ เว้นแต่ว่าญินจะปรากฏร่างให้เห็นเอง ส่วนวิญญาณคนตายในศาสนาอิสลามนั้น ผู้ที่ตายไปแล้วจะถูกนำไปพักรออยู่ในโลก ‘อาลัมบัรซัค’ หรือโลกขั้นกลางระหว่างโลกและปรโลกเพื่อรอวันพิพากษา ตรงนี้เองที่เป็นหลักแยกญินและวิญญาณคนตายออกจากกัน
และในหนังเรื่องนี้ ญินกลายเป็นสัญญะสำคัญในการถ่ายทอดความเป็นอื่นที่ใช้ชีวิตอยู่ในที่ทางของตนเอง ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่แตกต่างจากมนุษย์ต่างความเชื่อที่อยู่ปะปนกันเท่าไหร่ เพียงแต่เหตุผลที่มนุษย์ได้สัมผัสพบเจอกับญินนั้นเป็นไปเพราะความชั่วร้าย ความเกลียดชัง ความหวาดกลัวที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ ทำให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของมนุษย์นั้นลดน้อยถอยลง จนง่ายต่อการล่อลวงไปสู่ทางแห่งความชั่วร้าย
แต่หากลองถอยออกมามองด้วยสายตาที่เป็นกลางมากขึ้น ญินเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีกแห่งที่ลึกลับซับซ้อนกว่าที่มนุษย์จะทำความเข้าใจได้ จนเรียกได้ว่าญินเองก็เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ผิดที่ผิดทางสำหรับมนุษย์อย่างเราๆ เพียงแต่เมื่อถูกครอบด้วยความเข้าใจผิดว่าเป็นผีหรือวิญญาณของคนที่ตายจากไป ก็ทำให้ญินกลายเป็นสิ่งชั่วร้ายที่คุกคามมนุษย์ไปโดยปริยาย
เมื่อมองดูให้ดีผ่านกรอบของบริบทความเชื่อที่ต่างกัน ญินที่สิงสู่ในสถานที่ต่างๆ ที่อยู่มาก่อนมนุษย์จะเข้ามาอยู่อาศัย ในทางหนึ่ง ฝั่งความเชื่อก็ไม่ต่างจาก ‘เจ้าที่เจ้าทาง’ ที่ปกปักรักษาสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ที่จะปกป้องคุ้มครองคนที่เคารพบูชาสถานที่นั้นๆ และสร้างโชคร้ายแก่ผู้ที่ลบหลู่ เป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่าพื้นที่แห่งนี้มีประวัติเรื่องราวบางอย่าง และสิ่งเหล่านั้นยังคงอยู่ในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทความเชื่อ แค่เมื่อเราไม่เข้าใจสิ่งใด สิ่งนั้นก็มักถูกตัดสินให้กลายเป็นความน่าหวาดกลัวไปได้ แต่เมื่อได้ทำความเข้าใจในความต่าง ความน่ากลัวนั้นสุดท้ายจะกลายเป็นการใช้ชีวิตอย่างปกติทั่วไปในแต่ละวัน เพียงแค่เราอาจจะต้องยอมรับในความแตกต่างของแต่ละสิ่งที่มันเป็น
ประโยคที่ว่า ‘ผีมันเลือกศาสนาได้ด้วยเหรอ’ ที่ปรากฏในเรื่อง เมื่อมองดูอย่างถี่ถ้วนแล้ว สิ่งที่คนเข้าใจว่าเป็นผีหรือญินอาจจะไม่ได้เลือกว่าตัวมันเองเป็นสิ่งใด แค่ต้องการดำรงอยู่ในสถานที่นั้นๆ มีเพียงแต่ความไม่เข้าใจของคนนี่แหละที่สร้างกรอบความเชื่อขึ้นมาครอบ ตัดสินว่าสิ่งนั้นต้องเป็นอย่างนั้น คนนี้ต้องเป็นอย่างนี้ การใช้ความเชื่อผลักสิ่งต่างๆ ให้จำยอมสู่ความเป็นอื่นนี่แหละคือผีร้ายที่น่ากลัวที่สุดที่มนุษย์จะสร้างขึ้นได้
ในท้ายที่สุดแล้ว แดนสาป The Cursed Land อาจจะไม่ใช่หนังผีที่ชาวไทยทั้งหลายคุ้นชินกันนัก และแม้ว่าเมสเซจอันคมคายของหนังอาจจะเข้าเป้าบ้างหรือพลาดเป้าบ้าง แต่กระนั้นเราก็ยังเห็นความพยายามต้องการนำเสนอความน่ากลัวรูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่แค่เรื่องผีอีกต่อไป เพราะคำสาปที่หยั่งรากลึกในดินแดนแห่งหนใดนั้นมิใช่ภูต ผี ปีศาจร้ายที่คอยบงการสาปส่ง แต่เป็นความชั่วร้ายของความเกลียดชังเคียดแค้นที่มนุษย์เรามอบให้แก่สิ่งที่แตกต่างและไม่เข้าใจ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมาตั้งแต่อดีตกาลที่ยากจะลบเลือนออกจากพื้นที่ที่เคยมีประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด
เฉกเช่นเดียวกับที่หนังสอดแทรกภาพของความเจ็บปวดของเชลยชาวปัตตานี หรือภาพความโหดร้ายของเหตุการณ์ตากใบที่ใกล้จะหมดอายุความ ผู้คนเหล่านั้นในอดีตกลายเป็นญินที่แม้คนอื่นไม่สามารถมองเห็นได้แล้ว แต่ยังคงดำรงวนเวียนอยู่ในกาลเวลาไม่ไปไหนเสมอ
ในแดนสาป ทุกสิ่งล้วนดำรงอยู่ในดินแดนเดียวกันแม้ว่าจะเต็มไปด้วยความต่างอันมากมายหลายบริบทก็ตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น สารที่จะได้รับคงต้องขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ชมแต่ละคนที่ต้องไปตัดสินผ่านสายตา การรับรู้ และอคติของตนเอง