“มันเป็นสถานที่ที่เล็กและธรรมดาเกินไปสำหรับคนในแวดวงสังคมชั้นสูง และก็เงียบเกินไปสำหรับผู้ที่โปรดปรานแสงสีและเสียงอึกทึกแห่งอารยธรรมสมัยใหม่”
ประโยคจากหนังสือ ‘The Awakening (การฟื้นตื่นของเอ็ดน่า)’ โดย Kate Chopin (เคต โชแปง) ที่ ‘เอก-เอกสิทธิ์ เทียมธรรม’ ผู้จัดการร้าน ‘The Alphabet Book Café’ และบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ‘สมมติ’ เลือกให้เป็นคำนิยามที่อธิบายภาพบรรยากาศของคาเฟ่หนังสือแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี
สำหรับเรา คาเฟ่หลังสีดำแซมไปด้วยสีเขียวของต้นไม้หลังนี้ คือสถานที่หลบภัยชั้นดีของผู้ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายในเมือง เพื่อใช้เวลาอยู่กับตัวเอง เสียงเพลง และหนังสือสักเล่ม ก่อนกลับไปลุยงานต่อในวันถัดไป แม้จะอยู่ไกลจากตัวเมืองเสียหน่อย แต่รับประกันว่ามาแล้วไม่รู้สึกเสียเที่ยวอย่างแน่นอน
จาก ‘สมมติ Book Café’ สู่ ‘The Alphabet Book Café’
ถึงแม้ว่าร้าน The Alphabet Book Café จะเพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ความจริงแล้วแนวคิดเรื่องการทำ Book Café ภายใต้สำนักพิมพ์สมมตินั้นถือกำเนิดขึ้นมานานแล้ว
“จุดที่เห็นได้ชัดเลยคือเมื่องานหนังสือปี 2558 เราพยายามดีไซน์ตัวบูทขายหนังสือ ให้ไม่ได้ทำหน้าที่แค่ขายหนังสือเพียงอย่างเดียว” เอกเล่าถึงช่วงเริ่มต้นที่ไอเดียเรื่องนี้เริ่มออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
ในตอนนั้น ‘จ๊อก-ชัยพร อินทุวิศาลกุล’ และ ‘ต้อง-ปิยะวิทย์ เทพอำนวยสกุล’ สองผู้ร่วมก่อตั้งสำนักพิมพ์สมมติ รวมไปถึงเอกและคนอื่นๆ ในกองบรรณาธิการ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ในฐานะที่เป็นองค์กรทำหนังสือที่มีความคิด ศิลปะ และรสนิยม ก็ควรที่จะมีพื้นที่สำหรับต้อนรับนักอ่าน ให้เขาได้รับความรู้สึกบางอย่างกลับไปพร้อมหนังสือในมือด้วย
ทำให้หลังจากนั้นหนึ่งปี ชาวกองบรรณาธิการก็เริ่มขยับหาที่ทางเพื่อก่อร่างสร้าง ‘สมมติ Book Café’ และทำออฟฟิศเป็นหลักเป็นแหล่งเสียทีหลังจากจอดรถคุยงานกันตามปั๊มน้ำมันและทางรถไฟกันมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสำนักพิมพ์
“ตอนนั้นสมมติ Book Café เป็นแค่คอนเทนเนอร์ประกอบสำเร็จสองตู้ ประกอบเป็นตัว L แล้วตีรั้วล้อมเป็นสี่เหลี่ยม ซีกหนึ่งแบ่งเป็นออฟฟิศทำงานกัน 3 คน กับรับเด็กฝึกงาน ส่วนอีกซีกเป็นที่วางขายหนังสือและเครื่องเขียนจากทางสำนักพิมพ์”
ในสองปีแรกของการทำร้าน เอกเล่าว่า สมมติ ยังไม่ใช่ Book Café แต่เป็นเพียง Book Shop ที่คนเข้ามาซื้อหนังสือและเครื่องเขียนแล้วจากไป ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของคนในทีมที่วางไว้ ทำให้ในปีที่สามมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบร้านใหม่ เริ่มจากการลองทำเมนูกาแฟง่ายๆ ที่เรียนได้จากยูทูบไว้บริการผู้มาเยือน จนกลายเป็น Book Café ในที่สุด
เมื่อหมดสัญญาเช่าจากที่เก่า พวกเขาจึงได้ฤกษ์ย้ายร้านมาไม่ไกลจากทำเลเดิมมาก แต่มีการขยับขยายร้านใหม่ให้ใหญ่และตอบโจทย์ความต้องการได้มากขึ้น
“สมมติ Book Café เป็นเหมือนพื้นที่ทดลองทำทุกอย่างของเรา ทีนี้พอได้สถานที่ใหม่ เราเลยเอาตรงนั้นมาขยายให้เกิดเป็น The Alphabet Book Café อย่างที่เห็นทุกวันนี้”
สถานที่สำแดงวัฒนธรรมแห่งการอ่าน
The Alphabet Book Café ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคมปี 2564 ท่ามกลางความเงียบสงบแต่แฝงไปด้วยพลังงานที่เติมเต็มจิตวิญญาณและอุดมการณ์ของสำนักพิมพ์
ตัวร้านสีดำตัดกับสีเขียวของต้นไม้ เสียงเพลงอังกฤษยุค 1950 – 1970 ให้บรรยากาศย้อนยุคเปิดคลอตลอดทั้งวัน คล้ายมีพลังงานบางอย่างที่เชื้อเชิญให้นักอ่านและแฟนคาเฟ่มาสัมผัส และเปิดผัสสะการรับรู้ให้มากขึ้น
“เราพยายามคุมทุกอย่างภายในร้านให้คนที่เข้ามาเกิดผัสสะการรับรู้ สายตาเห็นสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็น หูได้ยินเสียงเพลงที่ไม่ค่อยได้ยินในที่ทั่วไป หรือแม้กระทั่งกลิ่นที่แตกต่างกันออกไป” เอกเล่า
ตัวร้านแบ่งออกเป็น 3 สัดส่วนเท่าๆ กัน ไม่มีส่วนไหนน้อยกว่าหรือมากกว่ากัน ทั้งในตัวอาคาร นอกอาคาร และพื้นที่ของสำนักพิมพ์ ภายใต้แนวคิดเรื่อง ‘Space’ ส่วนที่มาของชื่อ The Alphabet เราคิดว่าทุกคนคงพอเดาได้
“จริงๆ ตอนตั้งชื่อร้าน เราก็คิดกันอยู่หลายชื่อ เพราะถ้ายังชื่อ สมมติ Book Café อยู่ มันจะจำเพาะเกินไป พอเราทำสำนักพิมพ์ที่ชื่อเข้าถึงยาก เลยคิดว่าชื่อร้านควรสื่อสารกับคนได้ง่ายขึ้นหน่อย
“ด้วยความที่ Identity ของเราคือการทำหนังสือ เราอยู่กับข้อความและตัวหนังสือตลอด เลยออกมาเป็น The Alphabet Book Café อีกอย่างคำว่า Alphabet เป็นคำทั่วไปที่คนรับรู้และเข้าใจได้อยู่แล้ว”
นอกจากนี้ เอกและทีมยังต้องการให้ The Alphabet Book Café เป็นสถานที่ที่สอดแทรกวัฒนธรรมเล็กๆ ของการอ่านหนังสือเข้าไป เป็นมากกว่าร้านหนังสือหรือคาเฟ่ทั่วไปในท้องตลาด
“ตัวสำนักพิมพ์สมมติ กับ The Alphabet Book Café มีความเชื่อและอยากทำให้สถานที่นี้เป็นพื้นที่ที่สามารถสำแดงวัฒนธรรมการอ่านอันน้อยนิดของมันออกไปได้” เขาบอกกับเราด้วยความมุ่งมั่น
ดื่มกาแฟ จิบค็อกเทล เคล้าวรรณกรรม
ขึ้นชื่อว่า Book Café ถ้าไม่มีหนังสือและกาแฟก็คงไม่ได้
เพราะแบบนี้ ภายใน The Alphabet Book Café จึงเต็มไปด้วยหนังสือจากสำนักพิมพ์สมมติกว่าร้อยปก พูดง่ายๆ ว่าถ้าคุณหาหนังสือของสำนักพิมพ์สมมติเล่มใดในร้านหนังสือทั่วไปไม่เจอ ที่นี่จะมีให้คุณแน่นอน
นอกจากนี้ยังมีหนังสือวรรณกรรม ปรัชญา และแนวอื่นๆ ที่ทางสำนักพิมพ์คิดว่าดีให้เราเลือกหยิบไปอ่านระหว่างดื่มกาแฟ ทั้งยังมีมุมขายเครื่องเขียน เสื้อยืด รูปภาพ หรือแม้กระทั่งน้ำหอมที่สอดแทรกแนวคิดและอุดมการณ์ของทางสำนักพิมพ์เอาไว้อย่างเข้มข้น
ไม่เว้นแม้แต่เมนูภายในร้านที่ตั้งชื่อโดยหยิบเอาหมวดหมู่ของหนังสืออย่าง Dystopia และ Utopia มาใช้เป็นกิมมิกเล็กๆ
“เครื่องดื่ม Dystopia ที่ว่า เป็นกาแฟดำตัดกับน้ำส้ม เพื่อให้เข้ากับหนังสือวรรณกรรมโลกสมมติ ส่วนเมนู Utopia เป็นกาแฟดำตัดกับน้ำมะพร้าวน้ำหอมสดๆ ให้ความรู้สึกสดชื่น” เอกอธิบาย
ส่วนใครเป็นสายแอลกอฮอล์ ทางร้านก็มีวิสกี้และคราฟต์เบียร์ที่จะสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาจำหน่ายเรื่อยๆ ในราคาที่เป็นกันเอง
แต่ที่เด็ดสุดคงหนีไม่พ้น ‘Secret Drink’ เมนูค็อกเทลที่เป็นซิกเนเจอร์ของร้าน “เราจะให้ลูกค้าตอบคำถามสั้นๆ สามข้อ แล้วจะเอาคำตอบที่ได้นั้นมาตีความทำเป็นเครื่องดื่มให้”
“ถือเป็นเมนูที่หลายคนชอบ เพราะเราตั้งต้นราคาขายที่หนึ่งร้อยสิบสองบาท แต่เราไม่เอามาตรา 112 เลยขายอยู่ที่หนึ่งร้อยสิบเอ็ดบาท” ผู้จัดการร้านเล่าถึงกิมมิกเล็กๆ ที่สะท้อนจุดยืนของพวกเขา โดยที่ลูกค้าบางคนก็ไม่รู้
ส่วนสายน็อนแอลกอฮอล์ที่ฟังแล้วอยากลองดื่มเมนูนี้บ้าง ก็ไม่ต้องเศร้าใจไป ทางร้านพร้อมทำ Secret Drink เวอร์ชันม็อกเทลให้ได้ เพียงแค่กระซิบบอกกัน
พื้นที่ปลอดภัย คอมมูนิตี้ใหม่สำหรับชาร์จพลัง
“ปกติแล้วที่นี่เปิดวันพฤหัสบดีถึงวันจันทร์ และปิดวันอังคารกับพุธ เพราะเราคิดว่าคาเฟ่ส่วนใหญ่มักปิดวันจันทร์ เราเลยเปิดร้านไว้เผื่อมีใครอยากหากาแฟดื่มในวันนั้น จะได้แวะมานั่งกินที่ร้านหรือสั่งเดลิเวอรีได้” เอกเล่าด้วยรอยยิ้ม
“ส่วนเหตุผลที่ที่นี่เปิดตั้งแต่สิบโมงถึงสองทุ่ม เพราะเราอยากให้พื้นที่ตรงนี้กลายเป็นสถานที่ที่คนมาแวะพัก หลบฝนตกรถติดช่วงหลังเลิกงานให้หายเหนื่อย แล้วค่อยกลับบ้านไปพักผ่อน เพื่อลุยกันใหม่ในวันพรุ่งนี้
นอกจากเรื่องวันเวลาเปิด-ปิดร้านที่ต้องการตอบ Pain Point ของชาวคาเฟ่แล้ว ความตั้งใจของเอกคืออยากเห็น The Alphabet Book Café ไม่ใช่แค่คาเฟ่ แต่เป็นคอมมูนิตี้ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ชื่นชอบอะไรเหมือนกัน มาพูดคุยแลกเปลี่ยนแนวความคิด และได้ใช้ชีวิตอยู่กับตัวเองมากขึ้น อาจมีการจัดอีเวนต์เปิดตัวหนังสือ วันสำคัญๆ หรือใครอยากนำผลงานศิลปะของตัวเองมาจัดแสดง ทางร้านก็ยินดีต้อนรับเสมอ
“ทุกอย่างมันคือจิตวิญญาณเก่าๆ ที่พวกเรารับกันมารุ่นต่อรุ่น อนาคตอาจมีการเขียนหรืออ่านบทกวีให้ลูกค้าที่มาร้านก็เป็นได้ แต่ต้องรอวันที่คนเกิดความเข้าใจและไม่เขินกันเสียก่อน” เอกหัวเราะเบาๆ
ก่อนจากกัน เขายังบอกกับเราอีกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากทำให้ The Alphabet Book Café กระจายตัวตั้งเป็นร้าน pop up เล็กๆ ในหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย เพื่อที่เมืองไทยจะได้กลายเป็นสังคมแห่งการอ่าน และมีพื้นที่ให้สำนักพิมพ์เล็กๆ ได้เติบโต
The Alphabet Book Café
เวลาทำการ : พฤหัสบดี-จันทร์ (ปิดวันอังคารและพุธ) เวลา 10.00 – 20.00 น.
ที่ตั้ง : ซอยสุขาภิบาลบางระมาด 5/1 ถนนสุขาภิบาลบางระมาด แขวงศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ใกล้ Paseo Park กาญจนาภิเษก/สมาคมชาวปักษ์ใต้/พุทธมณฑลสายสอง
แผนที่ : https://goo.gl/maps/NapQ2mpku3Nv9s8i9
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/alphabetbookcafe.bkk