คุยถึงหนังสือเด็กกับ ศรีสมร โซเฟร วาดหวังหนังสือ - Urban Creature

หลังเหตุการณ์ไล่บี้หนังสือเด็กในเดือนตุลาคม 2564 กลุ่มวาดหวังหนังสือยังคงผลิตหนังสือสม่ำเสมอ ขณะนี้มีถึงชุดที่ 4 ‘เป็นสุขที่สงสัย’ และมีแพลนทำหนังสือเด็กต่อไป

นิทานเด็กของกลุ่มวาดหวังหนังสือช่วยเปลี่ยนภาพจำของหนังสือเด็กที่มักเล่าเรื่องการส่งเสริมพัฒนาการหรือทักษะเรียบง่าย เพราะหนังสือเด็กนี่เองที่สามารถปูความรู้เรื่องชีวิต การเมือง หรือเพิ่มแง่มุมสดใหม่ในเรื่องเดิมๆ อย่างการเขียน ก.ไก่ ข.ไข่ ขณะเดียวกัน ช่วงโควิด-19 หนังสือเด็กกลายเป็นเทรนด์ของพ่อแม่ยุคใหม่ที่พร้อมลงทุนให้ลูกและได้ใช้เวลาด้วยกัน

ก่อนคุยกับ ‘หมอน-ศรีสมร โซเฟร’ เจ้าของนามปากกา ‘สองขา’ ผู้เขียนหนังสือเด็กและผู้ก่อตั้งวาดหวังหนังสือ เธอเปรยว่า ต้องขออภัยหากมีเสียงเครื่องบินรบกวน เพราะนับตั้งแต่เธอเป็นครูโรงเรียนรัฐไทยบนดอยของชาวกะเหรี่ยง สอนเด็กที่อเมริกา ปัจจุบันเธอและครอบครัวอยู่ที่อิสราเอล (บ้านเกิดของสามี)

ท่ามกลางสงครามฮามาส-อิสราเอล ที่กำลังดำเนินไป เราคุยกันเรื่องหนังสือนิทานเด็ก ชวนมองถึงวงการหนังสือเด็กไทย ความสำคัญของนิทานและการดูแลเอาใจใส่เด็ก เพราะเชื่อว่าในท้ายสุด เด็กๆ ย่อมเติบโตเป็นผีเสื้อในโลกกว้าง โบยบินสู่อนาคตที่ต้องแบกรับโลกของผู้ใหญ่ในวันนี้

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา หมอน-ศรีสมร โซเฟร สองขา

คุณเริ่มต้นจับงานหนังสือเด็กได้อย่างไร

เราจบปริญญาตรีประวัติศาสตร์ที่ ม.เกษตรฯ พอเรียนจบก็ทำงานที่เชียงใหม่ เมื่อถึงวันหยุดได้เดินทางท่องเที่ยว ได้เจอครูดีในหลายๆ แห่ง จึงอยากเป็นครู ตอนนั้น (พ.ศ. 2530) เป็นปีแรกที่จบสาขาอะไรมาก็สอบเป็นข้าราชการครูได้ เป็นแล้วชอบ ติดใจ เรารู้สึกว่าเด็กมีความจริงใจ คิดอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไร เขาก็ถาม แสดงออกเดี๋ยวนั้น แล้วงานของเรามีฟีดแบ็กเดี๋ยวนั้น ทำให้เราสนุก เราคงมีความเป็นเด็กในตัวอยู่ด้วยแหละ

เราเลือกสอนโรงเรียนเด็กกะเหรี่ยงในเขตทุ่งใหญ่ฯ สังขละบุรี มันเปิดโลก เราอยากเขียนสื่อสารออกมา เพราะเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ภาพชาวเขายังเป็นชาวเขา ไม่ใช่ชาวเรา ถูกเหยียด ถูกมองว่ากินหมาดำ ไม่อาบน้ำ หรืออีกมุมก็โรแมนติไซซ์ว่ามันสวยน่าอยู่เพราะอยู่บนยอดดอย แต่เราอยากเขียนเล่าประสบการณ์ในมุมอื่น เขียนไปลงที่แพรว เปรียว (ที่ละหนึ่งเรื่อง) และลงที่สตรีสาร ภาคพิเศษหลายปี สุดท้ายกลายเป็นหนังสือรวมเล่ม ดอกไม้บนภูเขา เรื่องเล่าจากหมู่บ้านกะเหรี่ยง เราอยากเล่าประสบการณ์ของเด็ก อยากให้เขารู้ว่าตัวเองพิเศษ ยูนีก อยากให้เขามั่นใจในตัวเอง

จากนั้นหลายปีกว่าจะได้เขียนเล่มอื่น เพราะงานครูก็หนักหนาและแทบไม่มีเวลาทำอะไร เล่มต่อมาเป็นหนังสือภาพ หนูรักหนังสือ ตอนนั้นหมอนไปเรียนต่อและเป็นครูด้านเด็กพิเศษที่อเมริกา มาเริ่มเขียนหนังสือจริงจังหลังจากย้ายมาอยู่อิสราเอลเมื่อปี 2006

แล้วโปรเจกต์วาดหวังหนังสือเกิดขึ้นได้อย่างไร

ช่วง 2 – 3 ปีก่อน มีมูฟเมนต์ทางการเมืองเยอะ (การเคลื่อนไหวทางสังคมในสมัยรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เราก็อยากสื่อสาร อยากจะพูดออกไป จะให้พิมพ์ด่าก็ไม่ใช่นิสัยของเรา จะให้เป็นเพียงท่อน้ำเลี้ยงก็รู้สึกว่าแค่นั้นยังไม่พอ จึงคิดทำอะไรที่เราถนัดดีกว่า ก็เลยทำเป็นหนังสือเด็ก

จริงๆ เคยเขียนบางเรื่องส่งให้สำนักพิมพ์อื่นๆ แต่เขาไม่สะดวกพิมพ์ เราก็พิมพ์เองแล้วกัน ไปแคะกระปุกดู ทำเท่าที่พอมีทุนมีแรง แต่เราทำคนเดียวไม่ไหวหรอก เพราะเคยแต่เขียน แต่ไม่เคยทำหนังสือเอง ก็ชวนเพื่อนๆ ในเฟซบุ๊กที่เราชื่นชมมาช่วยกันทำค่ะ แทบทั้งหมดไม่รู้จักกันนะ มีคนเดียวที่รู้จักดีคือเพื่อนสมัยเรียนเกษตรฯ เราชวนให้เพื่อนช่วยมาเป็นผู้จัดการ ส่วนเราจะดูเรื่องงานเขียน ติดต่อคนเขียน คนวาด โรงพิมพ์ และประสานงาน เพื่อนๆ ก็ช่วยกันดูเรื่องเนื้อหา เป็นที่ปรึกษา ช่วยกันเต็มที่

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา หมอน-ศรีสมร โซเฟร สองขา

เหตุการณ์ไล่บี้นิทานวาดหวังชุดที่ 1 ต้นกล้า ฟ้าใหม่ ปี 2564 ส่งผลกับการทำงานหลังจากนั้นในแง่ไหนบ้าง

กลัวเลย (หัวเราะ) เพราะตอนทำพวกเราไม่ได้คิดอะไร อย่างที่พี่หนูหริ่ง (สมบัติ บุญงามอนงค์) คนเขียน แค็ก! แค็ก! มังกรไฟ บอกว่า เหมือนแค่เห็นชื่อคนเขียนก็หาเรื่องแล้ว เราเชื่อนะว่า คนที่มาหาหรือทางกระทรวงศึกษาเขาคงยังไม่ได้เปิดอ่านด้วยซ้ำ ดูจากที่เขาแถลงออกสื่อ บอกมาได้ว่ามี 5 เล่มที่ไม่มีคำ มีแต่รูป จะทำให้เด็กเข้าใจผิด เราก็เอ๊ะ! เพราะที่จริงมีเฉพาะ 10 ราษฎร เล่มเดียวเท่านั้นที่ไม่มีคำ เล่มอื่นๆ อีก 7 เล่ม มีเนื้อเรื่องที่เป็นถ้อยคำในแทบทุกหน้าทุกเล่มค่ะ ถ้าไม่ใช่พี่หนูหริ่งหรือพี่ทราย (อินทิรา เจริญปุระ) เขียน มันจะเป็นประเด็นมั้ย

พอมีนางกวักมา ขอบคุณมากค่ะ (ยิ้ม) ช่วยให้นิทาน 17,000 เล่ม ขายหมดพรึ่บเดียวในไม่กี่วัน หลายคนอยากอ่านแต่ซื้อไม่ทันก็อยากให้พิมพ์เพิ่ม พวกเราคิดว่าจะเอายังไงดี เลยปรึกษากับพี่หนูหริ่ง เพราะพี่เขาก่อตั้งและทำมูลนิธิกระจกเงา แล้วมีโปรเจกต์เยอะแยะไปหมด ทั้งผู้ป่วยติดเตียง จ้างวานข้า ไร่ส้มวิทยา ดับไฟป่า ฯลฯ

พอวาดหวังชุดแรก ต้นกล้า ฟ้าใหม่ ขายได้ เราไม่ได้หวังกำไร แค่หักต้นทุนเพื่อไว้ทำชุดใหม่ต่อไป แล้วเอากำไรโอนให้กลุ่มต่างๆ ที่ทำเพื่อสังคม ก็ถามพี่หนูหริ่งว่าโอนให้กระจกเงาตรงไหนดี พี่ก็แนะให้โอนเข้ากองทุนภัยพิบัติ ที่ทำเรื่องไฟป่าที่ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจค่ะ

ตอนเป็นข่าวแรกๆ หมอนดีใจนะ หนังสือจะได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้คุยกัน แต่เขาไม่ได้อยากคุยกับเรา เขาอยากจับ เขาอยากกดหัวให้คุณเงียบ เขาอยากปิดปากไล่บี้นิทานมากกว่า คิดว่าเขาตั้งใจเชือดไก่ให้ลิงดู ทำให้กลัว ห้ามออกนอกกรอบ เราโดนหมายขายตรง ก็ไปตามหมาย ถูกสันติบาลเรียกไปคุย ฯลฯ แต่เราไม่ผิด ก็ไม่สามารถเอาผิดได้ หลังจากนั้นก็พิมพ์ชุดแรก ต้นกล้า ฟ้าใหม่ เพิ่มในนามมูลนิธิกระจกเงาของโครงการอ่านสร้างชาติ จนถึงชุดปัจจุบัน ซึ่งเป็นชุดที่ 4 เป็นสุขที่สงสัย ก็พิมพ์ในนามกลุ่มวาดหวังหนังสือ มูลนิธิกระจกเงา

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

ในฐานะคนเขียนนิทานเด็กตั้งแต่ชุด ป๋องแป๋ง จนถึงทำกลุ่มวาดหวังหนังสือ มองว่าวงการของนิทานเด็กในไทยเป็นอย่างไร คึกคักแค่ไหน

เปลี่ยนไปเยอะนะ ยิ่งพอมีโควิด-19 คนทำงานจากบ้านมากขึ้น มีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น ทำให้หนังสือสำหรับเด็กเล็กขายดีขึ้น คนที่มีกำลังซื้อเขาก็ซื้อ และปัจจัยสำคัญคือการมีอินเทอร์เน็ตแพร่หลายราว 20 ปีก่อน หนังสือเด็กของไทยเริ่มกว้างมากขึ้น เนื้อหา รูป และรูปแบบหลากหลายขึ้น อย่างของสำนักพิมพ์ห้องเรียน เขาทำความรู้ด้านต่างๆ ความรู้รอบโลก สัตว์ธรรมชาติ เรื่องขำขัน หรือ เรื่องเล่าขานผ่านฮูปแต้ม ของอาจารย์อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย ก็เล่าเรื่องจิตรกรรมงานศิลป์ในภาคอีสาน

หรืออย่างสำนักพิมพ์สานอักษรที่ทำเรื่อง ขอยืมชื่อหน่อย เล่าถึงต้นไม้ชื่อนี้มาจากอะไร ยืมชื่อมาจากสัตว์ตัวไหน หรือนิทานของมูลนิธิเด็ก ผจญภัยในห้องน้ำ ซึ่งรูปวาดข้างในดาร์กมาก (ผลงานของกัลยา เกษมสุขสกุล) แล้วมีคนกลุ่มเล็กๆ ทำสำนักพิมพ์ ทำหนังสือกันมากขึ้น อย่าง afterword ที่ทำหนังสือด้วยการระดมทุน เราก็ส่งต้นฉบับไปและได้คลอดออกมาเป็นหนังสือเด็ก คือเรื่อง บ้านเลี้ยงเดี่ยว, พ่อไม่ได้ท้อง, เด็กแว่น

ในระยะ 5 – 7 ปีที่ผ่านมา มีการแปลหนังสือเด็กเข้ามาเยอะมาก เมื่อก่อนมีจากญี่ปุ่น อังกฤษ พักหลังมีหนังสือเด็กจากจีน เกาหลีใต้ ฟินแลนด์ เยอรมนี คือแปลตรงเยอะขึ้น แต่ก็ห่วงว่าหนังสือแปลจะเยอะไปมั้ย แล้วเด็กไทยต้องรู้จักหิมะ รถลากเลื่อน คริสต์มาส ก่อนรู้จักฝนและแดดเมืองร้อนของบ้านเราหรือ…

คิดว่าสำนักพิมพ์ใหญ่ที่เปิดแผนกหนังสือเด็ก เขาเริ่มทำหนังสือแพง เมื่อก่อนจะมีสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช ชมรมเด็กของพี่โบตั๋น (สุภา สิริสิงห) ที่ทำหนังสือเด็กราคาไม่แพง ไม่กี่สิบบาท พอสำนักพิมพ์ใหญ่มาจับหนังสือเด็กแล้วทำเป็นปกแข็ง ก็ตกเล่มละ 200 – 300 บาท ยิ่งหนังสือแปลก็ยิ่งแพง เข้าใจว่าเป็นเพราะซื้อลิขสิทธิ์มา แต่อยากให้มีการสนับสนุนผลงานของนักเขียนนักวาดไทยมากขึ้น ทั้งเนื้อหาก็จะเข้ากับบริบทเหมาะกับเด็กไทยมากขึ้น

สิ่งที่เราเห็นวงการเปลี่ยนแปลงอีกอย่างหนึ่งคือ การมี Facebook มี TikTok มีหลายพื้นที่ มีอินฟลูเอนเซอร์ที่เป็นหมอ นักจิตวิทยา ครู หรือคนดังมาเขียน ช่วงที่เราไปงานมหกรรมหนังสือที่ไทย เราก็ไปยืนดูมุมหนังสือเด็ก แล้วเห็นว่าพ่อแม่หลายคนเลือกซื้อหนังสือที่หมอหรือเพจต่างๆ แนะนำอย่างที่ไม่ได้เปิดอ่านหรือเปิดดูข้างในเลย ดีที่หนังสือเด็กได้รับความสนใจมากขึ้น คิดอีกมุม เป็นมุมที่น่าเป็นห่วง มีคำแนะนำก็ดี แต่พ่อแม่ต้องมีวิจารณญาณของตัวเอง เพื่อดูว่าเล่มไหนเหมาะกับลูกเรา มีความเปลี่ยนแปลงเยอะ ซึ่งโดยรวมเป็นเรื่องที่ดี

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

แล้วเรื่องเล่าสำหรับเด็กต้องเล่าผ่านเฉพาะรูปแบบของหนังสือเล่มเท่านั้นหรือ

ไม่จำกัดรูปแบบ แต่สำหรับเด็กเล็กๆ หนังสือเล่มยังเป็นสื่อที่จำเป็นมาก หมอนเป็นครูมาตลอด ที่บ้านก็มีหลานสองคน วัย 8 เดือนและ 2 ขวบ ยิ่งทำให้เราเห็นว่า หนังสือเล่มที่เปิดได้ถือได้ เป็นสื่อที่ดีและเหมาะสำหรับเด็ก เมื่ออาทิตย์ที่แล้วอากาศอุ่น เราเลยเปิดประตู นกบินเข้ามา บินไปชนหน้าต่าง เราก็เปิดหน้าต่างให้นกออก เราบอกกับหลานที่กำลังหัดพูดว่า ‘ปล่อยนก’ หรือ ‘Free the Bird’ 2 – 3 ชั่วโมงต่อมา เด็กยังไม่ถึงสองขวบก็มาหาเล่ม เสียงร้องของผองนก คือเขาจำได้ และเปิดมาหน้าท้ายๆ น้องชี้และบอกว่า ‘ปล่อยนก’ ‘Free Bird’ ‘นกบิน’ สักพักเขาเดินไปที่ประตู แต่เรามีที่กั้นเพราะกลัวเขาตกบันได แล้วเขาก็บอกว่า ‘Free Ron’ (ชื่อหลาน พ่อเป็นคนอเมริกัน) หรือตอนที่ไม่สบายแต่ยังสื่อสารไม่ได้ น้องก็เปิดป๋องแป๋งไม่สบาย แล้วชี้ให้ดูว่าน้องเจ็บคอ ไอ และปวดหัวนะ

หนังสือเป็นพื้นที่ที่ให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองได้สื่อสารพูดคุยกับเด็ก นอกจากเราเสริมความรู้เขา ยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น นั่งคาร์ซีต ถูกลืมและติดอยู่ในรถจะทำยังไง ช่วยให้รอดชีวิต ช่วยให้รู้ว่าเขาคิดอะไร แล้วกับเด็กที่อยู่ในวัยเรียนรู้การสื่อสาร เขาได้ใช้ภาพ แล้วก็มาจิ้ม มาชี้ มาบอก คือเขาสามารถบอกได้ว่าตอนนี้อยากคุยเรื่องอะไร หนังสือภาพสำหรับเด็กสำคัญมาก ช่วยเพิ่มคลังคำ เด็กได้ความรู้ ช่วยสื่อความรู้สึกนึกคิด เสริมสร้างจินตนาการ พัฒนาทักษะ และช่วยให้ผ่านก้าวข้ามเรื่องยากลำบากได้ง่ายขึ้น เช่น จะเลิกใช้ขวดนม จะนั่งกระโถน ที่บ้านมีคนเจ็บ คนตาย ฯลฯ หนังสือมีรายละเอียด และเราไม่ได้ต่อต้านฟอร์แมตอื่นๆ นะ แท็บเล็ตมีข้อดี แต่ควรใช้สำหรับเด็ก ป.2 ขึ้นไป เพื่อที่เด็กๆ จะได้เสิร์ชค้นหาความรู้ความเข้าใจในโลกได้กว้างไกลยิ่งขึ้น

สิ่งหนึ่งที่หนังสือต่างจากหน้าจอคือ เราปล่อยเด็กไว้กับหนังสือที่เราเลือกมาแล้วได้ แต่เราปล่อยเด็กไว้กับหน้าจอไม่ได้ เราไม่รู้ว่ามันจะพาเขาไปถึงไหน หนังสือปลอดภัยกว่า เราปล่อยเด็กได้ เขาดูรูป เขาก็เห็นรายละเอียดเยอะขึ้น ไม่มีเสียงมารบกวน เด็กได้โฟกัส และมีวิจัยออกมามากมายว่า เด็กก่อน 3 ขวบไม่ควรอยู่กับหน้าจอ

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา หมอน-ศรีสมร โซเฟร สองขา

ศตวรรษนี้มีความรุนแรงเกิดขึ้นทั่วโลก แล้วหนังสือเด็กควรเล่าเรื่องแบบไหน ยังต้องเล่าเฉพาะเรื่องเรียบง่ายหรือเปล่า

หนังสือเด็กต้องมีความหลากหลายให้เด็กได้เลือก ถามว่าหนังสือนิทานเด็กต้องเล่าแต่เรื่องเรียบง่ายมั้ย วาดหวังหนังสือชุดใหม่ล่าสุด (ชุดที่ 4) เป็นสุขที่สงสัย เราเชิญอาจารย์โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อาจารย์ปรัชญา มาเขียนเรื่อง ฉันคือใคร คือใครนะ? อาจารย์เขียนอธิบายไว้ข้างหน้าว่า ปรัชญาแบบนี้ เป็นปรัชญาในทุกยุคทุกสมัยของมนุษย์ เราทุกคนเคยมีคำถามวาบขึ้นมาว่า ฉันเกิดมาทำไม ฉันเป็นใคร เป็นลิงหรือเปล่า ทำไมลิงไม่เป็นคน แล้วคนไม่เป็นลิง ถ้าน้าข้างบ้านเปลี่ยนชื่อไปแล้ว ตัวเขาจะเปลี่ยนไปด้วยมั้ย ชื่อสำคัญกับความเป็นฉันมากแค่ไหน ฉันเป็นลิงหรือเป็นโฮโมเซเปียนส์หรือเป็นนักวอลเลย์บอล กระทั่งเราอาจเคยสงสัยว่า ดูกระจกแล้วคนในกระจกเป็นใคร ฯลฯ คือแทบทุกคนในทุกๆ วัย เคยมีคำถามเหล่านี้ แต่ไม่มีหนังสือเด็กของไทยให้คำอธิบายหรือเปิดพื้นที่สื่อสารเรื่องนี้กับเด็กๆ

เราอาจมองว่าเป็นเรื่องตื้นๆ ที่เด็กอยากรู้ ทั้งที่จริงเป็นเรื่องลึกและกว้าง เป็นเรื่องสำคัญ พอเรารู้ว่าเราเป็นใคร เราอยากเป็นอะไร มันเสมือนไฟฉายส่องทาง ให้แนวทางชีวิต ช่วยกำหนดตัวเองคร่าวๆ ได้ หนังสือเด็กมีทั้งลึกและกว้าง ทั้งใกล้และไกล เหมือนการเรียนรู้ที่มีหลายมิติ ไม่ใช่เรียนรู้ได้จากการท่องจำอย่างเดียว แต่เรียนรู้ได้จากการ Hands-on หรือการปฏิบัติ การเดินทาง การไปรู้จักผู้คน การอ่าน การฟัง การพูดคุยแลกเปลี่ยน การทดลอง การตั้งคำถาม ฯลฯ

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

คุณจะเก็บเด็กไว้ในโลกแคบๆ ไม่ได้หรอก เมื่อ 10 ปีก่อน หมอนไปโปแลนด์ ไปค่ายกักกันเอาช์วิตซ์-เบียร์เคอเนา เขามีหนังสือเด็กเกี่ยวกับค่ายกักกัน ชีวิตหม่นมัว สงคราม ความสูญเสีย ไร้ความหวัง รวมทั้งความหวัง ความฝัน การต่อลมหายใจให้รอด มีหลายเล่ม ที่เด่นๆ คือ บันทึกลับของแอนน์ แฟรงก์ หนังสือเหล่านี้เขียนจากชีวิตและเหตุการณ์จริงในช่วงนั้นที่เด็กๆ และครอบครัวเผชิญอยู่

อย่างวาดหวังชุด 3 ตุลาประชาชน เรื่อง ชีวิตเล็กๆ ของเด็กชายวาฤทธิ์ สมน้อย ที่ถูกยิงตายตั้งแต่อายุ 15 ปี แล้วที่บ้านเขามีน้องเล็กๆ สามคน อายุ 2 – 6 ขวบ เราก็ทำเรื่องนี้ออกมา คือความตายอยู่ใกล้ตัวเด็ก พี่ที่เขารักถูกพรากไปจากชีวิตของพวกเขา จะไม่ให้เด็กๆ รู้สึกหรือพูดถึง ถามถึง หรือรำลึกถึงเลยหรือ…

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

ตอนแรกมีคนถามว่าจะทำเนื้อหาเกี่ยวกับตุลาฯ ได้อย่างไร เพราะเหตุการณ์ตุลาฯ มีคนเสียชีวิต มีคนถูกกระทำเยอะมาก พี่ชายหมอนก็เป็นหนึ่งในนั้น หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พี่ชายหมอนก็โดน หลายบ้านโดน แล้วโดนกันเยอะ เราจะเก็บเด็กไว้ในโลกสวยงามหรือแค่พัฒนาการตามวัย นั่งกระโถน นั่งอ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ มันไม่ได้ ชีวิตเด็กมีหลายส่วน หลายมิติ หลายแง่มุม

หรือเรื่อง ตัวไหนไม่มีหัว เป็นเรื่องที่ให้เด็กหัดเขียนหนังสือ ในเรื่องมีการพูดคุยของพยัญชนะ ซึ่ง ช.ช้าง ต.เต่า มีหัว แต่ ล.ลิง เห็นว่า ก.ไก่ กับ ธ.ธง ไม่มีหัว จึงล้อและบุลลี่ ก.ไก่ กับ ธ.ธง ก.ไก่ ก็บอกว่า ถึงฉันไม่มีหัว แต่ฉันเป็นตัวแรก ธ.ธง บอกว่า ถึงแม้ธงไม่มีหัวแต่อยู่ที่สูงนะ มันทะเลาะกัน บุลลี่กัน ซึ่งการบุลลี่กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมไทย

อย่างเราถูกล้อว่าเตี้ยดำ แล้วพอถูกล้อ เราก็ไปล้อคนอื่น สุดท้าย ฮ.นกฮูก ตื่นมาก็บอกว่า ดูสิ ถ้า ก.ไก่ มีหัว มันจะกลายเป็น ถ.ถุง หรือ ภ.สำเภา แล้วถ้าหัวทุกตัวหันไปทางเดียวกัน เราจะรู้ได้ไงว่าใครเป็นใคร เหล่าพยัญชนะก็เริ่มเข้าใจและเปิดใจอยู่ร่วมกันในความแตกต่างอย่างหลากหลาย เด็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอนุบาลชอบเรื่องนี้มาก พอสอนแล้วเด็กได้คิด ได้มอง เด็กๆ ได้เห็นว่าตัวหนังสือมันมีชีวิตขึ้นมา

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

มีวิธีจับคอนเซปต์เรื่องการบุลลี่เข้ากับพยัญชนะไทยยังไง เพราะดูเป็น 2 เรื่องที่ไกลกันมาก

เพราะตอนเป็นเด็กเราถูกบุลลี่มา แล้วเราก็บุลลี่คนอื่นตามธรรมเนียม มันล้อมาเราล้อกลับ แล้วเราก็คิดมาตั้งแต่เด็ก เราเคยถามครูว่า ทำไม ก.ไก่ ไม่มีหัว ครูก็บอกเงียบเลย หยุดเลย อย่ามาถาม นอกจากนั้น เราเคยเป็นครูสอนภาษาไทยที่คอร์เนล สอนเด็ก ป.ตรี ถึง ป.เอก นักศึกษาเคยถาม ทำไม ก.ไก่ ไม่มีหัว ตอนย้ายมาอยู่ที่นี่ (อิสราเอล) หมอนก็สอนภาษาไทยที่สถานทูต คนก็ถามว่า ทำไม ก.ไก่ ไม่มีหัว ทำไม ล.ลิง ถึงเป็นรูปนี้ ล.ลิง เติมหาง กลายเป็น ส.เสือ ได้ยังไง ทำไม ด.เด็ก หัวเข้า ทำไม ค.ควาย หัวออก พยัญชนะเป็นประตูเปิดให้เด็กรู้จักเสียง สัญลักษณ์แทนเสียง รู้จักประสมคำ ที่ช่วยให้เด็กอ่านได้ อ่านเองได้ เราอยากทำให้มันน่าสนใจขึ้น ไม่ใช่แค่ท่อง ก.ไก่ ข.ไข่

ตอนนั้นเขียนเรื่องนี้ส่งไปประกวดกับมูลนิธิเด็กในปี 2554 แล้วได้รางวัลดาวรุ่ง เราคิดว่าเล่มนี้น่าทำ เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กที่สุด เรารักหนังสือ รักเด็ก อยากให้เด็กอ่านออก แล้วก็คิดว่าเรื่องนี้แหละน่าสนใจ จะช่วยให้เด็กอยากอ่าน ไอเดียผลิมาเรื่อยๆ คล้ายเป็นสุขที่สงสัย จากการได้อยู่ใกล้เด็ก เด็กกะเหรี่ยงก็สงสัย ทำไมตัวไทยเป็นแบบนี้ ทำไมตัวกะเหรี่ยงเป็นแบบนี้ ไปสอนคนต่างชาติ สอนเด็กลูกครึ่ง เขามีคำถาม เราเลยได้รับคำถาม ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนมาจากหลายแห่ง หลายมุม หลายสิบปี พอวันหนึ่งอยากเขียน มันก็ออกมา ที่สำคัญคือเราจะสื่อสารประเด็นอะไร

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา หมอน-ศรีสมร โซเฟร สองขา

ในเรื่องตัวไหนไม่มีหัว เราอยากสื่อสารว่า พยัญชนะ 44 ตัว ไม่ว่าคุณเป็นใคร คุณไม่ต้องเหมือนกัน คุณมีความพิเศษในตัวเอง ได้เป็นตัวของตัวเอง ถ้าเป็นเหมือนกันหมด เราจะประสมคำ จะมีคำแต่ละคำ จนเป็นถ้อยคำ เป็นเรื่อง เรียงร้อยออกมาเป็นหนังสือได้อย่างไร ทุกคนทุกตัวพยัญชนะที่แตกต่างกันล้วนมีค่าเท่ากัน แม้ว่าเราไม่เหมือนกัน

อย่างคนชอบเปรียบเทียบว่า นิ้วมือยังไม่เท่ากันเลย คนจะเกิดมาเท่ากันได้ไง ก็ใช่ไง นิ้วมือยังไม่เท่ากัน มันเป็นธรรมชาติของนิ้ว ถ้าคุณจะเปรียบอย่างนี้ มาดูสิว่าทำไมรูจมูกถึงเกือบเท่ากัน หรือทำไมรูหูถึงเท่ากัน และถึงธรรมชาติของนิ้วมือจะไม่เท่ากัน แต่ก็ต้องมีสิทธิ มีโอกาสเท่าๆ กันหรือไม่ต่างกันมาก อย่างในช่วงโควิด เราไม่ได้ล้างมือเฉพาะนิ้วที่ยาวที่สุดใช่มั้ย เราก็ล้างหมดทั้งมือ ทุกนิ้ว นิ้วต้องได้รับการดูแลเท่าๆ กัน แล้วแต่ละนิ้วมีประโยชน์ มีคุณค่าของมัน เช่น การเขียน ถ้ามีสองนิ้วเราเขียนไม่ได้ คนไทยชอบเปรียบว่า นิ้วมือไม่เท่ากัน บุญวาสนาไม่เท่ากัน ก็นั่นไง เราถึงต้องสร้างโอกาสดูแลเขาให้เท่าๆ กัน

เหมือนเอาเรื่องใกล้ตัว กระทั่งเป็นคอนเซปต์ใหญ่ มาเล่าใหม่

ใช่ เรื่องพวกนี้ใกล้ตัว และอยู่ในชีวิตของเด็กๆ ของผู้คนจริงๆ พูดถึงเรื่องเล่าใหม่ เมื่อปี 2023 มีคนกลุ่มหนึ่งทำกล่องหนังสือ Nine Folk Tales ที่เอานิทานไทยมาเล่าใหม่ ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่ ตาอินกับตานา แก้วหน้าม้า ฯลฯ เห็นแล้วรู้สึกดีนะ ชอบที่ชวนฉุกให้คิด ให้มองในหลายๆ มุม อยากให้มีคนทำหนังสือพวกนี้ออกมาเยอะๆ แล้วพอมีคนทำ ก็มีคนสนใจ ขยายความสนใจ ความใฝ่รู้ ความจริง ความน่าจะเป็น ให้กระเพื่อมออกเป็นวงกว้างทางลึก ช่วยกันต่อยอดต่อไปในหลายๆ ทาง

ถ้าอย่างนั้นคุณมองว่าหัวใจสำคัญของนิทานเด็กควรมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เราไม่ได้เรียนด้านนี้มา ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ เราเคยเป็นเด็กที่ชอบถาม ชอบติดตามความเป็นไปรอบตัว ชอบเขียนบันทึก ชอบอ่าน ได้เป็นครู เป็นแม่ เป็นยาย และเป็นคนทำงานกับเด็กๆ มาหลายปี มองว่าหนังสือเด็กต้องน่าสนใจ ถ้าสำหรับเด็กเล็ก ยิ่งต้องสนุก ทำให้เขาอยากเปิดหน้าต่อไป อ่านแล้วมีความสุข อยากกลับไปเปิดอ่านอีก

เราอาจมีหนังสืออ่านสนุก อ่านแล้วมีความสุข ช่วยให้ภูมิใจในตัวเอง แต่ก็ต้องมีหนังสือที่บอกเล่าถึงความหลากหลาย ความจริง เพราะรอบตัวเด็กมีหลายมิติ เช่น เราเขียนเกี่ยวกับ LGBTQ+ ในเรื่อง เต่าทองสองสี? เรื่องมาจากความสงสัยของเด็กที่เรารู้จัก เขาคิดว่าเต่าทองมี 2 สี คิดว่ามีเพียงจุดสีดำบนตัวสีแดง แต่พอได้เห็นความจริงในธรรมชาติ เต่าทองมีหลายสีมาก เหมือนกับเพศ แม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิงและเพศชาย แต่ก็มี LGBTQ+ อยู่ด้วย เรื่องนี้นำเสนอว่า น้าผู้หญิงมีแฟนเป็นผู้หญิง เขาแต่งงานกับผู้หญิง ไม่ได้มีใครถูกหรือผิด หากจะคิดว่าเต่าทองมีกี่สีกันแน่ ตรงนั้นไม่ใช่ประเด็น แต่เป็นการจูงใจให้เห็นว่า สิ่งนั้นอาจเป็นอย่างนี้ก็ได้ คล้ายช่วยเปิดใจให้กว้าง

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา

ช่วงที่เราเป็นครูที่ไทย เด็กมักถามว่า จะมีวันสำคัญของกะเหรี่ยงบ้างมั้ย เช่น วันฟาดข้าว ซึ่งเป็นวันหลังเกี่ยวข้าวแล้วฟาดข้าวขึ้นยุ้งฉางครั้งแรก เราก็บอกว่า วันนั้นมีอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในแบบเรียน ซึ่งสมัยที่เราเป็นครู หลักสูตรการศึกษาของไทยคับแคบมาก โรงเรียนติดป้ายว่า ‘เขตโรงเรียน ห้ามพูดภาษาถิ่น’ เราตกใจ เพราะทั้งหมู่บ้านมีคนไทยแค่ 7 คน ซึ่งเป็นครูทั้งหมด นี่เป็นเรื่องอันตราย ทำให้เด็กรู้สึกว่า ทำไมเราถึงถูกห้ามพูดภาษาพ่อแม่เรา หมอนก็เอาชอล์กขีดวาดเป็นวงกลม บอกเด็กว่า ถ้าคิดหรือพูดอะไรไม่ออก ให้วิ่งเข้าไปใน ‘วงกลมเสรี’ ในวงกลมนั้นจะพูดภาษาอะไรก็ได้ ไม่ถูกตี แล้วครูใหญ่ก็เอาผิดเราไม่ได้ แต่มันอึดอัดคับข้องใจ

แล้วเราเติบโตในครอบครัวคนใช้แซ่ พอ ป.5 ก็ต้องเปลี่ยนแซ่เป็นนามสกุล เราก็เอ๊ะ! แซ่ของเราไม่ดียังไง เราถูกล้างสมองว่าใช้แซ่ไม่ดี ใช้นามสกุลดีกว่าจะได้เป็นไทย ทั้งที่เมื่อเปลี่ยนนามสกุลแล้ว คนก็รู้ว่าแปลมาจากแซ่ ทำไมต้องถูกทำให้เปลี่ยนด้วยนโยบายของรัฐ สิ่งเหล่านี้และที่เด็กถามมันติดอยู่ในใจเรา เราจึงมาเขียนเรื่อง เด็กๆ กับวันพิเศษ ทำทุกวันให้เป็นวันดีๆ คนวาดก็ตั้งใจวาดออกมาอย่างสร้างสรรค์ สวยงาม ใส่ใจในทุกพื้นที่กระดาษ

ยกตัวอย่าง มกราคมมีวันเด็ก มีนาคมมีวันพาย (Pi Day) และเป็นวันเกิดอัลเบิร์ต ไอนสไตน์ด้วย ที่อเมริกา Pi Day เป็นเรื่องใหญ่มาก สนุกมาก จัดวันที่ 14 เดือน 3 เหมือนพายที่มีค่าประมาณ 3.14 วันนั้นเด็กประถมจะไม่ขาดเรียน จะทำขนมพายมาโรงเรียน จะตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวเลข คณิตศาสตร์ ไอนสไตน์ แล้วสุดท้ายจะกินขนมพายด้วยกัน มีพายขนาดเล็กไว้ขว้างปาใส่กัน สนุกมากเลย

ถัดมาก็มีวันเมษาหน้าโง่ (April Fool’s Day) พฤษภาคมมีวันแรงงาน วันสุขภาพและป้องกันภัยแห่งชาติ เพราะเมื่อราว 30 ปีก่อน มีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาที่นครปฐม กระทั่งพี่วาณิช จรุงกิจอนันต์ เขียนเรื่องตุ๊กตา และถูกสร้างเป็นหนัง ถัดมาก็วันจักรยาน เล่าว่าจักรยานพัฒนามายังไง เพราะรถคันแรกที่เด็กๆ มีคือจักรยาน วันอีโมจิ วันถนัดซ้าย วันประชาธิปไตย วันเทศกาลแสงสว่าง ที่แสดงให้เห็นว่าทั่วโลกมีเทศกาลแสงสว่าง ทั้งฮาโลวีน ลอยกระทง คานุกะ (ของยิว) ดิวาลี (ของชมพูทวีป) ควานซ่า (ของคนดำ) คริสต์มาส (ของคริสต์) คนเรามีความต่าง แต่ก็มีความเหมือนด้วย แล้ววันที่สำคัญที่สุดคือวันเกิด ยังงงว่าทำไมเมื่อก่อนคนไทยไม่ฉลองวันเกิดเด็ก แต่ฉลองวันเกษียณอายุ วันแซยิด เราว่าคนอายุ 60 ปีไม่น่าต้องการวันเกิดแล้วนะ (ยิ้ม) เด็กสิต้องการ เพื่อให้เขารู้ว่ามีอยู่ เป็นอยู่ เขาเก่ง เขาเติบโตขึ้นอีกปี

แล้วการเพิ่มจำนวนหนังสือเด็ก ทั้งในแง่ปริมาณและความหลากหลายของเนื้อหา จะช่วยส่งเสริมการศึกษาไทยอย่างไร

ช่วยได้ในหลายแง่มุม ช่วยเปิดตา เปิดใจ เปิดมุมมอง เปิดความจริง จนอาจทำให้อำนาจเก่ากลัวมั้งนะ (ยิ้ม) แค่นิทานวาดหวังออกมายังจะไล่บี้ เลือกตั้งครั้งที่แล้ว (ปี 2566) ยังมีความหวังขึ้นมาหน่อย เราขับรถเป็นชั่วโมงเพื่อไปเลือกตั้ง เรารู้สึกว่าต้องได้รัฐบาลที่ดี ไม่ปิดปากผู้คน และเห็นความสำคัญของคน เห็นความสำคัญของเด็ก เห็นความสำคัญของหนังสือ

เพราะเด็กไทยขาดการส่งเสริมพลังบวก เด็กถูกตี ถูกทำร้าย ถูกกระทำ อยากให้มีกฎหมายห้ามตีห้ามทำร้ายร่างกายเด็กออกมา และต้องคลายการปลูกฝังสั่งสอนว่าต้องกตัญญู ทดแทนบุญคุณ ซึ่งเป็นหลักความคิดที่ไม่โอเค เด็กเขาไม่ได้อยากเกิด พ่อแม่เป็นคนทำให้เขาเกิด แล้วยังถูกลดพลังบวก เด็กไม่ได้สดใสเท่าที่ควร เรียนก็หนัก การบ้านก็เยอะ หลายคนภูมิใจว่า เลขของไทยระดับ ม.ต้น เทียบเท่ากับระดับมหาวิทยาลัยของเมืองนอก ถามจริงว่าเราจะเรียนพวกนี้ไปทำไม แทนที่จะเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ทำอะไรที่เราชอบ เล่นดนตรี กีฬา ทำอาหาร พับกระดาษ เล่นบาสเกตบอล เล่นกับเพื่อน ปีนต้นไม้ ฯลฯ จะได้รู้จักตัวเองว่าเป็นใคร ชอบหรือไม่ชอบอะไร

ขอยกตัวอย่างนิทานเรื่อง เด็กๆ มีความฝัน หรือ จ จิตร เล่าชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์ เขาเป็นเด็กใฝ่ดี แต่ถูกจับ ถูกโยนบก เข้าคุก เขาก็ยังเป็นเด็กอยู่ เราต้องมีฮีโร่อย่างนี้ ไม่ใช่ฮีโร่เป็นใครไม่รู้ ทั้งนี้ทั้งนั้น เรามีความหวังว่าเนื้อหาหนังสือจะเปิดกว้างไปเรื่อยๆ

เมื่อปีที่แล้ว เรามีโอกาสไปเยี่ยมโรงเรียนในสเปน เขาไม่บ้าเรื่องการเรียนคณิตศาสตร์หรือท่องจำ ที่นั่นผู้คนให้คุณค่ากับศิลปะ ศิลปะคือทุกสิ่งของชีวิต สเปนมีทั้งปาโบล ปิกัสโซ, ฟรันซิสโก โกยา, อันตอนี เกาดี, ซัลวาดอร์ ดาลี นี่คือฮีโร่ของเด็กๆ ศิลปะอยู่ทุกมุมเมือง เด็กทุกโรงเรียนอยากคุยเรื่องศิลปะ สิ่งแวดล้อมมันสร้างเด็ก แล้วเด็กก็ช่วยเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เพราะฉะนั้นเขาจะมีศิลปินคนต่อไปอีก

นิทาน หนังสือเด็ก วาดหวังหนังสือ การอ่าน การศึกษา จิตร ภูมิศักดิ์

หรือทำไมญี่ปุ่นถึงมีศิลปินอย่างยาโยอิ คุซามะ, โยโกะ โอโนะ, ฟูจิโกะ ฟูจิโอะ หรืออย่างชินสุเกะ โยชิทาเกะ คนเขียนหนังสือเด็ก ทำไมถึงมีคนอย่างนี้ได้ เพื่อนญี่ปุ่นช่วยอธิบายให้ฟังว่า ญี่ปุ่นมีสุภาษิตสำนวนหนึ่งที่บอกว่า ถ้าตะปูโผล่ขึ้นมาหน่อย เราจะตอกมันลงไป (พื้นจะได้เรียบ) แต่ถ้าตะปูตัวไหนโผล่ขึ้นมาเยอะ เราจะปล่อยมันไว้อย่างนั้น อาจไว้แขวนของหรือทำอย่างอื่นก็ได้ เราจะไม่ตอกลงไป เพราะเราหยุดเขาไม่ได้ ไม่ต้องไปบี้ ไม่ต้องไปกด ถึงจะบอกว่าประเทศเขามีทุนเยอะกว่า ก็ใช่ แต่นอกจากเรื่องของทุนแล้ว คือการให้ความสำคัญ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีมากกว่าเราเยอะ

ประเด็นคือ การเดินทางช่วยให้เปิดโลก หลักสูตรการศึกษาของไทยต้องมีทัศนศึกษาให้เด็กได้ไปดูในหมู่บ้าน ในเมือง ในแม่น้ำ ในภูเขา ดูกองขยะ ดูป้ายรถเมล์ ไปดูของจริงในหลายๆ ที่ทั้งใกล้และไกล แล้วคิดว่าอะไร ทำไม อย่างไร จะดีไซน์ให้ดีขึ้นยังไง ดูรอบๆ ตัว เราต้องอยู่อย่างมีความหวัง ชี้ให้เด็กเห็นว่า เราเป็นคนเล็กๆ แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เราทุกคนมีสิทธิ์มีเสียง มีความสามารถที่จะช่วยส่วนรวมได้ ซึ่งนั่นจะช่วยให้ชีวิตและครอบครัวเราดีขึ้นด้วย

จากประสบการณ์ของคุณ ระบบการศึกษาที่ดีเป็นอย่างไร ยกตัวอย่างได้ไหม

หลักสูตรอเมริกาอาจจะอ่อนเรื่องวิทย์และคณิต แต่หลักสูตรสังคมศึกษาของอเมริกาดีมาก ชอบมาก เหมาะสม เหมาะวัย ช่วยให้เด็กได้เติบโต

เริ่มจากเด็กเนิร์สเซอรี เรียนเรื่องร่างกายของเรา ตามีไว้ดู หูมีไว้ฟัง อนุบาล เขาสอนเรื่องครอบครัว ครอบครัวมีฉัน พี่น้อง พ่อแม่ เพื่อนบ้าน ป.1 เรียนเรื่องเพื่อนบ้าน หมู่บ้าน และเมือง พาไปดูว่าเมืองของเรามีอะไรบ้าง มีสิ่งใดน่าภูมิใจ มีอะไรน่าปรับปรุง ป.2 เรียนเรื่องรัฐ รัฐเรามีอะไร เกิดอะไรขึ้นในรัฐเรา เด็กสนใจเรื่องไหนของรัฐ ป.3 เรียนเรื่องประเทศ ประเทศอเมริกาคือใคร มีเชื้อชาติไหนบ้าง อยู่ร่วมกันอย่างไร ป.4 เรียนเรื่องฮีโร่ ใครเป็นฮีโร่ของเรา เด็กได้นำเสนอว่าฮีโร่ของเราเป็นใคร ฮีโร่ของเขาเป็นนักบาสเกตบอล คนวาดรูป เป็นตลก เป็นชาร์ลี แชปลิน เป็นครูใกล้ตัว หรือเป็นเพื่อนบ้านที่ช่วยเหลือเต่า ป.5 เริ่มเรียนประวัติศาสตร์ชาติ การสร้างประเทศ การเลิกทาส มัธยมต้น เรียนเรื่องอารยธรรมโลกในที่ต่างๆ โลกกว้างใหญ่ยังไง มัธยมปลาย เรียนเรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ เตรียมตัวเป็น Good Citizen เป็นประชาชนที่ดี ต้องรู้กฎหมาย รู้จักการโหวต รู้จักอำนาจอธิปไตย รู้จักการบาลานซ์อำนาจ พอจบ ม.6 ก็ถึงวัยมีสิทธิ์เลือกตั้ง หลักสูตรที่ดีต้องอย่างนี้ สอนจากเรื่องเล็กๆ แล้วค่อยๆ กว้างใหญ่ออกไป แต่ยังเกี่ยวโยงกับเราทุกเรื่อง สอนจากง่ายไปยาก จากรูปธรรมไปนามธรรม

ที่สำคัญคือ เขาสอนสนุก ไม่มีการลงโทษเด็ก ตอนแรกเรางงว่าจะสอนสนุกทุกห้องได้ยังไง จนรู้จักกับระบบการเรียนการสอนที่ทำกันเป็นทีม เพื่อให้บรรลุเป้าประสงค์ทางการศึกษาอย่างสนุกและน่าสนใจต่อทั้งคนเรียนคนสอน สมมุติเราเป็นครู ป.2 เขาจะส่งครูไปอบรมกับเขตโรงเรียน ครูที่เก่งๆ จะมาอบรมให้เรา ครู ป.2 จะกลับมาถ่ายทอดให้ครู ป.2 คนอื่นๆ จากนั้นเราประชุมกันทุกวันอังคาร สมมุติว่าจะเรียนเรื่องผีเสื้อ เราก็คุยว่าจะเอาผีเสื้อเข้าไปในบทเรียนภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี ได้อย่างไร คุยกระทั่งกับครูพละ คือมันบูรณาการจริงๆ แล้วทำอย่างสนุก เด็กตั้งคำถามได้

เด็กประถมที่อเมริกา เรียน 8 โมงเช้าถึงบ่ายสองครึ่ง การบ้านแทบไม่มี แต่ที่มีคือ Reading Log ทุกวันต้องอ่านหนังสือ ป.1 อ่านอย่างน้อยวันละ 10 นาที, ป.2 อ่าน 20 นาที, ป.3 อ่าน 30 นาที เพิ่มไปเรื่อยๆ ตามวัย แล้วเขียนสั้นๆ ใน Log ว่าอ่านเรื่องอะไร คิดยังไงกับเรื่องนี้ ไม่จำเป็นต้องอ่านให้จบในวันนั้น บางเรื่องอาจอ่านเป็นอาทิตย์ เป็นการบ่มเพาะนิสัยให้รักหนังสือ รักการอ่าน หนังสือคือเพื่อน ที่ทำได้ก็เพราะห้องเรียนมีหนังสือให้ยืม ห้องสมุดมีหนังสือให้ยืม ทุกชุมชนมีห้องสมุดประชาชน ยืมได้ ยืมฟรี ไม่จำกัดจำนวน ยืมได้คราวละ 40 – 50 เล่ม ยืมได้ 6 เดือน เสร็จแล้วยืมได้ต่อ ทุกอย่างฟรี มาจากงบจากเงินภาษีของราษฎร แล้วที่ห้องสมุดมีกิจกรรมให้ทำ พ่อแม่ไม่ว่าจะรวยหรือจน เอาลูกไปห้องสมุดได้เลย มีกิจกรรมให้ทำทุกวัน ฟรี ปลอดภัย ของไทยไม่มี ทำให้คิดถึงรัฐสวัสดิการเนอะ

คิดว่านิทานเด็กเล่มไหนที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดี

แนะนำเล่ม Is It Just Me ของชินสุเกะ โยชิทาเกะ เล่าเรื่องเด็กที่กางเกงในเปียกนิดๆ แล้วสำรวจว่าคนอื่นมีปัญหาของตัวเองไหม เขาพบว่าทุกคนมีปัญหาของตัวเอง เช่น คนที่ถุงเท้าร่นมาเรื่อยๆ ทุกครั้ง คนที่รำคาญเวลามีอาหารติดฟัน สุดท้ายเขาปรับทุกข์กับคุณตาว่า มีฉี่หยดในกางเกงอีกแล้ว ทำยังไงดี กลัวว่าจะถูกแม่ดุ ตาก็ขำ แล้วบอกว่าไม่ต้องห่วงหรอก ตายังใส่ผ้าอ้อมเลย ทำให้เห็นว่าทุกคนมีปัญหาของตัวเอง มีปัญหาเล็กๆ ที่รบกวนใจ แล้วบางทีเด็กถูกผู้ใหญ่ดุ แต่ไม่เป็นไร เรายังมีหวัง เรายังมีเพื่อน เห็นไหมว่าวันหนึ่ง พอเป็นผู้ใหญ่สุกงอมแบบตาก็กลับมามีปัญหาเดียวกับเด็ก (หัวเราะ) น่ารักมาก

ส่วนหนังสือไทยที่ชอบมากคือ โลกของหนูแหวน ของศราวก เป็นเรื่องที่น่าอ่านสุดๆ น่าอ่านไม่น้อยไปกว่าเจ้าชายน้อย ตอนแฟนอยากเรียนภาษาไทย หมอนก็ส่งเรื่องนี้ให้อ่าน เช่น หนูแหวนเจอกุหลาบ ถูกหนามเกี่ยว หนูแหวนก็ถามว่า เธอมาเกี่ยวฉันทำไม กุหลาบบอกว่า ‘ฉันไม่รู้ เป็นความผิดของเธอเอง’ หนูแหวนได้ยินอย่างนั้นแล้วเสียใจมากที่หลงความสวยภายนอกของดอกกุหลาบ คิดแล้วก็นึกถึงเจ้าคางคก หนูแหวนไม่แน่ใจดอกว่าจริงๆ แล้วเจ้าคางคกเป็นอย่างไร แต่เธอคิดว่าความน่ารักหรือความน่าเกลียดไม่ได้อยู่แค่เพียงผิวเปลือกนอก กว่าหนูแหวนจะสรุปอย่างนี้ได้ เธอก็ต้องเสียเลือดไปหลายหยด

นอกจากนั้นยังมีเรื่องความเหลื่อมล้ำ ความจน ความรวย โชคดี โชคร้าย เป็นอย่างที่มี มีอย่างที่เป็น ดีทุกเรื่อง มีทั้งเรื่องพื้นบ้าน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี เรื่องทันสมัย เรื่องแห่นางแมว ทำไมคนถึงคิดว่าเอาเจ้าแต้มไปแห่นางแมวแล้วฝนจะตก ทั้งที่เจ้าแต้มกลัวฝน ไม่ชอบเปียก เป็นเรื่องสั้นๆ เป็นหนังสือที่หัวนอนหมอนมาหลายสิบปี อ่านไม่เบื่อ มันทวิสต์ทุกเรื่อง น่าอ่านมากๆ

มีข้อแนะนำสำหรับคนที่มีเรื่องอยากจะพูด แล้วเลือกการสื่อสารในรูปแบบหนังสือเด็กไหม

ถ้าอยากทำ เชียร์ให้ลองและให้ทำเลย เพราะพลังของความอยากทำหรืออยากเดินทางไม่ได้มีกันได้ตลอดชีวิต มันเป็นช่วงวัย เป็นที่สิ่งแวดล้อม ณ ขณะนั้น ถ้าเราไม่จับมันไว้ ไม่คว้าโอกาส เดี๋ยวมันจะหลุดลอย แล้วพลังอาจเหือดหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย

และเดี๋ยวนี้การพิมพ์ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่การขาย ซึ่งไม่ง่าย แต่ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่คุณไม่ต้องผ่านสายส่งก็ได้ ทุกคนสามารถทำหนังสือและขายตรงได้ เขียนในเรื่องที่อยากทำ ต้องรู้สึกสำคัญชนิดที่ว่า ถ้าฉันไม่ได้เขียนเรื่องนี้ พรุ่งนี้ฉันถูกรถชนแล้วติดแหง็กอยู่กับเตียงก็นอนไม่หลับแน่ๆ ทำเรื่องที่มีแพสชันกับมัน ทำแล้วตรวจดู ถ้าทำเรื่องอิงความจริงก็เช็กข้อมูลให้ถูกต้อง ทำอย่างประณีต จัดวางให้มีทั้งมุมสนุก มุมขำขันรื่นรมย์ มุมดีๆ มีความหวัง

ถ้ายังไม่มีทุนก็ลองส่งไปที่นั่นที่นี่ มีคนเปิดรับเยอะ ใน 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2563 คนสนใจอยากอ่านอะไรต่อมิอะไรเยอะขึ้น

อย่างเรามีอะไรก็จะเขียนหรือจดใส่สมุดไว้ ถามว่าเอาไอเดียมาจากไหน เราก็เอามาจากสิ่งรอบตัวที่จดเอาไว้กันลืม หลายคนคิดว่าการเขียนคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่บางทีการเขียนก็คือการสร้างสรรค์จากสิ่งที่จดกันลืมนั่นแหละ (หัวเราะ) ไม่ว่าจะอยากเขียนเพราะมีความสุขกับมันหรือมีความทุกข์กับมัน ปล่อยพลังออกมา แบ่งปันกัน เราว่ามันสำคัญ

ท้ายสุด อยากฝากอะไรถึงพ่อแม่หรือครูที่ต้องเลี้ยงดูเด็กในภาวะปัจจุบัน

เห็นที่ไทยแล้วเหนื่อยมาก เพราะที่อิสราเอล ตั้งแต่ท้อง ทำอัลตราซาวนด์ คลอดก็ฟรีหมด โรงเรียนก็ฟรี ป.1 ยัน ม.6 เสียเงินแค่ ป.ตรี แต่ค่าเทอมถูกมาก ป.โท ถึง ป.เอก ก็มีทุนให้ ไม่ต้องสอบแย่งชิงกันมาก ทุกคนมีโอกาสเรียน ถ้าตาย รัฐก็จัดงานฝังศพให้ฟรี

เรายังรู้สึกว่า ถ้าอยู่เมืองไทยคงเหนื่อยมาก คงไม่มีเวลามาเขียน ที่สำคัญคือ ลูกเราเขาอยู่ให้เราเลี้ยงเพียงอายุ 10 – 12 ปี ซึ่ง 5 – 7 ปีแรกของชีวิตเป็นช่วงที่สำคัญสำหรับเด็กทุกคน เรายังเป็นฮีโร่ของเขา เพราะฉะนั้นถ้าทำได้ก็พยายามทำสิ่งดีๆ กับลูก ใช้เวลาด้วยกัน ให้ลูกรู้และรู้สึกว่าเรารักและใส่ใจ พร้อมจะเข้าใจลูก ลูกมีอยู่จริง ลูกเป็นคนสำคัญในชีวิตของเราจริงๆ เลี้ยงและดูแลเด็กอย่างที่เราเคารพความเป็นคนของเด็กคนหนึ่ง

เห็นเด็กไทยแล้วเป็นห่วง เห็นพ่อแม่แล้วเห็นใจ การบ้านเยอะ สอบแข่งขัน เรียนพิเศษ ติวเพื่อเข้าอนุบาล สังคมป่วยไข้มาก เรากำลังทำอะไรกับเด็กเล็กๆ วัย 3 – 5 ขวบ…

ช่วงหลังมีกระแส Homeschool สอนเด็กที่บ้าน สอนเอง ดูสิว่ารัฐทำอะไร กระทรวงทำอะไร ทำไมพ่อแม่ต้องมาจัดการเรื่องการเรียนการสอนเอง คงเพราะมันสุดทนแล้วที่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนให้ถูกใครไม่รู้กระทำ เอาวันเวลาของลูกไปนั่งในห้องแคบๆ เรียนอะไรก็ไม่รู้ หมอนคิดว่าเด็กไทยแกร่งมากที่รอดมาได้ และเรายังเชื่อในพลังของเด็ก พลังของพ่อแม่เสมอ เป็นกำลังใจให้นะ การได้มาทำนิทานวาดหวังก็ทำให้ได้เจอกลุ่มครูดีๆ หลายกลุ่ม เช่น กลุ่มก่อการครู เครือข่ายสลัม 4 ภาค กลุ่มเด็กที่แม่ฮ่องสอน ที่ยะลา บางคนเปิดบ้านเป็นห้องสมุด เรารู้สึกถึงความหวัง

เหมือนที่มาร์กาเรต มี้ด นักมานุษยวิทยา กล่าวไว้ว่า ไม่มีคนกลุ่มไหนหรอกที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ นอกจากคนเล็กๆ เพราะในประวัติศาสตร์ก็มีหลักฐานมาตลอดว่า มีแต่คนเล็กๆ เท่านั้นที่มุ่งมั่นตั้งใจทำจริง

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.