จะมีอะไรดีไปกว่าการซื้อหนังสือแล้วได้พูดคุยกับนักเขียนและคนทำสำนักพิมพ์ไปด้วย เพราะการได้รู้เบื้องหลังและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของหนังสือเล่มนั้น จะยิ่งทำให้การอ่านสนุกขึ้น!
หลังจากต้องย้ายไปจัดงานแบบออนไลน์มากว่า 2 ปี ในที่สุดปีนี้งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็ได้กลับมาจัดในรูปแบบออนไซต์บนสถานที่แห่งใหม่ ใหญ่โตกว้างขวาง เดินทางสะดวกอย่างสถานีกลางบางซื่อ
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 มาในธีม ‘อ่านอนาคต’ กับแนวคิดที่ว่า เมื่อเริ่มอ่าน อนาคตของเราก็เกิดขึ้น โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะในแง่ของความรู้ แต่ยังรวมไปถึงแง่การออกเดินทาง สำรวจตัวเอง และเติมพลังใจ
ความพิเศษของงานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ นอกจากกิจกรรมสนุกๆ อย่างนิทรรศการหนังสือ เสวนา เวิร์กช็อป รวมถึงกองทัพหนังสือที่เหล่าสำนักพิมพ์นำไปจำหน่ายให้ชาวนักอ่านอย่างจัดเต็มเหมือนครั้งก่อนๆ แล้ว ตัวงานยังย้ายมาจัดในสถานีรถไฟหลักแห่งใหม่ของไทย ทำให้บรรยากาศงานมีความแปลกใหม่กว่าทุกครั้ง แถมเดินทางง่าย
ใครที่ยังไม่ได้ไปงานสัปดาห์หนังสือฯ หรือเป็นชาวบ้านไกลที่สั่งหนังสือออนไลน์แล้วสะดวกกว่า เราไปตะลุยเปิดแมปสำรวจจุดที่น่าสนใจในงานให้แล้ว ลง MRT สถานีกลางบางซื่อแล้วตามมาเลย
คว้าแผนที่แล้วออกไปตะลุยงานหนังสือกัน
ด้วยความที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50ฯ จัดที่สถานีกลางบางซื่อ ทำให้ค่อนข้างสะดวกต่อการเดินทาง มาด้วยขนส่งสาธารณะอย่าง BTS, MRT หรือรถเมล์ก็ได้ หรือจะขับขี่รถส่วนตัวมาก็ไม่มีปัญหา ที่นี่มีพื้นที่รองรับรถกว่าพันคัน แถมยังไม่ต้องตรวจ ATK หรือโชว์ผลการฉีดวัคซีนก่อนเข้างาน แค่สวมหน้ากากอนามัยและปฏิบัติตามมาตรการป้องกันความปลอดภัยในงานเป็นอันใช้ได้
เมื่อเข้ามาในงานเรียบร้อยแล้ว ใครที่กลัวหลง หาบูทสำนักพิมพ์ที่รักที่ชอบไม่เจอ แค่เดินไปยังจุด Information แล้วคว้าแผนที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50ฯ มาเป็นไกด์นำทางได้เลย ในนั้นจะบอกทั้งแผนผังบูทต่างๆ นิทรรศการ และกิจกรรมที่น่าสนใจ ใช้เสร็จจะนำไปเทิร์นเป็นโปสเตอร์แปะผนังที่บ้านยังได้ มีกระดาษแผ่นนี้แผ่นเดียวครบจบกระบวนความ
ในงานแบ่งโซนการเดินออกเป็นโซน A B C และ D บางโซนอาจจะดูลับแล ต้องค้นหาสักหน่อยแต่ไม่เกินความสามารถ ถ้าจับเส้นทางได้แล้วขอบอกว่าเดินง่ายสบาย ไม่สับสนมึนงงแน่นอน ทั้งหมดนี้ประกอบด้วยบูทจากสำนักพิมพ์ต่างๆ กว่า 208 ราย รวมกว่า 583 บูท แบ่งเป็น 6 โซนประเภทหนังสือ ได้แก่ 1) โซนหนังสือเด็กและสื่อการศึกษา 2) โซนหนังสือการศึกษา 3) โซนหนังสือต่างประเทศ 4) โซนหนังสือเก่า 5) โซน Book Wonderland (หนังสือการ์ตูนและวัยรุ่น) และ 6) โซนหนังสือทั่วไป
แม้งานหนังสือครั้งนี้ บูทต่างๆ จะจัดเต็มได้ไม่เท่าตอนจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่มีการประดับประดาบูทอย่างอลังการหรือแขวนป้ายผ้าขนาดใหญ่ แต่เท่าที่เห็นหลายบูทก็ยังคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของตัวเองได้อย่างดี
ตามรอยประวัติศาสตร์ ในนิทรรศการรถไฟไทย
เนื่องจากสถานที่จัดงานคือสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงไม่แปลกที่จะมีนิทรรศการ 125 ปี รถไฟไทย เป็นส่วนหนึ่งในงานด้วย โดยเนื้อหาในนิทรรศการเป็นการไล่เรียงประวัติศาสตร์การรถไฟไทยตลอด 125 ปี เชื่อมโยงกับตัวอักษร ก-ฮ ที่เป็นความหมายสำคัญของประวัติศาสตร์การรถไฟไทย
นอกจากประวัติศาสตร์สนุกๆ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เราไม่เคยทราบเกี่ยวกับรถไฟไทยแล้ว ตัวนิทรรศการก็ออกแบบได้เหมือนอยู่ในสถานีรถไฟสมัยก่อน ทั้งป้ายและกลิ่นอายต่างๆ อีกทั้งยังมีม้านั่งให้คนที่มางานหนังสือนั่งพัก หรือใช้เป็นจุดนัดพบได้ เพราะตัวนิทรรศการอยู่ตรงบริเวณประตู 1 ที่เป็นทางเข้างานหนังสือพอดี
ส่วนคนรักรถไฟไทยคนไหนอยากได้ของที่ระลึก Limited Edition จากการรถไฟฯ เช่น โปสเตอร์ ก-ฮ ฉันรัก รฟท. เวอร์ชันพิเศษในโอกาสครบรอบ 126 ปีการรถไฟฯ, พวงกุญแจรูปนาฬิกาสถานีกลางบางซื่อ, ไม้บรรทัดหัวรถจักร 6 แบบ เป็นต้น แค่แสดงบัตรประชาชนหน้างานเพื่อเป็นหลักฐานเข้าร่วมกิจกรรม และรับของที่ระลึกภายในบูทนิทรรศการรถไฟฯ ได้เลย
ตามติดเทรนด์อนาคต ลุ้นรับงาน NFT ของมุนิน
ความเจ๋งอีกอย่างของงานหนังสือครั้งนี้คือ การเปิดโอกาสให้คนที่มาร่วมงานเก็บ NFT หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นรูปภาพศิลปะจาก ‘มุนิน’ ศิลปินนักวาดภาพชาวไทยชื่อดัง ซึ่งจากที่ทราบมา บูทนี้ได้รับความนิยมมากทีเดียว
‘อนาคต การเดินทาง และหนังสือ (Train to a Page of Future)’ คือคอนเซปต์ของผลงาน 5 แบบที่มุนินสร้างสรรค์ขึ้น ว่าด้วยช่วงเวลาที่ผู้คนได้ดื่มด่ำกับหนังสือในระหว่างการเดินทางโดยรถไฟ ผสมผสานกับจินตนาการภายนอกหน้าต่าง ขอบอกว่าผลงานทุกชิ้นน่ารักมากๆ ควรค่าแก่การเก็บสะสมที่สุด
แต่อาจต้องรีบหน่อย เพราะชิ้นงานมีจำกัดเพียง 25,000 ชิ้นเท่านั้น ใครไปงานแล้วซื้อหนังสือครบ 1,000 บาท แค่นำใบเสร็จมาแลก NFT ที่บูทกิจกรรม NFT หมายเลขบูท B94 เป็นอันเรียบร้อย ใครที่สะสมครบ 5 แบบสามารถมารับไอเทมลับ NFT ชิ้นที่ 6 ได้ด้วยนะ
ตัดสินปกหนังสือ และแลกหนังสือกัน ในนิทรรศการปกหนังสือ
มาถึงโซนที่นักอ่านสายดีไซน์น่าจะชื่นชอบ กับนิทรรศการปกหนังสือสวยสร้างสรรค์ ครั้งที่ 4 เพราะหากย้อนดูในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกจากวงการสิ่งพิมพ์ไทยจะมีหนังสือแนวอื่นๆ รวมถึงสำนักพิมพ์หน้าใหม่เกิดขึ้นไม่น้อยแล้ว การออกแบบปกและรูปเล่มหนังสือไทยก็ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าติดตามเช่นกัน เรียกว่าประโยค ‘อย่าตัดสินหนังสือที่ปก’ นี่ใช้ไม่ได้ไปโดยปริยาย เพราะเราเชื่อเหลือเกินว่ามีหลายคนที่ยอมควักเงินซื้อหนังสือมาประดับชั้นเพียงเพราะถูกใจปกแน่ๆ
บรรดาหนังสือที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ แบ่งออกเป็นประเภทรางวัลต่างๆ ได้แก่ รางวัลเวรี่ไทย รางวัลปกนี้เพื่อหนู รางวัลสวยสะดุด รางวัลน่ารักยกกำลังสอง และรางวัลสร้างสรรค์สุดคูล สำหรับเรา อยากชี้เป้าว่าดีไซน์หนังสือที่ได้รางวัลสุดท้ายนี่เด็ดมาก ชมปกที่ได้รางวัลทางออนไลน์ได้ที่ www.okmd.or.th
ขณะเดียวกัน บริเวณใกล้เคียงกับนิทรรศการปกหนังสือฯ ก็มีมุมกิจกรรมให้ได้ร่วมสนุก นั่นคือ กิจกรรม ‘เส้นทางหนังสือที่เป็น และอยากเห็น’ ที่เปิดพื้นที่ให้เราแสดงความเห็นและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับการอ่านและหนังสือในจินตนาการ ได้แก่ สถานที่ซื้อ/ได้รับหนังสือ สถานที่อ่านหนังสือ และสถานที่ส่งต่อหนังสือ โดยมีชั้นหนังสือให้ทุกคนนำหนังสือมาส่งต่อหรือแลกกันอ่านได้ด้วย
นิทรรศการปกหนังสือฯ และมุมแลกหนังสืออยู่บนชั้นลอย เดินขึ้นบันไดเลื่อนไปเจอเลย นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการหนังสือดีเด่น ประจำปี 2565 และนิทรรศการอื่นๆ ที่น่าสนใจให้ชมด้วย อย่าลืมแวะกันนะ
กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ไม่ต้องกลัวหิวที่โซนอาหาร
หลังจากไปสำรวจความเห็นของคนที่ไปงานหนังสือ เราเห็นหลายคนบ่นเสียดายที่งานสัปดาห์หนังสือฯ สถานีกลางบางซื่อ ไม่มีศูนย์อาหาร แต่ความจริงแล้วในงานมีซุ้มอาหารเอาต์ดอร์ พร้อมโต๊ะเก้าอี้ให้บริการนะทุกคน
แม้ว่าพื้นที่จะเป็นเอาต์ดอร์ แต่จำนวนกับความหลากหลายของร้านอาหารและเครื่องดื่มถือว่าใช้ได้อยู่ ใครอยากกินมื้อเล็กรองท้องหรือจัดเต็มแบบมื้อใหญ่ก็มีให้เลือกสรร ไม่ต้องกลัวว่าเดินตามหาหนังสือจนท้องกิ่วแล้วจะไม่มีที่พึ่งทางพุง
ทั้งนี้ ภายในงานยังมีซุ้มอาหารจิ๋วกระจายตามมุมต่างๆ พร้อมตู้กดน้ำอัตโนมัติแบบที่ไม่ต้องต่อคิวรอนานนัก ขอแค่กินแล้วอย่าลืมนำไปทิ้งถังขยะและรักษาความสะอาดก็พอ
บูทหนังสือสวยบอกต่อด้วย ช้อปหนังสือกับเหล่าสำนักพิมพ์คุ้นเคย
ปิดท้ายการตะลุยงานสัปดาห์หนังสือฯ ด้วยเหล่าบูทสำนักพิมพ์สวยๆ ที่ขนหนังสือทั้งเก่าใหม่มาจำหน่ายในงาน พร้อมกับโปรโมชันลดราคา 15% – 20% บวกของแถมถูกใจนักอ่านมากมาย
สำหรับคำแนะนำในการเดินช้อปหนังสือ เราคิดว่าแล้วแต่คนชอบได้เลย จะเดินชั้น 1 หรือขึ้นไปชั้นลอยก่อนก็ได้ แต่สำหรับคนที่ไม่อยากขนหนังสือกลับบ้าน ต้องการใช้บริการขนส่ง บูทไปรษณีย์ไทยประจำการอยู่บริเวณโซน A ชั้น 1 โดยมีตราประทับลายพิเศษที่ทำเพื่องานสัปดาห์หนังสือฯ โดยเฉพาะ 12 วัน 12 ลาย ใครอยากได้ครบทุกลายก็ซื้อหนังสือหรือส่งโปสต์การ์ดจากงานสัปดาห์หนังสือฯ ให้ตัวเองไปเลย 12 วัน
หลังจากห่างหายไป 2 ปี เทรนด์งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ถือว่าน่าสนใจมากสำหรับแวดวงนักอ่าน เพราะเราได้เห็นงานเขียนทำมือของนักเขียนอิสระมาวางจำหน่ายในหลายบูทมากขึ้น แถมขายดีติดอันดับต้นๆ ด้วย นอกจากนี้ นิยายจีนก็มาแรงมากๆ เรียกว่ายึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในบูทสำนักพิมพ์ขนาดใหญ่เยอะทีเดียว ส่วนที่หัวกระไดบูทไม่เคยแห้ง เดินไปทางไหนก็เจอคนซื้อตลอดคงหนีไม่พ้นนิยายชายรักชาย และมังงะที่กลับมาฮิตในกระแสหลัก เป็นบรรยากาศงานหนังสือที่คึกคัก ทำให้เราอยากเห็นงานหนังสือใหญ่ๆ แบบนี้ในหลายพื้นที่ของประเทศไทยบ้าง
เพราะหนังสือควรเป็นสิ่งที่ประชาชนทุกคนเข้าถึงได้ง่ายๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่ส่วนกลางอย่างกรุงเทพฯ