Tangible Bangkok คาเฟ่ชวนสัมผัส…สิ่งที่จับต้องไม่ได้ - Urban Creature

Tangible Bangkok คาเฟ่ย่านถนนตก แถวซอยเจริญกรุง 82 ที่เป็นมากกว่าพื้นที่นั่งดื่มกาแฟ แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมโยง ‘ศิลปะ’ ให้ใกล้ชิดกับ ‘ผู้คน’ หลายคนอ่านแล้วอาจจะคิดว่า ถ้าอย่างนั้นภายใน Tangible Bangkok ต้องมีงานศิลปะ หรือมุมแกลเลอรีอยู่แต่ไม่ใช่เลย เพราะเจ้าของร้านอย่าง ‘พี่นิ – ชินภานุ อธิชาธนบดี’ ตั้งใจใช้งานดีไซน์ เครื่องดื่ม ขนม ความครีเอทีฟ และเสน่ห์ของย่านถนนตกเชื่อมงานศิลปะเข้ากับผู้คนอย่างกลมกลืน

| คาเฟ่หลังเล็กในย่านถนนตก

ย้อนไป 15 ปีที่แล้ว พี่นิเริ่มต้นจากการเปิด ‘Trimode’ บริษัทออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งตั้งอยู่ในซอยหนึ่งของย่านถนนตก จนวันหนึ่งตัดสินใจขยับขยายไปบ้านหลังใหม่ ซึ่งกระเถิบออกมาอยู่ต้นซอยเจริญกรุง 82 เพราะชอบบรรยากาศของย่านถนนตกที่มีความเงียบสงบ มีเสน่ห์น่าหลงใหลซุกซ่อนอยู่เต็มไปหมด และเต็มไปด้วยวิถีชีวิตจริงๆ ของคนในพื้นที่ อย่างถัดจาก Tangible Bangkok ไปสักนิดก็จะเป็นชุมชมอิสลาม

พี่นิยังเล่าให้เราฟังว่า ตกดึกที่นี่ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย แต่จะมานั่งจิบชากันถึงเที่ยงคืนแทน หรือพื้นที่แฮงก์เอาท์ของพวกเขาก็เป็นร้านโรตีข้างทางที่วัยรุ่นอิสลามชอบกิน ด้วยสภาพแวดล้อมที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัว จึงทำให้พี่นิเลือกที่จะสร้าง Tangible Bangkok ให้ใกล้ชิดกับชุมชนรอบข้าง รวมทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ในย่านให้น่าเดินมากกว่าเดิม

Tangible Bangkok | เปลี่ยนความคิดให้กลายเป็นสิ่งจับต้องได้

คำถามแรกที่ถามพี่นิคือชื่อร้านที่สะดุดหูอย่าง ‘Tangible’ มีที่มาอย่างไร ? คำตอบคือ หากแปลตรงตัวได้ว่า ‘สิ่งที่สัมผัสได้’ ซึ่งนับว่าเป็นใจความหลักทั้งหมดของร้านเลยทีเดียว

“คำว่า Tangible เริ่มจากพื้นฐานของนักออกแบบที่จะมีแรงบันดาลใจ และความคิดอยู่ในหัวเต็มไปหมด แต่มันไม่สามารถถ่ายถอดมาเป็นรูปร่าง เลยสร้างที่นี่เพื่อส่งความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกคนรับรู้ได้”

นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่พี่นิสร้างสรรค์ให้ Tangible Bangkok เกิดขึ้น ผ่านโจทย์ที่ว่าจะทำอย่างไรให้งานดีไซน์ สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นได้มากยิ่งขึ้น จึงมองว่าคาเฟ่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้ อย่างนั่งกินขนมก็ชมงานออกแบบไปด้วย หรือมองถึงการตกแต่งภายในร้านอาจจะช่วยกระตุ้นแรงบันดาลใจต่างๆ ได้ไม่รู้ตัว

Experimental Style | ส่งพลังสร้างสรรค์ผ่านการดีไซน์

จากโจทย์การออกแบบเพื่อเชื่อมผู้คนกับศิลปะ ภายในคาเฟ่ Tangible Bangkok จึงถูกคิดมาอย่างตั้งใจในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่แนวคิด วัสดุ และฟังก์ชันต่างๆ ซึ่งก็เป็นไปอย่างที่พี่นิว่าจริงๆ เพราะเมื่อเราเริ่มเปิดประตูร้านชั้น 1 เข้ามา ก็ได้ความรู้สึก Future Realistic เหมือนเข้าสู่โลกเหนือจินตนาการ ด้วยแมททีเรียลโลหะ สแตนเลส และอะลูมิเนียม บวกกับโทนเข้มสีเทามันวาว ที่ชวนให้ความรู้สึกเหมือนท่องอยู่ในโลกอนาคต

แต่พอขึ้นไปชั้นบนเหมือนได้เจอโลกใหม่ ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทราย กิ่งไม้ และต้นไม้ฟอร์มเท่ซึ่งตั้งโดดเดี่ยวอยู่กลางห้อง เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม เพราะพี่นิเห็นว่า ทุกวันนี้อากาศมีแต่มลพิษจนคนไม่สามารถออกไปสัมผัสธรรมชาติด้านนอกได้อย่างอิสระ เลยอยากชวนให้คนได้ฉุกคิด

“พออากาศแย่มาก คนรุ่นต่อไปอาจต้องเก็บธรรมชาติไว้ในพื้นที่ปิด เพราะเราออกไปหาธรรมชาติจริงๆ ไม่ได้”

คาเฟ่ Tangible Bangkok ไม่ได้จบเพียงแค่นั่งชิมกาแฟเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่โชว์เคส มีมุมแสดงสินค้า พื้นที่ทำงาน และจัดอีเวนต์ได้อีกด้วย ซึ่งพี่นิบอกว่าการดีไซน์แบบนี้เรียกว่า ‘Creative Flow Space’ หรือพื้นที่ที่ใช้งานได้หลายฟังก์ชันในที่เดียวนั่นเอง อย่างชั้นล่างออกแบบเป็นที่นั่งแบบขั้นบันได หากวันไหนมีจัดนิทรรศการก็สามารถเก็บโต๊ะและเก้าอี้ให้กลายเป็นเวทีแสดงงานได้ทันที รวมทั้งชั้นบนก็สามารถเคลียร์เป็นลานจัดแสดงงานได้อีกด้วย

“ความงามที่จีรัง คือ
ความงามที่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้”

สิ่งที่แปลกตาแปลกใจเราขณะนั่งในคาเฟ่นี้ คือเหล่าวัสดุที่ใช้ตกแต่งในร้าน พี่นิบอกว่า ทั้งหมดเป็นสิ่งเดิมที่มีอยู่แล้วในงานก่อสร้าง เช่น แผ่นอะลูมิเนียม เฟรมจับกระจก และเหล็ก แต่แค่นำเสนอความสวยอีกด้าน โดยจับมาใช้งานในรูปแบบใหม่ อย่างตัวเฟรมที่ไว้ใส่กระจกเวลาทำบานเลื่อน เมื่อพอลองมาจับวางในหลายมุมมองก็กลายเป็นที่ตกแต่งผนังที่สร้างความรู้สึกมีพลังขึ้นมาได้ หรือเป็นฐานของโต๊ะก็ดูโมเดิร์นไปอีกแบบ

รวมทั้งผนังร้าน และพื้นเก้าอี้นั่งที่มีลูกเล่นน่าดึงดูด จริงๆ แล้วเป็นแผ่นอะลูมิเนียมคอมโพสิทที่ใช้ปิดหน้าอาคารให้สวยงาม ซึ่งเกิดจากการทดลองวัสดุในมุมมองใหม่ๆ ลองมาดูเท็กซ์เจอร์ข้างใน ซึ่งมีมุมที่สวยงามและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย  แม้ว่าคนมักจะคิดว่า เวลาเป็นรอยขีดข่วนต่างๆ แล้วดูไม่เนี๊ยบ แต่พี่นิกลับมองว่า มันคือเสน่ห์ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา เหมือนหลักคำสอนตามพุทธศาสนาที่ว่า ความงามที่จีรัง คือความงามที่สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้

ข้อดีอีกอย่างของการนำวัสดุเดิมมาเปลี่ยนมุมมองใหม่ คือการลดกระบวนการผลิตอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ต้องสั่งทำใหม่ให้สิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และลดการใช้เคมีบนโลกใบนี้ แถมยังช่วยประหยัดต้นทุน อีกทางหนึ่งด้วย

| สร้างสรรค์สิ่งธรรมดาให้ไม่ธรรมดา

แก่นหลักของร้านคือ หยิบสิ่งธรรมดามาทำให้ไม่ธรรมดา เราสนใจกับกระบวนการความคิดสร้างสรรค์มากกว่าใช้วัสดุ”

นอกจากงานดีไซน์สุดเท่ที่เราพาชมแล้ว ความไม่ธรรมดาของ Tangible Bangkok ยังมีให้เห็นผ่านเมนูต่างๆ ในร้าน อย่าง ‘Banana Cake’ ที่ได้แรงบันดาลใจจากสูตรอาหารที่กินที่บ้านบ่อยๆ ในวัยเด็ก ซึ่งก็คือกล้วยหอมกับเชดดาร์ชีส มันคือความธรรมดาทั้งสองอย่างมารวมกันเป็นรสชาติที่ลงตัว

อีกหนึ่งเมนูน่าสนใจคือ ‘Croffle’ ที่มาจากความชอบของพี่หงษ์หนึ่งในทีมงานออกแบบ Trimode ซึ่งชอบกินครัวซองและอยากได้สิ่งแปลกใหม่ในขนม จึงให้ทางร้าน Amatissimo ช่วยคิดค้นเมนูเป็นรูปแบบวาฟเฟิลที่ได้ความหนึบและรสสัมผัสแป้งกรอบฟูของครัวซองเข้าไปด้วยกันอย่างลงตัว เหมาะสำหรับคนชอบสั่งถือกินแล้วกลับบ้าน หรือสายเร่งรีบก็เอาอยู่

นอกจากนี้เครื่องดื่มก็สุดพิถีพิถันไม่แพ้กัน โดยพาร์ทเนอร์ที่ดูแลเรื่องกาแฟก็คือ Rosetta Coffee Roasters ที่คราฟท์เมนูดื่มสบาย ๆ อย่างกาแฟเย็น ‘Clod Brew’ ที่ใช้เมล็ดกาแฟจากปางขอน จังหวัดเชียงราย ซึ่งสามารถทานคู่กับของหวานได้อย่างพอดิบพอดี

มองผ่านไปสักนิดจะเจอกับโซนสินค้าที่ทาง Tangible Bangkok สั่งทำขึ้นมาเอง โดยให้คุณค่าในเรื่องกระบวนการความคิดก่อนที่จะออกมาเป็นชิ้นงาน แล้วยังคำนึงถึงการใช้งานและความคุ้มค่าอีกด้วย อย่างกระเป๋าแบรนด์ Formuniform ที่เริ่มมาจากแนวคิดกันคนล้วงกระเป๋า จึงออกแบบให้ช่องเปิดมีความยาว ที่ลึกมากกว่าปกติ ถัดมาเป็นเสื้อผ้าลายน่ารักจาก Hikaru Matsubara ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเป็นฟาร์มเมอร์ แล้วผันตัวเป็นศิลปินกราฟิกที่มีเอกลักษณ์ โดยจับความธรรมดาของลายเส้น มาสื่อความหมายของภาพอย่างไม่รู้จบ

| คุณค่าชุมชน ฝีมือนักออกแบบไทย

“ความยั่งยืน ต้องเริ่มจากความภูมิใจในตนเองก่อน”

ไม่ได้มีแต่ไอเทมแบรนด์ดัง แต่ที่ Tangible Bangkok ยังมีโปรดักต์คนไทยชื่อ  Trimode.C ซึ่งเป็นโปรเจกต์หนึ่งของบริษัท Trimode โดยทำงานร่วมกันระหว่างดีไซเนอร์และชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ ให้กับคนในชุมชนที่ผลิตผลงาน พี่นิบอกว่า เวลาลงพื้นที่จะเห็นคนทำผลิตภัณฑ์ ไม่ค่อยอยากทำอย่างต่อเนื่อง

รวมทั้งค่านิยมที่ผู้ใหญ่มักจะบอกลูกหลานให้ไปทำงานโรงงาน เพื่อที่จะได้มีความมั่นคงในชีวิตได้เงินวันละ 300 บาท แต่พี่นิคิดว่ามันไม่ใช่ความมั่นคงและความยั่งยืน แล้วคนที่ทำก็ไม่ได้รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ทำ ของที่ทำส่วนใหญ่ จึงมักถูกวางอยู่บนหิ้ง ซึ่งการสืบทอดต้องมีเด็กรุ่นใหม่มาสานต่อ เลยคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการสืบสาน นั่นคือต้องสร้างโปรดักต์ที่เป็นไลฟ์สไตล์ และทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกเอ็นจอยในการทำชิ้นงานมากขึ้น

“อย่างผลงานนี้เราทำงานร่วมกับชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ เดิมทีเขาเคาะลายบนแผ่นอะลูมิเนียมไว้เพื่อตกแต่งเสาวัด และของที่ระลึก

เราก็เลยมองว่าวัสดุชิ้นนี้มีคุณสมบัติที่นำมาต่อยอดให้เกิดความน่าสนใจได้ นั่นคือการเอาแผ่นอะลูมิเนียมมาผสมเทคนิค มาทำสีใหม่ เพื่อก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ซึ่งไม่ได้ปรับตัวยากอะไรเลย”

การได้มานั่งพูดคุยกับพี่นิ – ชินภานุ อธิชาธนบดีที่ Tangible Bangkok ครั้งนี้ เราได้รับความรู้สึกที่หลากหลาย เป็นกำไรติดตัวกลับไป ไม่ว่าจะเป็นมุมมองด้านงานออกแบบที่ไม่ต้องยึดติดกับการใช้งานเดิม ความตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม การเห็นคุณค่าของการสานต่อองค์ความรู้ชุมชน ไปจนถึงลิ้มรสเครื่องดื่มและขนมแสนอร่อย เคล้ากับบรรยากาศของย่านถนนตกแห่งนี้ เรียกได้ว่า อิ่มใจไม่น้อยเลยทีเดียว


Where : ซอยเจริญกรุง 82, ถนนเจริญกรุง
Open : เปิดทุกวัน (ปิดวันอังคาร) | เวลา 10.00 – 19.00 น.
How to go :
– นั่งรถไฟฟ้า BTS สะพานตากสิน แล้วตรงมาซ. เจริญกรุง 82 ประมาณ 2.8 กิโลเมตร
– นั่งเรือเจ้าพระยามาลงที่ท่าเรือเอเชียทีค แล้วตรงมาซ. เจริญกรุง 82 ประมาณ 600 เมตร
Facebook : https://www.facebook.com/Tangiblebkk/


Content Writer : Jarujan L.
Photographer : Napat P.
Graphic Designer : Sasisha H.

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.