ตั๋วหนังราคาแพง เพราะต้นทุนสูงหรือถูกผูกขาด?
หลังจากกรุงเทพมหานครเริ่มจัดเทศกาล ‘กรุงเทพฯ กลางแปลง’ ตามสถานที่สาธารณะทั่วเมือง ปรากฏว่าเสียงตอบรับดีเกินคาด ประชาชนจำนวนมากให้ความสนใจ ตบเท้าเข้าชมภาพยนตร์กลางแจ้งฟรีกันอย่างคึกคัก ต่อให้ฝนตกหนักแค่ไหนก็ไม่หวั่น กระแสจากการฉายหนังกลางแปลงครั้งนี้จึงอาจเป็นหนึ่งตัวชี้วัดที่ทำให้เห็นว่า แท้จริงแล้วคนไทยนิยมและชื่นชอบการดูภาพยนตร์กันมากเหมือนกัน แม้ว่าคนไทยจำนวนมากจะชอบการดูหนังบนจอขนาดยักษ์ แต่มันไม่ได้หมายความว่า พวกเขาจะยอมจ่ายเงินซื้อตั๋วเพื่อเข้าไปดูหนังในโรง เพราะข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เผยว่า คนไทยดูหนังในโรงภาพยนตร์เฉลี่ยคนละ 0.5 เรื่องต่อคนต่อปี และมีอัตราที่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับจำนวนโรงหนังที่เพิ่มขึ้น หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยเข้าโรงหนังน้อยลงอาจเป็นเพราะค่าบริการที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันตั๋วหนังหนึ่งที่นั่งมีราคาเฉลี่ยราว 220 – 280 บาทต่อเรื่อง หากรวมกับค่าเดินทางไปกลับ หรือซื้อน้ำดื่มและป็อปคอร์นเข้าไปกินในโรงหนังด้วย เผลอๆ แบงก์ 500 ก็ยังไม่พอจ่ายด้วยซ้ำ แม้มีความตั้งใจไปดูภาพยนตร์ในโรงสักเรื่อง แต่เมื่อเจอค่าใช้จ่ายต่อครั้งที่สูงขนาดนี้ การดูหนังแต่ละทีจึงกลายเป็นความบันเทิงราคาแพงที่คนหาเช้ากินค่ำหรือเด็กจบใหม่ยากจะเอื้อมถึง เพราะค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทยอยู่ที่ระหว่าง 313 – 336 บาทต่อวัน แทบไม่ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันในประเทศไทย ที่ดัชนีอาหารจานเดียวเพิ่มสูงขึ้น 6.7 เปอร์เซ็นต์ จนราคาข้าวผัดกะเพราแตะจานละ 60 บาทเข้าไปแล้ว วันนี้ Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปสำรวจว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ราคาตั๋วหนังในประเทศไทยแพงขนาดนี้ และเมื่ออ่านจบแล้ว เราอยากชวนทุกคนคิดต่อว่าสาเหตุเหล่านี้สมเหตุสมผลหรือไม่ และในอนาคตประเทศไทยควรทำอย่างไรเพื่อเปลี่ยนการดูหนังในโรงภาพยนตร์ให้กลายเป็นความบันเทิงที่คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงได้ […]