รถติดสำหรับคนกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นเพียงปัญหา แต่มันคือวิถีชีวิต เท่าที่จำความกันได้ ตั้งแต่เมืองเริ่มพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ คนกรุงเทพฯ ไม่เคยต้องหยุดเผชิญกับปัญหาทางการจราจรเลย แม้ว่าเราจะมีทางเลือกในการเดินทางเพิ่มขึ้นมากแค่ไหน ก็ยังดูเหมือนว่าเราจะไม่มีวันแก้ไขปัญหาอันเป็นอมตะนี้ได้ สำหรับปัญหารถติด หากมองดีๆ แล้ว พวกเราไม่สามารถยกเพียงสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งขึ้นมา และพิจารณาเพื่อแก้ปัญหากันตรงๆ เพราะที่มาของปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครนั้นมีมากมายและเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นการวางผังเมืองที่ไม่เป็นไปตามความเหมาะสมและขาดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ระบบขนส่งมวลชนที่ไม่ดำเนินการตามแผนงานที่มีประสิทธิภาพ และสาเหตุย่อยๆ อย่างการบริหารเวลาของสัญญาณไฟจราจรที่ไม่สอดคล้องกับภาพรวมการจราจรของทั้งเมือง ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมา เราได้เห็นความพยายามมากมายในการแก้ปัญหาจราจรนี้บ้าง แต่หากจะให้พูดถึงวิธีที่ทรงประสิทธิภาพจริงๆ ก็คงจะนึกกันไม่ค่อยออก ไม่ใช่เพียงกรุงเทพมหานคร หลากหลายเมืองหลวงที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกรุงเทพฯ แต่เขาก็สามารถลดทอนและแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดได้ เรามาดูกันว่านอกจากความพยายามของผู้ใช้ถนนด้วยกันแล้ว รัฐและผู้มีอำนาจจากหลายๆ ที่บนโลกที่เผชิญปัญหาด้านการจราจรแบบเรา พวกเขามีวิธีในการแก้ไขมันอย่างไร ไม่ใช่เพียงเพื่อลดปัญหารถติด แต่ยังเป็นการสร้างลักษณะของการคมนาคมที่ดีให้กับประชากรในเมืองนั้นๆ อีกด้วย 1. การเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ เป็นมาตรการที่ทรงประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจนมาก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Congestion Charge Zone ปัจจุบันมหานครใหญ่ๆ อย่าง London หรือกรุง Stockholm ประเทศสวีเดน ก็ใช้วิธีนี้ในการแก้ปัญหาจราจร เป้าหมายก็คือลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลในเขตเมืองชั้นในที่มีการจราจรหนาแน่น และมีระบบขนส่งมวลชนคอยให้บริการอยู่แล้ว ซึ่งวิธีนี้เป็นการกึ่งบังคับให้ผู้ใช้รถยนต์หลีกเลี่ยงเส้นทางที่มีรถติดในช่วงเวลาเร่งด่วนนั่นเอง โดยผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวที่เข้าเขตเมืองชั้นในไปในเวลาที่มีข้อห้าม ก็จะต้องเสียค่าธรรมเนียม ซึ่งรัฐจะนำไปพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ดียิ่งๆ ขึ้นควบคู่กันไป การเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์นี้ได้ผลดีมากกับช่วงเวลาเร่งด่วน […]