พระเอกในวันวานกับบทบาทที่เปลี่ยนไป Wow-space ในเมืองกรุงกับวิถีชีวิตที่ไม่เคยหยุดเปลี่ยน - Urban Creature

หากย้อนถอยหลังกลับไปเมื่อ 20-30 ปีก่อน ศูนย์กลางมนุษย์วัยรุ่นเมืองกรุงคงจะหนีไม่พ้นกระจุกตัวอยู่ในย่านสยามสแควร์ ทั้งในเรื่องของการคมนาคม ตัวเลือกของสถานที่นัดพบ ศูนย์การค้ารูปแบบใหม่เอี่ยม ปัจจัยเรื่องของ trend และ fashion และปัจจัยอีกหลายอย่างที่ทำให้พื้นที่ตรงนี้เป็นที่รวมพลของคนมากมายในยุคนั้น

เมื่อสัปดาห์ก่อนหลังเลิกงาน ผมได้มีโอกาสได้เดินผ่านสยามสแควร์อีกครั้ง ถึงจะมีโอกาสได้เดินผ่านแถวนั้นอยู่บ่อยๆ แต่ก็เป็นเพียงแค่ผิวเผิน ค่อนจะไปในแนวของทางผ่านระหว่างการเดินทางมากกว่า แต่ครั้งนี้ดูจะต่างออกไปจากวันทั่วไปหน่อย เพราะได้มีโอกาสหยุด ดู บรรยากาศสยามแสควร์วันนี้มันเปลี่ยนไปเยอะเลย ศูนย์กลางความทันสมัยในวันก่อนบัดนี้กลายเป็นพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีใครจะสนใจ แต่จะว่าไปถึงส่วนผสมมันจะต่างออกไปบ้าง แต่รสชาติมันก็ยังกลมกล่อมและหอมอร่อยใช้ได้เลยทีเดียว

ระหว่างที่เดินๆ ดูๆ รอบสยามสแควร์ก็นึกขึ้นได้ว่าเมื่อก่อนมีที่ที่หนึ่ง ที่วัยรุ่นทุกคนจะต้องมารวมตัวกัน มันคือบันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ บรรยากาศบริเวณนั้นในสมัยก่อนถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของแฟชั่นเลยทีเดียว เรียกว่าลงรถเมล์ปุ๊บก็ถึงเลย (การเดินทางสะดวกมาก) อยู่หน้าห้างที่เก๋ที่สุด (location ดี) มีขั้นบันไดให้นั่ง (เป็น function ที่เหมาะกับชีวิตวัยรุ่นมาก) ที่ทางกว้างขวางพอให้รวมพลได้ (sizing พอดี)

จะเรียกว่าหมดคุณค่าก็คงไม่ถูกต้องแน่ๆ เพราะทางกายภาพแล้วพื้นที่บันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์นั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเท่าใดนัก โดยส่วนใหญ่จะเป็นรูปโฉมของอาคารที่ผ่านการปรับรูปแบบมาหลายครั้ง (ล่าสุดคือปี 2555 ปรับปรุงเป็นครั้งที่ 7) น่าคิดเหมือนกันนะครับ การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพ(การปรับรูปร่างหน้าตาอาคาร) เพื่อให้ตอบสนองกับพฤติกรรมของผู้บริโภคนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและไม่ใช่เรื่องที่จะคาดเดากันได้ สังเกตดีๆ ในเมืองกรุงเทพฯ ของเรานั้น จริงๆมีพื้นที่ที่มีปัจจัยพร้อมให้เกิดปรากฏการณ์พิเศษได้มากมาย ขอเรียกพื้นที่เหล่านั้นว่า wow-space เพื่อความเข้าใจง่ายก็แล้วกันนะครับ ปัจจัยทางกายภาพที่น่าจะทำให้เกิด wow-space โดยวิเคราะห์จากบันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ในวันที่ยังเป็นพระเอกอยู่ อาจกล่าวได้ประมาณนี้ว่า

 

1. มีตำแหน่งที่ตั้งเหมาะสม อยู่ในทิศทางที่พอดี (location and orientation)

ส่วนใหญ่แล้วพื้นที่ที่เกิดเป็นย่านได้นั้นจะมีจุดตัดของการสัญจรหลัก หรือมีการบรรจบกันของการเดินทาง ซึ่งทำให้เกิดกระแสและการรวมตัวของคน มวลของหมู่มนุษย์จะทำให้เกิดความต้องการที่ว่างและการใช้ประโยชน์

 

2. การเดินทางและการเข้าถึงสะดวก มีความหลากหลาย และรองรับปริมาณคนได้เพียงพอ (Transportation and Accessibility)

การเข้าถึงที่สะดวกย่อมหมายถึงโอกาสที่มากขึ้นของคนทุกคนที่จะสามารถเดินทางมายังสถานที่นั้นได้ โดยที่ระบบคมนาคมนั้นต้องสอดประสานกันเกิดเป็นพื้นที่ซ้อนทับของการเดินทางในระนาบเดียวกันหรือใกล้กัน (ทางเชื่อมเข้าอาคารโดยตรงจากชั้นขายบัตรของรถไฟฟ้าทำให้พื้นที่ชั้นระดับถนนกลายเป็นทางเข้ารองไป หรือพื้นที่ drop-off รถยนต์โดยสาร ถูกย้ายขึ้นไปชั้นสองหรือลงไปชั้นใต้ดิน ทำให้ access การเข้าพื้นที่หนึ่งๆ มีความหลากหลายมากเกินไป)

 

3. ขนาดพื้นที่และจุดสนใจ (Sizing and Focus Area)

ขนาดพื้นที่ที่กว้างขวางพอให้รับปริมาณคนตามข้อ1. ได้ และในขณะเดียวกันก็ไม่ใหญ่เกินปริมาณคนจนกลายเป็นโหรงเหรง เพราะพื้นที่เช่นนั้นจะไม่ส่งเสริมให้เกิดการรวมตัวของหมู่มนุษย์เท่าใดนัก ทั้งนี้พื้นที่นั้นต้องมีจุดสนใจที่มีคุณภาพพอให้คนรวมตัวกันได้ เช่นเดียวกับการรวมตัวของแฟนคลับในคอนเสิร์ตของกลุ่มศิลปินที่ชื่นชอบ

และแน่นอนว่านอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่มีผลที่จะทำให้เกิด wow-space ได้ ทั้งปัจจัยที่พอจะคาดเดาได้และปัจจัยที่คาดเดาได้ยากอย่างพฤติกรรมมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาหนึ่งๆ อย่างไรก็ดี wow-space ที่น่าสนใจอย่างบันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ในยุคหนึ่งที่ผ่านมาแล้วสองทศวรรษ ปัจจุบันพื้นที่นั้นไม่ได้ลดคุณค่าทางกายภาพลงเลย หากแต่เป็นเรื่องของมุมมองที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงเชิงวิธีการใช้งานพื้นที่สาธารณะของคนในยุคนั้นๆ ที่แตกต่างออกไป แล้วพื้นที่แบบใดถึงจะเหมาะสมกับเราๆ มากที่สุดกันนะ

 

Photo Credit
บันไดหน้าสยามเซ็นเตอร์ในวันวาน http://www.thaiticketmajor.com/variety/travel/4644/
สยามเซ็นเตอร์ในสมัยก่อน http://oknation.nationtv.tv/blog/panakom/2011/06/17/entry-1
สยามเซ็นเตอร์ปัจจุบัน http://www.capremier.co.th/portfolio_gallery.php?id=53

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.