The Cursed Land คนต่างแดนที่ถูกสาปด้วยความแตกต่างในพื้นที่ ความเชื่อ วัฒนธรรม และสิ่งเร้นลับของชาวไทยมุสลิมในสายตาชาวไทยพุทธ
ตั้งแต่เริ่มต้น ‘แดนสาป The Cursed Land’ ถือว่าเป็นโปรเจกต์ภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจ ตั้งแต่พลอตเรื่องของพ่อลูกชาวไทยพุทธที่ย้ายเข้าไปอยู่ในชุมชนชาวไทยมุสลิม และถูกคุกคามโดยบางสิ่งบางอย่างที่อยู่เหนือกว่าความเข้าใจของศาสนา เรื่องราวแบบพหุวัฒนธรรมของชาวไทยแบบที่ไม่ค่อยถูกนำเสนอมากนักบนจอภาพยนตร์ นอกจากนี้ แดนสาปยังเป็นผลงานจาก 2 บุคลากรในวงการภาพยนตร์อย่าง ‘ภาณุ อารี’ ผู้อำนวยการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ที่รับบทบาทเป็นผู้กำกับหนังเรื่องนี้ และ ‘ก้อง ฤทธิ์ดี’ ที่ลองข้ามจากดินแดนนักวิจารณ์ภาพยนตร์มาเป็นผู้เขียนบท และยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อทั้งคู่ต่างเป็นชาวไทยมุสลิม เคยมีผลงานสารคดีเกี่ยวกับชีวิตคนมุสลิมไทยอย่าง มูอัลลัฟ (2008), Baby Arabia (2010) และ กัดดาฟี (2013) ทำให้มีสายตาของชาวไทยเชื้อสายมุสลิมที่จับจ้องเห็นถึงประเด็นความเป็นมุสลิมบางอย่างในสังคมไทยที่จะได้รับการนำเสนอออกมาจากคนใน เพียงแต่คราวนี้มาในรูปแบบของหนังสยองขวัญ แรกเริ่มแม้จะมีดราม่าของการโปรโมตที่ก่อให้เกิดประเด็นอันทำให้หลายคนมองตัวหนังผิดไป แต่เมื่อได้ชมตัวหนังจริง มันเป็นสิ่งที่ต่างจากการโปรโมตในเชิงภาพผีอิสลามอย่างชัดเจน อีกทั้งยังสื่อสารว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังจะได้รับชมนี้ไม่ใช่เรื่องราวของผีแต่เป็นความลี้ลับแบบอื่น ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่แปลกประหลาด แต่เป็นสายตาอคติของคนภายนอก ‘แดนสาป The Cursed Land’ ถูกระบุเรื่องราวไว้อย่างชัดเจนว่าเกิดขึ้นในย่านหนองจอก ที่ซึ่งถูกเรียกขนานนามว่าเป็น ‘ดงแขก’ เพราะมีชาวไทยมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเสียยิ่งกว่าชาวไทยพุทธตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษชาวมลายู ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรมบริเวณขอบเกือบจะหลุดออกนอกของพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร อันเต็มไปด้วยชุมชนมัสยิดของชาวมุสลิมที่ใช้ชีวิตกันเสมือนยังเป็นชนบทต่างจังหวัดมากกว่าเมืองแบบภาพกรุงเทพฯ ในความคิดของหลายคน เมื่อสืบค้นข้อมูลพื้นที่ดังกล่าวลงไปจะค้นพบว่าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์อันบอบช้ำในยุคต้นรัตนโกสินทร์ เพราะเชลยศึกจากปัตตานีถูกกวาดต้อนมาใช้เป็นแรงงานในการขุดคลองแสนแสบบริเวณฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบันคือเขตหนองจอก มีนบุรี และคลองสามวา ที่นี่เองคือถิ่นฐานที่สองพ่อลูก […]