ความเชื่อ ความตาย และความเป็นชุมชนในสัปเหร่อ - Urban Creature

หลังจากการเดินทางของหนังชุด ‘ไทบ้านเดอะซีรีส์’ ที่เล่าเรื่องของบรรดาตัวละครมาเป็นจำนวน 3 ภาค โดยมีภาคแยกของตัวละครในจักรวาลนี้ด้วยกันหนึ่งเรื่อง นั่นคือ ‘หมอปลาวาฬ’ รวมไปถึงหนังที่แยกออกจากจักรวาลหลักอย่าง ‘รักหนูมั้ย’ และ ‘เซียนหรั่ง’ ในที่สุดก็มาถึงคราวหนังภาคแยกเรื่องราวของตัวละครที่ทุกคนต่างรอคอยใน ‘สัปเหร่อ’ ซึ่งเป็นเสมือนภาคที่จะคลี่คลายเรื่องราวของตัวละคร ‘เซียง’ และ ‘ใบข้าว’

เมื่อดูผิวเผินจากตัวอย่างและใบปิด เราอาจรู้สึกเหมือนว่า หรือทีมคนทำหนังชุดไทบ้านต้องการทำหนังผีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดหนังไทย เพราะด้วยภาพต่างๆ ที่เผยออกมาให้ได้ชม เป็นเรื่องราวของคนในหมู่บ้านที่ถูกวิญญาณผีใบข้าวตามหลอกหลอนจนหัวโกร๋น แต่เมื่อได้รับชมตัวหนังจริงๆ ปรากฏว่าเรื่องราวในเรื่องกลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกนำเสนอบ่อยนักในหนังไทย เราจึงไม่แปลกใจที่ผู้ชมที่เริ่มต้องการสิ่งแปลกใหม่จากหนังไทยจะแห่กันไปดูหนังเรื่องนี้อย่างล้นหลาม จนรายได้จะทะลุ 1,000 ล้านแล้วในขณะนี้

นอกจากความแปลกใหม่ของรสชาติที่หนังไทยไม่ค่อยนำเสนอ หนังเรื่องนี้ยังหยิบเอาประเด็นความเป็น-ความตาย ที่เชื่อมโยงกับความเป็นชุมชนในต่างจังหวัดมาบอกเล่าได้อย่างเรียบง่ายและสมจริง ผ่านสายตาของลูกหลานผู้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่

คอลัมน์เนื้อหนังขอถือโอกาสพาผู้อ่านไปสำรวจแง่มุมเหล่านี้ในสัปเหร่อ เพื่อทำความเข้าใจบริบทประเทศไทยในพื้นที่ที่อาจห่างไกลจากตัวผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นในเชิงกายภาพหรือความเข้าใจก็ตาม

พื้นที่ของความเชื่อ

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

สิ่งที่ทำให้สัปเหร่อโดดเด่นกว่าหนังไทยเรื่องอื่นๆ คือการเข้าไปลงลึกถึงอาชีพของสัปเหร่อ ราวกับเป็นสารคดีงานศพตามหลักความเชื่อและความต้องการของผู้ตายหรือผู้จัดงานให้

หนังค่อยๆ พาผู้ชมไปสำรวจการแสดงความรักต่อผู้ที่จากไปในรูปแบบต่างๆ นานา จากการที่ ‘เจิด’ (นฤพล ใยอิ้ม) ลูกชายคนเล็กของ ‘ศักดิ์’ (อัจฉริยะ ศรีทา) สัปเหร่อประจำหมู่บ้านที่กลับมาบ้านหลังจากไปร่ำเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ซึ่งนำพาเขาไปพบกับความหลากหลายของการจัดทำพิธีแก่ผู้ที่จากไป ไม่ว่าจะแบบท้องถิ่นของชาวไทยอีสานที่มีวัฒนธรรมการตั้งวงเล่นพนันกันในงานศพ หรือการเคาะโลงเรียกศพให้รู้ว่าได้เวลากินข้าว

ถัดมาด้วยการจัดงานศพแบบชาวคริสต์ที่ต้องเชิญบาทหลวงมาแทนพระ หรือการจัดงานศพแบบชาวมุสลิมที่ต้องจัดงานฝังให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง ยาวไปจนถึงงานศพที่แปลกตามากยิ่งขึ้นอย่างงานศพของวัยรุ่นเด็กแว้นที่เพื่อนๆ มาขี่จักรยานยนต์บิดคันเร่งเครื่องกันในงาน

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

ควบรวมไปถึงงานศพของคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องการตกแต่งงานศพด้วยสีสันแทนการใช้สีดำ หรือแม้แต่งานศพของสัตว์เลี้ยงแสนรัก สิ่งต่างๆ ที่คนรักอุทิศทำให้แก่ผู้ที่จากไป แม้ว่ารูปแบบจะแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ มันล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่สำหรับแสดงออกถึงความรักที่มีต่อผู้ที่จากไป หรืออีกทางหนึ่งคือการเป็นพื้นที่สำหรับแสดงออกเพื่อจัดการกับความโศกเศร้าของผู้ที่ยังต้องดำเนินชีวิตต่อไป

อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่า แม้กาลเวลาเปลี่ยนไป บรรดาคนรุ่นใหม่มีความเชื่อที่ยึดโยงกับศาสนาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์น้อยลงกว่าสมัยก่อน พิธีรีตองอาจไม่ได้เคร่งครัดแบบคนในอดีตมากนัก ถึงกระนั้นพิธีกรรมต่างๆ ก็ยังคงอยู่ โดยสามารถผ่อนปรนได้ตามความสะดวกใจของผู้จัด ซึ่งก็ไม่ต่างจากความเชื่อของผู้คนที่ต้องการจัดงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน

ท้ายที่สุดแล้วพิธีกรรมในอดีตที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลานั้น ไม่ได้เป็นเพราะผู้คนมีความศรัทธาหรือความรู้สึกต่อคนตายน้อยลง แต่ล้วนเปลี่ยนไปตามความสบายใจที่ผู้จัดงานต้องการจะทำให้ผู้ที่จากไปมากกว่า

พื้นที่หลังความตาย

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

นอกจากประเด็นความเชื่อในด้านพิธีกรรมงานศพของเจิดกับหน้าที่สัปเหร่อหน้าใหม่ อีกเส้นเรื่องหนึ่งที่หนังนำเสนอคือเรื่องราวของ ‘เซียง’ (ชาติชาย ชินศรี) ผู้ต้องการถอดจิตเพื่อไปหา ‘ใบข้าว’ (สุธิดา บัวติก) คนรักเก่าที่ตายจากไป

การถอดจิตกลายเป็นพิธีกรรมที่ทำให้เซียงได้ไปเยือนโลกหลังความตาย ซึ่งเป็นพื้นที่ลี้ลับที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน หนังจึงมีความพยายามที่จะจินตนาการสร้างภาพทัศน์ของโลกหลังความตายตามแบบที่พวกเขาเข้าใจว่ามันจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นภาพโลกเซอร์เรียลที่มีสิ่งของล่องลอยและเหล่าวิญญาณเดินกันขวักไขว่ หรือภาพน้ำตกและบ้าน สถานที่ที่เซียงและใบข้าวต่างมีความทรงจำร่วมกัน

จากตรงนี้มันได้กลายเป็นภาพโลกหลังความตายอีกรูปแบบหนึ่งในโลกภาพยนตร์ไทยไปโดยปริยาย ไม่ต่างจากหนังที่ผู้กำกับชาติอื่นๆ สร้างโลกหลังความตายขึ้นมา ยกตัวอย่าง Makoto Shinkai ผู้กำกับแอนิเมชันญี่ปุ่นที่ Suzume (2022) ผลงานของเขาได้พาผู้ชมไปเยือนโลกหลังความตายภายใต้การเปิดประตูสถานที่รกร้าง หรือ After Life (1998) ของผู้กำกับ Hirokazu Kore-eda ที่นำเสนอโลกหลังความตายที่คนตายสามารถนำความทรงจำที่ดีที่สุดของตนเองมาฉายใหม่อีกครั้งได้

ทางฝั่งตะวันตกเองก็มีหนังอย่าง What Dreams May Come (1998) ของ Vincent Ward ที่นำเสนอภาพสรวงสวรรค์ออกมาในเชิงภาพจิตรกรรม หรือแม้แต่การ์ตูนแอนิเมชันสำหรับเด็กอย่าง Soul (2020) ของ Pixar ก็เป็นภาพสวรรค์สุดนามธรรมที่มีเหล่าวิญญาณดวงจิ๋วและผู้ดูแลให้คำปรึกษาเหล่าดวงวิญญาณเป็นภาพลายเส้นบิดเบี้ยวแบบผลงานของ Pablo Picasso ซึ่งลึกล้ำเกินกว่าที่คนเป็นจะเข้าใจ

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

ทั้งหมดที่กล่าวมาแม้จะเป็นภาพจินตนาการที่แตกต่างกันไปตามแต่ตัวผู้สร้างสรรค์ แต่ความรู้สึกรับรู้ถึงโลกหลังความตายนั้นกลับเป็นสิ่งสากลที่มีเหมือนกันในคนทุกชาติ ซึ่งล้วนแล้วแต่ไม่มีถูกหรือผิดที่จะนำเสนอ เนื่องจากผู้ชมทุกคนเข้าใจมันได้ในทันทีที่รับชมภาพยนตร์

สำหรับโลกหลังความตายในสัปเหร่อนั้น มิได้ยึดโยงอยู่กับความเชื่อเดิมๆ ของชาวไทยพุทธในเรื่องของ ‘นรกและสวรรค์’ หรือ ‘การเวียนว่ายตายเกิด’ แบบเดิมเสียทีเดียว นับเป็นการแสดงให้เราเห็นถึงมุมมองโลกหลังความตายที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาของคนรุ่นใหม่ อย่างโลกที่ตัวละครไปพานพบกันก็กลายเป็นการยึดโยงอยู่กับภาพความทรงจำและความต้องการที่จะทำสิ่งต่างๆ ร่วมกับคนรักเก่าที่จากไป

โลกหลังความตายของเซียงจึงเป็นการที่เขาไม่อาจแบกรับความเศร้าของการสูญเสียคนรัก และนั่นทำให้ตัวเขาเองมีสภาพไม่ต่างจากคนที่ตายไปแล้วทั้งเป็นเช่นกัน ดั่งที่ตัวละครในเรื่องกล่าวว่า “ความตายมันฆ่าเฮาได้แค่ครั้งเดียว แต่ความฮักมันฆ่าเราไปได้เรื่อยๆ จนกว่าเฮาสิตายแม่นเด้ออ้าย” ซึ่งนั่นอาจสะท้อนถึงมุมมองเรื่องนี้ของคนรุ่นใหม่ที่นับการมีชีวิตอยู่โดยไร้ซึ่งความสุขเป็นอีกความตายหนึ่งก็เป็นได้

พื้นที่ของชุมชน

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

สิ่งที่ขาดไม่ได้และถือเป็นเอกลักษณ์ในหนังชุดไทบ้านคือบรรยากาศความเป็นกันเองของชุมชนพื้นถิ่นในภาคอีสาน ที่ผู้คนในหมู่บ้านอยู่ร่วมกันอย่างสนิทชิดเชื้อ เป็นกันเอง และพึ่งพาอาศัยกันแบบที่พบเจอได้ยากในเมืองหลวง

บทบาทของสัปเหร่อในหนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญกับชุมชน เพราะเมื่อมีใครสักคนเสียชีวิต ทุกคนต่างวิ่งหาสัปเหร่อกันทันที หากแต่ในสถานการณ์ปกติ อาชีพสัปเหร่อกลับกลายเป็นอาชีพที่ไม่ได้รับการมองเห็นและใส่ใจแต่อย่างใด ทั้งยังเป็นอาชีพที่ไม่มีใครอยากทำ แถมยังขาดแคลน เนื่องจากเป็นงานที่ถูกคนภายนอกดูหมิ่นดูแคลนว่าเป็นอาชีพที่ไม่มงคล ซึ่งแนวคิดนี้ไม่ได้มีแต่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะประเด็นลักษณะนี้ก็เคยถูกนำเสนอในสังคมญี่ปุ่นผ่านหนังเรื่อง Departures (2008) ของ Yojiro Takita

สำหรับความมั่นคงของอาชีพสัปเหร่อในไทยนั้น หากเป็นวัดหลวงก็ถือว่ามีรายได้เป็นเงินเดือน แต่หากเป็นวัดเล็กๆ แล้วรายได้ส่วนใหญ่จะมาจากเจ้าภาพใส่ซองให้เท่านั้น อีกทั้งคนที่ทำอาชีพสัปเหร่อในวัดเล็กๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นคนยากจนและไม่มีการศึกษาพอที่จะไปประกอบอาชีพอื่น บวกกับอาชีพนี้ยังยึดโยงอยู่กับคติเรื่องบาปบุญจนทำให้เหมือนต้องทำงานเพื่อเป็นสินน้ำใจ รวมถึงไม่ได้มีสวัสดิการใดๆ เหมือนอาชีพอื่นๆ ทั้งที่ในช่วงเวลาการระบาดของโควิด-19 อาชีพนี้ถือว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงไม่แพ้หมอหรือพยาบาล

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

และในขณะเดียวกัน เมื่อหันมามองดูอาชีพที่คล้ายคลึงกันซึ่งเป็นบุคลากรจากภาครัฐอย่าง ‘หมอแจ็ค’ (นาราภัทร งดงาม) ลูกชายอีกคนของสัปเหร่อศักดิ์ หรือแม้กระทั่งตัวละครอย่าง ‘หมอปลาวาฬ’ (สิริอมร อ่อนคูณ) กลับเป็นอาชีพที่ผู้คนในหมู่บ้านเคารพนับถือ แม้สิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันระหว่างอาชีพสัปเหร่อและหมอคือ เมื่อถึงเวลาที่ผู้คนในหมู่บ้านประสบพบเจอสิ่งใด พวกเขามักวิ่งมาหาหมอยามป่วยไข้ และวิ่งหาสัปเหร่อทันทีที่ใครสักคนตายจาก

นับเป็นเส้นบางๆ ที่เกี่ยวโยงกันอันทำให้เห็นว่าสองอาชีพนี้มีจุดร่วมไกลๆ ที่ซ้อนทับกันอยู่ เพียงแต่หมอนั้นได้รับความเคารพนับถือในตัวบุคคล แต่กลับอยู่ห่างไกลทางความเชื่อพื้นถิ่นของชาวบ้าน ส่วนสัปเหร่อนั้นแม้ไม่ได้เป็นที่ชื่นชม แต่ได้รับความไว้วางใจในด้านความศรัทธาเสียมากกว่า

เราเชื่อว่า ในยุคสมัยที่ผู้คนสนใจเรื่องการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียม และกระแสไวรัลของภาพยนตร์น่าจะช่วยกระตุ้นให้ผู้คนหันกลับมามองอาชีพนี้ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย และมันจะไม่ใช่การปรับมุมมองของผู้คนเพียงแค่อาชีพเดียวเท่านั้น แต่น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้กับอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลในสังคมไทยมากขึ้น ดั่งเช่นที่ภาพยนตร์ชุดไทบ้านเดอะซีรีส์พยายามนำเสนอภาพกลุ่มคนตัวเล็กๆ ในชุมชนชนบท ให้ชาวเมืองหลวงได้เรียนรู้ทำความเข้าใจผ่านแง่มุมเล็กๆ ที่หลายคนอาจไม่เคยสัมผัสมาก่อน

ความเชื่อ ความตาย ความเป็นชุมชนอีสาน ภาพยนตร์ไทย สัปเหร่อ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.