Holyplus ศาลพระภูมิยุคใหม่ - Urban Creature

จากภาพความเชื่อของผู้คน ‘ศาลพระภูมิ’ อาจเป็นของศักดิ์สิทธิ์ จับต้องยาก และเต็มไปด้วยความเชื่อที่หลายคนไม่กล้าลบหลู่ เราจึงพาไปเปิดโลกความเชื่อเกี่ยวกับศาลพระภูมิในทุกรูปแบบ รู้ลึกไปถึงกระบวนการออกแบบ ที่มา และแนวคิดที่ทำให้ศาลพระภูมิที่หลายคนคิดว่าห่างไกลกลับมาใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันมากขึ้น กับ ‘พี่ขวด-ไกรลาศ จันทร์คง’ สถาปนิกเจ้าของบริษัทศาลพระภูมิ ‘Holyplus’ ศาลพระภูมิยุคใหม่ที่เปลี่ยนมุมมองของศาลพระภูมิให้เข้ากับยุคเข้าสมัย และเป็นส่วนหนึ่งของอาคารบ้านเรือน ซึ่งกลมกลืนเข้ากับสิ่งแวดล้อมรอบข้างได้อย่างลงตัวที่แม้กาลเวลาก็ไม่ใช่เงื่อนไขอีกต่อไป

ก้าวแรกที่เราเดินทางกันมาที่บริษัทศาลพระภูมิ Holyplus ความรู้สึกเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากที่คิดไว้ เราเหมือนมาสตูดิโอของสถาปนิกคูลๆ คนหนึ่งที่ด้านล่างเต็มไปศาลพระภูมิเรียงรายหลากหลายรูปแบบ ท่ามกลางบรรยากาศสงบ ไม่ฉูดฉาด ไร้ซึ่งความน่ากลัวใดๆ ความรู้สึกนี้มันแปลกดีเหมือนกันนะ 

ศาลพระภูมิสู่การเปลี่ยนผ่านของกาลเวลา

“จริงๆ เราเป็นสถาปนิกมาก่อนถึงตอนนี้ก็ประมาณสามสิบปีแล้วนะ ซึ่งงานส่วนใหญ่ก็จะเป็นการออกแบบบ้านกับโรงงานเป็นหลัก ซึ่งถ้าถามว่ามาเริ่มทำศาลได้ยังไง ก็ต้องบอกว่ามันเริ่มจากงานของเราเองนี่แหละ (ยิ้ม) หลายครั้งที่โครงการทำเสร็จเจ้าของเขาก็จะบอกว่าคุณไปเลือกศาลให้ผมหน่อยสิ แต่พอเลือกดูไปเรื่อยๆ มันก็ เอ๊ะ! ยังไม่ใช่สักที 

“จนเราตัดสินใจว่า งั้นออกแบบให้เลยแล้วกัน ช่วงปีแรกๆ ก็จ้างเขาทำ ซึ่งก็เป็นแบบนั้นอยู่หลายปีเหมือนกันนะ กว่าจะตัดสินใจว่า เออ เราลองทำเองจริงจังดีไหม เพราะมันก็ค่อนข้างยากเหมือนกัน ยิ่งถ้ามันเกี่ยวกับความเชื่อเนี่ยต้องมีความกล้า และต้องศึกษามันมาอย่างดีเลยล่ะ

“อย่างศาลพระภูมิกับศาลเจ้าที่ ตามที่รู้ก็คือเขาจะเป็นเทพที่อยู่ในบ้าน การสร้างศาลก็เลยถูกเปรียบให้เป็นวิมานเพื่อให้ท่านอยู่อาศัย ซึ่งจุดสังเกตก็คือจะมีเสาเดียว แต่ถ้าเป็นศาลตายายก็เป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ล่วงลับไปแล้ว การออกแบบก็จะต่างออกไปคือจะคล้ายกับบ้านคนปกติมากกว่า ไม่ได้อยู่บนวิมานอะไร มีเสาสี่เสา แถมยังมีบันไดเพิ่มเติมขึ้นมาด้วย ส่วนศาลพระพรหมต้องเปิดทั้งสี่ด้าน เพราะพระพรหมท่านมีสี่พระพักตร์ หลักๆ ก็จะประมาณนี้แหละ”

หลายคนคงเกิดเป็นคำถามในใจว่า แท้จริงแล้วการที่จะเริ่มทำอะไรสักอย่างที่มันเกี่ยวกับความเชื่อจะทำได้จริงเหรอ นี่จะกลายลบหลู่หรือเปล่านะ เราตามไปหาคำตอบกับพี่ขวดไปพร้อมๆ กัน

เส้นทางความเชื่อสู่งานออกแบบยุคใหม่

“จากก้าวแรกที่เราลองทำศาลพระภูมิเองก็คิดนะว่ามันจะโอเคไหม เราจะไปเผลอทำอะไรผิดไปโดยที่ไม่รู้ตัวหรือเปล่า หลังจากนั้นก็เลยศึกษาอย่างจริงจังว่ามันต้องทำยังไง เราเลือกไปศึกษาข้อมูลกับพราหมณ์พิธีหลวง คุยกับเขาให้รู้ว่าหัวใจของการทำศาลคืออะไร หรือแก่นแท้มันคืออะไรกันแน่ เพราะว่าในความเป็นจริงพวกศาลประเภทต่างๆ ที่เห็นกัน เราแค่ทำตามกันมาเรื่อยๆ พ่อเราทำ แม่เราทำ ปู่ย่าตายายเขาทำตามกันมา เราก็เลยทำตามเพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี

“ซึ่งหลังจากที่เราเริ่มจะจริงจังไปปรึกษาพราหมณ์พิธีหลวงมาก็พบว่า จริงๆ ตอนที่ศาลเริ่มเกิดขึ้น ศาลมีเพียงเสาหลักตั้งขึ้นมาแล้วก็เอากะละมังมาวางด้านบน นำพระหรือรูปเคารพไปวางข้างบนแค่นั้นเอง แต่พอเวลาผ่านไปคนก็เริ่มเสริมเติมแต่งศาลกันต่อมาเรื่อยๆ จนมันอาจจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไท้ยไทย มีลวดลายมีลูกเล่นต่างๆ เพิ่มเติมขึ้นมา

“ซึ่งจุดประสงค์ของศาลพระภูมิหลายคนเชื่อว่าเพื่อความเป็นสิริมงคลของคนอยู่ แต่การจะตั้งศาลพระภูมิหรือไม่ตั้งขึ้นอยู่กับเจ้าของบ้านหรือสถานที่นั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของบ้าน ตึก หรือโครงการนั้นๆ มันเป็นความรู้สึกทางใจที่เมื่อเขาทำลงไปแล้วมันสบายใจอิ่มเอิบใจนะ ถ้าทำไปแล้วมันกลายเป็นความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่สบายใจ นั่นแปลว่าเรามาผิดทางแล้วล่ะ

“แต่มุมของเราในฐานะสถาปนิกคนหนึ่งเรามองว่า ศาลพระภูมินอกจากซัปพอร์ตทางด้านจิตใจแล้ว มันต้องตอบโจทย์การใช้งานและลื่นไหลไปกับสิ่งแวดล้อมรอบข้างด้วย ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่สิบปี ผลงานศาลพระภูมิที่เราออกแบบมันยังคงอยู่”

ระหว่างที่นั่งพูดคุยกันไปเรื่อยๆ พี่ขวดก็หยิบโมเดลศาลพระภูมิรุ่นแรกที่สร้างชื่อออกมาให้ดูรายละเอียดและแนวความคิดในรูปแบบใหม่ที่เราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าล้าสมัยอะไรเลยทั้งที่ผ่านมาตั้ง 10 ปีแล้ว

ร่วมสมัยแต่ไม่ทำลายแนวคิดดั้งเดิม

“เชื่อไหมโมเดลอันนี้อายุเป็นสิบปีแล้วนะ (ยิ้ม) เป็นโมเดลที่เราออกแบบรุ่นแรกเลย แล้วเป็นรุ่นที่คนนิยมมากเหมือนกัน รูปแบบจะเป็นทรงเหลี่ยมเป็นหลัก เราเลยตั้งชื่อว่า ‘เหลี่ยมเพชร’ จนมาถึงตอนนี้มีรูปแบบหลากหลายมาก อย่างตัววัสดุที่เลือกมาใช้ในมุมสถาปนิกเรามองเรื่องการใช้งานเป็นหลัก ตัวศาลสุดท้ายเมื่อใช้งานไปเรื่อยๆ มันเสื่อมสภาพอยู่แล้ว พอครบอายุก็ต้องทาสีใหม่ คิดว่าไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ เลยเลือกเป็นแกรนิตที่มีสีอยู่แล้ว หลังๆ เริ่มปรับใช้เป็นหินบ้างตามออเดอร์ลูกค้า ซึ่งเรามองว่าการเปลี่ยนวัสดุทำให้เราทำงานง่ายขึ้น

“ถ้าลองสังเกตดูสีที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นสีโทนเบจ จะไม่ใช้สีสันโดดๆ เท่าไหร่ เพราะคิดว่ามันเป็นโทนสีที่เข้ากับองค์ประกอบอื่นได้ง่ายกว่า แต่ก็มีบ้างที่ลูกค้าเลือกใช้สีดำ สีเทาเข้ม บางคนอาจมองว่าเป็นสีไม่มงคลหรือเปล่า แต่จริงๆ เรื่องสีมันขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของลูกค้ามากกว่า หรืออย่างสีทองเราก็เพิ่งเริ่มปรับใช้เพราะลูกค้าหลายคนแนะนำมาว่าควรจะมีนะ เป็นส่วนเล็กๆ ก็ยังดีเพราะเป็นสีมงคล พอลองทำไปเรื่อยๆ มันก็มีองค์ประกอบบางแง่มุมที่เราเองไม่ได้คิดถึงเหมือนกัน หลายๆ ครั้งลูกค้าเป็นคนสะกิดไอเดียให้เราเลยล่ะ (ยิ้ม)”

ตั้งมั่นตั้งศาล

“หลังจากที่เราเตรียมทำตัวต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนการติดตั้ง ซึ่งศาลของเราจะแยกชิ้นส่วนไปประกอบและติดตั้งมากกว่ายกสำเร็จไปทั้งหมด เช่น เสา ฐานของศาล ตัวเรือนศาล หลังคา ซุ้มยอดด้านบน หลักๆ จะมีประมาณนี้ ซึ่งเวลาในการติดตั้งก็แล้วแต่พราหมณ์กับเจ้าของเป็นคนกำหนด โดยจุดที่สำคัญของการตั้งศาลคือไม้มงคลที่ต้องอยู่ด้านล่างของศาลด้วย พิธีการดั้งเดิมจะต้องถึงพื้นดิน แต่พอมาถึงยุคนี้บางท่านก็บอกว่าเก็บไว้ตรงส่วนของฐานเสาก็ได้ ซึ่งก็แล้วแต่พราหมณ์ประจำพิธีเขาตั้งไว้แบบไหน เจ้าภาพโอเคกับจุดไหน ซึ่งมันเป็นการตัดสินใจพร้อมกัน”

จากความเชื่อสู่การออกแบบที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตประจำวัน การสร้าง ‘ศาล’ กลายเป็นจุดเชื่อมโยงตรงกลางระหว่างความเชื่อกับวิถีของผู้คน เราเองก็เพิ่งรู้ว่าการตั้งศาลไม่ใช่หลักความเชื่อของศาสนาพุทธมาตั้งแต่แรก อย่างศาลตายายกับศาลพระภูมิเข้าใจว่าเป็นไปในทางพุทธมากกว่า แต่พระพรหมจะเป็นพราหมณ์ผสมฮินดูหน่อยๆ จนทำให้เราเห็นว่ายุคสมัยของศาลมันขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา 

นี่มันยุคใหม่ของศาลพระภูมิ

“ยุคนี้ที่ดินแพงขึ้นจะทำให้คนนิยมตั้งศาลกันน้อยลงไหม ผมมองว่ามันไม่มีผลอะไรกับการทำศาลนะ (ยิ้ม) เพราะถ้ามองไปถึงวงการสถาปนิกในกระบวนการสร้างบ้านสร้างอาคาร เขาจะมีการจัดวาง Green Area ไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Landscape เลย ซึ่งพื้นที่ตรงนั้นแหละที่นำมาสร้างศาล สำหรับเราเรียกว่านี่เป็น Generation ของศาลพระภูมิเลยแหละ เพราะในช่วงเวลาที่ผ่านรูปแบบมันไม่ได้มีการพัฒนาไปมากสักเท่าไหร่ มันมีแค่การทำซ้ำทำตามกันมาเรื่อยๆ ซึ่งมันก็หยุดอยู่แค่นั้น

“พอเริ่มมาจับผสมผสานใส่ดีไซน์ เรารู้สึกว่าเหมือนศาลพระภูมิที่เราทำมันคือส่วนหนึ่งของบ้านหรือที่พักอาศัยไปแล้ว แรกๆ ยังคิดเลยว่าคนวัยไหนรุ่นไหนนะที่จะมาเป็นลูกค้าเรา ต้องวัยรุ่นหรือเปล่า แต่สุดท้ายมันไม่เกี่ยวกันเลย ลูกค้าเราหลากหลายมาก จริงๆ มันขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนะ การเปิดใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ามองให้ลึกลงไปถึงแก่นหลักของการทำศาลมันไม่ได้มีเรื่องราวอะไรที่เป็นกรอบขนาดนั้น ถ้าเราตอบความต้องการให้ลูกค้าได้ เขามีความสุข ที่สำคัญงานออกแบบของเรามันมีคุณค่า มีคนมองเห็น นี่คือความสุขของผมแล้วนะ อย่างที่บอกมันคือ Generation ใหม่ของศาลพระภูมิจริงๆ”

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.