ทำไมหลายประเทศถึงใช้ธุรกิจทางศาสนาพัฒนาเมืองได้ - Urban Creature

ศาสนาและความเชื่อเหนือธรรมชาติกำเนิดขึ้นพร้อมกับมนุษย์ตั้งแต่ยุคหิน จากความเกรงกลัวในธรรมชาติ สู่การกำเนิดเทพเจ้า ไปจนถึงหนทางของการดับทุกข์ เราจึงไม่สามารถปฏิเสธถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นของมนุษย์และศาสนาที่ฝังรากลึกในตัวเรา

นั่นทำให้คุณค่าของศาสนาไม่อาจประเมินเป็นตัวเลขได้ เพราะผู้คนที่ศรัทธายอมจ่ายทุกสิ่งอย่างแม้กระทั่งชีวิตตนเองเพื่อเป้าประสงค์ที่ต้องการ แน่นอนว่าเรื่องเงินทองเป็นเพียงเรื่องขี้ปะติ๋ว หากเทียบกับการได้พบกับพระเจ้าหรือขึ้นสวรรค์

ความศักดิ์สิทธิ์จึงกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาลแต่ต้นทุนน้อยนิด สร้างโมเดลธุรกิจอันเก่าแก่ที่มีมานานกว่าพันปี ตั้งแต่มนุษย์กำหนดให้ทองและเงินเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้า เมืองต่างๆ ทั่วโลกก็เริ่มอ้างถึงความศักดิ์สิทธิ์และนำมาเป็นจุดขายของเมือง ทั้งการเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่านักแสวงบุญจากทั่วโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากสถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สวยงาม การขายของฝากที่เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นพื้นที่สำหรับความหวังในการขอพร ทำให้ไม่แปลกที่เหล่าองค์กรทางศาสนาทั่วโลกจะมีฐานะร่ำรวยเป็นพิเศษ

จวบจนปัจจุบัน ศาสนายังคงมีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะในระบอบทุนนิยม หลายเมืองมีการพัฒนาจัดการธุรกิจศาสนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการป้องกันการทุจริตที่จริงจัง คอลัมน์ Curiocity ขอพาไปสำรวจถึงความเป็นมาของการเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ การสร้างแบรนดิ้งด้านความเชื่อในเมืองเล็ก และการบริหารจัดการกับธุรกิจแห่งความศรัทธาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากตัวอย่างของเมืองแห่งศาสนาจากทั่วทุกมุมโลก

ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ
ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ วาติกัน

นครศักดิ์สิทธิ์ จุดเริ่มต้นของธุรกิจศาสนา

สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางศาสนามักมีความศักดิ์สิทธิ์เป็นพิเศษ เหมาะแก่การตามรอยแสวงบุญหรือเข้าร่วมพิธีในศาสนานั้นๆ ผู้คนมากมายจึงต่างหลั่งไหลเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองเหล่านั้นโดยไม่รู้ตัว

ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นกลุ่มศาสนาที่มีความนิยมและทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลกอย่างกลุ่มศาสนาตระกูลอับราฮัม (Abrahamic Religions) นั่นก็คือ ศาสนาคริสต์ อิสลาม และยูดาห์ ที่ทั้งสามศาสนามีความเชื่อถึงต้นกำเนิดของศาสนาตนว่า มาจากชายนามอับราฮัมที่ได้รับสารจากพระผู้เป็นเจ้าและออกเดินทางอพยพไปยังดินแดนคานาอัน (Canaan) ซึ่งต่อมากลายเป็นดินแดนแห่งพันธสัญญานาม ‘อิสราเอล’ (Israel) และศูนย์กลางของอาณาจักรคือนครศักดิ์สิทธิ์ ‘เยรูซาเลม’ (Jerusalem)

ภายใต้ดินแดนแห่งพันธสัญญา ได้เกิดเรื่องราวสำคัญทางศาสนามากมาย ส่งผลให้สถานที่ต่างๆ ในเมืองเยรูซาเลมกลายเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสามศาสนา โดยเฉพาะชาวยิวจากทั่วโลกที่เดินทางมาเข้าร่วม ‘เทศกาลปัสกา’ (PESACH) เพื่อระลึกถึงการที่พระเจ้าทรงนำชาวยิวหนีออกจากการเป็นทาสในอียิปต์

ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ

ถึงแม้จะยังมีชาวคริสต์และอิสลามเดินทางไปแสวงบุญที่เยรูซาเลมอยู่บ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลายร้อยปี เมืองยอดนิยมในการแสวงบุญของทั้งสองศาสนากลับได้แยกตัวออกไปยังนครศักดิ์สิทธิ์แห่งใหม่ นั่นคือ ‘นครรัฐวาติกัน’ (Vatican City) และ ‘เมืองมักกะฮ์’ (Makkah) ที่ต่อมาทั้งสองเมืองกลายเป็นแหล่งแสวงบุญที่มีผู้เดินทางมามากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

เริ่มจากประเทศที่เล็กที่สุดในโลกใจกลางกรุงโรมอย่างนครรัฐวาติกัน เมืองหลวงของคริสตจักรที่เป็นแหล่งประทับของพระสันตะปาปา และมีเอกสารโบราณวัตถุที่สำคัญจำนวนมาก เห็นได้ชัดจากมวลมหาชนที่หลั่งไหลเดินทางไปชมบุญบารมีพระสันตะปาปา ผู้เป็นประมุขของชาวคาทอลิก

ก่อนหน้านี้นครรัฐวาติกันเคยเป็นองค์กรที่มีอำนาจมากที่สุดในยุโรป และยังร่ำรวยมหาศาลจากเงินทองของผู้ศรัทธาต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือเหล่ากษัตริย์และขุนนาง ทำให้ในปัจจุบันเมืองวาติกันมีการพัฒนาสถานีรถไฟที่เชื่อมต่อกับระบบรถไฟของอิตาลี วิทยาลัยสงฆ์ และสถาบันการศึกษาประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพื่อรองรับผู้แสวงบุญและเหล่านักบวชที่ต้องการศึกษาต่อ

ข้ามฝั่งไปยังดินแดนซาอุดีอาระเบีย เมืองมักกะฮ์เป็นที่นับถือของชาวมุสลิมในฐานะบ้านเกิดของศาสดา มุฮัมหมัด อิบน์ อับดุลลาห์ (Muhammad ibn Abdullah) และยังเป็นสถานที่ในการประกอบ ‘พิธีฮัจญ์’ ซึ่งคือ 1 ใน 5 หลักปฏิบัติศาสนกิจของชาวมุสลิมที่มีความสามารถทางร่างกายและทุนทรัพย์ จะต้องปฏิบัติอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต โดยในแต่ละปีชาวมุสลิมกว่า 2.5 ล้านคนจากทั่วโลกจะเดินทางมาประกอบพิธี ทำให้เมืองเกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับชาวมุสลิมจำนวนมาก และธุรกิจทัวร์นำแสวงบุญก็เกิดขึ้นมากมายเช่นกัน เนื่องจากผู้แสวงบุญส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

เห็นได้ชัดว่าทั้งสามนครศักดิ์สิทธิ์สามารถชักจูงผู้ศรัทธาจากทั่วทุกมุมโลกด้วยประวัติศาสตร์อันเก่าแก่และความเป็นต้นกำเนิดศาสนา ขณะเดียวกัน เราก็ได้ยินเรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์จากเมืองเล็กๆ ทั่วโลกที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์หรือเกี่ยวข้องกับศาสดา แต่ในเมืองเหล่านั้นกลับพบผู้ศรัทธาเดินทางกันขวักไขว่ไม่ต่างจากเมืองใหญ่ข้างต้น

ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ

การโฆษณาความศักดิ์สิทธิ์เพื่อดึงดูดผู้ศรัทธาในเมืองเล็ก

ในบางครั้งความศักดิ์สิทธิ์อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่มากมาย ขอแค่สิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นสามารถให้ประโยชน์แก่ผู้ศรัทธาได้ นี่จึงเป็นสาเหตุที่เมืองเล็กๆ ที่อาจไม่ได้มีประวัติศาสตร์ทางศาสนายาวนาน แต่แค่มีตำนานเรื่องเล่าปากต่อปากก็สร้างความศรัทธาแก่ชาวบ้านโดยรอบได้ และถ้ายิ่งให้พรหรือเสริมสิริมงคลด้วยเรื่องเหนือธรรมชาติด้วย นั่นจะยิ่งช่วยเพิ่มพลังการโฆษณาถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเมืองได้อย่างไม่ยากเย็น

ยกตัวอย่างเมือง ‘ลูร์ด’ (Lourdes) เมืองเล็กๆ ในฝรั่งเศส ความศักดิ์สิทธิ์เริ่มขึ้นในปี 1858 เมื่อแบร์นาแดต ซูบีรู เด็กสาววัย 14 ปีผู้ไม่รู้หนังสือและยากจน เห็นการปรากฏตัวของพระนางมารี 18 ครั้ง ในถ้ำมาสซาบีแอล เมื่อแม่พระบอกให้เธอดื่มและอาบน้ำจากน้ำพุธรรมชาติแห่งหนึ่ง ว่ากันว่าน้ำพุนี้มีพลังเยียวยาโรคภัยไข้เจ็บ และในไม่ช้าก็ดึงดูดคนเจ็บป่วยและผู้ทนทุกข์ให้มารักษาที่นี่เป็นจำนวนมา

ชื่อเสียงของลูร์ดดังไปไกลกว่าเขตแดนฝรั่งเศส นักแสวงบุญส่วนใหญ่ยอมเดินทางมาจากต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจของเมืองเติบโตขึ้น และเงินกว่า 300 ล้านยูโรสะพัดทุกปีโดยผู้จาริกแสวงบุญ เศรษฐกิจของเมืองจึงเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงศาสนาไปโดยปริยาย

ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ

ตัดภาพมาที่บ้านเรา ถึงประชากรส่วนใหญ่ในไทยนับถือศาสนาพุทธ แต่เราก็มีจิตศรัทธาในหลากความเชื่อ ตั้งแต่พระธาตุที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ศาลเทพฮินดูที่คนมักไปขอโชคลาภและความรัก หรือแม้แต่การไหว้ผีสางตามความเชื่อท้องถิ่น

ความศรัทธาเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นจากการโฆษณาปากต่อปาก เมื่อมีผู้สมหวังก็เกิดการ บอกต่อ ทำให้ความเป็นสิริมงคลค่อยๆ สร้างชื่อเสียงให้เมืองมากขึ้นจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงความเชื่อ ที่ทุกคนพร้อมจ่ายเงินเป็นล้านๆ เพื่อสิ่งที่มองไม่เห็น กลายเป็นการต่อยอดธุรกิจมากมายทั้งการขายของชำร่วยหรือทัวร์ไหว้พระไหว้เจ้า

เมื่อมีเงินสะพัดในระบบมหาศาล แน่นอนว่าย่อมเกิดช่องทางของมิจฉาชีพในการใช้ผู้ที่จิตใจกำลังอ่อนแอเพื่อหลอกเอาเงิน หรือเป็นแหล่งฟอกเงินของบรรดาธุรกิจสีเทาอย่างที่เป็นข่าว การตรวจสอบและการจัดการธุรกิจทางศาสนาจึงเป็นเรื่องที่สมควรพิจารณาอย่างยิ่ง

การจัดการธุรกิจศาสนาให้เป็นมากกว่าความเชื่อที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง

การวางนโยบายและกฎระเบียบจากภาครัฐที่ชัดเจนสำหรับองค์กรศาสนาและธุรกิจทางศาสนา สามารถช่วยสร้างความโปร่งใส เพิ่มประสิทธิภาพและความเป็นธรรมในการแข่งขันเฉกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ

อย่างในประเทศเดนมาร์ก มีระบบการจัดการธุรกิจศาสนาที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง โบสถ์คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์แห่งเดนมาร์ก (Church of Denmark) ซึ่งเป็นโบสถ์ประจำชาติ มีระบบการเงินที่รัดกุม นโยบายเปิดเผยข้อมูลการเงินต่อสาธารณชน และกลไกการตรวจสอบภายในและภายนอกที่มีประสิทธิภาพ 

แม้ตัวโบสถ์มีอิสระจากรัฐบาล แต่สมาชิกของโบสถ์ทุกคนต้องเสียภาษีโบสถ์ และรัฐบาลจะให้เงินสนับสนุนแก่โบสถ์อีกที ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ และมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาโบสถ์ให้ดียิ่งขึ้น

ประเทศ ศาสนา ธุรกิจศาสนา ความเชื่อ สถาปัตยกรรม ลัทธิ

หรืออีกกรณีที่น่าสนใจคือ รัฐบาลซาอุดีอาระเบียที่ควบคุมดูแลจัดการการแสวงบุญฮัจญ์ มีการออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการบริการพิธีฮัจญ์ กำหนดจำนวนผู้แสวงบุญ และดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ของผู้แสวงบุญ โดยอยู่ภายใต้กฎหมายทั่วไปของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งหมายความว่าธุรกิจศาสนาและบุคคลในเมืองมักกะฮ์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายชารีอะห์ กฎหมายทั่วไป และกฎหมายเกี่ยวกับการจ้างงานของประเทศเฉกเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อความเป็นธรรม

นโยบายหรือกฎระเบียบเหล่านี้ย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของประเทศนั้นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ และถึงแม้บางคนจะมองเรื่องเหล่านี้เป็นความเชื่องมงาย แต่ในเมื่อสิ่งเหล่านี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเราคงไม่สามารถไปห้ามความเชื่อของใครได้ เพราะฉะนั้นการตรวจสอบความโปร่งใสด้วยนโยบายการจัดการธุรกิจศาสนาอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างประโยชน์แก่ประเทศหรือเมืองเมืองนั้นได้มากกว่าการเป็นแค่เรื่องของความเชื่อที่คนไม่กี่กลุ่มถือครองไว้หาประโยชน์ส่วนตัว


Sources :
Holloway, R. (2560). A Little History of Religion. Openworlds.
National Geographic | bit.ly/3xAknx7
Silpa-mag | bit.ly/3xDZ8KW
The Guardian | bit.ly/4cX8VMq
TrueID | bit.ly/4d08Qrd

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.