หมุดถนนเรืองแสงแบบไฮบริด ผลงานจากนักวิจัย ม.วลัยลักษณ์ สร้างถนนที่ปลอดภัยด้วยวัสดุรีไซเคิล
เป็นที่รู้กันดีว่าการขับรถตอนกลางคืนเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการหลีกเลี่ยง ยิ่งเป็นการขับรถในเส้นนอกเมืองที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอก็อาจทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายขึ้น แต่หลังจากนี้การขับรถในเวลากลางคืนอาจไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป เพราะล่าสุดทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ทำการพัฒนานวัตกรรม ‘หมุดถนนเรืองแสงแบบไฮบริด’ ด้วยเทคโนโลยี ‘Glow-in-the-Dark (GiD)’ ร่วมกับการรีไซเคิลผงแก้ว จากการร่วมมือกันของนักวิจัยจากสำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับนักวิจัยจากประเทศไทย อินโดนีเซีย และสหราชอาณาจักร ภายใต้การสนับสนุนจากมูลนิธิ Mitsui Sumitomo Insurance Welfare Foundation ประเทศญี่ปุ่น และทำการยื่นจดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว โดยความพิเศษของหมุดถนนเรืองแสงนี้คือ สามารถดูดซับพลังงานจากแสงในช่วงเวลากลางวันและปล่อยแสงในที่มืดได้ยาวนานถึง 8 ชั่วโมง ด้วยความสว่าง 150 mcd/m² ซึ่งถือว่าสว่างกว่ามาตรฐานสะท้อนแสงทั่วไป และสามารถสะท้อนแสงไฟจากพาหนะที่จะเป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ที่มีแสงสว่างน้อย เช่น ทางโค้ง ทางแยก และจุดทางข้ามได้ด้วย อีกทั้งการใช้ผงแก้วรีไซเคิลยังช่วยประหยัดพลังงาน เนื่องจากไม่ใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ทำให้ลดต้นทุนการผลิตและวัสดุได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยังทนทานต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี และจากการทดลองนำตัวหมุดเรืองแสงติดตั้งบนถนนภายในมหาวิทยาลัยและในพื้นที่ต่างๆ แล้วพบว่า ตัวหมุดเรืองแสงนี้สามารถทนต่อแรงกดจากยางรถยนต์น้ำหนักกว่า 30 ตัน และยังคงความสว่างได้ดีในทุกสภาพแวดล้อม ในอนาคตทีมวิจัยมีแผนที่จะพัฒนาและปรับปรุงวัสดุให้ทนทานยิ่งขึ้น รวมถึงขยายการใช้งานในระดับประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่ยังไม่มีระบบไฟถนน ซึ่งในตอนนี้ก็อยู่ระหว่างการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ส่งเสริมการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในงานจราจรให้มากขึ้น นอกจากนี้ […]