ป้ายบอกทาง ดูยังไงว่าถูกกฎหมายหรือไม่ - Urban Creature

การเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย แม้ว่าจะเปิดดูตาม Google Maps แล้วก็ตาม แต่ถ้ามีป้ายบอกทางสักหน่อยก็คงจะทำให้ผู้ขับขี่หรือผู้ไม่คุ้นชินเส้นทางสบายใจไม่น้อยเลยทีเดียว

ในบรรดาป้ายที่เราเห็นกันมักจะเป็น ‘ป้ายบอกทาง’ (Guide Sign) ที่มีลักษณะเป็นป้ายสีเขียวตัวหนังสือสีขาว หรือป้ายสีขาวตัวหนังสือสีดำ เหมือนกับป้ายบอกทางบนถนนหลวงทั่วไป

แต่บางป้ายก็ติดตั้งกีดขวางทางเดิน ทำให้ไม่เหลือพื้นที่บนทางเท้าราวกับไม่ได้รับอนุญาต หรือบางครั้งก็ดูแตกต่างจากป้ายอื่นๆ ทั่วไป จนทำให้เกิดคำถามว่า แล้วป้ายทั้งหมดที่เราเห็นตามทางเหล่านี้ถูกกฎหมายหรือไม่

คอลัมน์ Curiocity อาสาพาไปไขข้อข้องใจเกี่ยวกับป้ายบอกทางไปยังสถานที่ต่างๆ ว่า ป้ายแบบไหนที่ผิดกฎหมายบ้าง และถ้าต้องติดตั้งป้ายแบบไหนถึงจะถูกต้องตามกฎหมาย

ป้ายแบบไหนที่ไม่สามารถติดตั้งบนพื้นที่สาธารณะได้

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการติดตั้งป้ายโฆษณาในที่สาธารณะของกรุงเทพมหานคร มีป้ายทั้งหมด 7 ประเภทที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้ง คือ ป้ายเกาะกลางถนน ป้ายบนสะพานลอย ป้ายหน้าปากซอย ป้ายที่อยู่ในเขตทาง ป้ายอวยพรในเทศกาลต่างๆ ป้ายติดตามผนังกำแพงบ้านเรือนประชาชน และป้ายลอกเลียนแบบ กทม.

อ่านๆ ดูป้ายประเภทอื่นๆ ก็พอเข้าใจได้ แต่ป้ายลอกเลียนแบบ กทม. คืออะไร ทุกคนสงสัยไหม

ป้ายประเภทนี้เรามักพบเห็นได้ทั่วไป จนแทบแยกไม่ออกว่าอันไหนคือป้ายที่ถูกกฎหมาย หรืออันไหนคือป้ายเลียนแบบเพื่อเลี่ยงภาษีป้าย

Guide Sign Public

โดยปกติแล้วหากมีผู้พบเห็นและแจ้งแก่เจ้าหน้าที่ ทาง กทม.ก็จะรื้อถอนหากไม่มีเจ้าของป้ายมาแสดงตน แต่ถ้าในกรณีที่ป้ายติดตั้งในพื้นที่เอกชน เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบหาเจ้าของว่าได้เสียภาษีป้ายอย่างถูกต้องตาม ‘พ.ร.บ.ภาษีป้าย’ และ ‘พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง’ หรือไม่ 

หากไม่ได้เสียภาษีอย่างถูกต้อง ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการปรับเรียกภาษีย้อนหลัง หรือหากเป็นป้ายผิดกฎหมายจะรื้อถอนออกทันที

แล้วป้ายแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย

กรมทางหลวงได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาตให้ติดตั้งป้ายแนะนำสถานที่ราชการและเอกชน เมื่อผู้ประกอบการต้องการติดตั้งป้ายบอกทางไปยังสถานที่ของตนเอง จะต้องเข้าไปยื่นคำขออนุญาตตามมาตรา 47 พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ไว้ว่า สถานที่นั้นต้องเป็นสถานที่ราชการและสถานที่เอกชน เช่น สนามกีฬา ศูนย์การค้า แหล่งท่องเที่ยว สถานศึกษา โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม ศาสนสถาน นิคมอุตสาหกรรม มูลนิธิและองค์กรการกุศล และสำนักงานพรรคการเมือง ที่มีประชาชนเดินทางมาติดต่อจำนวนมาก แต่ไม่ได้เดินทางมาเป็นประจำ ซึ่งอาจจะทำให้หลงทางหรือเข้าออกบริเวณนั้นไม่สะดวก

Guide Sign Public

ป้ายที่ถูกกฎหมายตาม พ.ร.บ.ทางหลวง ต้องมีลักษณะเป็นป้ายบอกจุดหมายปลายทาง ที่ติดตั้งบนทางหลวงในระยะ 25 ถึง 150 เมตรก่อนถึงทางแยกสาธารณะหรือทางเชื่อมไปสู่สถานที่ดังกล่าว และเป็นป้ายชี้ทาง บอกระยะทางจากทางแยกถึงสถานที่ดังกล่าวเป็นกิโลเมตรหรือเมตร โดยมีลักษณะดังนี้

ป้ายบอกจุดหมายปลายทางที่เป็นสถานที่ราชการและสถานที่เอกชน

  • ป้ายติดตั้งบริเวณข้างทางต้องเป็นป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีดำ
  • ป้ายแขวนสูงแบบยื่นต้องเป็นป้ายพื้นสีเขียว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีขาว

ป้ายชี้ทาง

  • ป้ายชี้ทางสถานที่ราชการต้องเป็นป้ายพื้นสีขาว ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีดำ
  • ป้ายชี้ทางสถานที่เอกชนต้องเป็นป้ายพื้นสีน้ำตาล ตัวอักษรและสัญลักษณ์สีขาว

ทำอะไรได้บ้างเมื่อพบป้ายผิดกฎหมาย

ในกรณีที่จับสังเกตได้ว่าป้ายที่พบนั้นผิดกฎหมาย ใช่ว่าผู้พบเห็นจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย เพราะป้ายที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะ หากไม่เป็นไปตามกฎและเงื่อนไขที่กำหนดถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท รวมถึงทำผิด พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ. 2535 ซึ่งมีโทษทั้งจำทั้งปรับเช่นกัน โดยประชาชนผู้พบเห็นป้ายโฆษณาที่มีลักษณะผิดกฎหมายบนทางหลวง โทรแจ้งได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586

Guide Sign Public
Guide Sign Public

หรือหากเจ้าหน้าที่สำนักงานเทศกิจเป็นผู้พบเห็น ก็จะประเมินว่าถูกกฎหมายตามที่กรมทางหลวงพิจารณากำหนดประเภทและมาตรฐานของป้ายหรือไม่ รวมทั้งตำแหน่งติดตั้งป้ายที่เหมาะสม หากฝ่าฝืนมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติทางหลวง พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2549 ห้ามมิให้ผู้ใดสร้างอาคารหรือสิ่งใดในเขตทางหลวง หรือรุกล้ำเข้าไปในเขตทางหลวง เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากผู้อำนวยการทางหลวง เจ้าหน้าที่สามารถทำการรื้อถอนและปรับทันทีตามมาตรา 37 วรรคสาม เพื่อเรียกคืนภาษีคืนสู่การคลังของ กทม. อย่างถูกต้อง

Sources :
MGR Online | t.ly/SUZxn
Thai PBS | t.ly/KtOju
กรมทางหลวง | t.ly/FHA02
อบต. ซับสมบูรณ์ | t.ly/8mfE5
อบต. หัวสำโรง | t.ly/pMjoZ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.