Sustainable Market Event จัดอีเวนต์ให้ยั่งยืน - Urban Creature

เข้าสู่ช่วงสิ้นปีแบบนี้ หลายคนคงเริ่มเห็นอีเวนต์ต่างๆ จัดขึ้น เตรียมให้เราได้ไปเดินเล่นและร่วมสนุกกันแทบทุกสัปดาห์ ซึ่งอีเวนต์ที่เราเห็นกันอยู่บ่อยครั้งมักจะเป็น ‘Market Event’ ที่มีทั้งโซนขายของ โซนอาหาร มาพร้อมสินค้าที่หลากหลายและน่าสนใจตามธีมของแต่ละงาน

ทว่าการจัดอีเวนต์แต่ละครั้ง ไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งนั้น ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การสร้างขยะภายในงาน การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง มลภาวะจากการเดินทาง ฯลฯ

เพราะกังวลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอนาคต หลายอีเวนต์ทั่วโลกจึงเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบในมิติสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นอีกโจทย์สำคัญของผู้จัดงานต่างๆ ว่าจะมีวิธีและทิศทางการจัดงานแบบไหนบ้าง ที่สร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

คอลัมน์ Urban Sketch วันนี้จึงขอจำลองวิธีการจัด Sustainable Market Event ที่ทุกคนยังคงเพลิดเพลินกับกิจกรรมได้เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือแนวทางเรื่องความยั่งยืน สำหรับจัดอีเวนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรับผิดชอบต่อสังคมไปพร้อมๆ กัน

1) บูททำจากวัสดุธรรมชาติ ลดการใช้อุปกรณ์ยึดโครง– Market Event คือการรวมตัวของบูทร้านค้ามากมาย ซึ่งปกติแล้วโครงสร้างของบูทจะทำจากเหล็กหรืออะลูมิเนียม แต่เพื่อให้ตัวงานเกิดความยั่งยืนมากขึ้น เราจึงเปลี่ยนมาใช้โครงสร้างที่ทำจากไม้ทั้งหมด และเลี่ยงการใช้ตะปูหรือวัสดุอื่นๆ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายกับตัวไม้ เมื่อจบงานแล้วก็สามารถถอดเก็บไว้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้งในอนาคต 

2) ใช้ป้ายลบได้เพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำ – ยกเลิกการใช้ป้ายต่างๆ ภายในงาน เช่น ป้ายไวนิลหรือป้ายอิงก์เจ็ต ที่ใช้ได้เพียงครั้งเดียว และเปลี่ยนมาใช้ป้ายที่ทำจากวัสดุที่เขียนและลบได้ เพื่อเก็บไว้ใช้ซ้ำในงานถัดไป เป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดขยะ หรือจะส่งต่อให้งานอื่นๆ นำไปใช้ก็ได้เหมือนกัน

3) จัดงานใกล้ขนส่งสาธารณะ – ปัญหาใหญ่ๆ ของงานอีเวนต์คือเรื่องการเดินทาง เช่น สถานที่อยู่ไกล ทำให้เดินทางไม่สะดวก จนถึงปัญหารถติดและพื้นที่จอดรถไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น การจัดงานให้อยู่ใกล้กับขนส่งสาธารณะจึงเป็นวิธีที่ช่วยให้ผู้ร่วมงานไม่ต้องเสียเวลาหาที่จอดรถ ทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้รถส่วนตัว ซึ่งจะลดการปล่อยมลพิษได้ด้วย

4) จัดงานกลางแจ้งเพื่อประหยัดพลังงาน – การเลือกจัดงานในพื้นที่เปิดหรือ Outdoor จะช่วยลดการใช้เครื่องปรับอากาศได้ เพราะการปล่อยสารทำความเย็น ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) จากแอร์คอนดิชันเนอร์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งอันตรายกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) หลายพันเท่าเลยทีเดียว นอกจากจะไม่ต้องติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้จัดยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างโดมครอบพื้นที่เพื่อกักเก็บอากาศภายในงานอีกด้วย

5) จัดงานช่วงกลางวัน – ประหยัดการใช้ไฟได้แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการเลือกจัดงานในช่วงกลางวัน เพราะอาศัยแสงสว่างจากธรรมชาติเป็นหลัก หรือหากจุดไหนจำเป็นต้องใช้ไฟเพิ่มเติมก็เลือกใช้หลอดไฟ LED ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่นำไปรีไซเคิลต่อได้ และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3 เท่า

6) พกอุปกรณ์ส่วนตัวมาจากบ้าน – ขยะจำนวนมากจาก Market Event มักเกิดจากอุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง เช่น จานกระดาษ ช้อนส้อมพลาสติก หรือถุงร้อนใส่อาหาร ดังนั้น เพื่อลดขยะจากการซื้อขายอาหาร ทางงานสามารถประชาสัมพันธ์ให้คนร่วมงานนำจาน ช้อนส้อม แก้วน้ำส่วนตัวมาใช้ในงาน หรือหากใครไม่สะดวกนำมาเองก็มีจุดจำหน่ายอุปกรณ์เหล่านี้ ใช้เสร็จก็นำกลับบ้านไปใช้ต่อได้

7) ขายอาหารสองปริมาณ – แก้ปัญหาเศษอาหารเหลือทิ้งจำนวนมากด้วยการแบ่ง Portion อาหารที่ขายในงานเป็นสองขนาด ได้แก่ ขนาดปกติและขนาดเล็ก คนที่กินน้อย อิ่มง่าย สามารถเลือกทานอาหารปริมาณพอดี ไม่มากเกินไปจนเหลือทิ้ง

8) จุดแยกขยะและทิ้งเศษอาหาร – ไม่ว่าจะเป็นงานอีเวนต์ประเภทไหนก็เลี่ยงการสร้างขยะไม่ได้ แต่ภายในงานสามารถทำจุดทิ้งขยะที่ง่ายต่อการแยกขยะและคัดเลือกว่าขยะแต่ละประเภทนำไปใช้ประโยชน์อะไรต่อได้บ้าง เช่น เศษอาหารเหลือทิ้งเป็นขยะอินทรีย์ที่นำไปแปรรูปเป็นปุ๋ยต่อได้

9) โซนล้างจาน – ซื้ออาหารในงานกินจนอิ่มแล้ว ก็ไม่ต้องห่วงว่าจะต้องนำอุปกรณ์ที่พกมากลับบ้านไปแบบเลอะเทอะ เพราะนอกจากโซนแยกขยะแล้ว ในงานก็ยังมีโซนล้างจานเตรียมไว้ให้ผู้ร่วมงานทุกคนได้ทำความสะอาดอุปกรณ์ส่วนตัว โดยน้ำที่ผ่านจากการล้างจานยังนำไปใช้ทำความสะอาดพื้นหลังจบงานได้ด้วย

10) ใช้ QR Code แทนการแจกใบปลิว – เปลี่ยนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆ ของงานผ่านการแจกใบปลิวแบบเดิมๆ มาเป็นการสแกน QR Code ผ่านสมาร์ตโฟนแทน เพื่อลดการใช้กระดาษจำนวนมาก ทั้งยังลดปริมาณขยะใบปลิวที่มักโดนทิ้งขว้างอย่างไร้เยื่อใยได้ด้วย

11) จ่ายเงินด้วยระบบ Cashless – การใช้จ่ายแบบสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) นอกจากจะช่วยลดการสัมผัสเชื้อโรคแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยลดขยะและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตเงินได้อีกด้วย

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเล็กๆ ที่ลงมือทำได้จริง ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนงานต่างๆ ให้กลายเป็นอีเวนต์ที่สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความรักษ์โลกให้กับตัวงานเท่านั้น แต่วิธีเหล่านี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายของการจัดงานครั้งต่อๆ ไปได้ ด้วยการใช้วัสดุที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ 

ซึ่งหากบรรดาผู้จัดงานค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดงานอย่างยั่งยืนไปทีละส่วน โดยเริ่มจากส่วนประกอบเล็กๆ แล้วค่อยขยายไปสู่ตัวงานสเกลใหญ่ได้ อีเวนต์ต่างๆ ในอนาคตก็อาจจะกลายเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดการสร้างมลพิษที่ทำลายโลกได้มากเลยทีเดียว

Sources :

Grid | bit.ly/3AkgcnZ 

MICE Capabilities | bit.ly/3fNFsvI 

Santron | bit.ly/3Efxx3N

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.