7 คำศัพท์เกี่ยวกับเทรนด์ความยั่งยืนในอนาคต - Urban Creature

ในยุคปัจจุบัน นอกจากผู้คนจะให้ความสำคัญกับเรื่องรอบตัวกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม สิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียม อีกประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจสุดๆ คือ ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘ความยั่งยืน’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าโลกต้องได้รับการรักษาและฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน เพื่อป้องกันผลกระทบที่รุนแรงจากวิกฤตโลกรวน

เพราะเหตุนี้ ประเด็นเรื่องความยั่งยืนจึงกลายเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงทั่วโลก แทบทุกอุตสาหกรรมต้องหยิบเรื่องนี้มาพูดถึง ภาครัฐ เอกชน หรือแม้แต่ธุรกิจของคนตัวเล็กๆ เองก็พยายามชูนโยบายสีเขียวและใส่ดีเอ็นเอความยั่งยืนในมิติต่างๆ ให้บริษัทของตัวเอง ทั้งแง่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม

คอลัมน์ Green Insight ขอพาไปทำความเข้าใจเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘ความยั่งยืน’ แบบเจาะลึกมากขึ้นผ่าน 7 คำศัพท์ที่กำลังมาแรงเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ ตั้งแต่แนวคิดการออกแบบเขตเชิงระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบทุนนิยมและการบริโภคอย่างมีจิตสำนึก ซึ่งทั้งหมดล้วนมีเป้าหมายทำให้วงจรความยั่งยืนเกิดขึ้นจริงในสังคมของเรา

01 | Eco-district

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

เพราะสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ส่วนรวมควรรับผิดชอบร่วมกัน จึงเป็นที่มาของคำว่า ‘Eco-district’ หรือ ‘เขตเชิงระบบนิเวศ’ ซึ่งหมายถึงการกำหนดวางแผนผังเมือง เพื่อรวบรวมเป้าหมายเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนและความเท่าเทียมทางสังคมเข้าด้วยกัน รวมถึงลดผลกระทบทางระบบนิเวศที่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในพื้นที่ใกล้เคียง ตัวเมือง และภูมิภาคให้น้อยลงด้วย

มากไปกว่านั้น Eco-district ยังโฟกัสที่การสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมที่หลากหลายและใช้งานได้จริง ทั้งด้านที่อยู่อาศัย บริการ และการพักผ่อนหย่อนใจ เพื่อทำให้ผู้อยู่อาศัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยแนวคิดนี้เกิดจากการพิจารณาปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันของภาคส่วนต่างๆ และคนในชุมชน 

การออกแบบ Eco-district จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยส่วนใหญ่เขตเชิงระบบนิเวศจะประกอบไปด้วยระบบขนส่งสาธารณะ อาคารที่ประหยัดน้ำและพลังงาน พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเดินและปั่นจักรยาน แหล่งพลังงานหมุนเวียนส่วนกลางที่ผู้คนใช้ร่วมกันได้ รวมถึงการจัดการขยะที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ 

ตัวอย่างเมืองที่เป็นต้นแบบด้าน Eco-district ได้แก่ ซัตตัน ประเทศอังกฤษ, มัลโม ประเทศสวีเดน, เกรโนเบิล ประเทศฝรั่งเศส และอูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์

02 | Circular Economy

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’ คือแนวคิดที่ถูกพูดถึงและนำมาใช้มากขึ้นในแวดวงธุรกิจของประเทศไทย มีความหมายว่า การออกแบบกระบวนการผลิตภัณฑ์ บริการ และรูปแบบธุรกิจให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นที่การลดของเสีย และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการเก็บผลิตภัณฑ์และวัสดุไว้ใช้อีก ผลิตซ้ำ และนำกลับมาใช้ใหม่ จนเกิดของเสียน้อยลงหรือไม่เกิดของเสียเลย 

พูดได้ว่าแนวคิด Circular Economy เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับบรรดาธุรกิจ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ รวมถึงส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับประเทศไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างชูนโยบายเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อผลักดันสังคมให้ก้าวเข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), บริษัท SCG, บริษัท GC และโครงการเซ็นทรัล ทำ รวมถึงบริษัทสตาร์ทอัป Moreloop ที่ส่งต่อผ้าส่วนเกินจากโรงงานไปยังลูกค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์

Circular Economy จึงเป็นแนวคิดที่ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและใหญ่ให้ความสำคัญ เพราะเป็นการช่วยสร้างความยั่งยืน และความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

03 | Bio-Circular-Green Economy (BCG)

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

อีกโมเดลทางเศรษฐกิจที่เห็นบ่อยขึ้นเรื่อยๆ ในปีนี้คือ ‘Bio-Circular-Green Economy (BCG)’ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนรูปแบบใหม่ ที่เกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมๆ กัน ได้แก่ 

– B จาก ‘Bio Economy’ หรือ ‘ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ’ ที่เน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า
– C จาก ‘Circular Economy’ หรือ ‘ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน’ ที่เน้นการนำวัสดุกลับมาใช้ รวมถึงใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด 
– G จาก ‘Green Economy’ หรือ ‘ระบบเศรษฐกิจสีเขียว’ ที่เน้นแก้ปัญหาด้านมลพิษเพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

แม้ว่าทั้งสามมิติด้านเศรษฐกิจจะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่การผสมผสานกันของแนวคิดเหล่านี้ จนเกิดเป็น BCG ก็นำมาซึ่งการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริง รวมถึงทำให้สังคมโลกปรับตัวต่อความท้าทายต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น โดยเป้าหมายหลักที่ทุกฝ่ายมีร่วมกันคือ การปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อน เพื่อปรับให้ระบบเศรษฐกิจมีความสมดุลและยั่งยืนมากขึ้น

ภาครัฐและเอกชนในไทยต่างผลักดันแนวคิด BCG มากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนธันวาคม 2565 Khon Kaen Innovation Center (KIC) และกลุ่มมิตรผล ร่วมกับ 50 เครือข่ายพันธมิตร จัดงานมหกรรมและนวัตกรรม ‘Isan BCG Expo 2022’ ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อผลักดันและแสดงศักยภาพของภาคอีสานที่พร้อมเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันให้กับธุรกิจแบบครบวงจรอย่างยั่งยืนและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านอาหาร เกษตรกรรม การแพทย์ ดนตรี และวัฒนธรรมพื้นเมือง

04 | Conscious Capitalism

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

อย่างที่รู้กันว่าหลายประเทศทั่วโลกมีระบบเศรษฐกิจแบบ ‘ทุนนิยม’ ที่มีเจ้าของเอกชนหรือ ‘นายทุน’ เป็นผู้ควบคุมการค้า อุตสาหกรรม รวมถึงวิถีการผลิต โดยมีเป้าหมายเพื่อทำกำไรในเศรษฐกิจแบบตลาด 

ทว่าข้อเสียหลักๆ ของระบบนายทุนที่อำนาจทางการตลาดกระจุกอยู่ที่คนกลุ่มเดียวคือ การปิดกั้นโอกาสเติบโตของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในสังคม เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกต่อต้านหรือไม่อยากสนับสนุนแนวคิดของระบบนี้สักเท่าไหร่ 

จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่กล่าวมา ทำให้เกิดคำว่า ‘Conscious Capitalism’ หรือ ‘ระบบทุนนิยมอย่างมีจิตสำนึก’ ซึ่งหมายถึงแนวคิดที่เชื่อว่าเราสามารถพัฒนาธุรกิจให้มีเป้าหมายนอกเหนือจากการแสวงหาผลกำไร โดยมุ่งเน้นที่เป้าหมายทางด้านจริยธรรมและความยั่งยืน รวมถึงการตระหนักถึงผลกระทบของตัวธุรกิจที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจด้วย

ตัวอย่างธุรกิจระดับโลกที่มีชื่อเสียงเรื่องจิตสำนึก ได้แก่ Whole Foods Market, Starbucks, Google และ Patagonia เป็นต้น ส่วนในประเทศไทย แม้แนวคิดนี้อาจยังดูเป็นนามธรรม จับต้องได้ยาก แต่หลายคนคงเริ่มเห็นหลายๆ บริษัทออกนโยบายที่ซัปพอร์ตผู้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างคุณค่าและความหมายให้กับแบรนด์

05 | Conscious Consumption

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

พูดถึงวิถีใหม่ของระบบทุนนิยมกันไปแล้ว ทางฝั่งของผู้บริโภคเองก็มีแนวคิดลักษณะคล้ายกันที่เรียกว่า ‘Conscious Consumption’ หรือ ‘การบริโภคอย่างมีจริยธรรม’ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติและพฤติกรรมการบริโภคอย่างมีสติ โดยเน้นที่การจับจ่ายสินค้าและบริการจากแบรนด์ที่มีแนวคิดเพื่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีส่วนช่วยในการสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับโลกของเรา

คนไทยจำนวนไม่น้อยเริ่มโอบรับแนวคิดนี้ เห็นได้จากการเลือกซื้ออาหาร ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ไม่ได้มีประโยชน์ต่อสุขภาพเท่านั้น แต่ขั้นตอนของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกวัตถุดิบ การผลิตสินค้า จนถึงการขนส่ง ยังต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย 

ตัวอย่างสินค้าที่ Conscious Consumer ไว้ใจและเลือกซื้อ ได้แก่ อาหารออร์แกนิก เสื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุรีไซเคิล ของใช้ที่ย่อยสลายได้ เป็นต้น 

06 | Biophilic Design 

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

กระแสเรื่องความยั่งยืนไม่ได้มาแรงในแวดวงการทำธุรกิจและพฤติกรรมการบริโภคเท่านั้น แต่ยังได้รับความนิยมมากขึ้นในวงการการออกแบบด้วย ซึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงคือ ‘Biophilic Design’ ซึ่งเป็นการออกแบบที่ดึงธรรมชาติและผู้คนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันมากขึ้น

ต้นกำเนิดของคำว่า Biophilia มาจากการรวมกันของรากศัพท์ภาษากรีก 2 คำ ได้แก่ ‘Bios’ ที่หมายถึงชีวิต และ ‘Phila’ ที่หมายถึงความรักในลักษณะฉันมิตรหรือเท่าเทียม เมื่อรวมกันจะมีความหมายว่า ‘Love of Life’ หรือ ‘ความรักในชีวิต’ นั่นเอง โดยผู้คิดค้นแนวคิด Biophilic อย่าง Edward Osborne Wilson ได้นิยามคำนี้ว่า สิ่งมีชีวิตทั้งหมดล้วนเป็นผลผลิตของธรรมชาติ และจะเชื่อมโยงหากันโดยไม่ต้องปรุงแต่งใดๆ

ทว่า Biophilic Design นั้นไม่ใช่การออกแบบด้วยการปลูกต้นไม้หรือการออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่คือการออกแบบที่ต้องคำนึงถึงการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งยังต้องเชื่อมโยงผู้คนให้เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติได้อย่างแท้จริง 

สิงคโปร์คือตัวอย่างเมืองที่ออกแบบให้เป็น Biophilic ผ่านการเชื่อมโยงผู้คนให้เข้ากับพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะได้อย่างลงตัว ออกแบบให้ธรรมชาติเข้ากับพื้นที่และอาคารแนวตั้ง รวมถึงทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพกลายเป็นหัวใจสำคัญของเมืองด้วย

มากไปกว่านั้น คนยุคใหม่ยังนิยมนำแนวคิด Biophilic Design มาดีไซน์ออฟฟิศ ที่อยู่อาศัย และอาคารต่างๆ ซึ่งข้อดีคือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สร้างบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ไปจนถึงเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับร้านค้า 

07 | Greenwashing

Sustainability Words of the Future 7 คำศัพท์มาแรงเกี่ยวกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในอนาคต

แม้ว่าหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนทั่วโลกพยายามชูนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เข้ากับเทรนด์รักษ์โลกหรือการเตรียมรับมือกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้น แต่ผู้บริโภคเองก็ควรตั้งคำถามถึงแนวทางและผลลัพธ์ของบรรดาธุรกิจต่างๆ ด้วย ไม่อย่างนั้นอาจตกหลุมพรางของ ‘Greenwashing’ หรือ ‘การฟอกเขียว’ ก็เป็นได้

การฟอกเขียว หมายถึงวิธีการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาตัวองค์กรว่ามีภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหรือรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการอ้างว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ด้านการดำเนินงาน เป้าหมาย หรือตัวผลิตภัณฑ์และบริการเองก็ตาม ทั้งที่ความจริงแล้วบริษัทเหล่านี้ไม่ได้สร้างความยั่งยืนหรือลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

หลายแบรนด์เลือกใช้วิธีการนี้ในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคเชื่อว่าสินค้าและบริการที่พวกเขาซื้อนั้นเป็นมิตรต่อโลกและไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างวิธีสังเกตการฟอกเขียว มีดังนี้

– การแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย : การสื่อสารว่าทางบริษัทหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยไม่มองปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน ยกตัวอย่าง บริษัทฟาสต์ฟู้ดที่เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษที่รีไซเคิลได้ แต่ยังคงใช้เนื้อสัตว์ในกระบวนการผลิตอาหารที่ก่อให้เกิดการเผาป่า
– การระบุข้อความที่ไม่ชัดเจน : บนฉลากหรือผลิตภัณฑ์ระบุว่าสินค้าชิ้นนั้นๆ สามารถรีไซเคิลได้ แต่กลับไม่บอกว่าเป็นส่วนใด
– ไม่มีหลักฐานที่ตรวจสอบได้ : แบรนด์หรือผู้ผลิตพยายามทำให้ผู้บริโภคเชื่อว่าพวกเขาใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง แต่กลับไม่มีหลักฐานที่ยืนยันหรือตรวจสอบได้ว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นผลิตด้วยวิธีการที่ยั่งยืน

นอกจากการฟอกเขียวจะเป็นการหลอกลวงและทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดแล้ว การทำธุรกิจรูปแบบนี้ยังเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และโลกของเรา เพราะวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่น่ากังวลยังถูกทิ้งไว้อย่างนั้น ไม่ได้รับการแก้ไข ทั้งยังถูกนำมาหาประโยชน์

Sources : 
Bangkok Biz News | bit.ly/3BQUKrm
Brand Buffet | bit.ly/3v3sVZ7
CleanLink | bit.ly/3FJ6FZi
Grand Canyon University | bit.ly/3ji73GE
Greenpeace | bit.ly/3G5zvo5
MGR Online | bit.ly/3WR0aL9
Renault Group | bit.ly/3VfcV0w, bit.ly/3Vuq5Hr
rePurpose | bit.ly/3FLNLAV
SCB | bit.ly/3BMOxg3
SDG Move | bit.ly/3WuVLNC
Senior Executive | bit.ly/3YCh15P
SME Thailand Club | bit.ly/3FHIOsV
The Motley Fool | bit.ly/3hCoBwR
The Urbanist | bit.ly/3HRfLps
Wazzadu | bit.ly/3BQUwk0


Spoiler Alert 2023 คือซีรีส์คอนเทนต์ประจำเดือนธันวาคม 2565 จาก Urban Creature ที่ใช้กระแสสังคม เทรนด์วิถีชีวิต สถิติ และข้อมูลวิจัย มาคาดการณ์ถึงความเป็นอยู่ของผู้คนกับภาพรวมของเมืองในปี 2566 และช่วงเวลาหลังจากนั้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้ทุกภาคส่วนรับความเปลี่ยนแปลง

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.