‘ส่งสาร’ ร้านกาแฟคอมมูนิตี้สร้างสรรค์ในอุบลฯ - Urban Creature

ในฐานะลูกหลานคนอุบลฯ เราคุ้นเคยกับ ‘ย่านเมืองเก่า’ ในตัวอำเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นอย่างดี เพราะครอบครัวและคนรู้จักหลายคนต่างอาศัยอยู่ในย่านนี้มานาน จึงเรียกว่าเติบโตมากับย่านนี้ก็ว่าได้ 

ป๊าเคยเล่าว่า ในอดีตย่านเมืองเก่าเปรียบเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเมืองอุบลฯ ร้านค้า ผู้ประกอบการ และธุรกิจต่างๆ มารวมตัวกันอยู่ที่นี่อย่างคึกคัก เต็มไปด้วยผู้คนที่ออกมาท่องเที่ยว และจับจ่ายใช้สอยทั้งกลางวันและกลางคืน 

แต่ช่วง 20 – 30 ปีที่ผ่านมา ย่านนี้ก็ซบเซาลงเพราะร้านรวงและธุรกิจต่างๆ กระจายตัวออกไปเติบโตบนพื้นที่อื่นในเมือง จึงมีไม่กี่ร้านเท่านั้นที่ยังเปิดกิจการ ส่วนที่เหลือก็เป็นบ้านพักหรือตึกปล่อยเช่า กลายเป็นเมืองเก่าที่เหลือไว้แต่เรื่องราวในอดีต 

ปีนี้เรามีโอกาสกลับไปโอลด์ทาวน์อีกครั้ง เพื่อพบกับ ‘เป็ด-ยุทธนา ดาวเจริญ’ คนอุบลฯ รุ่นใหม่ผู้ก่อตั้ง ‘Songsarn Coffee & Home Roaster’ หรือ ‘ส่งสาร’ ร้านกาแฟที่ตั้งอยู่บนซอยเล็กๆ ที่เคยร้าง มืด และเงียบเหงา ทว่าตอนนี้ทั้งคึกคัก สนุก และมีกาแฟรสชาติถูกปากให้ผู้มาเยือนเลือกสรร

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

เป็ดเป็นมนุษย์ Active จัดอีเวนต์ทอล์กเรื่องการเมือง เสวนาเรื่องศิลปะที่ขายบน NFT และเอาวงแจ๊สฟิวชันอีสานจากนักดนตรีสายเลือดอุบลฯ มาเพอร์ฟอร์ม กิจกรรมเหล่านี้ลบภาพจำของซอยนี้ที่เคยเป็นแค่ทางลัดสำหรับกลับรถ ส่วนตอนกลางคืนเป็นซอยมืดเปลี่ยวที่มีรถจอดเต็มถนน แต่ทุกวันนี้ในซอยเล็กๆ มีวัยรุ่นพูดคุย ดื่มกาแฟ นั่งเก้าอี้แคมป์ปิ้งอยู่ในซอย เป็นภาพความคึกคักที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นในเมืองเก่าอีกครั้ง ที่นี่กลับมามีชีวิตชีวาได้ นั่นเพราะร้านกาแฟขนาดสองคูหาของเป็ดที่เปิดเพียงร้านเดียวในซอย

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

ทั้งที่บรรยากาศข้างในไม่ใช่ร้านกาแฟสไตล์มินิมอลตามสมัยนิยม หรือร้านกาแฟที่ถูกรีโนเวตให้เก๋แบบจัดเต็ม แต่เป็นร้านที่คงสภาพอาคารเก่าไว้เกือบทั้งหมด มีการตกแต่งและต่อเติมน้อยมากๆ แค่แขวนโคมไฟเพดานสีส้มสาดส่องกำแพงเก่า จัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม้บนพื้นเทคอนกรีต ให้มวลความรู้สึกที่เป็นกันเอง ราวกับแวะเวียนมากินกาแฟบ้านเพื่อน

นั่นไง เป็ดรอต้อนรับเราทุกคนอยู่หน้าเคาน์เตอร์ร้านแล้ว

จากเมืองชลฯ ย้ายกลับอุบลฯ ถิ่นกำเนิด

เป็ดวัย 31 ปี หนุ่มอุบลฯ โดยกำเนิดเล่าให้เราฟังว่า เมื่อก่อนเคยเป็นวิศวกรอยู่โรงงานประกอบรถยนต์ในจังหวัดชลบุรี ทำงานอยู่เกือบ 5 ปี ก็เริ่มเบื่อและอิ่มตัว ประกอบกับเป็นช่วงที่คุณแม่ตรวจพบมะเร็ง เขาเลยตัดสินใจลาออกจากงานและโยกย้ายกลับมาอยู่บ้านที่อุบลฯ

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

“ช่วงที่กลับมา เราทำธุรกิจหลายอย่าง ทำร้านกาแฟกับเพื่อน ลงทุนทำร้านนม ร้านลาบ สุดท้ายก็เจ๊งหมด ไม่มีรายได้อยู่เกือบปี ทำอะไรก็ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง” เป็ดย้อนเล่าถึงความยากในช่วงแรกที่ย้ายกลับบ้าน

“สุดท้ายเลยถามเพื่อนว่าทำอะไรดี เพื่อนตอบว่า ก็แค่ทำในสิ่งที่มึงชอบ เลยเป็นจุดเริ่มต้นให้เราตัดสินใจทำร้านกาแฟของตัวเอง” 

สาเหตุที่เป็ดเลือกเปิดร้านกาแฟ เพราะเขาเป็นคนชอบดื่มกาแฟ และทำกาแฟดื่มเองอยู่แล้ว ส่วนอีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญก็คือบริบทที่เพื่อนๆ วัยเดียวกันในอุบลฯ ต่างก็เปิดร้านกาแฟ แถมเปิดแล้วลูกค้าแน่นร้านมากเสียด้วย

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

“ช่วงที่อยู่ชลบุรี เราก็กลับอุบลฯ ตลอดอยู่แล้ว เราได้เห็นการเจริญเติบโตของเพื่อนที่ทำร้านกาแฟอยู่เรื่อยๆ อย่าง ร้านเสรีสุข ร้าน Attaroast และร้าน Impression Sunrise เพื่อนกลุ่มนี้นี่แหละที่บิลด์และผลักดันเรา มันเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ร้านกาแฟที่เพื่อนๆ ทำกันอยู่แล้ว และส่งต่อแนวทางมาให้เราอีกที เราแค่ทำให้คอมมูนิตี้นี้เกิดสถานที่ใหม่ขึ้นมา แค่นั้นเอง” เป็ดเล่าอย่างอารมณ์ดี

เปลี่ยนเมืองเก่าเงียบงันให้สร้างสรรค์ด้วยคาเฟ่ของคนอุบลฯ รุ่นใหม่

เป็ดใช้เวลาหาโลเคชันสำหรับเปิดร้านกาแฟเป็นเวลาประมาณ 1 – 2 เดือน โจทย์สำคัญคือทำเลต้องดีและค่าเช่าต้องถูก แม้โดยส่วนใหญ่นักธุรกิจมักเลือกเปิดร้านในตัวเมืองใหม่ แต่นั่นหมายถึงราคาค่าเช่าที่ดินที่แพง และการแข่งขันที่สูง เป็ดจึงเบนเข็มมาตามหาพื้นที่ในย่านเมืองเก่าที่คนส่วนใหญ่มักมองข้าม และมีตึกถูกทิ้งร้างไว้อยู่จำนวนหนึ่ง

“เราเจ๊งมาหลายอย่าง เงินก็เหลืออยู่นิดหน่อย ข้อแรกคือทำเลต้องเหมาะสม และค่าเช่าต้องถูกมากๆ ต้องลงทุนน้อยที่สุด เราบังเอิญเห็นทำเลนี้เพราะขับรถผ่าน ผนังในซอยนี้มีกราฟฟิตี้ที่วาดไว้ตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งเป็นช่วงที่เขาจะพัฒนาเมืองเก่า เราว่ามันสวยดี แต่ข้อเสียคือซอยมันมืด สกปรก แล้วก็มีรถจอดทั้งซอย คือเป็นแค่ซอยให้รถผ่าน แต่เราบังเอิญเห็นว่ามีป้ายให้เช่าตึก เลยตัดสินใจทำร้านกาแฟที่นี่” เป็ดอธิบาย 

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

หลังจากได้สถานที่ที่โดนใจ เขาตัดสินใจว่าทำเลนี้คือตัวเลือกเดียวที่ชอบและจะไม่ไปหาพื้นที่ไหนอีก เมื่อตกลงปลงใจกับเจ้าของอาคารได้อย่างเหมาะเจาะ จึงลงมือเปลี่ยนแปลงและชุบชีวิตตึกร้างเก่าแก่ที่เคยเป็นโกดังเก็บจักรยานแห่งนี้ให้มีลมหายใจอีกครั้ง

นี่เป็นการเดิมพันเงินเก็บก้อนสุดท้าย เป็ดเล่าว่าเขาปรับปรุงและตกแต่งร้านด้วยงบประมาณที่ ‘ประหยัดสุดๆ’ 

“ในส่วนของกาแฟเราทำเป็นอยู่แล้ว แต่เรื่องการทำร้าน พอมีเงินทุนไม่มาก เราเลยคิดเอง และออกแบบเอง แล้วก็หาพี่ที่รู้จักมาทำรับเหมาให้ บางส่วนที่ปรับปรุงไม่ได้ อย่างเช่น ผนังเก่า เราก็ไม่เปลี่ยนอะไรเลย แค่ทำความสะอาดและจัดวางพื้นที่ให้สบายตา อะไรที่ไม่จำเป็นต้องจ้างช่าง เราเลือกทำเองหมดทุกอย่าง อย่างเช่น ขัดผนัง เจาะไม้ และทำความสะอาด เพราะเราต้องการเซฟต้นทุนให้มากที่สุด

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

“แต่ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า มันไม่ใช่ไอเดียเราทั้งหมด เพราะมีพี่ที่รู้จักที่ทำงานด้านการจัดแสดงนิทรรศการ และหอศิลป์ในกรุงเทพฯ มาช่วยออกแบบอีกที”

เป็ดสรุปให้เราฟังว่า อาคารนี้ถูกทิ้งร้างมานาน 20 ปี เขาตัดสินใจคงสิ่งเก่าไว้ แล้วทำความสะอาด ก่อนจะเคลือบป้องกันฝุ่น และนำสิ่งของที่ไม่ได้ใช้ออกไป ส่วนสิ่งที่ติดตั้งใหม่จริงๆ มีแค่กระจกหน้าร้าน เคาน์เตอร์บาร์ ห้องน้ำ และภาพวาดการเมืองต่อต้านระบอบเผด็จการของศิลปินรุ่นใหม่ที่มีอยู่ทั่วร้าน

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

จากกาแฟ (น่า) สงสาร สู่ร้าน ‘ส่งสาร’ ที่อยากส่งทุกสารดีๆ สู่คอมมูนิตี้อุบลฯ

“จริงๆ ชื่อมาจากการที่เพื่อนล้อเรา” เป็ดเล่าให้ฟังถึงที่มาของชื่อร้านส่งสาร 

“ต้องให้เครดิตพี่ต้นจากรายการ Come Home ช่อง Thai PBS เรารู้จักพี่ต้นอยู่แล้ว ตอนนั้นเขามาถ่ายรายการที่ร้าน Impression Sunrise เลยชวนเราไปด้วย ตอนนั้นเรายังไม่ได้เปิดร้านของตัวเอง และยังไม่มีรายได้ เราคั่วกาแฟขายคนรู้จักก่อน ก็เลยพกไปขายเพื่อนที่ร้านนั้นด้วย พี่ต้นเห็นก็ล้อเราว่า กาแฟยัดเยียด กาแฟสงสาร เพราะเพื่อนต้องซื้อเพราะสงสาร แต่จริงๆ เราไม่ได้ยัดเยียดขนาดนั้นนะ (หัวเราะ)

“ตอนเปิดร้าน พี่ต้นถามเราว่า ร้านของเป็ดอยู่ตรงไหน พาพี่ไปดูหน่อย พอเขาเห็นโลเคชันเลยแนะนำว่า เป็ดลองใช้ชื่อนี้มั้ย เปลี่ยนจากคำว่า ‘สงสาร’ เป็น ‘ส่งสาร’ หนึ่งคำมีหลายความหมาย ส่งสารที่เป็นข้อความก็ได้ ส่งสารที่เป็นกาแฟก็ได้ หรือส่งสารอะไรบางอย่างนอกเหนือจากคาเฟอีนก็ได้” 

ชื่อร้าน ‘ส่งสาร’ จึงมาจากมุมมองของคนที่รู้จักตัวตนที่กระตือรือร้นของเป็ด เพราะเล็งเห็นว่าเขามีสาร มีข้อความ มีไอเดีย และกิจกรรมสนุกต่างๆ ที่อยากส่งต่อให้เพื่อนๆ และคนอื่นๆ ซึ่งนั่นรวมถึงสารเรื่องการเมือง ที่เขาเห็นว่านอกจากการทำธุรกิจ หรือทำร้านกาแฟ เราสามารถสื่อสารอุดมการณ์ที่ตัวเองอยากเห็นบ้านเมืองพัฒนาไปในทางที่ดีต่อสาธารณะไปพร้อมกันได้

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

“คนอื่นเขาเห็นเราในโซเชียลมีเดีย ก็จะรู้ว่าเราพูดถึงเรื่องการเมืองตลอด ซึ่งการที่จะมีร้านสักร้าน ถ้าเราไม่ได้กลัวว่ากลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาจะแคบหรือจะกว้าง ชื่อนี้ก็เหมาะสมมากๆ” 

เมื่อเชื่อในพลังของผู้คนและประชาธิปไตยที่เท่าเทียมกัน ร้านส่งสารจึงเลือกพูดถึงเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผย ซึ่งเห็นได้จากผลงานภาพวาด งานศิลปะ โปสเตอร์ และหนังสือเกี่ยวกับการเมืองที่ถูกจัดวางไว้ทั่วร้าน เป็ดเล่าให้ฟังว่า เขาไม่ได้สนใจการเมืองมาตั้งแต่แรก แต่จุดเปลี่ยนคือช่วงที่เริ่มทำงาน เมื่อถึงช่วงที่ต้องเสียภาษีประจำปี เขากลับรู้สึกว่า ภาษีที่เสียไป ไม่ได้ตอบแทนกลับมาอย่างมีประสิทธิภาพเลย หลังจากนั้นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้หันมาเริ่มศึกษาและหาความรู้เรื่องการเมืองมาเรื่อยๆ ประจวบเหมาะลงตัวกับการมาเปิดร้านก็อยากให้งานที่ตัวเองทำสื่อสารเรื่องสำคัญแบบนี้ด้วย

ร้านที่บรรจงเฮ็ด ‘กาแฟดำ’ และเมนูซิกเนเจอร์ที่แม่หาวัตถุดิบให้

สำหรับเมนูกาแฟของร้านส่งสาร เป็ดเล่าว่า เขาตั้งใจขายแต่กาแฟอย่างเดียว เพราะเชื่อว่าถ้ามีเมนูจำนวนมาก จะทำให้ร้านต้องลงทุนเยอะกว่าเดิม ทั้งในแง่การจัดการและจัดเก็บวัตถุดิบ จึงเลือกขายเฉพาะกาแฟ และทำเมนูกาแฟของร้านที่มีไม่มากให้ออกมาดีที่สุด

ส่วนเมล็ดกาแฟในร้านก็คั่วเองทั้งหมด โดยใช้โรงคั่วและเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟร่วมกับร้าน Attaroast และ amarna.homebrewing ซึ่งเป็นกลุ่มเพื่อนที่ทำร้านกาแฟเหมือนกัน เป็ดเลือกใช้เมล็ดกาแฟคั่วกลางจากแหล่งผลิตที่ ‘ปางขอน’ ‘ผาฮี้’ และ ‘ขุนลาว’ เพื่อเบลนด์รวมกัน ซึ่งทั้งหมดมาจากไร่กาแฟในจังหวัดเชียงราย ทางร้านเลือกใช้เมล็ดกาแฟจากภาคเหนือของประเทศไทยเพราะคุณภาพดีและราคาสมเหตุสมผล

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

เป็ดเผยว่าเมนูที่จำกัดเฉพาะการขายกาแฟไม่ต่างอะไรกับการเลือกลูกค้าเฉพาะกลุ่ม ส่วนลูกค้าก็ได้เลือกร้านที่เหมาะสมกับความชอบของตัวเองไปในตัว ส่วนเมนูซิกเนเจอร์เป็ดแอบเล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้วมันคือเมนูลับหรือเมนูเฉพาะฤดูกาล นั่นก็คือเมนูที่ทำจาก ‘น้ำขิง’ ที่แม่ต้ม และ ‘น้ำเสาวรส’ ที่แม่ทำ

“เวลามีคนมาเที่ยวเขาจะถามว่า มีอะไรที่ไม่ใช่กาแฟหรือเปล่า เราก็จะบอกว่ามีน้ำขิงที่แม่ต้มครับ ตอนแม่ต้มมาให้แรกๆ ก็ให้น้องในร้านช่วยกันคิดว่า น้ำขิงที่แม่ต้มเอาไปทำเมนูอะไรได้บ้าง เพราะเวลาพูดถึงน้ำขิงมันฟังดูแก่มากเลย อยู่ในร้านกาแฟแบบนี้ใครจะซื้อ สุดท้ายก็มีน้องบาริสต้าคิดเมนู ‘น้ำขิงวานิลลา’ มีความหวานของวานิลลา ความเผ็ดจากขิง และตัดเปรี้ยวด้วยเลมอน” 

เมนู ‘น้ำขิงวานิลลา’ มีขายอยู่เรื่อยๆ ไม่มีในเมนู แต่ถ้าใครแวะไปร้านนี้ก็ลองสั่งเมนูลับกับบาริสต้าโดยตรงได้เลย ส่วนเมนูเสาวรสที่แม่หามาทำจะมีขายตามฤดูกาลเท่านั้น

คอมมูนิตี้ส่งสารทางการเมือง ดนตรี ศิลปะ และความเป็นไปได้ใหม่ๆ

ร้านส่งสารเปิดให้บริการเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว อุดมการณ์และตัวตนของเป็ดเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นผ่านอีเวนต์ที่ร้านจัดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 งานแรกที่จัดขึ้นก็คือ ‘Talk with อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล’ 

“มีทีมงานพรรคก้าวไกลในอุบลฯ มาดื่มกาแฟร้านเรา ซึ่งเขาคงเห็นว่าสิ่งที่ร้านเราพูดเป็นแบบไหน และประกอบกับตอนนั้นอาจารย์ปิยบุตรต้องมาจัดอีเวนต์ที่จังหวัดอุบลฯ พอดี เขาเลยเลือกร้านเรา เพราะเราพูดเรื่องการเมืองอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว”

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
งาน ‘Talk with อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ที่ร้านส่งสาร วันที่ 14 พฤศจิกายน 2021

เป็ดเล่าว่างานทอล์กครั้งนั้นได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากคนรุ่นใหม่และผู้ใหญ่หลายๆ คนที่ตบเท้าเข้ามานั่งฟัง ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กต่างจังหวัดเข้าใจว่า ‘การเมืองไม่ใช่สิ่งไกลตัว’ ถือเป็นการเปิดพื้นที่และส่งสารว่าการเมืองอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน สิ่งที่ อ.ปิยบุตร พูดในวันนั้นสอดรับกับความคิดของเป็ดที่เห็นว่าการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นมาก เพราะทุกวันนี้ผู้ประกอบการอย่างเขาและเพื่อนๆ ในจังหวัดต่างหยัดยืนทำธุรกิจด้วยทุนรอนและกำลังของตัวเอง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่รัฐบาลเห็นคุณค่าของธุรกิจขนาดเล็ก หลายๆ ประเทศจะช่วยซัปพอร์ตด้านงบประมาณ ผลักดันศักยภาพผ่านนโยบาย และช่วยโปรโมตให้ธุรกิจของประชาชนเป็นที่รู้จัก แต่ไม่ใช่สิ่งที่รัฐไทยเลือกทำในตอนนี้

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
งาน ‘Talk with อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ที่ร้านส่งสาร วันที่ 14 พฤศจิกายน 2021

“สิ่งที่เราชอบในงานนี้ เราชอบที่คนเก่งๆ อย่างอาจารย์ปิยบุตรเข้ามาเปิดโลกให้คนอุบลฯ ตอนนั้นมันมีคำถามจากเด็กบ้านนอกแบบพวกเรา คำถามจากพวกเรามันเบสิกมากเลย แต่อาจารย์ยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นที่เมืองนอก วิธีการแก้ไขปัญหา แล้วก็สิ่งที่สอดคล้องกับบ้านเมือง บ้านเมืองในที่นี้หมายถึงชุมชนที่อุบลฯ ทำให้เรามองว่า มันไม่ใช่แค่การเลือกว่า จะเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตยแล้ว แต่มันทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่เราเลือก อุดมการณ์ที่เราเชื่อ สิ่งที่เรากระทำ มันมีผลยังไงกับเรา กับชีวิตและอนาคตที่เราอยากให้บ้านเมืองเป็น”

อีกงานที่จัดขึ้นมีชื่อว่า ‘Old Town Live Alive’ ซึ่งเป็นงานพูดคุยและจัดแสดงผลงาน NFT ของศิลปินชาวอุบลฯ และการแสดงดนตรีอีสานแจ๊สโดยคณะ ‘คำนางรวย’ วงดนตรีสายเลือดอุบลฯ ซึ่งขาหนึ่งเป็นวงแบ็กอัปให้กับ ‘รัสมีอีสานโซล’ ด้วย

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
งาน ‘Old Town Live Alive’ ที่ร้านส่งสาร วันที่ 21 พฤศจิกายน 2021

เป็ดยอมรับว่า จุดเริ่มต้นของการแสดงดนตรีแจ๊สในร้านก็เพื่อสนอง Need ของตัวเองล้วนๆ เพราะเขาอยากฟังดนตรีในร้านของตัวเอง อีกเหตุผลก็เพื่อสร้างวิธีคิดและความเชื่อแบบใหม่ให้กับคนที่ทำธุรกิจเหมือนกัน ให้เห็นถึงความสำคัญของอาชีพอื่นๆ อย่างอาชีพนักดนตรีและศิลปินเองก็สำคัญ เพราะหากจังหวัดอุบลฯ ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ไปได้ไกลกว่านี้ คนกลุ่มนี้ก็ต้องมีรายได้และเลี้ยงชีพได้ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าวงดนตรีไม่จำเป็นต้องเล่นแค่ช่วงกลางคืนในร้านเหล้า ทว่าพวกเขาเล่นดนตรีเลี้ยงชีพตอนไหนก็ได้ หรือจะเล่นที่ไหนก็ได้ นักดนตรีก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้น ความหลากหลายของซีนดนตรีในจังหวัด และในประเทศก็จะเกิดขึ้นตามไปด้วยเมื่อทุกคนมองเห็นคุณค่าและช่วยกันสนับสนุน

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
งาน ‘Old Town Live Alive’ ที่ร้านส่งสาร วันที่ 21 พฤศจิกายน 2021

ส่วนวงสนทนาของศิลปิน NFT ชาวอุบลฯ ที่จัดขึ้นในวันเดียวกันก็เกิดขึ้นโดยความบังเอิญ หลังจากเป็ดได้เห็นผลงานศิลปินชาวอุบลฯ นามแฝงว่า ‘AVEGEE’ ในโซเชียลมีเดีย

“น้อง (ศิลปิน NFT) โนเนมมากๆ น้องทำงาน NFT แล้วเอารูปประยุทธ์สมองขี้ไปโพสต์ในกลุ่มภาพศิลปะการเมือง หลังจากนั้นรูปก็ดังชั่วข้ามคืน แต่ว่ามันดังแค่รูปนั้นรูปเดียว ไม่มีใครรู้จักตัวตนของศิลปินเลย ตอนแรกเราก็ไม่รู้จักน้อง ก็เลยเข้าไปดูผลงานอื่นๆ เรารู้สึกว่า งานแม่งเจ๋งว่ะ ทำไมไม่มีใครรู้จักเลย จังหวะนั้นเราจะจัดแสดงดนตรีที่ร้านอยู่แล้ว เลยบอกเพื่อนที่รู้จักน้อง เพื่อชักชวนน้องมาทำ NFT Talk ด้วยกัน”

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
ผลงาน NFT โดยศิลปิน ‘AVEGEE’ 
Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ
งาน ‘Old Town Live Alive’ ที่ร้านส่งสาร วันที่ 21 พฤศจิกายน 2021

เป็ดเล่าต่อว่า งานในวันนั้นเป็นอีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทำงานศิลปะในอุบลฯ ได้รวมตัวและรู้จักกัน ทำให้เกิดการจ้างงานต่อ ทั้งการจ้างเพนต์ผนัง จ้างทำลายเสื้อยืด จ้างทำซองกาแฟ และจ้างออกแบบงานอื่นๆ ซึ่งเป็นการซัปพอร์ตให้ทุกคนกลับไปต่อยอดศักยภาพของตัวเอง ส่วนร้านแค่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ตรงกลางให้ทุกคนมาพบปะกัน

เป็ดย้ำว่างานอีเวนต์ที่ร้านจัดขึ้นทั้งหมด ‘ฟรี’ ไม่เก็บค่าเข้างาน ยอดขายกาแฟในวันงานก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ตามมากลับยิ่งใหญ่และส่งแรงกระเพื่อมไกลกว่านั้น เพราะช่วยขับเคลื่อนสังคม ก่อให้เกิดคอมมูนิตี้ของคนรุ่นใหม่หรือคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน และเป็นพื้นที่ทำให้คนมองเห็นคุณค่าของงานศิลปะมากขึ้น ซึ่งเป็ดคิดว่างานแสดงดนตรีหรือศิลปะไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ร้านส่งสารเท่านั้น เขาอยากให้ร้านอื่นๆ ทำเหมือนกัน ขอแค่มีพื้นที่ให้คนสายอาร์ตโชว์ของและคอนเนกต์กันก็พอ

แม้หลายคนจะมองว่าที่นี่คือร้านกาแฟที่พูดเรื่องการเมือง แต่เป็ดทำให้เราเห็นว่านี่คือพื้นที่ของความเป็นไปได้ใหม่ที่ไม่จำกัดรูปแบบหรือเนื้อหา จึงไม่ได้เป็นแค่ ‘คอมมูนิตี้การเมือง’ ‘คอมมูนิตี้ดนตรี’ หรือ ‘คอมมูนิตี้ศิลปะ’ ใครอยากพูดหรือสร้างสรรค์อะไร ทางร้านสามารถเปิดรับได้หมด เพราะเป็ดอยากให้อุบลฯ มีพื้นที่สำหรับคนจากทุกสายอาชีพ เพราะคนเหล่านี้จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ ที่จะพัฒนาและขับเคลื่อนจังหวัดให้ไปได้ไกลยิ่งกว่าเดิม

ร้านกาแฟที่อยากเห็น ‘เมืองเก่า’ มีชีวิตอยู่ร่วมกับคนทุกยุคได้อย่างลงตัว

เป็ดเล่าว่าร้านส่งสาร ‘มาไกลมากกว่าที่เขาคาดคิด’ จากตอนแรกที่คิดถึงแค่เรื่องการตลาด จนตอนนี้กลายเป็นสเปซใหม่ที่ทำให้ซอยเล็กๆ ในย่านเมืองเก่ากลับมามีชีวิตชีวา คึกคัก และไม่เปลี่ยวเหงาอีกต่อไป 

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

หากพูดในมุมการทำธุรกิจ เขามั่นใจว่า หากคนในเมืองเก่าอยู่ได้ ร้านส่งสารก็อยู่ได้ เพราะเชื่อในโมเดลธุรกิจแบบ Ecosystem ที่ร้านต่างๆ ต้องส่งเสริมและพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ถ้าอุบลฯ ทำให้คนมาเที่ยวเมืองเก่าได้มากขึ้น ทุกร้านก็จะขายได้ เมื่อเกิดการใช้จ่ายในพื้นที่มากขึ้น เงินก็หมุนเวียน ทำให้ทุกคนอยู่ได้มากขึ้นด้วย

ด้วยไอเดียตั้งต้นแบบนี้ ส่งสารจึงมีแคมเปญ ‘อุดหนุนเพื่อนบ้านในเมืองเก่าแล้วจะลด 5 บาททุกเมนู’ ใครซื้ออาหารหรือขนมจากร้านอื่นๆ ในย่านมากินในร้านก็รับส่วนลดได้ทันที เป็นกลยุทธ์ที่ส่งเสริม เชื่อมโยง และเกื้อกูลธุรกิจในท้องถิ่นไปในตัว

Songsarn Coffee & Home Roaster ส่งสาร อุบลฯ

ช่วงใกล้เวลาปิดร้าน เป็ดดริปกาแฟออกมาจากเคาน์เตอร์บาร์ เสิร์ฟแก้วกาแฟให้เราถึงโต๊ะ พร้อมชี้ให้ดู Tagline ของร้านที่สกรีนไว้ข้างแก้วว่า ‘Brewing life like a Rockstar’ พอยกแก้วขึ้นมาอ่านใกล้ๆ เราก็นึกขึ้นได้ว่า ประโยคนี้บ่งบอกตัวตนของร้านส่งสารได้เป็นอย่างดี เพราะไม่ใช่แค่การเสิร์ฟกาแฟ แต่ยังทำกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ให้เพื่อนๆ คนรักกาแฟที่มาเยือนอยู่เรื่อยๆ และเป็นร้านที่หล่อหลอมทั้งผู้คน คอมมูนิตี้ และชีวิตของเมืองเก่าได้แบบโคตรร็อก

“ใครจะบ้าใส่ประโยคแบบนี้เข้าไปข้างแก้วว่าไหมครับ” เป็ดสำทับถึงข้อความบนแก้วกาแฟกลั้วเสียงหัวเราะ

Songsarn Coffee & Home Roaster
เวลาเปิดบริการ : จันทร์-ศุกร์ 07.00 – 16.00 น. | เสาร์-อาทิตย์ 08.00 – 17.00 น.
ที่อยู่ : 154/1-2 ถนนพรหมเทพ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง อุบลราชธานี 34000 | t.ly/LmXt
Facebook : Songsarn
โทร : 09-5224-9494

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.