ขึ้นเรือให้ไว เดินชิดในเลยพี่!
ประโยคสุดคุ้นหูเวลานั่งเรือแสนแสบ เพื่อให้จุคนในเรือได้ครั้งละมากๆ ไม่ต้องเสียเวลารอขบวนใหม่ เพราะการเดินทางด้วยเรือคลองแสนแสบเป็นขนส่งสาธารณะที่มีคนใช้งานทุกวัน อ้างอิงข้อมูลจากกระทรวงคมนาคมปี 2563 เผยว่ามีจำนวนเรือวิ่งในคลองแสนแสบเฉลี่ยในช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็นมากกว่า 60 ลำ รวมทั้งมีผู้โดยสารนั่งเรือกว่า 40,000 – 50,000 คน/วัน และสถิติจากกรมเจ้าท่า เกี่ยวกับขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางน้ำปี 2563 ตกอยู่ประมาณ 9 ล้านคน/ปี
สาเหตุที่การขนส่งทางเรือในคลองแสนแสบเป็นที่นิยม เพราะตำแหน่งเส้นทางน้ำที่ไหลผ่านตั้งแต่เขตพระนครที่มีจุดเริ่มต้นจากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศ วิ่งผ่านเข้าสู่ใจกลางเมือง เช่น ท่าเรือประตูน้ำ มศว ประสานมิตรไปจนถึงสุดสายชานเมือง เช่น รามคำแหง และบางกะปิ ซึ่งเชื่อมพื้นที่ทั้งในและนอกเมืองมารวมกันไว้ในสายเดียว ถือเป็นเส้นทางคมนาคมที่เข้าถึงคนได้ง่ายดาย เพราะผ่านพื้นที่ชุมชนจำนวนมากและราคาย่อมเยา ทั้งยังใช้เวลารวดเร็วไม่แพ้รถไฟฟ้า เช่น จากท่าเรือผ่านฟ้าลีลาศไปลงที่ท่าเรือประตูน้ำใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น
แม้ว่าการเดินทางด้วยเรือจะคล่องตัว แต่ปัญหาเรื้อรังในคลองแสนแสบยังคงมีอยู่ อย่างการจราจรที่แสนติดขัด เพราะไม่มีการควบคุมปริมาณเรืออย่างเหมาะสม รวมทั้งเวลาที่เรือวิ่งเร็วหรือสวนทางกันเสียงดังในย่านที่อยู่ พร้อมกับคลื่นน้ำลูกใหญ่กระทบต่อบ้านเรือนทั้งสองฝั่งคลองแสนแสบ ไปจนถึงความอันตรายในการนั่งเรือที่ยังแก้ไม่หาย และมีความควายเข้ามาแทรกด้วยการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ต้องรักษาระยะห่างให้ลดการติดเชื้อ
คอลัมน์ Urban Sketch ครั้งนี้จึงขอหยิบยกปัญหาดังกล่าว มาออกแบบการขนส่งทางเรือในคลองแสนแสบเป็นระบบรางรูปแบบใหม่ ลดการแออัดในการโดยสาร แถมลดการแพร่ไวรัสระบาด เพื่อให้คนใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคลองเดิมได้สะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
| เรือลอยฟ้า
บนพื้นมันติดขัด ยกขึ้นฟ้าจะติดใจ
การจราจรในคลองแสนแสบนั้นแสนติดขัด เรือวิ่งเฉียดไปเฉียดมาระยะเผาขน แถมยังปล่อยคลื่นน้ำและมลพิษทางเสียงดังจนหูแทบแตก เมื่ออยู่บนดินกันไม่เวิร์กก็ขอยกสูงแบบ ‘กระเช้าลอยฟ้า’ กันไปเลย เหมือนในเมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย ที่สร้างการเดินทางแบบตู้กระเช้าลอยฟ้า แก้ปัญหาพื้นที่ถนนสุดแออัด อยากจะไปไหนแต่ละทีต้องเผื่อเวลาเป็นชั่วโมง
(เหตุการณ์คุ้นๆ)
วิธีนี้ก่อสร้างง่าย ใช้งบน้อยมากกว่าสร้างขนส่งสาธารณะแบบใต้ดินหลายเท่าตัว และใช้เวลาเดินทางรวดเร็วขึ้นจากเดิมใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง แต่พอมีกระเช้าลอยฟ้าเข้ามาก็สามารถใส่ส้นสูงไปทำงานสวยๆ ใช้เวลาไม่ถึง 20 นาทีเท่านั้นเอง
หากนำเจ้ากระเช้าลอยฟ้ามาปรับใช้ในบ้านเราเป็น เรือลอยฟ้าบนคลองแสนแสบ ข้อดีคือช่วยรักษาสภาพแวดล้อมในคลองและบริเวณรอบข้างไม่ให้เกิดความเสียหาย และยังเชื่อมการเดินทางจากชานเมืองสู่กลางเมืองได้รวดเร็วแล้ว ความรู้สึกในการไปทำงานทุกวันของคุณจะเปลี่ยนไปเหมือนนั่งกระเช้าในสวนสนุกอย่างไรอย่างนั้นเลย ใครบ้านไกลหน่อยก็ชมวิวเมืองยาวหน่อย ยิ่งไปกว่านั้นเสาแต่ละต้นยังเป็นเสาไฟฟ้า เพิ่มความสว่างให้กับทางเดินในชุมชนไม่ให้เปลี่ยวเหงา
ข้อเสียคือเรื่องการทำลายทัศนียภาพเมือง เพราะต้องเสียพื้นที่ลงเสาขนาดใหญ่เป็นแนวยาว รวมถึงคนกลัวความสูงอาจจะต้องขาสั่นตอนขึ้นกระเช้าอยู่บ้าง แต่อย่างน้อยเรือลอยฟ้าก็ทำให้คุณมีความสุขในการเดินทาง เหม่อมองชมวิวมหานครไม่แพ้นั่งดินเนอร์หรูบนตึกสูง พร้อมยังสวยไร้น้ำคลองแสนแสบกระเด็นใส่หน้าตลอดการเดินทางอีกด้วย
| เรือล่องแก่ง
ให้การเดินทางเป็นเรื่องสนุก เหมือนนั่งเครื่องเล่นในสวนสนุกทุกวัน
จับเชือกให้แน่น ระวังน้ำกระเด็น และทรงตัวให้ดี เพราะทุกครั้งเวลานั่งเรือคลองแสนแสบจะให้ความรู้สึกเหมือนเล่นล่องแก่งอยู่ในสวนสนุก เราจึงขอหยิบยกมาเป็นแรงบันดาลใจเป็น ‘เรือล่องแก่ง’ ผจญภัยในคลองแสนแสบสุดหรรษา
ลองจินตนาการถ้าคลองมีเลนสำหรับเรือไฟฟ้าวิ่งโดยเฉพาะ ลักษณะคล้ายกับรถไฟฟ้า แต่ถูกจับมาวิ่งอยู่บนราง ซึ่งตัวรางสามารถปรับระดับได้ตามระดับน้ำที่ขึ้น-ลงในแต่ละวัน รวมทั้งวิ่งเป็นระเบียบพร้อมจอดที่ท่าเรืออย่างปลอดภัย เมื่อทุกอย่างลงตัวก็สามารถฟื้นฟูบรรยากาศรอบข้าง อย่างพื้นที่สาธารณะริมคลองให้คนมาพักผ่อน หรือเป็นที่พักรอผู้โดยสารที่หนาแน่นในชั่วโมงเร่งด่วน
ข้อดีของโครงสร้างเรือไฟฟ้าล่องแก่งนี้ ช่วยจัดระเบียบเรือวิ่งในคลองให้เป็นระบบ ควบคุมความปลอดภัยและจำนวนเรือได้ ทั้งยังเตรียมพร้อมทุกสถานการณ์ เช่น ช่วงเช้าคนใช้บริการมาก ก็เพิ่มความถี่ของรอบเรือและความเร็วมากขึ้น ในขณะที่ช่วงบ่ายคนน้อยก็ปรับความถี่ของรอบเรือให้น้อยลง และระบบรางยังช่วยให้เรือวิ่งเป็นระเบียบขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะเจอเหตุการณ์อันตราย อย่างเรือซิ่งปาดหน้าปาดหลัง และลดการปล่อยคลื่นน้ำลูกใหญ่ ที่ถาโถมเข้าบ้านเรือนข้างเคียงจนผุพัง
แต่ข้อเสียที่ต้องระวังคือ ระบบรางเรือไฟฟ้าที่กินพื้นที่คลองให้แคบลงกว่าเดิม ใช้เงินในการบำรุงและซ่อมแซมสูง รวมไปถึงทำลายความสวยงามของพื้นน้ำในคลองจางหายไปแลกกับความสบายใจในการนั่งเรือ ไม่ต้องกังวลอุบัติเหตุเรือวิ่งชนกัน หรือความแออัดของผู้คนจนต้องยืนชะเง้อมองขบวนถัดไปว่ามาถึงหรือยัง เพราะเรือล่องแก่งนี้จะเป็นหนูด่วนส่งคนให้ถึงที่หมายเอง
| รถไฟฟ้ารางคู่
ถมคลองให้เป็นรางรถไฟฟ้า และเก็บน้ำไว้ใต้ดิน
ปัญหาสุดคลาสสิกของคลองแสนแสบที่แก้ไม่หาย คือสภาพน้ำเน่าเสียและคนทิ้งขยะอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ภาพจำของใครหลายคนนึกถึงคำว่า สกปรก เน่าเหม็น และไม่น่ามอง แต่ก็ต้องจำยอมนั่งเรือแสนแสบ บีบมืออดทนเวลาน้ำสาดเข้าหน้า เพราะมันเป็นทางเลือกการเดินทางที่คล่องตัวไม่แพ้รูปแบบอื่น แถมราคายังน่าคบหาอีกต่างหาก
เมื่อสภาพน้ำในคลองเน่าเสียเกินจะรับไหว หากเราถมคลองแสนแสบให้เป็นรางสำหรับรถไฟฟ้ารางคู่วิ่งบริการคนกรุงเทพฯ น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง ที่ทำให้คนเดินทางในเมืองสะดวกสบายรวมทั้งการระบายน้ำในคลองแสนแสบยังคงเก็บไว้อยู่เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนหน้าตาใหม่ให้มาอยู่ในระบบท่อใต้พื้นถนน พร้อมออกแบบระบบบำบัดน้ำเสีย และดักจับขยะก่อนปล่อยออกสู่ทะเล
ข้อดีคือ เพิ่มตัวเลือกการขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ ที่สามารถเดินทางได้รวดเร็ว จุคนได้มาก วิ่งรับส่งคนด้วยจำนวนรอบที่ถี่ขึ้นและควบคุมเวลาเดินทางได้ เช่น สามารถเช็กเวลาได้ว่า รถจะมาถึงหรือยัง หรือขบวนถัดไปจะมาอีกกี่นาที
ข้อเสียคือสูญเสียบรรยากาศริมคลอง ครั้งหนึ่งเคยเป็นชีวิตและลมหายใจของชุมชนมาตั้งแต่อดีต รวมทั้งธรรมชาติอย่างต้นไม้น้อยใหญ่หดหาย เพื่อตอบรับกับสภาพแวดล้อมในเมืองสุดทรุดโทรม กับไลฟ์สไตล์คนเมืองที่เปลี่ยนไป จากเดิมน้ำในคลองเป็นสิ่งสำคัญในการอยู่อาศัย แต่ปัจจุบันคนต้องรีบเร่งทำงานเพื่อหาเงินมาหล่อเลี้ยงชีวิต
Sources :
Dailynews | https://1th.me/N7Cl6
กรมเจ้าท่า | https://1th.me/ncg5x
ไทยรัฐ | https://1th.me/gw254