Singapore กับการเป็นฮับความบันเทิงของเอเชีย - Urban Creature

ไหนใครวางแพลนไปคอนเสิร์ตวง Coldplay หรือ Taylor Swift ที่จัดกันแบบจุใจถึง 6 รอบที่สิงคโปร์บ้าง

ในช่วงที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นคนรอบตัวเดินทางไปประเทศสิงคโปร์กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการไปดูคอนเสิร์ตหรือเที่ยวพักผ่อนด้วยตัวเองก็ตาม

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เป็นผลลัพธ์จากความพยายามของรัฐบาลสิงคโปร์มาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 เพื่อผลักดันให้สิงคโปร์ขึ้นเป็น​​ ‘เมืองหลวงแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชีย’

Singapore Entertainment Hub of Asia

เบื้องหลังความสำเร็จของแผนพัฒนานี้คืออะไร สิงคโปร์ดำเนินงานอย่างไรถึงทำให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาในประเทศได้ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขึ้นชื่อเรื่องสถานที่ท่องเที่ยว คอลัมน์ City in Focus จะพาไปหาคำตอบ

ประเทศเกิดใหม่ มองหาจุดขายเรื่องการท่องเที่ยว

Singapore Entertainment Hub of Asia

หากย้อนไปที่จุดเริ่มต้นของประเทศ สิงคโปร์ถือเป็นประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ได้ไม่นาน จากการแยกตัวออกจากมาเลเซียมาเป็นประเทศอิสระที่ตั้งอยู่บนหมู่เกาะขนาดเล็กที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 1965

ในช่วงแรกที่ตั้งประเทศ สิงคโปร์ต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประเทศเปิดใหม่ที่ไม่มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่จะดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยวได้มากนัก และครั้นจะไปตามหามรดกทางวัฒนธรรมเดิมหรือสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาก็คงไม่เหมาะเท่าไหร่ เพราะคนในประเทศมีความหลากหลายทางเชื้อชาติจนยากจะหาวัฒนธรรมร่วม

Singapore Entertainment Hub of Asia

จุดยืนของรัฐบาลสิงคโปร์ในตอนนั้นจึงเป็นการสร้างแผนนโยบายทางเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประเทศให้เติบโตด้วยเทคโนโลยีและการจัดกิจกรรมภายในเมือง เพื่อดึงดูดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเข้ามาแทน

ทั้งหมดนี้นำมาสู่การพยายามผลักดันให้สิงคโปร์กลายเป็น​​ ‘เมืองหลวงแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชีย’ (The Events and Entertainment Capital of Asia) ครั้งแรกในปี 2007 ที่ผลิดอกออกผลอย่างเด่นชัดในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา

รัฐบาลผลักดันประเทศผ่านการวางนโยบาย

Singapore Entertainment Hub of Asia

แต่การจะทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองหลวงแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชียได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยการวางนโยบายที่ดีและความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมีแม่งานดูแลการวางแผนนโยบายหลักคือ ‘Singapore Tourism Board (STB)’ ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ ร่วมกับ ‘Ministry of Information and the Arts (MITA)’ ที่ดูเรื่องของการให้ข่าวสารทางศิลปะ

สิ่งที่สิงคโปร์ทำคือการพยายามสร้างภาพจำให้ทุกคนนึกถึงประเทศสิงคโปร์ในฐานะผู้จัดกิจกรรมขนาดใหญ่ โดยไม่ได้ผูกติดกับสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อสร้างแบรนด์ใหม่ให้ประเทศที่ไม่มีวัฒนธรรมดั้งเดิม จนกลายเป็นจุดหมายปลายทางที่มีชีวิตชีวาและดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้

Singapore Entertainment Hub of Asia
Singapore Entertainment Hub of Asia

ทำให้ในช่วงแรกสิงคโปร์เน้นหนักไปที่การดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ในด้านศิลปะและวัฒนธรรม หรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานกีฬาขนาดใหญ่เป็นหลัก ผ่านการลงทุนในกองทุนสาธารณะจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในส่วนของสเตเดียมขนาดใหญ่ที่ใช้ในการจัดกิจกรรม เครือข่ายขนส่งสาธารณะในประเทศที่ครอบคลุม รวมไปถึงการประมูลงานกีฬาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลให้มาจัดที่สิงคโปร์โดยเฉพาะ

และหลังจากประสบความสำเร็จขั้นแรกในเรื่องของการกีฬา สเต็ปต่อมาสิงคโปร์จึงพยายามต่อยอดผ่านการมองหากิจกรรมอื่นๆ ที่สามารถใช้สถานที่เดียวกันในการจัดงานได้ เกิดเป็นการดึงเอาศิลปินที่มีแพลนจะทัวร์คอนเสิร์ตในเอเชียมาจัดแสดง

ส่งผลให้สิงคโปร์ที่เคยเป็นดินแดนที่นักท่องเที่ยวมองข้าม กลายเป็นประเทศที่ถูกจับตามองจากกลุ่มแฟนคลับศิลปินเป็นอย่างมาก เพราะหลายครั้งที่ศิลปินเปิดตัวว่าจะมีคอนเสิร์ตเวิลด์ทัวร์เกิดขึ้น สิงคโปร์มักเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในเอเชียที่อยู่ในแพลนทัวร์คอนเสิร์ต ซ้ำยังมีการจัดแสดงในจำนวนรอบที่มากกว่าประเทศใกล้เคียงอย่างเห็นได้ชัด

ก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการจัดคอนเสิร์ตระดับโลก

Singapore Entertainment Hub of Asia

ผลลัพธ์จากการผลักดันให้สิงคโปร์ไปอยู่ในตำแหน่งเมืองหลวงแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชีย ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีศิลปินตบเท้าขึ้นจัดแสดงคอนเสิร์ตที่สิงคโปร์เป็นจำนวนมาก อาทิ BLACKPINK, TWICE, Jacky Cheung และ Harry Styles ยังไม่รวม Coldplay และ Taylor Swift ที่เพิ่งเปิดขายบัตรไปไม่นานแต่ได้กระแสตอบรับดีแบบฉุดไม่อยู่

สาเหตุหนึ่งที่แฟนคลับจากหลายชาติเลือกเดินทางมาดูคอนเสิร์ตถึงประเทศสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสิงคโปร์พร้อมอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่มาพร้อมแพ็กเกจที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ในราคาถูก รวมถึงความสะดวกสบายในการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะที่เชื่อมต่อถึงสถานที่จัดงาน

รัฐบาลสิงคโปร์มองว่า แม้จะทำเงินได้น้อยจากส่วนของการขายตั๋วคอนเสิร์ต แต่เมื่อเทียบกับสัดส่วนอื่นๆ การเข้ามาของคนกลุ่มนี้จะนำมาซึ่งเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นตั๋วเครื่องบิน การจองที่พัก หรือแม้กระทั่งการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศเองก็ตาม

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Agoda พบว่า ในช่วงที่จะมีการแสดงคอนเสิร์ตของวง Coldplay ในเดือนมกราคม 2024 จำนวนการค้นหาที่พักในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 8.7 เท่า โดยส่วนใหญ่เป็นแฟนๆ จากอินโดนีเซียและมาเลเซียที่อยู่ใกล้เคียง รวมไปถึงฮ่องกง ไทย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย เวียดนาม อินเดีย ฟิลิปปินส์ และตลาดอื่นๆ อีกหลายแห่งที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ทำให้เห็นว่าการที่รัฐบาลดำเนินการผลักดันให้สิงคโปร์ก้าวขึ้นเป็นเมืองหลวงแห่งกิจกรรมและความบันเทิงของเอเชียมาตั้งแต่ปี 2007 ถือเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาด และสามารถดึงเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวเข้าประเทศได้จริงโดยไม่ต้องพึ่งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเหมือนหลายๆ ประเทศในแถบเดียวกัน


Sources : 
NCBI | bit.ly/3NFMmQl
The Straits Times | t.ly/I7SCM
TIME | t.ly/NgTS

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.