การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในวันพรุ่งนี้ (วันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย. 64) นับเป็นการหย่อนบัตรลงคะแนนครั้งแรกในรอบ 7 ปีหลัง “ถูกแช่แข็ง” จากการรัฐประหาร 2557 (ซึ่งตอนนี้คนกรุงก็ยังไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ กันสักที)
ทำไมต้องไปเลือกตั้ง อบต.?
เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต ตั้งแต่ความสะอาดของเมืองที่คุณอยู่ การจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย การดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บและป้องกันสาธารณภัย รวมถึงการส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ นี่คือหน้าที่ของ อบต. เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนโดยตรง และข้อมูลล่าสุดในปี 2563 บอกเราว่าจำนวน อบต.ทั้งประเทศมีถึง 5,300 แห่ง การเลือกตั้ง อบต. จึงเป็นการเลือกผู้แทนเข้าไปแก้ปัญหาให้เราในระดับท้องถิ่น
แม้งานวิจัยจากอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์หลายชิ้นจะบอกกับเราว่าอำนาจหน้าที่ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. เป็นหนึ่งในนั้น) จะลดน้อยถอยลง และอำนาจส่วนกลางและภูมิภาค (พูดง่ายๆ คืออำนาจที่มาจากกรุงเทพฯ) จะมากขึ้นหลังการรัฐประหารก็ดี แต่อย่างน้อยๆ การเลือกตั้งที่ครั้งนี้ก็ถือเป็นการใช้อำนาจของประชาชน และลองผิดลองถูกตามกระบวนการประชาธิปไตย
ใครบ้างที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบต.?
คนที่มีสิทธิ์เลือกตั้ง อบต. ต้องมีสัญชาติไทย หรือได้สัญชาติไทยอย่างน้อย 5 ปี อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และมีชื่อในเขตเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 ปีถึงวันเลือกตั้ง
หากยังไม่แน่ใจว่าตัวเองมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ ชวนเช็กผ่านเว็บไซต์ได้ที่นี่เลย: t.ly/2hys
และถ้าใครรู้แล้ว แต่ไปใช้สิทธิ์หย่อนบัตรไม่ได้ กรอกเหตุผลบอกความจำเป็นได้ที่ลิงก์นี้เลย: t.ly/egDY
ถ้ามีสิทธิ์ครบตามนี้ก็ถือบัตรประชาชนหรือเอกสารราชการที่มีรูปตัวเองไปที่คูหาได้เลย
หากไม่ไปเลือกตั้ง อบต. และไม่แจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้งทางออนไลน์ อาจจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง เช่น การเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือ สิทธิ์ลงสมัคร ส.ส. ส.ว. เป็นเวลา 2 ปี
.
ชวนอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ อบต. โดย iLaw ได้ที่: https://www.ilaw.or.th/node/5981
ชวนอ่านเรื่องความถดถอยของอำนาจท้องถิ่นหลังการรัฐประหารปี 57 โดย อาจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้ที่: https://bit.ly/3CNNPgh