เกี่ยวข้าวไม่ทิ้งฟาง เปลี่ยนเป็น ‘จาน’ สร้างรายได้ - Urban Creature

เกี่ยวข้าวไม่ทิ้งฟาง เปลี่ยนเป็น ‘จาน’ สร้างรายได้

เกี่ยวเถอะนะแม่เกี่ยว ช้ะช้ะ… ห่างช่วงไหนใกล้เวลาที่ข้าวจะอุ้มท้องทุ่งนาส่องแสงสีเหลืองอร่ามมาแต่ไกล ซึ่งหลังเกี่ยวข้าวมักเหลือฟาง บ้างก็อัดก้อนขาย บ้างก็มักเผาทิ้ง แต่ส่วนใหญ่นิยมเผาซะมากกว่าเพราะต้นทุนไม่มากนัก แน่นอนล่ะ ว่าต้องเกิดควันโขมงที่ชั้นบรรยากาศอาจได้รับผลกระทบ เมื่อเป็นแบบนี้ ลองเปลี่ยนกันดีไหม ‘เปลี่ยนจากฟางที่ไร้ค่า มาเป็น “จาน” สร้างรายได้ให้ชุมชนกัน’

‘ครูเต้ย-ดาธิณี ตามเติ้ง’ และ ‘พี่ออ-นาถลดา เข็มทอง’ คือสองหญิงหัวเรือหลักผู้ริเริ่มและเป็นประธานของศูนย์ฝึกมีชีวิตกศน. อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ได้รวบรวมสิ่งรอบตัวของชาวบ้านที่มีอยู่ในมือแต่มักมองข้ามไป ไม่ว่าจะเป็นผักตบชวา ฟางข้าว หรือเปลือกสับปะรด มาทำเป็นภาชนะใส่อาหารทั้งแห้งและน้ำ อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ

| ฟางข้าวที่ไม่ไร้ค่า

‘ถ้าเริ่มต้นดี ขั้นตอนต่อไปจะไม่เหนื่อย’ พี่ออพูดก่อนเริ่มต้นทำจานข้าวฟาง

ฟางหนึ่งก้อนราคาอยู่ที่ 25 บาท ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่ หากบ้านใครมีฟางอยู่แล้วไม่จำเป็นต้องไปหาซื้อเลย นำฟางมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จะใช้กรรไกร มีดอีโต้ หรือมีดพร้าก็ได้ เพื่อความรวดเร็วขึ้น โดยขั้นตอนนี้มีความสำคัญเสมือนย่อยให้ฟางเล็กลง เพื่อช่วยร่นระยะเวลาตอนนำไปต้ม

| ต้มจนยุ่ย 12 ชั่วโมง

เจ้าขั้นตอนนี้แหละที่จะช่วยร่นระยะเวลามากขึ้น หากหั่นตัดฟางเป็นชิ้นเล็กๆ การต้มแค่ 12 ชั่วโมงถือว่าเยื่อของฟางจะยุ่ยกำลังดี เพียงนำฟางที่หั่นแล้วมาใส่กระทะใบใหญ่และปากกว้างพอที่จะสามารถตักฟางออกได้อย่างสะดวก เพื่อให้ใยของฟางยุ่ยง่ายมากขึ้น ตามด้วยเติมโซดาไฟเข้าไปประมาณ 1-2 ทัพพี

หากใครมีกำลังพอที่จะซื้อสารกระจายเยื่อแบบที่อุตสาหกรรมใช้ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่ที่ชุมชนหันมาใช้โซดาไฟ เนื่องจากสารกระจายเยื่อต้องสั่งซื้อแต่ละครั้งเป็นจำนวนมาก และพื้นที่การจัดเก็บค่อนข้างจำกัด

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยคือการต้มขึ้นอยู่กับไฟที่เราใช้ด้วย ซึ่งทางกศน. จะใช้เตาฟืน คอยเติมฟืนและใช้ไม้พายคนฟางอยู่เสมอ หากพอเข้าที่ก็ทิ้งไว้ทั้งคืนเช้าอีกวันให้เช็กดู หากยังไม่ยุ่ยสามารถเติมไฟอีกครั้งได้

| ล้างน้ำให้สะอาดไม่ให้เหลือสารตกค้าง

ที่ต้องล้างฟางเนื่องจากเราต้องการใยจากฟางออกมาให้มากที่สุด อีกทั้งล้างเพื่อให้สารโซดาไฟนั้นออกไปให้หมด แต่ไม่ต้องกังวลว่าสารนี้จะกระทบต่อผู้บริโภค เพราะขณะที่ต้มเยื่อนั้น โซดาไฟจะระเหยไปกับน้ำอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ต้องล้างจนกว่าน้ำสุดท้ายจะใส โดยระหว่างการล้างจะมีตะข่ายเพื่อกรองเยื่อไปพร้อมๆ กัน

ขณะที่ล้างการใช้มืออย่างเดียวคงไม่พอ เนื่องจากฟางที่ต้มแล้วมักจับเป็นก้อน ตัวช่วยสำคัญจึงคือ สว่าน ที่นำมาปั่นให้ฟางกระจายเยื่อออกมาให้มากที่สุด ทำให้การกรองเยื่อง่ายขึ้นด้วย เมื่อล้างสะอาดให้บิดน้ำออกพอหมาดแต่ไม่ถึงขั้นแห้งสนิท เพราะขณะที่ปั่นต้องมีน้ำล่อเลี้ยง

| ปั่นจนเนื้อเนียน

นำเยื่อที่ล้างอย่างสะอาดหมดจดแล้ว ลงเครื่องปั่นขนาดใหญ่ หากใครเป็นมือใหม่ไม่ต้องกังวลไป สามารถใช้เครื่องปั่นน้ำผลไม้ได้เช่นกัน ซึ่งจะปั่นได้ทีละน้อยคงต้องใจเย็นๆ กันหน่อย แต่รับรองว่าละเอียดเหมือนกันแน่นอน

การปั่นเพื่อให้เยื่อแตกออกจากกันและละเอียดมากขึ้น เมื่อปั่นไปสักพักสังเกตหากเยื่อเริ่มเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ให้เทแป้งข้าวเหนียวลงไป โดยกะปริมาณให้พอดีกับตัวเยื่อ ที่ต้องใส่แป้งลงไปเพื่อให้เยื่อนั้นเรียบเนียน และเกาะติดกันมากขึ้น เมื่อขึ้นรูปเป็นจานหรือชามเยื่อจะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

| เตรียมขึ้นเยื่อบนเฟรม

เข้าใกล้ขั้นตอนสุดท้ายกันแล้ว คือเมื่อปั่นเสร็จต้องทำการขึ้นเยื่อบนตะแกรงก่อน โดยนำเยื่อเปียกประมาณ 2 กิโลกรัม ผสมกับน้ำสะอาด 4 ลิตรในเหยือก ส่วนตะแกรงนั้นต้องใช้ที่มีขนาดเบาลอยเหนือน้ำ

ถึงเวลาขึ้นเยื่อมือใหม่ต้องใจนิ่งๆ ห้ามขยับตะแกรง จากนั้นก่อนเทต้องเอามือรอง หากเทโดยตรงแรงกระแทกจะมากเกินไป เฟรมที่ขึ้นรูปจะมีความหนาบางไม่เท่ากัน การเทก็จะค่อยๆ ไล่ไปทีละแถวจนทั่วทั้งเฟรม หากมองดูว่าเยื่อเสมอกันแล้ว ให้ค่อยๆ ยกเฟรมขึ้นอย่างช้าๆ เพื่อนำไปตากลมเป็นขั้นตอนต่อไป

| ผึ่งลมตากในร่ม

คำว่าตากไม่จำเป็นต้องเป็นกลางแจ้งแสงแดดจัดๆ เสมอไป อย่างเยื่อฟางข้าวที่เราขึ้นรูปในเฟรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต้องค่อยๆ ยกออกและนำมาผึ่งลมตากในที่ร่ม เอียงเฟรมไว้ 45 องศา หากทำวันนี้ช่วงบ่ายๆ พรุ่งนี้ช่วงบ่ายจะได้กระดาษจากฟางข้าวที่แห้งสนิท แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศวันนั้นด้วยนะ หลักจากนั้นก็สามารถแกะและร่อนกระดาษออกจากเฟรมได้เลย โดยฟางครึ่งก้อนจะขึ้นรูปได้ประมาณ 30 เฟรม

ส่วนความหนาของกระดาษอาจจะต้องทดลองเพิ่มหรือลดเยื่อกระดาษไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ความหนาที่ต้องการ ซึ่งถ้าขายเป็นกระดาษ ราคาจะอยู่ที่แผ่นละ 50 บาท

| แห้งสนิทเตรียมอัดเป็นภาชนะ

ถึงโค้งสุดท้ายที่เราจะได้เห็นจานและชามจากฟางข้าวกันสักที แม้กระดาษบางเฟรมออกมาแล้วผิวไม่เรียบไม่ต้องกังวลไป เพราะเครื่องปั๊มทรงจานกระดาษจะใช้ความร้อนช่วยอัดให้เข้ารูปมากขึ้น ซึ่งเครื่องปั๊มจะกำหนดรูปร่างของภาชนะไว้แล้ว โดยใช้ความร้อนที่ 149 องศา แต่ละครั้งที่ปั๊มใช้เวลา 50 วินาที ส่วนขอบจานเครื่องปั๊มจะตัดขอบออกมาให้เลย แค่นี้ก็จะได้ภาชนะจากฟางข้าวแล้ว

| ผลิตภัณฑ์จานจากฟางข้าว ใส่ได้ทั้งอาหารแห้งและน้ำ

จานฟางข้าวหน้าตาอาจจะดูธรรมดา แต่ช่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทำเอาโรงแรมและร้านอาหารขนาดใหญ่ให้ความสนใจสั่งผลิตจานจากวัตถุดิบธรรมชาติกันอย่างท้วมท้น ส่งผลให้ออเดอร์เคยพุ่งสูงสุดที่ 2,000 ใบ ภายใน 3 วัน ส่วนวัสดุที่นำมาใช้จะเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เช่น ผักตบชวาสด กาบหมาก ฟางข้าว หรือเปลือกสับปะรด

ก่อนจะไปถึงมือผู้บริโภค จะต้องผ่านการตรวจมาตรฐาน บางจานปั๊มออกมาสวยแต่บางครั้งก็อาจส่งออกไม่ได้ เพราะจานจะต้องมีความคงทน ใช้ได้ทั้งอาหารแห้งและน้ำ เนื่องจากตอนนี้ทางกลุ่มกศน. มีการใช้สารเคลือบจากธรรมชาติที่สามารถกันน้ำได้ถึง 20 นาที ซึ่งตรงนี้ยังพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ ให้กันน้ำได้ดีกว่าเดิม เพื่อจะช่วยลดพลาสติดลงได้บ้าง


เวิร์กช็อปสอนทำจานฟางข้าวที่มีมาอยู่เรื่อยๆ หมุนเวียนกันไป ใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ กศน.ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
คุณอาจจะเป็นคนหนึ่งที่นำพาชุมชนของตนเองให้มีรายได้ หรือโทร 086 373 1678 เรียนฟรี เรียนดี มีทักษะ

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.