หลายปีมานี้ตามหน้าหนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่รายการใน Netflix ก็พูดถึง Fast Fashion อยู่บ่อยครั้ง โดยมักจะหยิบยกแง่มุมที่เลวร้าย และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมที่ผลิตโดยเน้นความเร็วและสู้กับเทรนด์ตลอดเวลา
แรงกระเพื่อมนี้ก็ส่งต่อไปยังแบรนด์ยักษ์ใหญ่ พวกเขาเริ่มออกไลน์เสื้อผ้าที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล คอตตอน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมประกาศความตั้งมั่นในการลดคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งถือเป็นการขยับตัวที่น่าชื่นชม
ถึงจะอย่างนั้นก็ตามที Reviv แบรนด์เย็บซ่อมและตกแต่งเสื้อผ้าออนไลน์จากย่านอารีย์ ก็ยังมองว่าไม่ซื้อเลยต่างหากถึงจะดีที่สุด เพราะไม่ว่าคุณจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขนาดไหน แต่ในทุกครั้งที่เสื้อผ้าถูกผลิต ก็มีการใช้ทรัพยากรและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี
แต่อย่าพึ่งเข้าใจผิดไปนะครับ เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเย็บต้องซ่อมเสื้อผ้าเท่านั้น ห้ามซื้อใหม่เด็ดขาด ไม่ใช่แบบนั้นเลย แต่เรื่องที่ว่าจะซื้อแบบไหนนั้นขออนุญาตเบรกไว้สักครู่ แล้วมาทำความรู้จักกับ Reviv ก่อนดีกว่า
Reviv The Fashion
ภายใต้ร่มเงาไม้ ร้านรวง และที่พักของโครงการ The Yard Hostel มีออฟฟิศขนาดเล็กที่โครงสร้างหลักเป็นตู้คอนเทนเนอร์เก่า และมีเนื้อที่ไม่ถึงห้องสตูดิโอในคอนโดมิเนียมใจกลางเมือง มุมห้องด้านหนึ่งมีลังกระดาษเอาไว้ใส่ตัวอย่างเสื้อผ้าที่ทดลองปักและซ่อมแซมวางไว้ ถัดมาเพียงก้าวเดินจะเป็นเก้าอี้พลาสติกที่ตั้งคู่กับโต๊ะสีขาว มีหน้าต่างบานเล็กคอยส่องแสงที่ค่อนข้างอิ่มตัวในฤดูกาลที่ฝนตกกันเป็นว่าเล่น
ภูมิ-ภาคภูมิ โกเมศโสภา และ ฝ้าย-ฐนิตา เขตกิตติคุณ 2 ตัวแทนจาก Co-founder ทั้งหมด 5 คน เริ่มต้นด้วยการนิยามธุรกิจของตัวเองสั้นๆ ว่า เป็นผู้ให้บริการเย็บซ่อมและปักเสื้อผ้าออนไลน์ ที่มีความตั้งใจในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้เป็นไปในทางที่ยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งพวกเขาใช้เวลาในการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภค และออกแบบ Business Model นานกว่า 1 ปี เพราะเป็นรูปแบบธุรกิจที่ไม่มีใครทำมาก่อน แถมยังเป็นบริการที่สวนทางระบบเศรษฐกิจเสียด้วย
“การเย็บซ่อมเป็นธุรกิจที่ทำมาตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่มักจะเป็นธุรกิจในชุมชน ยังไม่มีใครทำให้การซ่อมเข้าถึงผู้คนได้มากขนาดนี้ ก่อนที่จะมี Reviv ใกล้เคียงที่สุดก็คือการเปิดเพจในเฟซบุ๊ก ซึ่งสำหรับเรามันไม่ได้สะดวกขนาดนั้น ลูกค้าไม่รู้เลยว่ามีบริการอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง เราต้องการที่จะทำให้การซ่อมเสื้อผ้าเป็นเรื่องง่ายและเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น
“ที่จริงในไทยมีคนทำธุรกิจเกี่ยวกับแฟชั่นที่ยั่งยืนค่อนข้างเยอะพอสมควร แต่คำถามคือ ทำไมไม่มีใครทำเรื่องการซ่อมแซมเลย เพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน ที่ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคสิ่งใหม่ตลอดเวลา” ภูมิเล่า
บริการของแบรนด์ซ่อมเสื้อผ้าจากย่านอารีย์จึงเป็นการให้บริการซ่อมและปรับแต่งเสื้อผ้า เป้าขาด เอวหลวม อยากใส่ยางยืด ตัดขากางเกง ฯลฯ อะไรที่เกี่ยวกับการซ่อมแซมเสื้อผ้าที่นี่ทำได้หมด เขาการันตีว่าให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพและความสะดวกสบาย สามารถเลือกรูปแบบของบริการซ่อมที่อยากได้หรือดีไซน์ที่ถูกใจ และปรึกษากันผ่านทางออนไลน์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Reviv บอกว่า ลงมือทำธุรกิจนี้เพราะอยากให้การซ่อมแซมหรือปรับแต่งเสื้อผ้าเป็นเรื่องง่าย เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกคนและลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่จริงๆ ดังนั้น ภารกิจของพวกเขาไม่ใช่แค่การซ่อมเสื้อผ้า แต่เป็นการถักทอวัฒนธรรมการบริโภคให้ใส่ใจโลกและผู้คน มากขึ้น
Reviv The Trend
แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายเล็กที่มีอายุไม่กี่เดือน แต่ Reviv ก็จริงจังในสิ่งที่ตัวเองพูดและอยากทำให้ได้มาก พวกเขาเขียนทุกความมุ่งมั่นของธุรกิจนี้ลงในเว็บไซต์พร้อมสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง มีพันธกิจคือ อยากเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีอีก 3 ภารกิจหลักที่ Reviv ตั้งมั่นจะทำให้ได้ ซึ่งข้อแรกระบุไว้ว่า อยากทำให้การใส่เสื้อผ้าซ้ำและการใส่เสื้อผ้ายาวนานขึ้น เป็นเรื่องที่ดูเท่และทันสมัย
“การซ่อมของเราจะมีตั้งแต่เปลี่ยนซิป แก้เอว ไปจนถึงการซ่อมที่เป็นความสวยงามด้วย เช่นถ้าผ้ามีรอยขาดเราก็อาจจะแปะผ้าอีกลายหนึ่งเข้าไปเพื่อเป็นการเพิ่มลูกเล่น” ฝ้ายเล่า
Reviv ตั้งคำถามว่าถ้ากางเกงของคุณเป็นรู แทนที่จะชุนธรรมดาพอให้ใส่ต่อไปได้ จะเป็นไปได้ไหมถ้าจะปักความคิดสร้างสรรค์ลงไป แถมไม่ได้มีแค่แพตเทิร์นเดียว แต่มีเป็นสิบแบบให้เลือก ในฐานะเป็นแบรนด์ที่ทำหน้าที่ในการซ่อมแซมพวกเขาจึงไม่ได้ออกเสื้อผ้าคอลเลกชันใหม่ในทุกฤดูกาล แต่บอกว่า จะออกลวดลายใหม่มาให้เลือกปักกันทุกเดือน
และในฐานะที่เป็นธุรกิจที่สร้างขึ้นมาเพื่อตั้งคำถามไปยังสังคมและสิ่งแวดล้อม ลวดลายของ Reviv จึงมีข้อความแฝงอยู่เต็มไปหมด เช่น
So Fah So Good
ไม่ได้พิมพ์ผิด แต่เป็นดีไซน์ที่ออกแบบโดยแม่ฟ้า หัวหน้าช่างเย็บมากฝีมือของ Reviv ที่ฝ้ายบอกว่าตั้งใจลองทำมาให้พวกเธอดูว่าลายแบบนี้จะขายได้ไหม และตั้งชื่อลายตามชื่อคนปัก เพราะอยากให้เรื่องราวของพวกเขามาอยู่ในงาน
Colorful Lines
เสียดล้อไปกับคำว่า Color Line ที่ถูกใช้พูดถึงปัญหาการเหยียดผิวที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 1865 และยังเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมแม้จะผ่านเวลามากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม
“ถ้าพังก็ซ่อม ถ้าเบื่อก็ปรับแต่ง ที่สำคัญคืออย่าทิ้ง ถ้าเรามองปัญหาของเสื้อตัวหนึ่งตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ผลกระทบหนักๆ จะมีอยู่สองอย่าง คือการผลิตและการใช้งาน” คือหัวใจสำคัญที่พวกเขาอยากบอก
แล้วทำไมการใส่เสื้อผ้าเก่าจึงเป็นเรื่องดี ก็เพราะว่าปัญหาหนึ่งของอุตสาหกรรมแฟชั่นคือการบริโภคอย่างไม่ยั่งยืน ในทุกปีเราผลิตเสื้อผ้าออกมาประมาณ 100,000 ล้านชิ้น ที่ 70 เปอร์เซ็นต์จะถูกทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น Reviv จึงมองว่าการลดผลกระทบน้อยที่สุดจึงไม่ใช่การซื้อผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการใช้ของที่มีอยู่ต่างหาก
“จะซื้อใหม่ก็ได้ แต่เป็นการซื้อของเก่า ซื้อของมือสองที่รอยเท้าคาร์บอนจะน้อยกว่ามาก แต่ก็ต้องบอกว่าบ้านเรายังมีปัญหาเรื่องทัศนคติกับของมือสอง เพราะมองว่าสกปรก รวมถึงความเชื่อเรื่องกลัวเจ้าของเก่ามาทวงคืน และผมมองว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของอุตสาหกรรมแฟชั่นในไทยยังมีไม่มากพอ” ภูมิบอกว่า เรายังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใส่เสื้อผ้าซ้ำให้นานที่สุด
Reviv The Industry
นอกจากไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว บางครั้งก็ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรม Fast Fashion ก็ดูจะไม่เป็นมิตรต่อแรงงานสักเท่าไหร่ หลายครั้งที่เราเห็นข่าวการให้ค่าตอบแทนแบบไม่เป็นธรรม ไม่มีสวัสดิการ หรือการเอารัดเอาเปรียบแรงงานนอกระบบอยู่เรื่อยๆ ยังไม่นับการมาถึงของระบบหุ่นยนต์ ที่จะทำให้แรงงานที่ขาดทักษะตกงานอีกต่างหาก
Reviv ตั้งคำถามกับตัวเองว่าถ้าอยากขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแฟชั่นให้ดีขึ้นจริง แค่การปรับทัศนคติให้คนหันมาใส่ของที่มีอยู่แล้วไม่เพียงพอ ยังต้องมีอีก 2 ภารกิจคือ ส่งเสริมเศรษฐกิจที่เกื้อกูลสังคม (Inclusive Economy) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และข้อสุดท้ายคือการพัฒนาและส่งเสริมแรงงานช่างเย็บสำหรับธุรกิจ Slow Fashion
“เราพยายามคัดสรรผ้าจากแหล่งต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือสังคมไปด้วย อยากใช้ธุรกิจนี้เป็นกระบอกเสียงที่จะส่งเสริมและสนับสนุนพวกเขา”
จากความตั้งใจก็นำมาซึ่งวัตถุดิบในการซ่อมที่ Reviv ไม่ได้เอาเรื่องราคาหรือต้นทุนเป็นตัวตั้ง จนได้คู่ค้าที่น่ารักมาร่วมกันเช่น ปักจิตปักใจ ผ้าปักโดยชุมชนผู้พิการทางสายตาที่บริหารงานโดยสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย Folkcharm ผ้าฝ้ายทอมือ ที่ใช้เทคนิคการย้อมสีจากธรรมชาติในท้องถิ่นและเป็นเส้นใยออร์แกนิก 100 เปอร์เซ็นต์ หรือ Heartist ผ้าที่ออกแบบโดยคนพิการทางการเรียนรู้ภายใต้โครงการอรุโณทัย ที่แต่ละชิ้นมีความพิเศษเฉพาะตัว และไม่สามารถทำซ้ำได้
Reviv ยังเลือกที่จะทำงานกับช่างเย็บเสื้อผ้าที่เป็นแรงงานนอกระบบ ทั้งชาวไทยที่เคยทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมาก่อน รวมถึงผู้ลี้ภัยด้วย เพราะแบรนด์ซ่อมเสื้อผ้าจากอารีย์มองว่าปัญหาของแรงงานส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นคือรายได้ที่ไม่เท่าเทียม และต้องใช้เวลาในการทำงานเยอะเพื่อให้ได้เงินเพียงพอ
“เราให้ค่าจ้างที่เป็นธรรม ค่าจ้างที่ได้ต่อตัวต้องมีขั้นต่ำอยู่ที่สี่สิบบาท ถ้าเป็นงานที่ตั้งใช้ทักษะหรือเวลาก็จะสูงขึ้น ระบบเศรษฐกิจในบ้านครึ่งหนึ่งถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงานนอกระบบ แต่เราหลงลืมพวกเขาไปหรือเปล่า สวัสดิการของพวกเขาหายไปไหน และในอนาคตแรงงานที่ไม่ได้มีทักษะก็จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์
“หมายความว่าต่อให้เราทำเรื่อง Slow Fashion และใส่ใจสิ่งแวดล้อมยังไง แรงงานเหล่านี้ก็จะไม่มีที่ไปอยู่ดี สิ่งที่เราทำได้คือเพิ่มทักษะให้กับเขา ทำให้เขามีที่ยืนในธุรกิจ Slow Fashion เพิ่มทักษะในการเย็บและการออกแบบ เราอยากจะพาทุกคนเหล่านี้ไปด้วยกัน
“แฟชั่นมันมีปัญหาทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นคนที่อยู่ในแวดวงธุรกิจอาจจะพูดว่ามึงบ้าหรือเปล่าที่จะแก้สองอย่างนี้ไปพร้อมกัน แต่พวกเราที่เริ่มธุรกิจนี้ไม่อยาก Compromise และไม่ได้ตอบแทนอะไรให้กับสังคมเลย” ภูมิเล่า
Reviv The Future
หลังจากพูดคุยถึงวิธีการดำเนินงาน แนวคิดทางธุรกิจและความตั้งใจของ Reviv กันมาพักใหญ่ มีหลายเรื่องที่พวกเขาจุดประกายให้เห็นถึงอนาคตที่น่าเฝ้ารอ มีหลายความมุ่งมั่นที่เราอยากให้ฝันเหล่านั้นเป็นจริง แต่ก็มีบางเรื่องที่พวกเขายอมรับว่าแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยเหมือนกัน
“ผลกระทบที่มาจากธุรกิจของเราคือการขนส่ง ทั้งแพ็กเกจจิ้งหรือการเดลิเวอรีที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก มันเป็นสิ่งที่เราตั้งคำถามกับตัวเองเหมือนกันว่าจะลดผลกระทบตรงนี้อย่างไรดี”
Reviv มองว่า มีวิธีอะไรบ้างที่จะลดทรัพยากรในแพ็กเกจจิ้ง จะเปลี่ยนเป็นประเภทรียูสมากขึ้น หรือสามารถส่งไปกำจัดอย่างปลอดภัยโดยไม่ผ่านการฝังกลบได้อย่างไร หรือเรื่องโลจิสติกส์ก็พยายามหาพาร์ตเนอร์ที่เน้นในเรื่องของจุด Drop off ไม่ต้องส่งไปหลายต่อ และไม่ได้ตอบด้วยสำเนียงสุดคลีเช่หรือน้ำเสียงฝันหวาน แต่ภูมิพูดอย่างจริงจังว่า
“ผมคิดว่าเราต้องทำในสิ่งที่เราทำได้ ก่อนจะเอาไปเรียกร้องในสิ่งที่เราต้องการ ผมขอพูดโดยรวมว่าเรื่องโลจิสติกส์เนี่ยภาคธุรกิจทุกคนควรจะจับมือกันแล้วหันไปด่ารัฐบาล เพราะมันเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลักทั้งการเดินทางหรือผลิตไฟฟ้า
“ต่อให้วันนี้บริการขนส่งเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าทั้งหมด คาร์บอนฟุตพรินต์เราก็ไม่ได้ลดลงเท่าไหร่ เพราะไฟฟ้าก็ผลิตจากน้ำมันอยู่ดี ผมเคยคำนวณแล้วว่ามันแทบไม่ได้ต่างกันเลย รถไฟฟ้าจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อแหล่งให้กำเนิดพลังงานมีความยั่งยืนตามไปด้วย”
ถ้ามีลูกค้า Inbox มาถามว่า “อยากอุดหนุนนะ แต่ทำไมราคาของคุณแพงจัง เปลี่ยนเอวทำไมตั้งสองร้อยบาท” ไม่แน่ใจว่าในมหาวิทยาการตลาด โค้ช หรือกูรู จะแนะนำให้คนทำธุรกิจรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าภูมิยึดหลักวิชาการหรือไม่ แต่เขาพิมพ์ตอบกลับไปทั้งหมด 1 หน้า A4 ที่แจงทุกรายละเอียดว่าเงินที่จ่ายไปจะเข้าไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง
“Reviv ค่อนข้างบ้าเรื่องความโปร่งใส ผมเขียนตอบกลับไปขนาดนั้นเพราะมันแตะเรื่อง Core Value ของเราพอดีว่าทำอย่างนี้เพื่ออะไร
“อันดับแรกเงินสามสิบถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์จะถูกส่งตรงไปยังแรงงานโดยตรง ส่วนที่เหลือคือค่าดำเนินการและกำไรของเรา ซึ่งเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของกำไรจะไม่ได้เข้ากระเป๋า Co-founder แต่จะเข้าไปสู่ธุรกิจใหม่ เพราะเราอยากสร้าง Impact มากขึ้นไปเรื่อยๆ และเรายังหักเงินจากกำไรนำไปเข้าสู่กองทุนเพื่อช่วยเหลือสังคมและแรงงานนอกระบบด้วย”
Reviv มองว่า ธุรกิจนี้เกิดขึ้นได้เพราะมีผู้เล่นคนอื่นคอยช่วยเหลือ และการบรรลุภารกิจด้านการบริโภคอย่างยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว ภูมิบอกว่า นอกจากการด่าแล้วประเทศไทยขับเคลื่อนได้ด้วยกลุ่มการเคลื่อนไหว และการทำธุรกิจนี้ก็เป็น Movement อย่างหนึ่งเหมือนกัน
“ผมไม่เถียงเลยว่าราคานี้มันสูงกว่าทั่วไป และไม่ได้อยากจะให้มาใช้บริการกับเราเท่านั้น แค่อยากจะอธิบายว่าเงินที่คุณจ่ายมันถูกนำไปใช้กับอะไรบ้าง
“อย่างแรกคือ ค่าจ้างที่เป็นธรรมกับคนทำงาน อย่างที่สอง คุณจ่ายให้กับบริษัทที่พยายามจะเปลี่ยนแปลงด้าน Fast Fashion และแรงงานนอกระบบ ผมว่าแต่ละคนมีเหตุผลที่จะซื้อไม่เหมือนกัน จะไปร้านตัดเสื้อแถวบ้านตัวเอง แล้วถ้ารู้สึกว่าค่าใช้จ่ายตรงนั้นมันน้อยเกินไปก็ลองเพิ่มให้หน่อยก็ได้ เพราะเขาอาจจะต้องการเงินมากกว่านั้น”
ในฐานะธุรกิจเพิ่งเริ่มสดๆ ร้อนๆ (ตอนที่ Urban Creature เดินทางไปสัมภาษณ์ Reviv เพิ่งเปิดให้บริการเป็นวันที่ 2) ภูมิบอกว่า ทุกเช้าที่ตื่นมาจะมีความคิดว่าจะไหวหรือเปล่า จะทำอย่างไรให้ธุรกิจไปได้ ตอนนี้เขาและทีมกำลังมองหาแง่มุมอื่นในธุรกิจเช่นทำการค้าแบบ B2B ว่าจะทำอะไรกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นเสื้อผ้าใช้แล้ว หรือจะเสนอเซอร์วิสการซ่อมให้กับธุรกิจอื่นได้หรือเปล่า
“ถ้าเราทำอย่างเดียวผมว่าแรงผลักดันมันไม่มีพอ แต่ถ้าไปร่วมกับธุรกิจอื่น ให้เขาหันมาสนใจและเปลี่ยนผ่านมาหา Slow Fashion ผมถือว่าประสบความสำเร็จในการตั้ง Reviv ขึ้นมา ส่วนด้านเซอร์วิสปกติของเราตอนนี้แม่ๆ ช่างเย็บเสื้อจะรองรับการซ่อมและปรับแต่งได้เดือนละประมาณหกร้อยชิ้น เอาให้มียอดเข้ามาสักครึ่งหนึ่งก็ดีใจแล้ว (ยิ้ม)”
การประสบความสำเร็จในแง่ธุรกิจของ Reviv คงไม่ได้หมายถึงผลประกอบการทะลุเพดานในทุกไตรมาส แต่เป็นการเดินทางไกลร่วมไปกับผู้คน และฝ้ายก็ย้ำว่าเรื่องนี้ต้องก้าวไปให้เหนือกว่าคำว่าเทรนด์ให้ได้
“เราอยากให้ทุกคนสนุกกับแฟชั่นได้ เราไม่ได้บอกว่าให้ซ่อมอย่างเดียวแล้วใส่แต่เสื้อผ้าตัวเดิมตลอดเวลา แต่ว่าจะทำอย่างไรให้เสื้อผ้าตัวเดิมของเรามันสนุกขึ้น มันเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนมากกว่าพยายามที่จะทำให้เป็นเทรนด์แล้วก็ผ่านไป เพราะสุดท้ายที่ Fast Fashion มันมาได้ถึงขนาดนี้ก็เพราะมันเป็นเทรนด์นี่แหละ”