อุตสาหกรรม K-POP กับปัญหาขยะพลาสติก - Urban Creature

ในขณะที่วัฒนธรรมการฟังเพลงเปลี่ยนผ่านจากการฟังแบบแอนะล็อกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่แค่ปลายนิ้วคลิกก็สามารถเข้าถึงเสียงเพลงบนโลกออนไลน์ได้เป็นล้านล้านเพลง แต่เมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา สมาคมอุตสาหกรรมแผ่นเสียงแห่งอเมริกา (RIAA) กลับรายงานว่า ชาวอเมริกันซื้อซีดีเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2020 เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นครั้งแรกที่ยอดขายเพิ่มขึ้นหลังจากลดลงต่อเนื่องมานานถึง 17 ปี

การเพิ่มขึ้นของตลาดซีดีในอเมริกาหลังจากซบเซามานานนั้นมีเหตุผลหลายประการ แต่จากข้อมูลใน Billboard พบว่า การออกอัลบั้มของวง BTS ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ยอดขายแผ่นซีดีกระโดดขึ้นมาอีกครั้ง นอกจากการจำหน่ายอัลบั้มของ Adele และ Taylor Swift

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะวัฒนธรรมกลุ่มแฟนคลับของศิลปินเกาหลีมีความแตกต่างจากชาติอื่นๆ โดยมี ‘Physical Album หรือ อัลบั้มแบบจับต้องได้’ เป็นจุดร่วม ผ่านการสร้างเงื่อนไขของอุตสาหกรรมเคป็อปที่ส่งผลให้มีการซื้อ-ขายอัลบั้มในปริมาณมากๆ 

จากปกติที่เวลาชอบศิลปินคนไหน เราก็มักสนับสนุนด้วยการซื้ออัลบั้มของเขาสัก 1 – 2 อัลบั้มเพื่อเก็บสะสม ทว่าเมื่อเป็นศิลปินเคป็อปเมื่อไหร่ การที่แฟนคลับคนเดียวซื้ออัลบั้มถึงหลักร้อยก็ดูจะกลายเป็นเรื่องปกติไปโดยปริยาย เนื่องจากมีคัลเจอร์แฟนด้อมที่เหนียวแน่นมากๆ กับสิทธิพิเศษที่จะตามมาเป็นเหตุผลรองรับ

แต่ใช่ว่าทุกคนที่จะยอมรับเรื่องนี้ได้ เพราะไม่กี่ปีมานี้ได้เกิดกลุ่มคนที่ออกมารณรงค์ถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและกระแสวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นการซื้อ-ขายอัลบั้มที่มากเกินความจำเป็นของอุตสาหกรรมเคป็อปอย่างหนัก จนตัวค่ายและศิลปินเองต้องออกมาปรับเปลี่ยนเรื่องนี้

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

อุตสาหกรรมที่เป็นตัวการหลักในการผลิตขยะพลาสติก

ในปัจจุบัน ปริมาณขยะพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลในประเทศเกาหลีใต้อยู่ไม่น้อย เพราะในขณะที่หลายประเทศกำลังรณรงค์ลดการใช้พลาสติกอย่างจริงจัง และดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ด้วยดี แต่ระหว่างปี 2020 ถึง 2021 แดนกิมจิกลับต้องเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า 18.9 เปอร์เซ็นต์ จากการเข้ามาของโรคโควิด-19 และปริมาณความต้องการอัลบั้มของศิลปิน K-POP ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีวี่แววลดลงในเร็วๆ นี้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ปริมาณความต้องการอัลบั้มแบบจับต้องได้เพิ่มสูงขึ้น เป็นเพราะ ‘วัฒนธรรมของกลุ่มแฟนคลับ’ และ ‘การสนับสนุนศิลปิน’ ผ่านการซื้อ-ขายอัลบั้มนั่นเอง

ที่เป็นเช่นนี้เพราะยอดขายอัลบั้มแบบจับต้องได้ของศิลปินฝั่ง K-POP ถูกใช้เป็นเครื่องมือบ่งบอกถึงความโด่งดังและความนิยมผ่านตัวเลขยอดการสั่งซื้อ และนับรวมเป็นองค์ประกอบในการโหวตแบบเรียลไทม์ในรายการเพลง อีกทั้งมีคุณค่าทางจิตใจและให้ความรู้สึกถึงความเป็น ‘แฟนคลับที่แท้จริง’ ของบรรดากลุ่มแฟนคลับด้วยกันเอง

นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การออกอัลบั้มของศิลปินหนึ่งครั้ง ตัวแฟนคลับไม่สามารถซื้อเพียงหนึ่งอัลบั้มเพื่อเก็บสะสมได้อีกต่อไป และในขณะเดียวกัน ถึงแม้ว่าศิลปินจะออกมาเพียงอัลบั้มเดียว แต่ภายในนั้นมักถูกแบ่งแยกย่อยออกเป็นอีกหลายเวอร์ชันตามมา

ยกตัวอย่าง อัลบั้ม Love Yourself ของ BTS ที่ประกอบด้วย 3 ซีรีส์ และแบ่งย่อยออกได้อีก 4 เวอร์ชัน (Love Yourself: Her – L, O, V, E, Love Yourself: Tear – Y, O, U, R, และ Love Yourself: Answer – S, E, L, F) เท่ากับหากแฟนคลับต้องการเก็บสะสมอัลบั้มให้ครบจำนวนปกที่แตกต่างกัน ก็จำเป็นต้องซื้อทั้งหมด 12 ปกเลยทีเดียว

แต่ถ้าคุณคิดว่า 12 ปก เป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจแล้ว เราคงต้องบอกว่านี่ยังไม่ใช่จำนวนสุทธิที่ปกติแฟนคลับซื้อกัน เพราะภายในแต่ละอัลบั้มมักมีโฟโต้การ์ดศิลปินแบบแรนดอมบรรจุอยู่ด้วย ทำให้แฟนคลับที่ต้องการการ์ดศิลปินคนที่ตัวเองชื่นชอบเป็นพิเศษ หรืออยากเก็บสะสมให้ครบทั้งวงก็จำเป็นต้องซื้อในจำนวนที่มากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว

ยังไม่นับรวมถึงกิจกรรม ‘แฟนไซน์ (Fansign)’ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่างานแจกลายเซ็นที่แฟนคลับจำเป็นต้องซื้ออัลบั้มในจำนวนมากเกินกว่าปกติหลายเท่า เพื่อลุ้นสิทธิ์พูดคุยและเซ็นอัลบั้มในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์กับตัวศิลปินอีก โดยเฉพาะในกลุ่มแฟนคลับวงที่ค่อนข้างมีชื่อเสียงอาจต้องยอมทุ่มเงินซื้ออัลบั้มมากถึงหลักร้อยอัลบั้ม เพื่อแลกกับการได้สิทธิ์นี้

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีเหตุการณ์อัลบั้มของศิลปินเคป็อปถูกทิ้งเป็นจำนวนมากตามจุดต่างๆ จนกลายเป็นขยะพลาสติกปริมาณมหาศาลที่ต้องใช้ระยะเวลาหลายร้อยปีในการย่อยสลาย 

“ทุกวันนี้อัลบั้ม K-POP ได้รับการออกแบบอย่างประณีตเพื่อให้มีมูลค่าในการสะสม ซึ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรีไซเคิลมัน” Lee Jai Young ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งมหาวิทยาลัยโซลกล่าว

ถึงเวลาที่ความรักต้องมาพร้อมกับการรักษ์โลก

ยอดขายอัลบั้ม K-POP ที่เพิ่มขึ้น ล้วนตามมาพร้อมกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นพลาสติกที่ห่ออัลบั้มและบรรจุภัณฑ์ที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ หรืออัลบั้มเปล่าไร้ซึ่งโฟโต้การ์ดที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่เกิดประโยชน์ จนกลายเป็นขยะพลาสติก

สิ่งเหล่านี้ทำให้เหล่าแฟนคลับของศิลปินเกาหลีต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการซื้ออัลบั้มจำนวนมากเกินความจำเป็นจากบุคคลภายนอก และกลุ่มแฟนคลับที่ตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยกันเอง 

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

ในเดือนมีนาคม ปี 2021 ‘Nurul Sarifah’ แฟนคลับวง EXO ชาวอินโดนีเซียและเพื่อนของเธออีกสองคน ได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘KPOP 4 PLANET’ โดยมีจุดมุ่งหมายรวมสองสิ่งที่รัก นั่นคือ K-POP และโลกเข้าไว้ด้วยกัน

KPOP 4 PLANET เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างขึ้นเพื่อหารือและสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อโลกในวงกว้าง สำหรับผู้ชื่นชอบดนตรี K-POP และวัฒนธรรมเกาหลี ผ่านแคมเปญออนไลน์และออฟไลน์ 

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

นอกจากนี้ KPOP 4 PLANET ยังทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มแฟนคลับที่มีต่ออุตสาหกรรมเพลงภาพรวมไว้ด้วย โดยพบว่า 95.6 เปอร์เซ็นต์ของแฟนๆ รู้สึกว่าค่ายเพลงควรให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกจากอัลบั้มมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนให้วงการ K-POP มีความยั่งยืนกว่าในปัจจุบัน อีกทั้ง 2 ใน 3 ของผลสำรวจยังมองว่า การซื้ออัลบั้มจำนวนมากคือส่วนหนึ่งที่เป็นปัญหามากที่สุดของอุตสาหกรรม K-POP

เมื่อได้ข้อสรุปที่เห็นพ้องต้องกัน KPOP 4 PLANET จึงทำแคมเปญรวบรวมรายชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ จาก 83 ประเทศทั่วโลก เสนอต่อที่ประชุม ‘Sustainable K-Entertainment’ ในสภาแห่งชาติเกาหลีใต้ เพื่อร้องขอให้ค่ายเพลงจัดทำอัลบั้มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนได้รับความสนใจจากกลุ่มแฟนคลับทั่วโลก รวมไปถึงศิลปินและค่ายเพลงที่ต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพลง K-POP ไปพร้อมๆ กับการหันมาดูแลสิ่งแวดล้อม

การปรับตัวของอัลบั้มในรูปแบบใหม่ที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

หลังจากกระแสเรื่องสิ่งแวดล้อมและขยะพลาสติกจากอุตสาหกรรม K-POP ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างขึ้นในระยะหลัง ทำให้ปัจจุบันหลายค่ายเพลงเริ่มมองหาบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใหม่แทนการใช้พลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในแบบเดิมๆ 

ยกตัวอย่างค่าย YG Entertainment กับการผลิตอัลบั้ม TO INFINITY ของ MINO วง WINNER ที่ใช้กระดาษที่ได้รับการรับรองจาก Forest Stewardship Council (FSC) ว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระดาษคาร์บอนต่ำ และน้ำมันถั่วในการพิมพ์เพื่อลดสารเคมี ค่าย SM Entertainment ที่ใช้กระดาษรีไซเคิลในการทำปกอัลบั้ม Glitch Mode ของวง NCT DREAM และค่าย MNH Entertainment ที่ใช้กระดาษที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการออกแบบอัลบั้ม Querencia ของ Chungha เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีศิลปินอีกหลายกลุ่มที่ออกอัลบั้มใหม่ในรูปแบบ ‘Tag Album’ ซึ่งทำจากกระดาษ และใช้เทคโนโลยี ‘Nemo Code’ ที่พัฒนาโดยแอปพลิเคชัน NEMOZ สำหรับสแกนฟังเพลงบนแอปฯ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงอัลบั้มในรูปแบบ ‘Kihno Kits’ ที่ผู้ใช้งานสามารถฟังเพลงผ่านแอปพลิเคชัน KiT Player เพียงใช้การ์ด NFC ในการแตะหรือใช้หัวแจ็กหูฟังเสียบเข้ากับโทรศัพท์มือถือ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้ Korea Music Copyright Association (KOMCA) วางแผนที่จะสร้างชาร์ตใหม่บน ‘Circle Chart’ หรือที่แฟนคลับศิลปินเกาหลีรู้จักในชื่อ ‘Gaon Chart’ ชาร์ตจัดอันดับตารางความนิยมรายสัปดาห์ของเพลงและอัลบั้มในประเทศเกาหลีใต้ โดยชาร์ตใหม่นี้จะใช้ชื่อเบื้องต้นว่า ‘Clean Chart’ เพื่อจัดอันดับอัลบั้ม K-POP โดยพิจารณาจากความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคตอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกจากอัลบั้มและการซื้ออัลบั้มในปริมาณมากของแฟนคลับคงไม่หมดไปง่ายๆ หากอุตสาหกรรม K-POP ยังคงสร้างเงื่อนไขที่ส่งผลให้มีการซื้อ-ขายอัลบั้มแบบนี้ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบที่ใช้อัลบั้มแบบจับต้องได้มาเป็นเกณฑ์หลัก

สิ่งที่แฟนคลับอย่างเราๆ พอทำได้และน่าจะไม่ยากจนเกินไปคือ การคิดไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะสั่งซื้ออัลบั้มศิลปินเคป็อปที่ชอบในคัมแบ็กครั้งต่อไป ว่าเราจำเป็นต้องซื้อในปริมาณที่มากถึงขนาดนั้นเพื่อแลกกับโฟโต้การ์ดหรือสิทธิ์ในการเข้าแฟนไซน์ไหม หรือลองเปลี่ยนมายด์เซตว่า แค่ได้ซัปพอร์ตพวกเขาในแบบที่พอดีไปอีกนานๆ ก็เพียงพอแล้วกับการเป็นแฟนคลับ

ขยะพลาสติกจากอุสาหกรรม K-POP

​​Sources :
AllKPOP | bit.ly/3VUZ6p5
EnVi Media | t.ly/j_QZ
KBIZoom | t.ly/kmZ6
Korea Joongang Daily | bit.ly/3iecbuQ
Korea Joongang Daily | t.ly/DDgE
Korea Joongang Daily | t.ly/uGZY
Korea Times | bit.ly/3Uku9cD
KPOP 4 PLANET | t.ly/uj4u
Kpop Wise | t.ly/M-MC
Makeuseof | t.ly/Diwf
OneHallyu | bit.ly/3H5NBXk 
RIAA | t.ly/gO_L
Statista | t.ly/RMla
The Korea Herald | t.ly/cVMs3

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.